คำอธิษฐานของ “คุณพุ่ม” กวีหญิงคนกล้า สะท้อนมุมมองเบื้องลึกต่อเจ้านายในราชสำนักสยาม

สตรี สมัย รัชกาลที่ 5
สตรีสมัยต้นรัชกาลที่ 5 (ภาพจาก “วิวัฒนาการการแต่งกาย สมัยกรุงรัตนโกสินทร์” กรมศิลปากร)

คุณพุ่ม เป็นสตรีที่ไม่ได้อยู่ในกรอบธรรมเนียมดั้งเดิมในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งช่วงที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีลายพระหัตถ์ถึง สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงตอบโต้วิจารณ์ประทานคำอธิบายในระหว่าง 2 พระองค์เกี่ยวกับวิทยาการต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณคดี ศิลปะ และอักษรศาสตร์ เป็นต้น เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปประทับอยู่ ณ เกาะปีนัง จนถึง พ.ศ. 2486 ซึ่งเป็นปีที่เสด็จกลับมาประทับในประเทศไทย

ลายพระหัตถ์ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงคำอธิษฐาน 12 บท ของ คุณพุ่ม ซึ่งทางคุรุสภาได้จัดพิมพ์ขึ้น ใช้นามหนังสือว่า “สาส์นสมเด็จ” เล่มที่ 13 เห็นว่า น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจใคร่รู้เรื่องราวในคำอธิษฐานดังกล่าว จึงได้ขอนำมาเสนอ ดังต่อไปนี้

แต่ข้อสำคัญที่หม่อมฉันจะทูลนั้น คือ ในสมุดพกนั้นมีคำอธิษฐานของคุณพุ่มธิดาพระยาราชมนตรี (ภู่) จดไว้ครบทั้ง 12 บท มีบอกอธิบายบ้างไม่มีบ้าง หม่อมฉันสันนิษฐานว่า สมเด็จกรมพระสวัสดิ์คงได้ยินผู้ใดผู้หนึ่งท่องถวายได้ครบทั้ง 12 บท จึงตรัสบอกให้พระองค์หญิงอาภาจดไว้ ที่ขาดคำอธิบายไปบางบทเห็นจะเป็นเพราะผู้ท่องไม่รู้อธิบาย

คำอธิษฐานของคุณพุ่มนี้หม่อมฉันเคยได้ยินมา พระองค์ท่านก็เห็นจะเคยได้สดับมา แต่หม่อมฉันไม่เคยได้ยินตลอด ยังจำได้บทเดียวแต่ว่า “ขออย่าให้เป็นระฆังวัดบวรนิเวศ” เท่านั้น คำอธิษฐานเหล่านี้เกือบสูญแล้ว เมื่อมาได้พบครบทั้งชุดจึงยินดี จดถวายมาในจดหมายฉบับนี้ เผื่อท่านจะเคยทรงทราบอธิบายที่ยังบกพร่องอยู่บ้าง และเห็นว่าควรจะรักษาไว้เป็นตัวอักษรอย่าให้สูญไปเสีย

คำอธิษฐานของคุณพุ่ม

ข้อ 1 ขออย่าให้เป็นคนชิดของเจ้าคุณผู้ใหญ่

ข้อ 2 ขออย่าให้เป็นคนใช้ของเจ้าพระยานคร

ข้อ 3 ขออย่าให้เป็นคนต้มน้ำร้อนของพระยาศรี

ข้อ 4 ขออย่าให้เป็นมโหรีของพระยาโคราช

ข้อ 5 ขออย่าให้เป็นลูกสวาสดิ์ของพระองค์ชุมสาย

ข้อ 6 ขออย่าให้เป็นฝีพายของเจ้าฟ้าอาภรณ์

ข้อ 7 ขออย่าให้เป็นละครของแม่น้อยบ้า

ข้อ 8 ขออย่าให้เป็นดวงชะตาของอาจารย์เซ่ง

ข้อ 9 ขออย่าให้เก่งเหมือนคุณหญิงฟัก

ข้อ 10 ขออย่าให้เป็นสมปักของพระนายไวย

ข้อ 11 ขออย่าให้เป็นดอกไม้ของเจ้าคุณวัง

ข้อ 12 ขออย่าให้เป็นระฆังวัดบวรนิเวศ

จะทูลอธิบายคำอธิษฐานเหล่านี้ ตามที่จดไว้ในสมุดพกประกอบกับเรื่องที่หม่อมฉันได้ทราบต่อไป

1. อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นคนชิดของเจ้าคุณผู้ใหญ่” นั้น ไม่มีในสมุดพก แต่หม่อมฉันทราบเรื่องอยู่ เจ้าคุณผู้ใหญ่นั้นคือ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (ต้นสกุลสิงหเสนี) เล่ากันมาว่า เมื่อถืออาญาสิทธิเป็นแม่ทัพไปรบญวนในรัชกาลที่ 3 นั้น ฆ่าคนง่ายๆ แม้คนรับใช้ใกล้ชิด ถ้าทำผิดไม่พอใจก็ให้ฆ่าเสีย

2. อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นคนใช้ของเจ้าพระยานคร” นั้น อธิบายในสมุดพกตรงกับที่เล่ากันคือ เจ้าพระยานคร (น้อย) ชอบใช้คนอย่างนอกรีตต่างๆ ดังเช่น เวลาไปเรือ ถ้าเรือแล่นช้าไม่ทันใจว่าเรือขี้เกียจ ให้ยกขึ้นคว่ำบนบก แล้วให้ฝีพายถองเรือทุกคน คนเรือก็กลัวเจ้าพระยานครไปไหนพายแล่นเร็วเสมอ

3. อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นคนต้มน้ำร้อนของพระยาศรี” นั้น (ในสมุดพกเขียนว่า “ขออย่าให้เป็นน้ำร้อนของพระยาศรี” ไม่ได้ความ นึกได้ตามเคยได้ยินมาว่า “คนต้มน้ำร้อน” เช่นนั้นจึงจะได้ความ) พระยาศรีคนนั้นคือ พระยาศรีสหเทพ (เพ็ง) เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่สมุหนายก ไปตั้งทัพอยู่เเมืองขมร ทางกรุงเทพฯ พระยาศรีได้เป็นอย่างราชเลขานุการกระทรวงมหาดไทย มีคนยำเกรงไปมาหาสู่มากทั้งกลางวันกลางคืน ต้องต้มน้ำร้อนเลี้ยงแขกตั้งวันละ 2 กระถาง คนต้มไม่มีเวลาหยุดมือเลย

4. อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นมโหรีของพระยาโคราช” นั้น คือพระยานครราชสีมา (เห็นจะเป็นคนที่ชื่อว่า ทองอิน ซึ่งภายหลังได้เป็นเจ้าพระยา เมื่อยกศักดิ์เมืองนครราชสีมาขึ้นเป็นเอกในรัชกาลที่ ๓) อยากมีมโหรีเหมือนขุนนางผู้ใหญ่ กรุงเทพฯ เก็บเอาเด็กผู้หญิง พวกลูกเชลย เป็นข่าบ้าง ลาวพวนบ้าง ประสมวงหัดเป็นมโหรี เห็นจะกะมอมกะแมมเต็มที จึงเป็นของสำหรับค่อนกัน

(จากซ้าย) “พระนายไวย” ต่อมาเป็นสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระองค์ชุมสาย” กรมหมื่นราชสีหวิกรม ทรงกำกับกรมช่างศิลาและกรมช่างสิบหมู่ในรัชกาลที่ 4 และ “ทูลกระหม่อมประสาท” พระบรมมไหยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

5. อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นลูกสวาสดิ์ของพระองค์ชุมสาย” นั้น ที่เรียกว่า ลูกสวาสดิ์ ในที่นี้เห็นจะหมายความเพียงว่า เป็นมหาดเล็กตัวโปรด จดอธิบายไว้ในสมุดพกว่าใช้ไม่เลือกว่าการไพร่การผู้ดี แม้ที่สุดจนไกวเปลเด็ก

6. อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นฝีพายของเจ้าฟ้าอาภรณ์” นั้น จดไว้ในสมุดพกว่า เจ้าฟ้าอาภรณ์โปรดให้ฝีพายเรือลำทรงขานยาวร่ำไปจนหัวเรือเกยตลิ่ง (เห็นจะเป็นเมื่อจะเข้าเทียบท่า)

7. อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นละครของแม่น้อยบ้า” นั้น ไม่ทราบเลยทีเดียว ในสมุดพกก็ไม่บอกไว้

8. อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นดวงชะตาของอาจารย์เซ่ง” นั้น อาจารย์เซ่งดูเหมือนจะเป็นพระ ในสมุดพกจดไว้ว่า เป็นผู้ชอบผูกดวงชะตา (เห็นจะมีชื่อเสียงในทางโหราศาสตร์) แม้จนหมาที่เลี้ยงไว้ออกลูกก็ผูกดวงชะตาลูกหมา

9. อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เก่งเหมือนคุณหญิงฟัก” นั้น ใครเป็นคุณหญิงฟักคนนั้นหม่อมฉันไม่เคยได้ยิน จดไว้ในสมุดพกว่า ถ้าโกรธอาจจะถึงแก้ผ้าได้ หม่อมฉันอยากจะขอให้ผ่อนลงมาเพียงขัดเขมรถึงง่ามก้น

10. อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นสมปักของพระนายไวย” นั้น คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เมื่อยังเป็นที่ จมื่นไวยวรนาถ อยู่ในรัชกาลที่ 3 สมปักไหมลายต่างกันตามชั้นยศเป็นของพระราชทานขุนนาง เมื่อทรงตั้งเป็นตำแหน่ง สำหรับให้นุ่งเข้าเฝ้า โดยปกติขุนนางนุ่งผ้าอย่างสามัญ ต่อเมื่อถึงเวลาจะเข้าท้องพระโรง จึงผลัดผ้านุ่งสมปักที่ในวัง (ดูเหมือนมีรูปภาพขุนนางกำลังผลัดผ้าเช่นว่า เขียนไว้ที่ในพระอุโบสถ วัดราชประดิษฐ์) ออกจากเฝ้าก็ผลัดผ้านุ่งผืนเดิมกลับไปบ้าน ชะรอยสมปักพระนายไวย จะใช้อยู่แต่ผืนเดียวนุ่งจนเก่า ไม่มีผืนสำรองสำหรับเปลี่ยน คุณพุ่มจึงแกล้งค่อนให้

11. อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นดอกไม้ของเจ้าคุณวัง” นั้น เจ้าคุณวัง คือ เจ้าจอมมารดาตานี รัชกาลที่ 1 อันเป็นธิดาของเจ้าพระยามหาเสนาบุนนาค เกิดด้วยภรรยาเดิม และเป็นเจ้าจอมมารดาของกรมหมื่นสุรินทรรักษ ท่านชอบและชำนาญการร้อยดอกไม้มาก หม่อมฉันเกิดไม่ทันท่าน แต่ทันได้เห็นเมื่อต้นรัชกาลที่ 5 เวลามีงานในวัง เคยเห็นหม่อมเจ้าหญิงในกรมหมื่นสุรินทรรักษอันเป็นหลานและเป็นศิษย์ของเจ้าคุณวัง เดินตามกันเป็นแถวตั้งห้าหกองค์ เข้าไปร้อยดอกไม้ในงานหลวงเป็นนิจ ที่ คุณพุ่ม อธิษฐานขออย่าให้เป็นดอกไม้ของเจ้าคุณวัง คงหมายความว่า พอผลิก็ถูกเด็ดไม่ได้อยู่จนโรย

12. อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นระฆังวัดบวรนิเวศ” นั้น ธรรมดาวัดย่อมมีกลองและมีระฆัง กิจที่ตีกลองมีวันละ 3 ครั้ง คือ ตีบอกเวลาเพลครั้ง 1 ตีบอกเวลาสิ้นเพลครั้ง 1 ตีบอกให้ส่วนบุญแก่สรรพสัตว์เมื่อไหว้พระสวดมนตร์เสร็จแล้วในเวลาเย็นครั้ง 1 กิจที่ตีระฆังนั้น ตีเมื่อแสงอรุณขึ้นบอกให้พระครองผ้าและเตรียมตัวออกบิณฑบาตครั้ง 1 ตีเวลาพลบค่ำเป็นสัญญาณเรียกพระสงฆ์ให้ไหว้พระสวดมนตร์ครั้ง 1

เมื่อทูลกระหม่อมทรงผนวชเสด็จครองวัดบวรนิเวศ เพิ่มการตีระฆังเรียกพระลงโบสถ์เช้าเวลา 2 โมง กับเวลาค่ำ 2 ทุ่ม เป็นปกติ และให้ตีระฆังเป็นสัณญาณเรียกพระในกิจอย่างอื่นอีก ตกว่าระฆังวัดบวรนิเวศตีมากกว่าวัดอื่นๆ คุณพุ่มจึงเอาไปเข้าในคำอธิษฐาน

คุณพุ่ม นั้นหม่อมฉันเข้าใจว่า ท่านคงรู้จักตัว ด้วยอยู่มาจนรัชกาลที่ 5 ได้เป็นผู้บอกสักวาวงหลวงอยู่หลายปี ดูเหมือนฝากตัวอยู่กับทูลกระหม่อมปราสาทด้วย”

อธิบายความหมายของนามบุคคลที่ปรากฏในคำอธิษฐาน

ก. เจ้าพระยาบดินทรเดชา เกิดแต่ท่านเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) กับท่านผู้หญิงฟัก เมื่อปีระกา พ.ศ. 2320 เป็นปีที่ 10 ในสมัยกรุงธนบุรี บ้านอยู่ริมคลองธนบุรีฝั่งตะวันออก ตอนเชิงสะพานช้างโรงสีหน้ากระทรวงมหาดไทยทุกวันนี้ ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้รับพระราชทานยศโดยลำดับ เป็นจมื่นเสมอใจราช, พระยาเกษตรรักษา, พระยาราชสุภาวดี

จนอายุได้ 53 ปี จึงได้รับพระราชทานฯ เป็น เจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่สมุหนายก ในรัชกาลที่ 3 มีผลงานที่โดนเด่นคือการทำสงครามที่เมืองเขมร ในด้านการศาสนาได้สร้างวัดเทพลิ้นลา ในคลองบางกะปิ ยกบ้านถวายเป็นวัดชื่อว่า วัดไชยชนะสงคราม ฯลฯ ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคปัจจุบัน (อหิวาตกโรค) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2392 สิริรวมอายุได้ 72 ปี

รูปปั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
รูปปั้น “เจ้าคุณผู้ใหญ่” เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ที่วัดจักรวรรดิราชาวาส แม่ทัพผู้ถืออาญาสิทธิ์ไปรบญวนในสมัยรัชกาลที่ 3

ข. เจ้าพระยานคร (น้อย) เกิดเมื่อ วันจันทร์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 10 ปีวอก อัฐศก จ.ศ. 1138 ตรงกับวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2319 เป็นบุตรของ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) กับ เจ้าหญิงปราง ซึ่งเป็นธิดาของพระเจ้าขัตติยราชนิคมสมมติมไหสวรรย์ ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช ผลงานด้านเครื่องถม เช่น พระขรรค์เนาวโลหะ พระแท่นบรรทม พระราชยานถม พระแสงง้าว พระแสงทวนถม และเป็นตา พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเฉลิมวงศ์, กรมขุนศิริธัช และกรมหมื่นมรุพงศ์ด้วย

ค. พระยาศรี คือพระยาศรีสหเทพ (เพ็ง ศรีเพ็ญ)

ง. พระยาโคราช คือ เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน ณ ราชสีมา) เป็นบุตรบุญธรรมประสูติแต่เจ้าหญิงยวน ราชธิดาพระเจ้านครศรีธรรมราช ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระราชทานให้กับเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา)

จ. พระองค์ชุมสาย คือ พระองค์เจ้าชุมสาย เป็นพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 2 กับเจ้าจอมมารดาเอมใหญ่ ประสูติ ณ วันพุธ เดือน 4 แรม 10 ค่ำ ปีชวด พ.ศ. 2359 เวลา 09.30 น. ในรัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาเป็น กรมหมื่นราชสีหวิกรม แล้วเลื่อนเป็น กรมขุนราชสีหวิกรม เมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2410 โปรดเกล้าฯ ให้ทรงกำกับกรมช่างศิลา และกรมช่างสิบหมู่ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4 เมื่อวันศุกร์ เดือน 11 ขึ้น 9 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. 2411 (ปีที่เกิดสุริยคราสเต็มดวง ที่ตำบลหว้ากอ เมืองคลองวาฬ) เป็นต้นราชสกุล ชุมสาย ณ อยุธยา

ฉ. เจ้าฟ้าอาภรณ์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 60 ในรัชกาลที่ 2 ในพระราชชายานารี เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี เป็นต้นราชสกุล อาภรณกุล ณ อยุธยา

ช. บางแห่งระบุว่า แม่น้อยบ้า เป็นธิดาเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน ณ ราชสีมา) แต่เมื่อเปิดดูลำดับสกุล ณ ราชสีมา สายเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน ณ ราชสีมา) พบว่า บุตรของท่านคนหนึ่ง คือ นายศัลยวิไชย หุ้มแพร (ทองคำ ณ ราชสีมา) เป็นสามีของท่านน้อย ท่านน้อยเป็นธิดาของ ท้าวเทพภักดี (ทองรอด) กับ พระยามหาเทพเสพกษัตริย์ (ทองปาน)

ซ. อาจารย์เซ่ง จริงๆ แล้วไม่ใช่พระ แต่เป็น “หลวงศรีปรีชา (เซ่ง) เป็นโหรฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ หรือวังหน้า ได้แต่งหนังสือชื่อ “ศิริวิบูลกิตติ์” เป็นกลบทไว้หลายตอน

ฌ. คุณหญิงฟัก เอกสารบางแห่งว่า เก่งในการใช้อุบาย เช่น นุ่งผ้าวับๆ แวมๆ หลอกให้นายบ่อนเผลอ พรรคพวกก็จะเปิดถ้วยโปดูก่อนจะแทง จนร่ำรวยขึ้นมาจากการพนันบ่อนเบี้ย

ญ. สมปักของพระนายไวย คือ ผ้านุ่งของท่านจมื่นไวยวรนาถ (ช่วง บุนนาค) เป็นผ้าสมปักพื้นเขียว ท่านผู้นี้ชอบนุ่งผ้า “ลอยชาย” แทนที่จะนุ่ง “โจง”

ฎ. ทูลกระหม่อม คือ รัชกาลที่ 4

ฏ. ทูลกระหม่อมปราสาท คือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงลม่อม (พระบรมมไหยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร) ประสูติ วันอังคาร เดือนอ้าย ขึ้น 11 ค่ำ ปีขาล ตรงกับวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2361 ย้ายที่ประทับ ณ พระที่นั่งพิมานรัตยา ในหมู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ด้วยเหตุนี้จึงถูกเรียกว่า “ทูลกระหม่อมปราสาท” แต่นั้นมา

อ่านเพิ่มเติม

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มกราคม 2561