ไอเดียจอมพล ป. ให้เลี้ยงเป็ด-ไก่ ไว้กินไข่ ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ดันไข่สู่ “อาหารจำเป็น”?

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482-2485) รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม มอบหมายให้กระทรวงการเศรษฐกิจรับผิดชอบในการจัดหาเสบียงอาหารแก่กองทัพไทยและญี่ปุ่น กระทรวงการเศรษฐกิจจึงมีหนังสือถึงกระทรวงเกษตราธิการลงวันที่ 14 ธันวาคม 2484 ขอความร่วมมือจากกระทรวงเกษตราธิการช่วยสะสมเสบียงอาหารไว้มิให้ขาดแคลน เจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตราธิการทุกจังหวัดจึงแนะนำประชาชนให้ปลูกผักและเลี้ยงสัตว์

รายงานการปฏิบัติเกี่ยวกับการส่งเสริมการปลูกผักและการเลี้ยงสัตว์ของกระทรวงเกษตราธิการ ลงวันที่ 31 มกราคม 2485 กล่าวถึงความคืบหน้าในการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์เตรียมเป็นเสบียงในภาวะสงคราม ปรากฏว่าการปลูกผักเป็นไปตามแผน

ส่วนการเลี้ยงสัตว์สุกรและโคก็มีแนวโน้มในทิศทางที่น่าพอใจ เดือนกุมภาพันธ์ 2485 รัฐบาลจึงตั้งคณะกรรมการประสานงานทหาร-พลเรือน (ปทร.) ขึ้นมาทำหน้าที่จัดการเรื่องการจัดเตรียมและสะสมเสบียงอาหารในยามสงครามขึ้นมาดูแลจัดการ [หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (3) สร. 0201.42/14 เรื่อง ข้อตกลงของคนะกัมการ ป.ท.ร. เกี่ยวกับผักและสัตว์กับเรื่องให้กะซวงกเสตรเตรียมและสงวนผักไว้ให้พอบริโภคสำหรับทะหาน และประชาชน (19 พฤศจิกายน 2484-10 มีนาคม 2485).]

ส่วนการเลี้ยงไก่เลี้ยงเป็ดไว้กินไข่นั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ลงนามในหนังสือด่วนมากของสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ส.7288/2485 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2485 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ เรื่องจัดตั้งองค์การผลิตและจำหน่ายไข่ โดยให้เหตุผลว่า

“ด้วยเป็นที่ซาบกันทั่วไปว่า ไข่เป็ดและไข่ไก่เป็นอาหานสำคันหย่างหนึ่งของประชาชน หากได้บริโภคกันเสมอและทั่วถึงกันแล้ว ย่อมจะเป็นการช่วยบำรุงอนามัยของประชาชนได้เป็นหย่างดี แต่ตามสภาพการณ์ที่เป็นหยู่ในปัจจุบัน ไข่เป็ดและไข่ไก่มีจำนวนไม่เพียงพอ แก่การบริโภคและการซื้อหาไม่สดวก ประกอบกับราคายังสูงหยู่ อันเป็นเหตุให้ประชาชนไม่ใคร่ได้บริโภคกันหย่างแพร่หลาย ฉนั้นจึงเป็นการสมควนที่รัถบาลจะจัดตั้งองค์การขึ้นทำการผลิต และจำหน่ายไข่เป็ดและไข่ไก่ให้มีปริมานเพิ่มมากขึ้น จนเป็นการเพียงพอแก่ความต้องการของประชาชน”

องค์การดังกล่าวจัดตั้งขึ้น (10 ตุลาคม 2485) ในลักษณะ “บริษัทกึ่งราชการ” ทำหน้าที่จำหน่ายไข่ไก่และไข่เป็ด ส่วนการผลิตนั้นมอบให้สถานีทดลองและส่งเสริมเกษตรกลางบางเขนทำการผลิต โดยเลี้ยงไก่แบบขังกรงเพิ่มขึ้น และส่งไข่ทั้งหมดให้กับองค์การ โดยทางองค์การสนับสนุนเงินทุนเบื้องต้นและขอให้ใช้คืนเป็นไข่ตามจำนวนเงินแทน

ตั้งแต่นั้นมา การส่งเสริมการเลี้ยงไก่เลี้ยงเป็ดเอาไข่ก็เกิดขึ้นและการดำเนินงานกว้างขวาง จนต่อมาในปี พ.ศ. 2491 ไข่ได้กลายเป็นอาหารจำเป็นแก่การครองชีพของประชาชน ถ้าเกิดขาดตลาดหรือรำที่ใช้เลี้ยงเป็ดไก่แพงขึ้นไข่จะขึ้นราคาจนทางกระทรวงพาณิชย์ต้องหามาตรการควบคุมราคาไข่ ด้วยการหาทางผลิตไข่ให้มากขึ้นและรับเป็นหลักการให้สามารถส่งไข่ไปขายต่างประเทศได้ ถ้าหากมีจำนวนเพียงพอกับความต้องการภายในประเทศแล้ว [หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, (3) สร. 0201.42/16 เรื่องไข่ (6 ตุลาคม 2485-15 พฤษภาคม2496).]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ชาติชาย มุกสง. “2475 กับการปฏิวัติรสชาติอาหาร: จากการกินเพื่ออยู่สู่การกินเพื่อชาติ และการต่อสู้ทางวัฒนธรรมของรสชาติในสังคมไทยร่วมสมัย” ใน, จาก 100 ปี ร.ศ. 130 ถึง 80 ปี ประชาธิปไตย, สถาบันนโยบายการศึกษา 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 ธันวาคม 2564