“เทพย์ สาริกบุตร” นักโหราศาสตร์ชั้นครู ผู้เคยให้ฤกษ์คณะรัฐประหารจนต้องหนีบวช?

เทพย์ สาริกบุตร นักโหราศาสตร์
เทพย์ สาริกบุตร ในเครื่องแบบ สส. ประเภท 2 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, พฤศจิกายน 2555)

ชื่อ “เทพย์” เป็นนามมงคล หลวงวิศาลดรุณกรผู้เป็นอาตั้งให้ มีความหมายว่าสูงส่งในความรู้ ความสามารถ ส่วนนามสกุล “สาริกบุตร” (Sarikaputra) เป็นนามสกุลพระราชทานลำดับที่ 1247 โดยในหลวงรัชกาลที่ 6 พระราชทานแก่ขุนพิทักษ์นาวา (ขุนทอง) ผู้เป็นต้นตระกูล “สาริกบุตร”

อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร เป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญสายไสยศาสตร์ และพุทธาคม ระดับต้นๆ ของเมืองไทย รวมทั้งเป็น นักโหราศาสตร์ ชั้นเยี่ยมที่หาตัวจับได้ยากคนหนึ่ง เป็นชาวกรุงเทพฯ เกิดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2462 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2536 รวมอายุ 74 ปี วงการศึกษาไสยศาสตร์ พุทธาคม และโหราศาสตร์ถือว่าได้สูญเสียบุคคลสำคัญที่หาใครทดแทนได้ยาก เพราะตลอดชีวิตของท่านได้ทุ่มเทให้กับการศึกษาค้นคว้าศาสตร์ดังกล่าวอย่างเต็มที่

มีบางคนเปรียบเทียบท่านกับ คาร์ล กุสตาฟ จุง* จิตแพทย์ชาวสวิสที่อุทิศเวลาทั้งหมดให้กับการศึกษาค้นคว้า อนาไลติกไซโคโลยี (Analytic Psychology) หรือวิชาจิตวิทยาวิเคราะห์อย่างจริงจัง สาเหตุเสริมส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร มีเศรษฐานะดี ตระกูลขุนนาง มีเงินทองสมบูรณ์ ไม่ต้องปลีกเวลาส่วนหนึ่งไปประกอบการงานหาเลี้ยงชีพ

บิดาของอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร รับราชการ แม้มิได้ระบุนามสายงานและบรรดาศักดิ์ ก็เชื่อว่ามีตำแหน่งค่อนข้างใหญ่ โดยรับราชการทั้งในกรุงเทพฯ และในส่วนภูมิภาค มีประวัติว่า บิดาเป็นศิษย์หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท กับเป็นศิษย์หลวงปู่สี วัดมณีชลขัณฑ์ จังหวัดลพบุรี อีกด้วย

ฝ่ายมารดาของอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร เอง ก็เป็นญาติสนิทกับพันเอก หลวงธรณีนิติญาณ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไสยศาสตร์และดาราศาสตร์เช่นกัน

ส่วนอาคือ หลวงวิศาลดรุณกร (อั้น สาริกบุตร) เคยเป็นอดีตอาจารย์คนแรกของโรงเรียนพลศึกษากลางก่อนจะมาดำรงตำแหน่งอาจารย์ผู้ปกครอง โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย หลวงวิศาลฯ ผู้นี้เป็นผู้เชี่ยวชาญโหราศาสตร์ พุทธาคม กับวิชากรรมฐานแห่งสำนักวัดสิทธาราม ซึ่งมีพระสังวราราม (ชุ่ม) เป็นเจ้าสำนัก พระอาจารย์ชุ่มองค์นี้เป็นผู้เชี่ยวชาญวิปัสสนากรรมฐานอย่างยิ่งองค์หนึ่งในสมัยนั้น

จึงเห็นได้ว่า อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร เติบโตมาจากสภาพแวดล้อม แห่งพุทธาคม ไสยศาสตร์ และโหราศาสตร์มาตั้งแต่ต้น ชวนให้เข้าใจว่าท่านได้ถูกจูงใจหล่อหลอมอย่างสำคัญให้สนใจศึกษาอย่างลึกซึ้งในด้านนี้

เพราะฉะนั้นคราวหนึ่งเมื่อบิดาย้ายไปรับราชการในต่างจังหวัด อาจารย์เทพย์ก็มิได้ติดตามบิดาไปด้วย คือยังคงอยู่ในกรุงเทพฯ ศึกษาแสวงหาวิชาที่อาจเรียกรวมๆ ว่าไสยเวทพุทธาคม อันเป็นความรู้ชั้นยอดทั้งทางพราหมณ์ และทางพุทธ ตามสำนักและวัดต่างๆ ในเบื้องต้น เช่น วัดสามปลื้ม วัดปทุมคงคา วัดสามจีน เป็นต้น สามวัดนี้มีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญวิชาไสยเวทพุทธาคม เชี่ยวชาญการสัก-สักยันต์ ผู้มีชื่อเสียงอันเป็นที่นิยมมากในสมัยนั้นหลายท่านอีกด้วย

จากนั้นจึงไปศึกษาในสำนักพระมหาโต๊ะ วัดราชบูรณะ ด้านการสักยันต์ และวิชากรรมฐาน กับท่านพระครูใบฎีกาเทพย์ สิงหรักษ์ วัดระฆัง ก่อนจะศึกษาไสยศาสตร์กับท่านเจ้าคุณศรี วัดสุทัศน์ ศึกษาวิชาพระยันต์ 108 นะ 14 ตำรับพระวนรัตน์ วัดป่าแก้ว รวมทั้งวิชาหล่อพระชัยวัฒน์และพระกริ่งด้วย ทำให้อาจารย์เทพย์เชี่ยวชาญการหล่อพระกริ่งในเวลาต่อมา ที่รู้จักกันดีก็คือ พระกริ่งปวเรศน้อยที่กระทำการหล่อขึ้นครั้งอุปสมบทที่วัดสีหไกรสร (วัดช่องลม) เขตบางกอกน้อย การอุปสมบทของท่านครั้งนั้นนัยว่ามีปัญหาการให้ฤกษ์กับคณะรัฐประหารคณะหนึ่ง ต่อเมื่อปัญหาได้รับการคลี่คลายแล้วจึงได้ลาสิกขา

หลังจากศึกษาวิชาในสำนักต่างๆ เขตกรุงเทพฯ ธนบุรี ระยะหนึ่ง จึงได้ศึกษาต่อสำนักต่างๆ ในส่วนภูมิภาค เช่น สำนักอาจารย์สี วัดมณีชลขัณฑ์ จังหวัดลพบุรี สำนักหลวงปู่บุญ วัดกลาง บางแก้ว สำนักวัดประดู่โรงธรรม สำนักหลวงปู่เทียม วัดกษัตราธิราช และสำนักหลวงพ่ออั้น วัดพระญาติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้รวมทั้งสำนักหลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน วัดน้อยทอง อยู่กับวัดภุมรินทร์ราชปักษา (วัดทั้งสองวัดนี้ได้ร้างไปแล้วเมื่อครั้งสงครามโลก ครั้งที่ 2)

เมื่ออาจารย์เทพย์ได้ไปศึกษาวิชาจากสำนักต่างๆ ที่ลพบุรีและอยุธยาแล้วระยะหนึ่งก็กลับมาศึกษาต่อกับสำนักต่างๆ ในกรุงเทพมหานครอีก เช่น กับพระครูสมุห์โต๊ด วัดชนะสงคราม และอาจารย์พรหม สำนักวัดพระเชตุพน เป็นต้น

แท้จริงแล้วอาจารย์เทพย์ จะเดินสายศึกษาวิชาไสยเวทพุทธาคมระหว่างกรุงเทพฯ อยุธยา และลพบุรี จนเกือบตลอดชีวิต

สำหรับผลงานของอาจารย์เทพย์ พอที่จะจำแนกได้ มีดังต่อไปนี้ ยกเว้นความเชี่ยวชาญเรื่องไสยศาสตร์ ซึ่งจะพูดถึงในตอนต่อไป คือ เรื่องการสร้างพระกริ่ง มีพระกริ่งหลายชนิดอันเป็นที่นิยมที่อาจารย์เทพย์ได้จัดทำขึ้น เช่น พระกริ่งปวเรศน้อย พระกริ่งจอมสุรินทร์ พระกริ่งเอกาทศรถ พระกริ่งจิตคุโต พระกริ่งดาวเจ็ดดวง และพระกริ่งนวโกฏิ

เครื่องรางของขลัง ตะกรุด และยันต์ในตะกรุด เช่น ตะกรุดมหาจักรพรรดิ ตะกรุดคงกระพัน ตะกรุดดวงพิชัยสงคราม และตะกรุดคู่ชีวิต ทั้งนี้ รวมทั้งการลงยันต์และการทำผง เช่น ผงปถมัง อิทธิเจ ตรีนิสิงเห หัวใจ 108 และมหาราชาด้วย

เป็นเจ้าพิธีสำคัญ เช่น พิธีมหาจักรพรรดิกษัตราธิราช

ความสามารถในการแกะไม้โพธิ์พุทธมนต์ปางห้ามญาติ แกะไม้โพธิ์นิพพาน กับการแกะไม้ภควัมบดีจากไม้รักซ้อนและไม้หึงหายผี สร้างเสื้อยันต์ ผ้ายันต์ เชือกคาดเอว ซึ่งนิยมมากสมัยสงครามอินโดจีน เป็นเครื่องรางยอดนิยมอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ยังทําประคำเจ้าตรึงไตรภพ มีดเทพศาสตร์ (ขณะประกอบพิธีมีฟ้าผ่าลงมาเป็นที่อัศจรรย์) นอกจากนั้นยังทำสีผึ้งเสน่หา และพิธีทำสีผึ้งสามไฟซึ่งดีทางเมตตามหานิยม มีคารมคมคายน่าเชื่อถือ พิธีสุดท้ายทำที่วัดเสน่หา นอกจากนั้นมีการทำเหรียญนารายณ์แปลงรูป และเหรียญพุทธนิมิต

แต่ความขลังที่อาจารย์เทพย์ถูกกล่าวขานอยู่เสมอก็คือ ความสามารถในการสะเดาะกุญแจ ความสามารถในการเสกดอกจำปาให้เป็นแมลงภู่ และเสกสีผึ้งเสน่หาให้คนเมตตารักใคร่

ความสามารถของอาจารย์เทพย์ ตั้งแต่พิธีทำพระกริ่ง จนถึงสีผึ้งเสน่หานั้น ย่อมต้องเป็นผู้ผ่านการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน การเจริญกสิณ และเจริญพุทธมนต์บทต่างๆ มาอย่างยาวนาน และอย่างแคล่วคล่องช่ำชอง

สำหรับความเชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ อาจารย์เทพย์ย่อมอยู่ในแถวหน้าอย่างไม่ต้องสงสัย จะเห็นได้จากปฏิทินโหราศาสตร์ที่อาจารย์จัดทำขึ้น มีความละเอียดประณีตอย่างยิ่ง และเป็นปฏิทินที่สัมพันธ์กับปฏิทินดาราศาสตร์สากลด้วย (ท่านที่สนใจศึกษาได้ที่หอสมุดแห่งชาติ แผนกปรัชญาและศาสนา)

ความเชี่ยวชาญทางโหราศาสตร์ของอาจารย์เทพย์ น่าจะได้รับแรงจูงใจส่วนหนึ่งมาจากหลวงวิศาลดรุณกร (อั้น สาริกบุตร) ผู้เป็นอา ซึ่งเป็นผู้แต่งคัมภีร์โหราศาสตร์ไทยที่ถือกันว่าเป็นตำราชั้นครูในหมู่โหรเล่มหนึ่ง

อนึ่งหลวงวิศาลดรุณกร เคยเป็นครูมวยและเป็นอาจารย์คนแรกของโรงเรียนพลศึกษากลาง ก่อนจะไปเป็นอาจารย์ผู้ปกครองของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ครูมวยทั้งหลายย่อมสัมพันธ์กับคาถาอาคมและเวทมนตร์อยู่แล้ว เช่น วิษณุเวทย์ (วิชาพระนารายณ์ปราบหมู่พาล) เป็นที่แน่นอนว่าเวทมนตร์คาถาเหล่านี้ย่อมส่งต่อถึงอาจารย์เทพย์ด้วยเช่นกัน

จากคำบอกเล่าของลูกสาวอาจารย์เทพย์ คือ คุณพรทิพย์ สาริกบุตร ที่ให้สัมภาษณ์คุณชัยวัฒน์ ตรีวิทยา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2552 ได้ความว่า อาจารย์เทพย์ เคยพยากรณ์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ครั้งมียศเป็นเพียงพันตรีเป็นนายทหารจนๆ บ้านนอก จะได้เป็นใหญ่ในบ้านเมือง ซึ่งคงจะเป็นที่ถูกใจท่านจอมพล หลังจากท่านจอมพลได้กระทำรัฐประหารสำเร็จเมื่อปี 2502 อันน่าจะส่งผลให้อาจารย์เทพย์ได้เป็น ส.ส. ประเภทสองในทันที ขณะนั้นอายุ 40 ปี

ก่อนหน้านั้น เคยมีข่าวว่า ครั้งหนึ่งอาจารย์เทพย์เคยมีปัญหาเรื่องการให้ฤกษ์ยามแก่คณะรัฐประหารคณะหนึ่งจนต้องไปบวชอาศัยร่มเงาสมณเพศ ณ วัดสีหไกรสร บางกอกน้อยนั้น และจำพรรษาอยู่ที่นั่นนานพอควร จนสถานการณ์บ้านเมืองเป็นปกติจึงลาสิกขาในที่สุด (คณะรัฐประหารคณะนั้น อาจเป็นคณะเมื่อปี 2492 ซึ่งอาจารย์เทพย์มีอายุโดยประมาณ 30 ปีเท่านั้น)

คำให้สัมภาษณ์ของคุณพรทิพย์อีกเช่นกันที่บอกว่า อาจารย์เทพย์เคยทำนายเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสำคัญ กับเคยทำนายว่า นายสมัคร สุนทรเวช จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นไม่นานนายสมัครก็ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารที่ใหญ่มาก น้องๆ นายกรัฐมนตรีเหมือนกัน ถือว่าทำนายได้ใกล้เคียง เสียดายที่อาจารย์เทพย์ตายก่อน หาไม่ก็จะได้รู้ว่านายสมัครผู้นั้นได้เป็นนายกรัฐมนตรีจริงๆ ในอีกหลายปีต่อมา

อาจารย์เทพย์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2536 ด้วยโรคเบาหวาน ต้องตัดขาทั้ง 2 ข้าง แต่อาจารย์ก็มีกำลังใจดีเป็นเลิศ ด้วยมีธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ได้รับพระราชทานเพลิงที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน

ผู้เขียนขอขอบพระคุณ ดร. สันติพงศ์ บริบาล แห่งคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กรุณาให้ข้อมูล

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


*คาร์ล กุสตาฟ จุง เป็นลูกศิษย์และมิตรสนิทของซิกมันด์ ฟรอยด์ นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ชาวเยอรมัน เจ้าของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ธันวาคม 2562