ผู้เขียน | ธนพล หยิบจันทร์ (แปลและเรียบเรียง) |
---|---|
เผยแพร่ |
สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (PNAS) ตีพิมพ์งานวิจัย “The biocultural origins and dispersal of domestic chickens” (6 มิถุนายน 2565) ซึ่งเผยข้อมูลว่าพื้นที่ที่ “เลี้ยงไก่บ้าน” เป็นที่แรกของโลก อยู่ที่ บ้านโนนวัด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา (เท่าที่พบหลักฐาน ณ ตอนนี้)
งานวิจัยชิ้นนี้จัดทำเพื่อให้เข้าใจว่าไก่มีจุดกำเนิดเมื่อใด ที่ไหน อย่างไร โดยคณะวิจัยได้ศึกษา และวิเคราะห์กระดูกไก่จากแหล่งโบราณคดีกว่า 600 แห่ง ใน 89 ประเทศ โดยประเมินผ่านทางโบราณคดี สัณฐานวิทยา การตรวจสอบกระดูก บริบท สัญลักษณ์ และข้อมูลสถิติ
ผลของการศึกษาชี้ให้เห็นว่า กระดูกไก่ชิ้นแรกที่เป็นไก่บ้านไม่ใช่ไก่ป่า พบที่ บ้านโนนวัด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีอายุระหว่าง 1,650-1,250 ปีก่อนคริสต์ศักราช ตรงกับยุคหินใหม่ ซึ่งนับว่าเป็นการท้าทายการศึกษาเดิมที่เชื่อกันว่า แหล่งกำเนิดของไก่อยู่ที่ อินเดีย จีน หรือเมโสโปเตเมีย
การศึกษาจุดกำเนิดของไก่ช่วงก่อนหน้านี้ ได้อ้างว่ามีการค้นพบกระดูกสัตว์ปีกคล้ายไก่เก่าแก่ในหลายพื้นที่ อาทิ การค้นพบกระดูกสัตว์ปีกที่คาดว่าอาจเป็นไก่ ในประเทศจีน อายุประมาณ 6,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช แต่ภายหลังพิสูจน์แล้วว่าเป็นไก่ฟ้า (Pheasants) หรือการค้นพบกระดูกสัตว์ปีกที่ฮารัปปาในลุ่มแม่น้ำสินธุ อายุประมาณ 4,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช แต่เมื่อนำมาจำแนกทางพันธุกรรมแล้วมีความคล้ายคลึงกับสายพันธุ์ไก่ป่า ตระกูลไก่ป่าแดง (Red forestflow) มากกว่าจะเป็นสายพันธุ์ไก่บ้านแบบในปัจจุบัน
แต่ผลการวิจัยชิ้นนี้ได้พบว่า แท้จริงแล้วต้นกำเนิดของการ “เลี้ยงไก่บ้าน” อยู่ในช่วงประมาณ 1,650-1,250 ปีก่อนคริสต์ศักราช ที่บ้านโนนวัด จากการศึกษาที่แหล่งโบราณคดีแห่งนี้พบว่า มนุษย์ในสมัยนั้นได้ฝังกระดูกไก่ ซึ่งอยู่ในวงศ์ Gallus (สายพันธุ์เดียวกับไก่บ้านในปัจจุบัน) จำนวนมาก รวมกับสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ เช่น หมู สุนัข และวัว ในฐานะสิ่งของฝังไปพร้อมกับผู้ตายในยุคนั้น ลักษณะดังกล่าวเป็นหลักฐานที่หนักแน่นชี้ว่า สัตว์ปีกเหล่านี้เป็น “ไก่เลี้ยง” ไม่ใช่ “ไก่ป่า”
เพื่อตามรอยการกำเนิดและแพร่กระจายของไก่ คณะวิจัยได้ศึกษาเพิ่มเติมนอกเหนือจากกระดูกไก่ที่ค้นพบ โดยเทียบเคียงข้อมูลจากสภาพภูมิอากาศ และศึกษาพัฒนาการของอารยธรรมมนุษย์ในด้านการเกษตรกรรม
สภาพภูมิอากาศและปริมาณน้ำฝนคือตัวชี้วัดที่สำคัญ พบว่าในบริเวณเขตป่าฝนกึ่งร้อนชื้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอื้อต่อการดำรงชีวิตของไก่ป่าที่ชอบความร้อน ขณะที่ความสัมพันธ์ของการปลูกข้าวและธัญพืชกับพฤติกรรมของไก่ป่าก็มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไม่น่าเชื่อ ผลลัพธ์ชี้ให้เห็นว่าการทำเกษตรกรรมและการเก็บรักษาธัญพืช ช่วยดึงดูดไก่ป่าให้เข้ามาในพื้นที่ของมนุษย์
ไก่ป่านั้นจะเติบโตในได้ดีในพื้นที่ที่ลักษณะทุ่งรกร้าง เป็นทุ่งกว้าง หรือพื้นที่ที่เป็นไม้พุ่มเตี้ย ครั้นเมื่อมนุษย์บุกเบิกการเกษตรกรรม มีการถางป่าเพื่อเปิดพื้นที่ปลูกข้าวขึ้นใหม่ จึงเปลี่ยนสภาพป่ารกชัฏให้เป็นทุ่งปลูกข้าว การปลูกข้าวก็จะมีเศษข้าว ข้าวฟ่าง ธัญพืช หรือผลผลิตจากการเกษตรอื่น ๆ หลงเหลือ รวมถึงเศษอาหารจากการเลี้ยงปศุสัตว์ (เช่น หมู หรือวัว) เหล่านี้จึงดึงดูดไก่ป่าให้เข้าใกล้สังคมมนุษย์มากขึ้น
การเลี้ยงไก่จึงเกิดขึ้นพร้อมกับการขยายตัวและเติบโตของสังคมมนุษย์ในยุคหินใหม่ เชื่อว่ากลุ่มคนที่มีความรู้ด้านเกษตรกรรมที่เริ่มโยกย้ายถิ่นฐานจากหุบเขาแยงซีในแถบตอนใต้ของจีนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ใหม่แห่งนั้น พร้อมกับนำเทคโนโลยีการปลูกข้าวไปด้วย
เมื่อมีการปลูกข้าวทำนา ความอุดมสมบูรณ์ของธัญพืชภายในถิ่นฐานของมนุษย์จึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อการเลือกถิ่นฐานของไก่ป่าในแหล่งนั้น ๆ ฉะนั้น การเพาะปลูกข้าวและธัญพืชของมนุษย์จึงอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับไก่ป่า ที่เปลี่ยนจากไก่ป่าสู่ไก่บ้าน จนเกิดกระบวนการเลี้ยงไก่ แล้วค่อย ๆ แพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก
การประเมินหลักฐานทางโบราณคดีของคณะวิจัย ได้บ่งชี้ถึงต้นกำเนิดและการแพร่กระจายของไก่ ถูกรวมเข้ากับสังคมมนุษย์เมื่อ 1,500 ปีก่อนคริสต์ศักราชที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้นก็แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทางใต้ สู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้แถบหมู่เกาะต่าง ๆ และทางตะวันตกผ่านเอเชียใต้ เมโสโปเตเมีย ไปยังยุโรป และแอฟริกา
ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบทางโบราณคดีเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนลำดับเหตุการณ์นี้ว่าเป็นจริงตามข้อสันนิษฐานหรือไม่ และการขุดค้นครั้งนี้อาจเผยให้เห็นไม่เพียงแค่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับไก่ในช่วงก่อนหน้านี้เท่านั้น รวมถึงการ “เลี้ยงไก่บ้าน” แต่ยังรวมถึงการย้ายถิ่นของไก่ทั่วโลกก่อนหน้านี้อีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
อ้างอิง :
PNAS. (2022). The biocultural origins and dispersal of domestic chickens. เข้าถึงได้จาก https://www.pnas.org/doi/10.1073/pnas.2121978119
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มิถุนายน 2565