“คุณพุ่ม” โฉมงามคารมดุ ดวลกลอนบุรุษ-แย่งดาบพระปิ่นเกล้าฯ ได้ฉายา “บุษบาท่าเรือจ้าง”

พระปิ่นเกล้า
(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขวา) วัดคฤหบดีอาวาส สร้างบนที่ดินบริเวณบ้านเดิมของจางวานภู่

ถ้าพูดถึงสตรีที่อยู่นอกเหนือจากกรอบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ชื่อของ “คุณพุ่ม” ย่อมต้องเป็นที่รู้จักในฐานะสตรีที่ไม่เพียงรูปโฉมงดงามแล้ว ยังมีคารมคมคาย กล้าโต้ตอบวาจาอย่างเผ็ดร้อนไม่เกรงกลัวใคร ชื่อเสียงแพร่กระจายในหมู่นักเลงกลอนให้แวะเวียนมาต่อคารมกันไม่ขาดสาย

เป็นที่ทราบกันดีว่า ขนมธรรมเนียมประเพณีในแต่ละสมัยเป็นเครื่องกำหนดคุณสมบัติของสตรี ซึ่งมักวางกรอบคุณสมบัติสำคัญของสตรีให้ต้องเรียบร้อย อ่อนหวาน ทำงานบ้านเรือน แต่สำหรับคุณพุ่ม ธิดาของพระยาราชมนตรีบริรักษ์ (ภู่) กลับอยู่นอกเหนือกรอบนั้น

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย บรรยายในหนังสือ “ลูกท่านหลานเธอที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก” ว่า ด้วยความที่บิดาของคุณพุ่ม เป็นผู้มีฐานะ และเป็นคนโปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระยาราชมนตรีบริรักษ์เดิมทีเป็นข้าหลวงคนสนิทเมื่อครั้งรัชกาลที่ 3 ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์) ยิ่งทำให้คุณพุ่มที่มีความงามเป็นที่เลื่องลือและมีความสามารถในการแต่งบทสักรวาได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นสตรีที่คุณสมบัติพิเศษ มั่นใจในตัวเอง ความคิดอ่านแตกต่างจากสตรีร่วมสมัยในยุคนั้น

บิดาของคุณพุ่มนำธิดาถวายตัวเข้ารับราชการเป็นข้าราชสำนักฝ่ายใน เป็นเจ้าพนักงานพระแสง ด้วยคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างจากสตรีร่วมสมัย คุณพุ่มเป็นผู้รักอิสระเสรี ไม่ชอบอยู่ในกรอบประเพณี จึงกราบถวายบังคมลากลับบ้านโดยอ้างว่าไม่สบาย เวลาที่อยู่ในที่พักอาศัยก็มักให้ความสนิทสนมกับผู้ชื่นชอบในเชิงกลอนกวี แน่นอนว่ากลุ่มนี้ก็มักเป็นบุรุษในสังคมชนชั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชสำนัก หรือเสนาบดี

ครั้งหนึ่งคุณพุ่ม โต้ตอบกับกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ นักเพลงยาวและสักรวาแถวหน้าในสมัยนั้น ก็โต้คารมกันอย่างดุเดือด หลังจากกรมหลวงภูวเนตรฯ ยั่วเย้าด้วยคารม 2 แง่ ว่า (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

“สักรวาวันนี้ที่สังเกต เหมือนพุ่มพวงดวงเนตรของเชษฐา มิได้เล่นลับลี้หลายปีมา…”

ส่วนคุณพุ่มโต้กลับด้วยคารมที่มีความหมายค่อนข้างรุนแรงว่า (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

“สักรวาน่าจะโห่ให้เรือล่ม นี่ฤากรมภูวเนตรฯ เศษสวรรค์ เอานายทิมเข้ามาทวนพอควรกัน เหมือนย่างหั่นใบขี้เหล็กให้เด็กตำ…”

การโต้ตอบนี้เป็นอีกหนึ่งเหตุที่สะท้อนว่าทำไมคุณพุ่มจึงมีชื่อลือเลื่องในหมู่นักเลงกลอน และมักมีบุรุษเวียนมาต่อความ หาความเพลิดเพลินและสัมผัสรสหวานเปรี้ยวคลุกเผ็ดร้อนอยู่บ่อยครั้ง

ศันสนีย์ บรรยายว่า ในบรรดาบุรุษที่เวียนมา ณ แพท่าพระ ที่อยู่เดิมของสุนทรภู่ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินโปรดพระราชทานให้เป็นที่อยู่ของจางวางภู่ (นามเดิมของพระยาราชมนตรีบริรักษ์ บิดาของคุณพุ่ม) ในจำนวนนี้มีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ครั้งยังเป็นหลวงนายสิทธิ์ รวมอยู่ด้วย

การใช้สักรวาเป็นสื่อกลางในการแลกไมตรีทำให้คุณพุ่มสนิทสนมกับกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ อย่างเปิดเผย เมื่อเล่นสักรวาเรื่องอิเหนา ศันสนีย์ บรรยายว่า ผู้ว่าสักรวาบทอิเหนาคือกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ส่วนบทบุษบาก็คือคุณพุ่ม เชื่อว่าสมญา “บุษบาท่าเรือจ้าง” ก็น่าจะมาจากการเล่นสักรวาบทนี้

นอกจากวีรกรรมข้างต้นแล้ว อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เป็นที่เล่าขานกันต่อมาคือ เรื่องเล่นเข้าแย่งพระแสงดาบจากกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่นอกกรอบประเพณีในสมัยนั้นจนเป็นที่โจษจันกันแพร่หลาย หมื่นนิพนธ์พจนนาดด์ (ดิศ) ผู้เป็นอาลักษณ์เมื่อพ.ศ. 2420 ก็ยังเล่นสักรวาถวายหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยที่เวลานั้น พระปิ่นเกล้าฯ เสด็จสวรรคตนานกว่า 10 ปีแล้ว

“สักรวาปันหยีครูเจ้าชู้ใหญ่ แลเห็นไก่แพ้วิ่งนึกกริ่งจิต อุณากรรณคนนี้เคยมีฤทธิ์ เมื่อครั้งติดสักรวาที่ท่าช้าง แต่ยังสาวคราวเป็นบุษบา ยังเข้าคร่าดาบอิเหนาเอามาบ้าง อิเหนาเก่งนักเลงแท้ยังแพ้นาง นี่อย่าวางเม็ดเหมือนคราวเป็นสาวเอย”

ครั้งนั้นคุณพุ่ม โต้ว่า

“สักรวาอุณากรรณเทวัญแปลง แอบนั่งแฝงมุลี่ทำทีเก้อ ไก่ปันหยีตีแพ้ชะแง้เง้อ คนร้องเออเสียงอึงตะลึงแล ไก่เป็นรองร้องว่าเรื่องท่าพระ พูดเกะกะว่ากล่าวความเก่าแก่ ว่าไปแย่งดาบฝรั่งที่หลังแพ พูดให้แน่นะปันหยีข้อนี้เอย ฯ”

นอกเหนือจากบทสักรวาที่ผู้คนจดจำและเล่าขานกันแล้ว บทกวีของคุณพุ่มว่าด้วยคำอธิษฐาน 12 ข้อ ก็เป็นอีกหนึ่งกวีที่สะท้อนอุปนิสัยที่เปี่ยมไปด้วยความกล้าและอารมณ์ขัน ไปจนถึงแนวคิดต่อบุคคลแวดล้อมของคุณพุ่มได้

หลังกาลเวลาผ่านวัยสาวที่ใช้ชีวิตอย่างอิสระเต็มที่ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าคุณพุ่มปลงใจรักชายใด ช่วงท้ายของชีวิตคุณพุ่มอยู่ในอุปการะของสมเด็จฯ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเสียชีวิตเมื่อใด

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง:

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 มกราคม 2562