ผู้เขียน | คนไกล วงนอก |
---|---|
เผยแพร่ |
การชนไก่ (บ้างเรียกตีไก่) เป็นกีฬาที่มนุษย์คิดขึ้น โดยใช้สัตว์เป็นตัวแทนของตนในการแข่งขันต่อสู้ จนเป็นที่นิยมกันทั่วไป และก็เหมือนกีฬาประเภทอื่นๆ ที่บางครั้งก็มีเรื่องของการเดิมพัน, การพนันเข้ามาเกี่ยวข้อง มีการสันนิษฐานว่าคนไทยรู้จักการชนไก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งคงอ้างอิงจากเรื่องเล่า “ไก่ชนของสมเด็จพระนเรศวร”
ไก่ชนของสมเด็จพระนเรศวร
ที่ว่า เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นตัวประกันอยู่ที่กรุงหงสาวดี เคยชนไก่ชนะพระมหาอุปราช จนเกิดการปะทะคารมระหว่างทั้ง 2 พระองค์ขึ้น
สมเด็จพระมหาอุปราชตรัสว่า “ไก่เชลยตัวนี้เก่งจริงหนอ”
สมเด็จพระนเรศวรก็ดำรัสตอบว่า “ไก่เชลยตัวนี้ อย่าว่าแต่จะตีกันอย่างกีฬาในวังเหมือนวันนี้เลย ตีพนันบ้านเมืองก็ยังได้”
แล้ว “ไก่ชนของสมเด็จพระนเรศวร” นั้นน่าจะเป็นไก่สายพันธุ์ใด
เรื่องนี้ นายสัตว์แพทย์นิสิต ตั้งตระการพงษ์ ค้นคว้าจากเอกสารต่างๆ ทำให้พอสันนิษฐานได้ว่า ไก่ที่สมเด็จพระเนรศวรทรงนำไปชนกับพม่านั้นคือ “ไก่เหลืองหางขาว” (บ้างเรียก ไก่เหลืองใหญ่) จากบ้านกร่าง เมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็น “ถิ่นไก่ชน” สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย
ไก่เหลืองหลังขาว
แล้วไ่ก่สายพันธุ์ดังกล่าว “ไก่เหลืองหางขาว” ที่คิดเป็น “ไก่ชนของสมเด็จพระนเรศวร” มีลักษณะอย่างไร ลักษณะของไก่เหลืองหลังขาว ได้แก่
สี-สร้อยเหลือง ทั้งสร้อยคอ, สร้อยปีก และสร้อยหลัง, หาง-ขาวเหมือนฟ่อนข้าว กระรวยหางสีขาว ยาวโค้งปลายห้อยไปด้านหลังตกลงสวยงาม, หน้า-แหลมยาว เหมือนหน้านกยูง, ปาก-ขาวอมเหลือง มีร่อง 2 ข้างจงอยปาก, ปีก-ใหญ่ยาวมีขน ขาวแซมทั้งสองข้าง, อก-ใหญ่ ตัวยาว ยืนขาห่างกัน, ตะเกียบ-คู่แข็ง กระดูกใหญ่, แข้ง-ขาวอมเหลือง เล็ก นิ้วยาวเรียว เดือยงอน คันช้อน, ขัน-เสียงใหญ่ ยาว, ยืน-ท่าผงาดดังราชสีห์
ที่สำคัญคือ ไก่เหลืองหางขาวนั้น “ฉลาด ปราดเปรียว อึดทน”
จึงมีคำพูดว่า “ไก่เหลืองหางขาวกินเหล้าเชื่อ” หมายความว่า ถ้าไก่เหลืองหางขาวได้คู่ตีแล้วไม่ต้องมานั่งลุ้นดู ให้ไปสั่งเหล้ามากินเชื่อก่อนได้ ต้องชนะแน่นอน ปัจจุบันในจังหวัดพิษณุโลกมีการจัดตั้ง “กลุ่มผู้อนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ไก่ชนพระนเรศวรฯ” ขึ้นหลายแห่งด้วยกัน
สมัยกรุงธนบุรี ไก่ของพระยาพิชัยดาบหักตีไก่ของพระยาพระคลังหนตายในสังเวียนหน้าพระที่นั่ง แต่พระยาพระคลังหนยอมรับว่าไก่ของตนตายจริงแต่ไม่ได้แพ้ เพราะไม่แสดงท่าทีว่าแพ้ 3 ประการ คือ วิ่งหนีหรือไม่สู้ ร้อง และชักขนหยอง แต่เมื่อตรวจดูศพของไก่ดังกล่าวแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงตัดสินให้ไก่ของพระยาดาบพิชัยดาบหักชนะ
ในวรรณคดีของไทยหลายเรื่อง เช่น ขุนช้างขุนแผน, อิเหนา, รถเสน ก็กล่าวถึง การชนไก่ ทั้งสิ้น แสดงว่าในยุคที่ผู้แต่งวรรณคดีดังกล่าว มีการเล่นชนไก่แล้ว
นอกจากนี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า สำนวนไทย, บางคำอาจมีที่มาจากการชนไก่ เช่น “รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง” เพราะไก่ชนที่รู้จักหลบโดยเอาหัวซุกปีกคู่ต่อสู้ แล้วค่อยหาโอกาสจิกตี และคำอื่นๆ อย่าง “งงเป็นไก่ตาแตก” – งงมากจนทำอะไรไม่ถูก, “มีลำหักลำโค่นดี” – ชั้นเชิงที่ใช้หักโค่นอีกฝ่ายหนึ่งอย่างรุนแรง ดุเดือด ฯลฯ
อ่านเพิ่มเติม :
- ผลวิจัยเผย มนุษย์ “เลี้ยงไก่บ้าน” แห่งแรกที่บ้านโนนวัด นครราชสีมา ราว 3,000 ปีก่อน
- ชำแหละอำนาจนำ ผ่านสัญลักษณ์ “ไก่” ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
อ้างอิง :
นายสัตวแพทย์นิสิต ตั้งตระการพงษ์. ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช, โรงพิมพ์ตระกูลไทย พิษณุโลก 2542
กิตติพงษ์ ศิริพันธุ์. วัฒนธรรมและผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของกีฬาชนไก่ในจังหวัดสงขลา, ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตร มหาบัณฑิต วิชาเอกภาษาไทนคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้ พ.ศ. 2538
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มกราคม 2564 แก้ไขปรับปรุงล่าสุด 28 กันยายน 2567