“พี่เถรจะเอาสมบัติหรือไม่..ถ้าไม่เอาหม่อมฉันจะได้เอา” พระปิ่นเกล้า ตรัสเล่นหรือจริง?

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิ่นเกล้า ในชุด ทหารเรือ
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระปิ่นเกล้า หรือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยมีพระราชดำรัสว่า “—พี่เถรจะเอาสมบัติหรือไม่เอา ถ้าเอาก็รีบสึกไปเถอะ ถ้าไม่เอาหม่อมฉันจะได้เอา—” โดยเกิดขึ้นเมื่อ พระปิ่นเกล้า ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ขณะที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรใกล้จะเสด็จสวรรคต ตามประเพณีสืบราชสันตติวงศ์ พระราชสมบัติจะต้องตกแก่สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ พระราชโอรสที่ประสูติแต่พระอัครมเหสี แต่ขณะนั้นทรงอยู่ในเพศบรรพชิต

พระราชดำรัสดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักประวัติศาสตร์ว่า สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ตรัสเล่นหรือตรัสจริง ซึ่งยังคงทิ้งไว้ให้เป็นปัญหาจนบัดนี้ หากจะพิจารณาจากพระอุปนิสัยและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของเจ้านายทั้ง 2 พระองค์ ก็อาจได้คำตอบของปัญหานี้

Advertisement

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระอัครมเหสี จึงทรงมีสิทธิ์ในพระราชบัลลังก์อย่างชอบธรรมตามพระราชประเพณีการสืบราชสันตติวงศ์

แต่ขณะที่สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคตนั้น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ซึ่งมีพระชันษาแก่กว่าสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎถึง 17 ปี แม้พระมารดาจะเป็นเพียงเจ้าจอมมารดา แต่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็เป็นพระราชโอรสที่ไว้วางพระราชหฤทัย ให้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจบริหารบ้านเมืองต่างพระเนตรพระกรรณในหน่วยงานสำคัญๆ และทรงมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการบริหารแผ่นดินตั้งแต่สมเด็จพระบรมชนกนาถยังทรงพระชนม์อยู่ จนเป็นที่ยอมรับของเหล่าเสนาบดี

ในขณะที่สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎกำลังทรงศึกษาวิชาความรู้สำหรับองค์รัชทายาท ยังไม่ทรงมีประสบการณ์ในกิจการบ้านเมือง ที่ประชุมเสนาบดีจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ทูลเชิญกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สืบต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ในรัชสมัยนี้มีเหตุให้สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎต้องทรงผนวช และทรงอยู่ในสมณเพศจนตลอดรัชสมัย เป็นเวลาถึง 27 ปี

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จสวรรคตนั้น ทรงพระราชปรารภถึงผู้ที่สมควรจะสืบราชสมบัติว่า “—ที่สติปัญญาพอจะรักษาแผ่นดินอยู่ได้ ก็เห็นแต่ท่านฟ้าใหญ่ท่านฟ้าน้อย 2 พระองค์—”

ขณะนั้นท่านฟ้าใหญ่ยังคงประทับจำพรรษาอยู่ ณ วัดบวรนิเวศ ดังนั้น พระดำรัสถามเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ที่ว่า

“—พี่เถรจะเอาสมบัติหรือไม่เอา ถ้าเอาก็รีบสึกไปเถอะ ถ้าไม่เอาหม่อมฉันจะได้เอา—”

ซึ่งในที่สุดพระภิกษุสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎก็ได้ทรงลาผนวช และเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้โปรดสถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระราชอนุชา เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 ด้วยเหตุผลที่ว่าพระราชอนุชาพระองค์นี้มีดวงพระชะตาแรงกล้า ดวงพระชะตาเช่นนี้จะต้องได้เป็นถึงพระเจ้าแผ่นดิน หากทรงรับพระราชสมบัติเพียงพระองค์เดียวจะเกิดอัปมงคลด้วยไปกีดพระบารมีพระราชอนุชา

คลิกอ่านเพิ่มเติม : จริงหรือที่พระชะตา “พระปิ่นเกล้าฯ” แรงจน “พระจอมเกล้าฯ” ตรัสให้ถวายราชสมบัติด้วยกันสองพระองค์?

พระราชดำรัสประโยคแรกก็เป็นอันสิ้นกังขา เพราะได้ทรงลาผนวชมารับราชสมบัติแล้ว คงเหลือประโยคที่ว่า “—ถ้าไม่เอาหม่อมฉันจะได้เอา—” ก็ยังคงเป็นปัญหาให้ขบคิดว่า พระปิ่นเกล้า ตรัสเย้าหยอกพระเชษฐาตามพระอุปนิสัยของพระองค์หรือไม่

พระอุปนิสัยนี้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาคนทั่วไปคือ ทรงชอบการสนุกและไม่ทรงชอบการพิธีรีตอง แม้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเชษฐา ก็ยังทรงกล่าวถึงพระอุปนิสัยของเจ้านายพระองค์นี้ว่า

“—ท่านฟ้าน้อยเล่าก็มีสติปัญญารู้วิชาการช่างและการทหารต่างๆ อยู่ แต่ไม่พอใจทำราชการ รักแต่การเล่นสนุกเท่านั้น—”

แต่ในความรักการเล่นสนุกนั้น สมเด็จเจ้าฟ้าชายหนุ่มทรงทราบถึงสถานการณ์บ้านเมือง และสถานภาพของพระองค์เองเป็นอย่างดี ท่ามกลางความยุ่งยากอึมครึมกับความระแวงแคลงใจ ชิงไหวชิงพริบกันระหว่างสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎกับพระเจ้าแผ่นดิน ยิ่งมีข่าวลือแพร่หลายว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะโปรดสถาปนาพระองค์ให้ทรงดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช ก็ยิ่งจะทำให้สถานภาพของพระองค์ยุ่งยากเป็นทวีคูณ ดังนั้น การที่ทรงถูกมองว่าทรงรักการเล่นสนุกนั้นก็น่าที่จะทำให้พระองค์ถูกเพ่งเล็งน้อยลง

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ สนพระทัยเกี่ยวกับเครื่องยนต์กลไกและการช่างแบบสมัยใหม่ ตั้งแต่กลไกชิ้นเล็กๆ คือเครื่องกลไกของนาฬิกา โปรดการซ่อมนาฬิกาเพื่อศึกษากลไกของมัน ถึงกับโปรดให้เปิดเรือนเล็กๆ ที่มีบานกระจกหน้าเรือนปิดป้ายอักษรทองว่าที่นี้ทำแลแก้นาฬิกาพก นาฬิกาซุ้มซึ่งมักจะเห็นพระองค์ทรงแว่นขยายชนิดติดตาท่ามกลางชิ้นส่วนเล็กๆ ของเครื่องนาฬิกาเป็นจำนวนมาก

เครื่องยนต์กลไกขนาดใหญ่ที่ให้ความสนพระทัย คือ การต่อเรือ ทรงศึกษาวิธีการต่อเรือโดยใช้เครื่องจักรกลตามแบบยุโรป และประสบผลสำเร็จสามารถใช้แล่นในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ สืบเนื่องจากความสนพระทัยเรื่องเรือ จึงเลยไปถึงเรื่องการทหาร จนมีข่าวเล่าลือว่า ทรงซ่องสุมกำลังรี้พล จึงต้องทรงถอยห่างจากความชอบในด้านนี้

โดยทรงหันไปสนพระทัยในวิทยาการการแพทย์สมัยใหม่ เช่น ทรงสนับสนุนให้สตรีไทยคลอดบุตรตามแบบตะวันตก จนเป็นที่รู้กันในหมู่ชาวตะวันตกที่ทรงคบค้าสมาคม ด้วยว่าในการสนทนากันนั้น พระองค์จะทรงหลีกเลี่ยงการสนทนาเรื่องการเมือง ดังที่ เซอร์จอห์น เบาริ่ง บันทึกไว้ว่า

“—วังหน้ามักจะทรงหลีกไม่ค่อยจะรับสั่งถึงเรื่องทางราชการแผ่นดิน—”

นอกจากความสนพระทัยเพื่อเบี่ยงเบนให้ห่างจากการเมืองแล้ว ยังต้องกล่าวถึงพระอุปนิสัยของทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งตรงข้ามกัน กล่าวคือ พระปิ่นเกล้า ทรงดำเนินพระชนมชีพง่ายๆ สนุกสนานไม่ใคร่จะมีพิธีรีตอง เล่ากันว่ามักเสด็จออกให้ข้าราชการเฝ้าธรรมดาที่โรงรถ นอกจากจะมีการพระราชพิธี จึงจะเสด็จออกให้เฝ้าที่ท้องพระโรง และมักเสด็จตามที่ต่างๆ ลำพังพระองค์ด้วยการทรงขี่ม้าหรือมีผู้ติดตามเพียงคนเดียว เป็นต้น

ในขณะที่สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎทรงเคร่งขรึมเคร่งครัดกับระเบียบวินัยและมีพิธีรีตอง พระองค์จึงมักขวางพระเนตรในการกระทำแปลกๆ ของพระราชอนุชา และทรงค่อนขอด เช่น ครั้งเสด็จฯ ผ่านพระราชวังเดิม ทอดพระเนตรเห็นธงยอดเสา ซึ่งพระราชอนุชาทรงสั่งให้ชักขึ้นไว้ ก็ทรงค่อนว่า นั่นฟ้าน้อย เอาผ้าขี้ริ้วขึ้นไปตากไว้ทำไมและมักทรงวิจารณ์ทำนองค่อนแคะประชดประชันพระราชอนุชาว่า

“—วังหน้า เป็นหนุ่มแข็งแรง ขี่ช้างน้ำมัน ขี่ม้าเทศสูงสามศอกเศษ ยิงปืนทุกวัน ชอบการทหารมาก มีวิทยาอาคมดี ฤๅษีมุนีแพทย์ หมอมีวิทยานับถือเข้าอยู่ด้วยมาก ผู้หญิงก็รักมาก เลี้ยงลูกเมียดี—”

ส่วน พระปิ่นเกล้า ก็มักตรัสทำนองล้อเลียนหยอกเย้าสมเด็จพระเชษฐาเสมอๆ แม้คำตรัสเรียกพระเชษฐาก็ทรงเรียกว่าพี่ทิดบ้าง พี่เถรบ้าง และมักตรัสค่อนว่าแก่วัดและมักทรงล้อเลียนการกระทำบางอย่างของพระเชษฐา เช่น ครั้งหนึ่งพระเชษฐาทรงส่งชาจีนอย่างดีมาพระราชทาน เพราะทรงทราบว่าพระราชอนุชาโปรดเสวยน้ำชา เมื่อทรงลองจิบดูก็รับสั่งล้อว่า พุทโธ่ นี่มันชาบังสุกุลนี่นา

การแสดงออกของเจ้านายทั้ง 2 พระองค์นี้ ผู้คนภายนอกที่ไม่รู้เรื่องราวลึกซึ้งมักจะเข้าใจกันว่าทั้ง 2 พระองค์ไม่ทรงลงรอยกัน ดังเช่น ดร. แบรดเลย์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคบค้าให้ความสนิทสนม เพราะสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการแพทย์สมัยใหม่

ดร. แบรดเลย์มีความนิยมนับถือเจ้านายพระองค์นี้เป็นที่สุด จึงมักสรรเสริญถึงความรู้ความสามารถของพระองค์ในสถานที่ต่างๆ เนืองๆ ซึ่งน่าจะเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกิดความระแวงแคลงใจบ้าง ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

“—ถ้าจะว่าในส่วนวังหน้ากับวังหลวง ไม่สู้ปกติเรียบร้อย เหมือนรัชกาลที่ ๒ ด้วยเหตุว่าวังหลวงทรงระแวงอยู่แต่เดิมแล้วว่าจะมีคนนิยมวังหน้ามาก ส่วนวังหน้าเล่า ท่านจะทรงการอะไรมักจะซู่ซ่าเกินไป และมีผู้เขี่ยกลางอยู่ด้วยบ้าง—”

แต่เหตุการณ์ทั้งหมดก็คลี่คลายลง เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ว่า

“—ขณะที่ทั้ง ๒ พระองค์อยู่กันโดยลำพัง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จเข้ามากอดพระบาททรงพระกรรแสงว่า หาช่องที่จะกราบทูลอยู่ช้านานแล้ว ก็ไม่มีโอกาส บัดนี้ไม่มีใคร จะขอกราบบังคมทูลแสดงน้ำใจที่ซื่อสัตย์สุจริตต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท มีผู้กราบบังคมทูลกล่าวโทษว่าสะสมเครื่องศัสตราวุธ กระสุนดินดำไว้ ก็ได้สะสมไว้จริง มีอยู่มากไม่นึกกลัวใคร แต่เป็นความสัตย์จริงที่จะได้คิดประทุษร้ายต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทไม่มีเลยสักขณะจิตหนึ่ง แล้วถวายสัตย์สาบานเป็นอันมาก ซึ่งตระเตรียมไว้นั้นเพื่อจะป้องกันผู้อื่นเท่านั้น ทูลกระหม่อมก็ทรงพระกันแสงกอดพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ และทรงแสดงความเชื่อถือ มิได้มีความรังเกียจอันใดในข้อนั้น—”

จากเรื่องราวและหลักฐานต่างๆ ที่ยกมากล่าวนี้ น่าจะเป็นคำตอบของปัญหาที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ตรัสกับพระภิกษุสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎที่ว่า “—พี่เถรจะเอาสมบัติหรือไม่เอา ถ้าเอาก็รีบสึกไปเถอะ ถ้าไม่เอาหม่อมฉันจะได้เอา—” นั้นเป็นคำตรัสเล่นหรือตรัสจริง

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2564