ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
บรรดาศาสตร์เก่าแก่ต่างๆ โหราศาสตร์ เป็นศาสตร์หนึ่งที่ยังมีการศึกษา, การใช้งาน และการยอมรับจากสังคม ทั้งแพร่หลาย ไปยังบุคคลระดับต่างๆ ตั้งแต่ประชาชนทั่วไปจนถึงระดับผู้นำประเทศ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นงานเล็ก หรืองานใหญ่ถ้าเจ้าของานนั้นคิดว่ามันสำคัญแล้วล่ะก็ “โหร” และ “ฤกษ์ยาม” ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องทันที
ดังบทความของอิทธิเดช พระเพ็ชร ที่ชื่อว่า “จอมพล สฤษดิ์ โหราศาสตร์ และประวัติศาสตร์การเมืองไทย” ที่รวบรวมให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างโหราศาสตร์กับการเมืองไทย เฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลัง พ.ศ. 2475 ที่เขาอธิบายไว้ ซึ่งในที่นี้ขอยกมาเพียง 2-3 กรณีตัวอย่างดังนี้
พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วันที่ 10 ธันวาคม 2475 อิทธิเดช พระเพ็ชร อธิบายว่า “งานวิชาการประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้ให้ความสำคัญต่องานพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 กระนั้น กลับไม่ค่อยปรากฏงานที่กล่าวถึงที่มาของวันดังกล่าวในเชิงวัฒนธรรมแบบไทยๆ เท่าใดนัก ว่ากำเนิดของวันที่ 10 ธันวาคม มาจากฐานคิดเรื่องอะไร ที่ตั้งข้อสงสัยเช่นนี้เพราะว่า
เมื่อสืบค้นฐานคิดเรื่องงานพระราชทานรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เป็นที่แน่ชัดว่ามาจากมิติเรื่องโหราศาสตร์ ดังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ‘ทรงแนะนำว่าการประกาศรัฐธรรมนูญนั้นเป็นของสำคัญยิ่งใหญ่ควรจะมีพิธีรีตอง จึ่งโปรดเกล้าฯ ให้โหรหลวงหาฤกษ์หายาม’ และวันที่ 10 ธันวาคม เป็นฤกษ์ดีเหมาะสม ‘โดยที่ทรงเห็นว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์เป็นของที่ควรจะขลัง เพราะฉะนั้นต้องการจะเขียนใส่สมุดไทยซึ่งจะกินเวลาหลายวัน’
การร่างรัฐธรรมนูญในระบอบการเมืองใหม่เป็นเรื่องสำคัญทางการเมืองอย่างปฏิเสธมิได้ ทว่า ฤกษ์งามยามดีของวันที่ 10 ธันวาคม กลับเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่กำหนดความเป็นไปและพฤติกรรมทางการเมือง กล่าวคือ ความเชื่อทางโหราศาสตร์ได้มีอิทธิพลทางการเมืองอย่างสูง เพราะฤกษ์ยามวันดังกล่าว ทำให้สภาต้องพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จอย่าง “รีบเร่ง” ทั้งเช้าและบ่ายติดต่อกันในเวลาเพียง 4 วัน เพื่อให้ทันฤกษ์ของโหรหลวง”
การรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ผู้เขียน (อิทธิเดช) คัดย่องานวิชาการของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ตอนหนึ่งแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ว่า
“ผมขอพูดถึงคนคนหนึ่งที่บอกว่าเป็นการรัฐประหารแบบไทยจริงๆ ชื่ออาจจะดูแปลกๆ คือร้อยตรีทองคำ ยิ้มกำภู คนนี้เป็นโหร เป็นคนรับหน้าที่ไปดูฤกษ์ยามว่าจะรัฐประหารวันไหนดี วันไหนหลวงธำรงฯ นายปรีดี ดวงจะตก จะได้กำหนดวันนั้นเป็นวันก่อการรัฐประหาร ซึ่งอันนี้ชี้ให้เห็นถึงการเป็นรัฐประหารแบบไทยจริงๆ…คือ 2475 นั้นพระยาพหลฯ ไม่เชื่อโหรคนไหน ไม่ดูดวง ไม่ดูฤกษ์ แต่ 2490 มีคนกำหนดฤกษ์ยาม…”
ร้อยตรีทองคำ ยิ้มกำภู เป็นนายทหารกองหนุนที่น่าจะมีชื่อเสียงทางโหราศาสตร์มาในช่วงทศวรรษ 2480 มีผลงานที่มีชื่อเสียงเช่น “ตำราโหราศาสตร์ภาคคำนวณแบบรัตนโกสินทร์ หรือคำภีร์ผูกดวงพิชัยสงคราม” ในหนังสือพิมพ์แจกงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงเทวานิมิตร (เนื่อง หัตถพันธ์) ใน พ.ศ. 2482 และ(อาจ)เคยเขียนคำทำนายทางโหราศาสตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองลงในหนังสือพิมพ์ไท รายสัปดาห์ในช่วงก่อนรัฐประหาร พ.ศ. 2490
กรณีของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้นำที่มีโหรประจำตัวถึง 2 คน คอยตรวจเช็คดูดวงชะตา เพื่อเป็นปัจจัยในการตัดสินใจ คือ โหรเทพย์ สาริกบุตร และ โหรประจวบ วัชรปาณ
พลเอกกฤษณ์ สีวะรา เล่าถึงความสามารถโหรประจวบ วัชรปาณ และความเชื่อถือของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อคราวสงครามมหาเอเชียบูรพาประมาณ พ.ศ. 2483 เวลานั้น ร้อยโท ประจวบเป็นผู้บังคับหมวดเสนารักษ์ประจำกองพันทหารราบที่ 33 ซึ่งมี พันตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้บังคับกองพัน ว่า
“…หมอประจวบเป็นหมอหลายสาขา ฉะนั้นในการรบครั้งสำคัญๆ ร.พัน 33 จะจัดพิธีทางไสยศาสตร์ก่อนพวกเราจะออกรบเสมอ อาจารย์หมอประจวบ จะจัดเตรียมพิธีทางไสยศาสตร์อย่างครบถ้วน ตัวเองอาบน้ำชำระร่างกายอย่างหมดจด นุ่งขาวห่มขาวนั่งบริกรรมคาถาอย่างมีสมาธิกล้า
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในฐานะผู้บังคับกองพัน ร.พัน 33 ก็จะจัดดอกไม้เจ็ดสีพร้อมธูปเทียน หมอบคลานเข้าไปกราบอาจารย์ รับการลงกระหม่อมประพรมน้ำมนต์เพื่อความมีชัยและศิริมงคล ต่อจากนั้นนายทหารทุกคนก็จะเรียงกันเข้าไปรับการทำพิธีทีละคนจนถ้วนทั่วทุกตัวคน
และประหลาดมาก การรบที่เกิดขึ้นนั้น แม้เราจะเพลี่ยงพล้ำขนาดหนักก็แคล้วคลาดรอดมาด้วยความเสียหายแต่น้อยทุกที เวลาชนะรุกไล่ข้าศึกก็ดูขวัญทหารเริงใจกันดี แม้จะเหนื่อยอ่อนแทบขาดใจ”
น่าสนใจว่า เรื่องโหราศาสตร์กับการเมืองไทย นอกจากจะเป็นทั้งกลยุทธ์และขวัญกำลังใจที่ส่งเสริมหรือมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางการเมืองแล้ว เพราะไม่ว่าวิชาการและวิทยาการจะก้าวหน้าไปเพียงใด “โหราศาสตร์” ก็ยังอยู่ยืนยง
ข้อมูลจาก :
อิทธิเดช พระเพ็ชร. “จอมพล สฤษดิ์ โหราศาสตร์ และประวัติศาสตร์การเมืองไทย” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนธันวาคม 2563.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มกราคม 2564