ตามรอย ม.จ.สิทธิพร-หลวงสุวรรณ-ม.จ.นพมาศ 3 ผู้บุกเบิกการเลี้ยง “ไก่” ในไทย

(จากซ้าย) หม่อมเจ้าสิทธิพร, หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ และหม่อมเจ้านพมาศ

คนไทยเลี้ยงไก่มาเป็นเวลานานแล้ว มักเลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหาร กินไข่-เนื้อ หรือประชันขันแข่งหาความบันเทิง สายพันธุ์ที่นิยมกัน เช่น ไก่อู-เลี้ยงไว้เป็นไก่ชน, ไก่ตะเภา-เลี้ยงไว้เพื่อเอาไข่ และไก่แจ้-เลี้ยงไว้เพื่อความสวยงาม ดังปรากฏในบันทึกของลาลูแบร์ ชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมายังอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ว่า ชาวสยามมักเลี้ยงไก่และนำไก่มาชนแข่งขันกัน และมักเลี้ยงไก่เพื่อนำมาใช้ในการบริโภคในครัวเรือน

หรือที่ปรากฏในบันทึกของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลอุดรและมณฑลอีสานใน พ.ศ. 2449 ว่า “ผู้หญิงอยู่บ้านเลี้ยงไหมและทอผ้าทำเครื่องนุ่งห่ม เศษอาหารที่เหลือใช้เลี้ยงไก่แลสุกร ไว้ขาย การกินของชาวบ้านแถวนี้ทำได้เอง เกือบไม่ต้องซื้อหาสิ่งอันใด…เงินทองที่จะใช้ซื้อหาก็มีพอเพียง เพราะมีโคกระบือที่ออกลูกเหลือใช้แลมีหมูและไก่ที่เลี้ยงไว้ด้วยเศษอาหารเหลือบริโภค”

แต่เดิมคนไทยเลี้ยงไก่ในครัวเรือนแบบปล่อย ให้ไก่หาอาหารกินเองอยู่ในบริเวณบ้าน อาหารที่ใช้เลี้ยงเป็นเศษอาหารเหลือ ส่วนใหญ่เลี้ยงจำนวนไม่มากนักในแต่ละครัวเรือน ไม่ได้เลี้ยงอย่างระบบฟาร์มในปัจจุบัน โดยในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลได้สำรวจภาวะเศรษฐกิจของประชาชนในชนบท พบว่าประชาชนก็ยังเลี้ยงไก่เป็นจำนวนน้อยในครัวเรือนของตน โดยส่วนใหญ่จะได้บริโภคเนื้อไก่เฉพาะเทศกาลหรือเวลาทำบุญเท่านั้น

กระทรวงเศรษฐการได้ทําการสำรวจสภาพเศรษฐกิจในชนบทอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2477 พบว่า การเลี้ยงไก่มักอยู่ในเขตภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เนื่องจากไม่เกิดเหตุน้ำท่วมบ่อยครั้งเช่นในภาคกลาง ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการลงทุนเพื่อซื้อลูกไก่มาเลี้ยงหรือนำไข่ไก่จากเพื่อนบ้านมาฟักก่อนจะนำไปขาย โดยส่วนใหญ่จะขายไก่เป็น ๆ ให้กับพ่อค้าชาวจีนในตลาดนำไปฆ่า จากนั้นจึงซื้อกลับมาบริโภคในครัวเรือนเท่าที่จะซื้อได้ เช่นเดียวกับไข่ไก่ที่ผู้เลี้ยงมักจำหน่ายให้กับพ่อค้าชาวจีนหรือคนไทยที่มีฐานะดีในตลาดท้องถิ่นมากกว่าที่จะเก็บไว้บริโภคเอง

หม่อมเจ้าสิทธิพร

หม่อมเจ้าสิทธิพร และหม่อมหม่อมศรีพรหมา ภรรยา (ภาพจากหนังสือ บทความของและเกี่ยวกับ ม.จ. สิทธิพร กฤดากร)

การเลี้ยงไก่เริ่มแพร่หลายและทำเป็นกิจจะลักษณะมากขึ้นในช่วงทษวรรษ 2460-2470 โดยมีการเลี้ยงไก่เพื่อ “การค้า” เริ่มมาจากแนวคิดของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร เมื่อ พ.ศ. 2463 หม่อมเจ้าสิทธิพรได้สร้างฟาร์มเลี้ยงไก่ขนาดใหญ่มากกว่า 100 ตัวที่อ่าวบางเบิด อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

หม่อมเจ้าสิทธิพร ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2426 หลังสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ ได้เข้ารับราชการในกระทรวงพระคลัง จนกระทั่ง พ.ศ. 2463 ได้ถวายบังคมลาออกจากราชการ เพื่อไปค้นคว้าหาความรู้ในการเพาะปลูกและทดลองทำไร่สมัยใหม่ ซึ่งเน้นการปลูกพืชหลายชนิดโดยเฉพาะพืชดอน พืชไร่ และเลี้ยงสัตว์ไปในพื้นที่เดียวกัน

หม่อมเจ้าสิทธิพรวางแผนสร้างฟาร์มไก่ไข่เพื่อจำหน่าย โดยจะต้องได้แม่ไก่ที่ไข่ดก โดยใช้ไก่ตัวผู้ที่มาจากตระกูลไข่ดก ซึ่งสั่งนำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา และได้นำไก่พันธุ์เล็กฮอร์นขาว (White Leghorn) ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศแล้วขนส่งจากกรุงเทพฯ ไปเลี้ยงที่ฟาร์มบางเบิด

หม่อมเจ้าสิทธิพรได้ให้ความสำคัญกับการเลี้ยงแบบไม่ปนตัวผู้ตัวเมีย และมีการนำไก่มาติดเบอร์ไว้ที่ข้อเท้าทุกตัวเพื่อให้ง่ายต่อการบันทึกสถิติการออกไข่ ทั้งยังให้ความสำคัญกับการจัดทำบัญชีค่าใช้จ่ายและรายได้ของฟาร์มเพื่อให้ทราบต้นทุน การดำเนินการลักษณะนี้เองที่สะท้อนให้เห็นพัฒนาการและจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจฟาร์มไก่เชิงพาณิชย์ในไทย

ฟาร์มบางเบิด (ภาพจากหนังสือ บทความของและเกี่ยวกับ ม.จ. สิทธิพร กฤดากร)

หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ

หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ (ทองดี เรศานนท์) เป็นอีกคนหนึ่งที่มีความรู้ความชำนาญการเลี้ยงไก่ในยุคแรก ๆ ท่านจบการศึกษาด้านเกษตรและเรียนพิเศษในทางไก่ สำเร็จปริญญาตรีจากประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อกลับไทยจึงได้ทำงานเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ในโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม (ภายหลังพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) และได้รับไก่พันธุ์เล็กฮอร์นขาวจำนวน 100 ตัวจากหม่อมเจ้าสิทธิพร เมื่อครั้งที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมย้ายไปอยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจเป็นผู้นำความรู้จากหม่อมเจ้าสิทธิพรมาต่อยอด โดยหวังให้ไก่กลายเป็นสินค้าและอาชีพใหม่ของคนไทย ครั้นโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมย้ายจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไปอยู่ที่จังหวัดสระบุรี ฟาร์มที่ใหม่แห่งนี้ก็มีแม่ไก่ไข่กว่า 1,500 ตัว จึงกลายเป็นฟาร์มไก่ขนาดการค้าแห่งที่ 2 ของไทยต่อจากฟาร์มบางเบิด กระทั่งถึง พ.ศ. 2472 หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจเขียนตำราเลี้ยงไก่ขึ้นมา 2 เล่ม ใช้เป็นตำราเรียนของโรงเรียน และเป็นตำราแก่ประชาชนทั่วไปผู้สนใจเลี้ยงไก่ไว้ใช้อาศัยเป็นแหล่งความรู้

เมื่อหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ใน พ.ศ. 2489 จึงสร้างฟาร์มทดลองเลี้ยงไก่ในแผนกสัตว์เล็กของมหาวิทยาลัยตามวิธีสมัยใหม่ที่ใช้ความรู้ทางสัตวบาล โดยใช้เงินทุนของมหาวิทยาลัยนำเข้าไก่เนื้อพันธุ์ดีที่ให้ไข่ดกและโตเร็วมาจากต่างประเทศ ทั้งยังได้นำความรู้เรื่องการผสมพันธุ์แบบการผสมนอกตระกูล เช่น การนำเอาไก่พันธุ์แท้จากต่างประเทศที่ต่างสายพันธุ์กันมาผสมข้ามสายพันธุ์ เพื่อผลิตไก่ลูกผสมที่รวมลักษณะดีของพันธุ์พ่อแม่ไว้ด้วยกัน และการนำพ่อไก่พันธุ์แท้และแม่ไก่พันธุ์พื้นเมือง มาผสมพันธุ์กันแล้วนำลูกที่ได้มาผสมพันธุ์กับพันธุ์แท้ต่อ ๆ ไป เพื่อให้ไก่พันธุ์ใหม่ ฯลฯ

หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้กล่าวถึงความจำเป็นในการพัฒนาความรู้และการเผยแพร่แนวคิดดังกล่าวเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการเลี้ยงไก่ให้กับคนไทยว่า “จะสร้างคนไก่สาขาต่าง ๆ เช่น สาขาโรคไก่ สาขาผสมพันธุ์ไก่ สาขาอาหารไก่ สาขาการอุตสาหกรรมไก่ สาขาวิศวกรรมไก่ สาขาการเลี้ยงไก่ สาขาการค้นคว้าเรื่องไก่ สาขาการตลาดไก่ และสาขาการสอนวิชาไก่ ฯลฯ ขึ้นมาสาขาละ 3-4 คน รวมเป็นคนไก่ทุกสาขา ราว 30-40 คน

คนไก่เหล่านี้ให้ลงมือส่งเสริมไก่จากแง่ต่าง ๆ นับจากเผยแพร่ความรู้เรื่องไก่ให้พลเมืองบำรุงพันธุ์ไก่ให้ไข่ดก ส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมอาหารไก่ขึ้น จัดให้มีสหกรณ์ไข่ สหกรณ์ผู้ส่งออกไข่ออกนอกประเทศ ส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมทางไก่ เช่น โรงงานไก่ โรงงานไข่ผง ตลอดจนจัดตั้งองค์การให้ความสะดวกในเรื่องทุนเลี้ยงไก่ หาตลาดไก่และส่งไข่ออกนอกประเทศ ส่งเสริมให้คนกินไข่ หาตลาดไข่ภายในตลอดจนคิดค้นแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เรื่องโรคไก่ให้หมดไป” 

ภาพถ่าย หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ เมื่อปี 2491 (ภาพจาก
University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

หม่อมเจ้านพมาศ

หม่อมเจ้านพมาศ นวรัตน ทรงเป็นอีกคนหนึ่งที่เลี้ยงไก่อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งน่าจะได้รับองค์ความรู้เรื่องไก่บางส่วนมาจากหม่อมเจ้าสิทธิพร และหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ และได้เขียนเล่าประสบการณ์การเลี้ยงไก่ตีพิมพ์ไว้ในหนังสือพิมพ์กสิกรเมื่อ พ.ศ. 2477

เดิมทีหม่อมเจ้านพมาศเลี้ยงไก่แบบปล่อยเช่นเดียวกับคนไทยสมัยนั้น โดยเลี้ยงไก่พันธุ์ทางหรือพันธุ์พื้นเมืองอยู่แล้วประมาณ 10 ตัว ราว พ.ศ. 2475 มีคนนำไก่เนื้อพันธุ์แลงชาน (Langchan) มาให้คู่หนึ่ง จึงดำริเพาะพันธุ์ไก่ให้มากขึ้น จนเมื่อได้ลูกไก่รวมกว่า 100 ตัว ก็มีผู้แนะนำเรื่องโรคไก่ หม่อมเจ้านพมาศจึงต้องซื้อยาป้องกันโรคระบาดที่สถานเสาวภามาให้ไก่กิน ไก่ตัวใหญ่ค่ายาประมาณ 10 สตางค์ ไก่ตัวเล็กประมาณ 5 สตางค์

ถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2475 เกิดฝนตกชุก ทำให้ลูกไก่ตายไปหลายตัว แม้จะลองให้ยากินก็ไม่หายป่วย จนภายหลังหม่อมเจ้านพมาศได้ทราบจากผู้เชี่ยวชาญและสัตวแพทย์ว่า ไก่ในเล้าป่วยตายด้วยโรคไทฟอยด์ หม่อมเจ้านพมาศถึงกับทรงอธิบายว่า ค่ายาแพงกว่าค่าไก่เสียอีก โดยสืบทราบจนพบสาเหตุว่า เพราะเลี้ยงไก่เล้าหนึ่งแบบปล่อย ให้กินเศษอาหารใต้ถุนบ้าน จนทำให้ไก่ติดโรคตาย

อย่างไรก็ตาม ไก่พันธุ์แลงชานทำกำไรได้ไม่มาก ไข่ใบใหญ่ฟองละ 10 สตางค์ ฟองเล็กใบละ 5 สตางค์ ลูกไก่ขายได้ตัวละ 1 บาท ไก่หนุ่มขายได้ตัวละ 2 บาท แต่การขายกลับไม่แน่นอน จึงหวังทำกำไรจากไก่ประเภทนี้ไม่ได้ หม่อมเจ้านพมาศจึงนำไก่พันธุ์บาร์พลีมัทร็อค (Barred Plymouth Rock) มาทดลองเลี้ยง ซึ่งให้ไข่ดีกว่า และขายไก่ได้ราคาดีกว่า

หม่อมเจ้านพมาศดำริจะเลี้ยงไก่พันธุ์เล็กฮอร์นขาวที่นิยมเลี้ยงกันอยู่ทั่วไปในสมัยนั้นเช่นเดียวกัน แต่ไม่กล้านำมาเลี้ยง โดยให้เหตุผลว่า “เพราะเห็นที่เขาเลี้ยงมาแล้วหลายรายมีของหม่อมเจ้าสิทธิพรเป็นต้น ชั้นแรกก็ดูเหมือนจะดี แต่ลงท้ายก็ได้ไม่พอกับรายจ่าย เพราะการเลี้ยงไก่พันธุ์เล็กฮอร์น เลี้ยงยากราคาสูง ลูกไก่ตายมาก ที่รอดก็สมบูรณ์ไม่ได้เท่าพ่อแม่ ราคาไข่จะขายให้แพงก็ไม่มีใครกิน จะขายเท่าราคาไก่พื้นเมืองก็ขาดทุน”

หม่อมเจ้านพมาศจึงดำรินำไก่พันธุ์เล็กฮอร์นขาวมาผสมพันธุ์กับไก่พันธุ์พื้นเมือง ซึ่งได้ผลดี เลี้ยงง่ายกว่า และให้ไข่จำนวนมาก

หม่อมเจ้านพมาศ (ภาพจากหนังสือ การทดลองเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมือง)

หม่อมเจ้านพมาศศึกษาเรียนรู้การเลี้ยงไก่ และทดลองผิดถูกด้วยตนเอง โดยเขียนเล่าอย่างละเอียดทุกขั้นตอนของการเลี้ยงไก่ ไม่ว่าจะเป็น การเลือกพันธุ์ ที่ดิน เล้า อาหาร โรค ยา อุปกรณ์ รวมถึงการทำสถิติ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญในการเลี้ยงไก่ของหม่อมเจ้านพมาศ คือ เวลา และต้นทุน โดยเฉพาะค่าอุปกรณ์ ดังที่หม่อมเจ้านพมาศอธิบายว่า

“ข้าพเจ้าทำเองเกือบทุกอย่างตั้งแต่คอกไก่ตลอดจนภาชนะเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับใส่อาหาร เก็บอาหาร เก็บไข่ เหล่านี้เป็นต้น ต่อเหลือบ่ากว่าแรงจริง ๆ ข้าพเจ้าจึงจ้างเขา…ก่อนที่ท่านจะตั้งต้นเลี้ยงไก่ ควรจะคิดเสียก่อนว่าท่านจะทำเองหรือไม่ ตามความเห็นของข้าพเจ้าคิดว่าการทำอุปกรณ์ในการเลี้ยงไก่ ไม่ต้องการฝีมือดีอะไรนัก แม้คนในบ้านของท่านคนใดคนหนึ่งพอจะทำได้โดยไม่ต้องจ้างเขาก็พอแล้ว แต่ถ้าไม่สามารถจะทำได้จริง ๆ จะต้องข้างเขาทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ข้าพเจ้าขอแนะนำว่าท่านอย่าคิดเลี้ยงไก่เลยดีกว่า เพราะการเลี้ยงต้องทำอะไร ๆ อยู่เสมอ ถ้าต้องจ้างเขาแล้วจะสิ้นเปลืองเงินลงไปเป็นอันมากจนจะหากำไรได้ยาก หรือไม่ก็น้อยเต็มที…

การเลี้ยงไก่นั้นแม้ตัวท่านจะเป็นผู้สามารถเพียงใดก็ตาม แต่ธรรมดาท่านจะต้องมีกิจบางอย่างซึ่งจำเป็นจะต้องทิ้งหน้าที่ไปไม่น้อยก็มาก เมื่อเวลาท่านไม่อยู่เช่นนี้ ถ้าท่านไม่มีผู้แทนที่พอไว้ใจได้แล้ว ท่านอาจประสบผลร้ายจนถึงคอกล้มก็ได้ ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าซึ่งเป็นผู้มีภรรยาและบุตรอยู่มากยังถูกเข้าบ่อย ๆ ฉะนั้นถ้าท่านยังหาผู้ไว้ใจแทนท่านไม่ได้แล้ว ก็ควรงดรอการเลี้ยงไก่ไว้ก่อนดีกว่า…

ข้าพเจ้าขอวิงวอนต่อท่านว่า ท่านอย่าเพิ่งลงมือเลี้ยงไก่เป็นจำนวนมากเลย เพราะท่านยังขาดความชำนาญซึ่งเป็นข้อสำคัญของการเลี้ยงไก่…ขอท่านได้ตั้งต้นแต่เพียงเลี้ยงไก่จำนวนน้อย ๆ ก่อนเถิด ได้ผลดีแล้วจึงเลี้ยงให้มากสุดแต่ความพอใจของท่าน

และท่านที่มีทุนทรัพย์น้อย ก็ขอให้ท่านตริตรองจงมาก เพราะการเลี้ยงไก่กว่าจะได้ผลต้องเสียเวลาเป็นจำนวนปี…โดยเหตุดังกล่าวมานี้ขอท่านผู้ที่อยากจะทดลองเลี้ยงไก่ทั้งหลายจงตริตรองให้รอบคอบเสียก่อน ถ้าเห็นว่าไม่มีอุปสรรคอันใดที่จะมาขัดขวางแล้ว เชิญท่านทดลองเลี้ยงดูเถิด ข้าพเจ้ามั่นใจอย่างที่สุดว่า การเลี้ยงไก่เป็นอาชีพสำหรับคนไทยได้แน่นอน”

แนวคิดและการทดลองเลี้ยงไก่ของทั้งสามท่านสะท้อนให้เห็นการเริ่มต้นดำเนินการธุรกิจฟาร์มเลี้ยงไก่เชิงพาณิชย์ อันจะนำไปสู่การพัฒนาเป็นอาชีพเพื่อหารายได้และแสวงหากำไรจากผลผลิตในสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรื่อยมาจนถึงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปได้ไม่นาน ซึ่งขณะนั้นประเทศยังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจอยู่ค่อนข้างมาก

อ่านเพิ่มเติม :


อ้างอิง :

สิทธิพร กฤดากร, หม่อมเจ้า. (2514). บทความของและเกี่ยวกับ ม.จ. สิทธิพร กฤดากร, พิมพ์เป็นที่ระลึกถึง ม.จ. สิทธิพร กฤดากร สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.

เพ็ชรน้ำเอกที่กสิกรต้องการ. (2507), พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ รองอำมาตย์เอก หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ (สุวรรณ เราศานนท์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2507. โรงพิมพ์รวมมิตรไทย.

นพมาศ นวรัตน, หม่อมเจ้า. (2504). การทดลองเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมือง. โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย.

นิติศักดิ์ อัศวโชคอนันท์. (2556). พัฒนาการของอุตสาหกรรมไก่เนื้อในประเทศไทย พ.ศ. 2503-2527. วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กรกฎาคม 2564