รู้จักโหร-หมอดู ผู้กำหนดฤกษ์สำคัญให้ผู้นำ ใครคำนวณฤกษ์รัฐประหาร 2490

ปกหน้าและปกหลังนิตยสารโหราจารย์การเมือง มีนาคม 2517
ปกหน้าและปกหลังนิตยสารโหราจารย์การเมือง มีนาคม 2517

ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ สื่อต่างๆ มักจะเชิญหมอดูชื่อดัง, โหรฝีมือดี มาทายทักดวงบ้านเมือง ดวงบุคคลตามลัคนาราศีต่างๆ ในปีหน้าว่าจะเป็นเช่นไร เป็นธรรมเนียมเช่นนี้มาแทบทุกปี

นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมกราคม 2565 ก็นำเสนอบทความเกี่ยวกับหมอดูคนดังกับดวงของบ้านเมืองเช่นกัน เพียงแต่ชวนมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ กับโหร/หมอดูผู้กำหนดฤกษ์ยามให้กับผู้นำบ้านเมืองในพระราชพิธีของรัฐ หรือภารกิจสำคัญชนิดเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ฯลฯ ในบทความที่ชื่อว่า “โหราจารย์การเมืองสมัยปฏิวัติ 2475” โดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์

โหร/หมอดูคนสำคัญที่ นริศ จรัสจรรยาวงศ์ รวบรวมข้อมูลมานำเสนอ มีตั้งแต่โหรอาชีพที่คำนวณแม่นยำ, พระสงฆ์ผู้มีความสามารถด้านโหราศาสตร์, นายแพทย์และนายทหารผู้สนใจศึกษาโหราศาสตร์จนมีความสามารถขั้นเทพ ฯลฯ ดังเช่นตัวอย่างต่อไปนี้

พระยาโหราธิบดี

พระยาโหราธิบดี (แหยม วัชรโชติ พ.ศ. 2411-94) รับราชการนับแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ในกิจการของสำนักโหรหลวงเรื่อยมา ถึง พ.ศ. 2462 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาโหราธิบดี” ซึ่งเป็นท่านสุดท้ายของกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาโหราธิบดี (แหยม วัชรโชติ) มีผลงานสำคัญพอสรุปได้ดังนี้

พ.ศ. 2453 เป็นผู้ถวายพระฤกษ์บรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 6

พ.ศ. 2468 เป็นผู้ถวายพระฤกษ์บรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 7

พ.ศ. 2475 เป็นผู้ถวายพระฤกษ์ฉลองพระนครครบ 150 ปี (เปิดสะพานพุทธฯ) เมื่อช่วงต้นปี

พ.ศ. 2475 เป็นผู้ถวายพระฤกษ์พระราชทานรัฐธรรมนูญ ว่าควรเป็นวันที่ 10 ธันวาคม 2475

พ.ศ. 2493 เป็นผู้ถวายพระฤกษ์บรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 และเป็นผู้จารึกดวงพระบรมราชสมภพลงบนแผ่นทอง และถวายน้ำสรงพระมุรธาภิเษกรัชกาลที่ 9

ร.อ. ทองคำ ยิ้มกำภู

ร.อ. ทองคำ ยิ้มกำภู (พ.ศ. 2444-2502) นักเรียนนายร้อยที่ต้องออกจากราชการเนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ ที่หันมาเอาจริงด้านโหราศาสตร์จนได้ดี ร.อ. ทองคำเป็นผู้คำนวณฤกษ์ “รัฐประหาร 2490” ดังที่เจ้าภาพงานศพพิมพ์หนังสือแจกเป็นบรรณาการของ ร.อ. ทองคำ ตอนหนึ่งบันทึกไว้ว่า

“ในการกระทำกิจกรรมสำคัญขั้นสุดยอดของ ร้อยเอกทองคำ อีกครั้งหนึ่ง อันได้แก่การวางดวงฤกษ์ทำรัฐประหาร เมื่อเที่ยงคืน 8 พ.ย. 2490 ร้อยเอกทองคำได้ให้ศิษย์คนสนิทที่วางใจได้ ค้นหาดวงชะตาบุคคลสำคัญในวงการเมืองทุกคน เปรียบเทียบกับบุคคลที่ร่วมคิดในการทำรัฐประหารชั้นหัวหน้าควบคุมกำลังต่างๆ

ตลอดจนส่งผู้กรองข่าวไปกรองข่าวประชาชน ทางจังหวัดภาคเหนือ และภาคตะวันออก ผู้กรองข่าวนี้เดินวิธีการเป็นนักโฆษณายารักษาโรคของห้างร้านขายยามีชื่อในกรุงเทพฯ สอง-สามแห่ง ทั้งนี้เพื่อทราบว่าประชาชนตามจังหวัดต่างๆ ชื่นชมยินดีหรือชิงชังรัฐบาลประการใด

ร้อยเอกทองคำให้ทัศนะแก่ศิษย์ว่า ตนเองเป็นผู้กำชีวิตของผู้ร่วมคิดรัฐประหาร หรือที่เรียกกันว่ากบฏ มีโทษชั้นอุกฤษฏ์ ประการแรกถ้าไม่สำเร็จก็ถูกประหารชีวิต ในเรื่องสามก๊ก คือ โจโฉ ซุ่นกวน เล่าปี่ ต่างคนต่างก๊ก มีที่ปรึกษาขบวนศึกอย่างจัดเจน และมีผู้มีความรู้ฤกษ์บนฤกษ์ล่างเท่าๆ กัน แต่การรู้แจ้งแทงใจของคู่ศึกว่ามีน้ำหนักหนักเบานี่สิสำคัญ

ฉะนั้นดวงฤกษ์ของร้อยเอกทองคำ วันทำรัฐประหารจึงต้องทำสมผุสพระเคราะห์ใหม่ทั้งดวงอย่างละเอียด แล้วเทียบกับดวงเมือง ดวงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 10 ธันวาคม ดวงวันเปิดสภาผู้แทนราษฎร สมัยพลเรือตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และที่สุดเมื่อถึงวันลงมือทำการก็สำเร็จภายใน 6 ชั่วโมง ร้อยเอกทองคำกลับเข้าประจำการอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพฤศจิกายน พุทธศักราช 2490 ประจำแผนกเสนาธิการกองทัพที่ 1 และภายหลังย้ายไปประจำกรม”

พลเรือตรี หลวงสุวิชานแพทย์

พลเรือตรี หลวงสุวิชานแพทย์ (อั๋น สุวรรณภาณุ พ.ศ. 2435-2522) แพทย์ใหญ่ทหารเรือ ที่ขึ้นชื่อเรื่องเจริญวิปัสสนาและเป็นที่นับถือว่ามีญาณพิเศษเปี่ยมเมตตาธรรมในการรับช่วยเหลือผู้คน ทั้งช่วยดูฤกษ์ ฯลฯ พลเรือตรี หลวงสุวิชานแพทย์ มีผลงานเรื่องการ “ล้างอาถรรพ์” ต่างๆ ดังนี้

ช่วยทางราชการในจัดสร้างพระบวรราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (สนั่น ศิลากรณ์ ออกแบบ) ณ บริเวณโรงละครแห่งชาติขณะกำลังก่อสร้าง เพื่อล้างอาถรรพ์ที่ลือกันในเวลานั้น เนื่องจากระหว่างสร้างหลวงวิจิตรฯ ถึงแก่อนิจกรรม และผู้รับมอบหมายต่อมาคือ จอมพล ถนอม กิตติขจร ก็ล้มเจ็บลง

พลเรือตรี หลวงสุวิชานแพทย์ ยังเป็นผู้ตั้งศาลพระภูมิพระพรหมสี่หน้า ณ โรงแรมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ เมื่อ พ.ศ. 2497 หลังจากประสบอุปสรรคในงานก่อสร้างมากมาย จน พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโรงแรมได้ติดตามให้มาแก้ปัญหา

ฯลฯ

พ.อ.(พิเศษ) ประจวบ วัชรปาณ

พ.อ.(พิเศษ) ประจวบ วัชรปาณ (พ.ศ. 2455-2515) เป็นคนนครศรีธรรมราช จบหลักสูตรแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นเข้ารับราชการเป็นแพทย์ในกรมแพทย์ทหารบก นอกจากนี้ยังมีความสามารถในศาสตร์แห่งโหร เขาเคยทำนายว่า จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อครั้งยังเป็น “พันโท” ว่า “จะได้ยศสูงสุดในกองทัพบกของไทย”, คำนวณวันตายของตนเองได้อย่างแม่นยำ ฯลฯ

หลังจบสงครามมหาเอเชียบูรพา นายแพทย์ประจวบลาออกจากราชการกลับไปใช้ชีวิตส่วนตัวที่หาดใหญ่และภูเก็ต ที่จอมพลสฤษดิ์โทรเลขไปตามถึง 4 ครั้ง จึงได้ยอมกลับมาช่วยวางฤกษ์ยาม การรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 ที่ พลโท วัลลภ โรจนวิสุทธิ์ เขียนในหนังสืองานศพของนายแพทย์ประจวบไว้ว่า

“ก่อนเวลาลงมือทำการรัฐประหารไม่กี่นาที จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์…ทำการโค่นล้มรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้กล่าวแก่คณะนายทหารฝ่ายอำนวยการประจำตัวท่านว่า “ถ้าทำงานคืนนี้ไม่สำเร็จ ไอ้จวบ. มึงไปกับกูสองคน นอกนั้นไม่ต้อง”

หนังสือยอดขุนพล (จักรวาล ชาญนุวงศ์, สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจการพิมพ์) เล่าเกี่ยวกับปฏิบัติการครั้งนี้ไว้ว่า “แผนปฏิวัติ 2501 ได้เริ่มขึ้น ณ ห้องพักฟื้น แห่งโรงพยาบาลวอร์เตอร์รีด นับเป็นครั้งแรกที่การวางแผนปฏิวัติต้องประชุมข้ามทวีป (ยกเว้นคณะ 2475) ตามฤกษ์ของพันเอก ประจวบ วัชรปาณ โหรประจำตัวของยอดขุนพล คู่สงบคู่สงคราม

 แม้ว่าท่านผู้หญิงวิจิตราจะเกลียดหน้า เหมือนเกลียดไส้เดือนกิ้งกือ ถึงกับประกาศว่า ‘หมอจวบ อย่าเข้ามาในบ้านสี่เสาเป็นอันขาด’ เป็นคำสั่งของท่านผู้หญิงวิจิตรา เคยตัดเยื่อใยให้สิ้นกังขา เพราะหมอประจวบผู้นี้ชอบหาอีหนูมาดู๋ดี๋กับยอดขุนพลมิได้ขาด…

การปฏิวัติครั้งนี้หมอประจวบ กำหนดฤกษ์ 20 ตุลาคม 2501 เวลา 21.00 น. การแสดงบทนี้ หลวงวิจิตรวาทการ เป็นผู้กำกับการแสดง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นพระเอกตามเคย นางเอกก็คนเดิม ดาราคู่ขวัญ สฤษดิ์-วิจิตรา โดยมีออหนอม [ถนอม กิตติขจร – นริศ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น] เป็นตัวประกอบ ส่วนนางเอกไม่สู้จะมีบทบาทมากมายอะไรนัก…21,00 น. ประกาศของคณะปฏิวัติ ซึ่งร่างกันมาบนเครื่องบินก็ดังขึ้นทางเครื่องรับวิทยุกระจายเสียง  (จัดย่อหน้าใหม่โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ก็แค่บางส่วน ขอท่านผู้อ่านได้โปรดติดตามอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมกราคมนี้ แล้วติดตามว่า ยังมีเหตุการณ์สำคัญใดในบ้านเมือง ที่บุคคลระดับผู้นำจำนวนมากเลือกใช้ “ฤกษ์งามยามดี” มาประกอบการตัดสินใจ

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “เทพย์ สาริกบุตร” นักโหราศาสตร์ชั้นครู ผู้เคยให้ฤกษ์คณะรัฐประหารจนต้องหนีบวช?


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มกราคม 2565