โหราศาสตร์กับการเมืองไทย สู่ “สงครามจิตวิทยา” ในคราวปฏิวัติ 2475 !?

วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โหราศาสตร์ สงครามจิตวิทยา
ทหารคณะราษฎรตั้งปืนกลรักษาพระนครในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2550)

“โหราศาสตร์” เป็นวิชาแขนงหนึ่งที่มีมาแต่โบราณ นับว่ามีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของผู้คนตั้งแต่สามัญชนไปจนถึงพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะในราชสำนัก ที่การจะทำการสิ่งใดต้องดูฤกษ์ยามเป็นสำคัญ โหราศาสตร์ในราชสำนักจึงมีความโดดเด่นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ที่มีโหรทำนายเรื่องไฟไหม้พระมหาปราสาท ก็เป็นจริงสมคำทำนาย ดังนั้น “โหรหลวง” หรือบรรดาศักดิ์ที่ “พระโหราธิบดี” จึงอยู่คู่กับราชสำนักเรื่อยมา และสืบทอดมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ในสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “โหราศาสตร์กับการเมืองไทย สมัยปฏิวัติ 2475” วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2565 นริศ จรัสจรรยาวงศ์ วิทยากร ได้ไล่เรียงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ซึ่งทำให้เห็นว่า โหราศาสตร์แทรกอยู่ในทุกช่วงเวลามาเสมอ เช่น ครั้งหนึ่งมีซินแสทำนายว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน และรัชกาลที่ 1 ขณะทรงผนวชในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทำนายว่าจะได้ครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ เรื่องนี้มาจากอภินิหารบรรพบุรุษ เป็นเอกสารสมัยหลัง แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า โหราศาสตร์มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยมายาวนาน

รวมทั้งกรณีกรมหลวงลักษณ์รณเรศ สมัยรัชกาลที่ 3, กรณีคุณพุ่ม บุษบาท่าเรือจ้าง สมัยรัชกาลที่ 4, กรณีคำทำนายมกุฎราชกุมารรัสเซีย สมัยรัชกาลที่ 5, กรณีฤกษ์การประกาศสงครามโลกครั้งที่ 1 สมัยรัชกาลที่ 6, กรณีซินแสทำนายว่ารัชกาลที่ 7 จะได้เป็นพระมหากษัตริย์ ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้มีการนำโหราศาสตร์มาใช้ทั้งในทางดีและทางร้าย

ถึงช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรื่องของโหราศาสตร์ก็ยังคงเข้มข้นอยู่มาก โดยเฉพาะใน พ.ศ. 2475 อันเป็นปีที่กรุงรัตนโกสินทร์ครบ 150 ปี นั้น ก็ตรงกับคำทำนายจากจดหมายเหตุกรมหลวงนรินทรเทวี ที่ว่า “…ด้วยชาตาเมืองคอดกิ่วใน 7 ปี 7 เดือน เสร็จสิ้นพระเคราะห์เมือง จะถาวรลำดับถึง 150 ปี…” คือ พระราชวงศ์จะมีอายุถึงแค่ 150 ปี

นอกจากนี้ ยังมีข่าวลือปรากฏในกรุงเทพฯ ซึ่งนริศระบุว่าเป็น “สงครามจิตวิทยา” ข่าวลือมีว่า “…บ้างก็ว่าดวงพระวิญญาณของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจอมนักรบพระนามกระเดื่อง กำลังเสด็จมาทวงบัลลังก์คืน! ยิ่งกว่านั้น ยังมีการยืนยันกันอีกว่า ได้มีผู้พบเห็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนฯ เสด็จมาสำแดงเดชปรากฏพระวรกายให้เห็นในยามค่ำคืนอยู่เนือง ๆ บ้างก็ว่าได้มีผู้พบเห็นตาชีปะขาวมาแสดงปาฏิหาริย์เดินไปเดินมาอยู่บนสะพานพุทธฯ ซึ่งกำลังรอทำพิธีเปิดในวันฉลองพระนครครบรอบ 150 ปี ในยามดึกดื่น แล้วก็อันตรธานหายไป…”

เรื่องเหล่านี้ทำให้ในวันเปิดสะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เมื่อเดือนเมษายน ได้มีการตระเตรียมกำลังอารักขาพระราชวงศ์อย่างเข้มงวดมาก แต่ท้ายสุดก็มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันนั่นเอง

วันเปิด “สะพานพระพุทธยอดฟ้า” เมื่อเดือน เมษายน พ.ศ. 2475

หลังเข้าสู่ระบอบใหม่ โหราศาสตร์ในยุคของคณะราษฎรอาจไม่เข้มข้นเท่าสมัยก่อน จะมีให้เห็นบ้าง เช่น การที่รัชกาลที่ 7 ทรงมอบหมายให้ พระยาโหราธิบดี (แหยม วัชรโชติ) ทำการดูฤกษ์ยามในการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ซึ่งมี 3 ฤกษ์ และสรุปเลือกเอาฤกษ์วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ฝั่งคณะราษฎรก็มีผู้ที่เชื่อถือโหราศาสตร์มาก กรณีพระยาพหลพลพยุหเสนา ที่เคยถูกหมอดูชาวเยอรมันทำนายว่าจะได้เป็นใหญ่เป็นโต และอาศัยอยู่ในวัง (วังปารุสกวัน)

นริศยังอธิบายเรื่องโหราศาสตร์กับพระยาพหลฯ อีกเรื่องว่า “พระยาพหลฯ บอกว่า ตอนที่ประชุมผู้ก่อการ อย่าเกิน 8 คน เพราะว่ามันชงกับปีเกิด แต่ถ้าเกิดเรามองที่ไม่ใช่มุมสายมู มุมของปรีดี ปรีดีจะเป็นคนไม่มีสายมู จะมองเหมือนกับว่า เนื่องจากคณะ ร.ศ. 130 มันเคยผิดพลาด เพราะประชุมกันเยอะ คนเข้า ๆ ออก ๆ สุดท้ายแผนมันรั่ว การประชุมน้อยมันก็มีข้อดีในตัว”

คณะราษฎรส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนอก เรื่องโหราศาสตร์กับชนชั้นนำยุคใหม่จึงไม่เข้มข้นเท่าสมัยก่อน เช่น พิธีวางฤกษ์อนุสาวรีย์ต่าง ๆ เช่น อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ก็ยึดเอาวันที่ 10 ธันวาคม หรืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็ยึดเอาวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันชาติ เป็นวันวางศิลาฤกษ์ นริศกล่าวว่า “เพราะฉะนั้นก็จะมีลักษณะเรื่องของความยึดโยงกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์จริง ๆ แต่ก็อาจมีเรื่องของพิธีกรรม…แต่เราจะไม่เห็นอะไรที่ค่อนข้างซับซ้อน หรือว่ามีความเป็นมูมากในคณะราษฎรเบื้องต้น” 

แต่หลังจากคณะราษฎรเสื่อมอำนาจลง และหลัง พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา เรื่องของ โหราศาสตร์ กลับเข้มข้นขึ้นมาอีกครั้ง เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ติดตามต่อได้ในคลิปรายการสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา

“โหราศาสตร์กับการเมืองไทย สมัยปฏิวัติ 2475” (คลิกที่นี่เพื่อชมคลิป)

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มกราคม 2565