สภาพเมืองบุรีรัมย์เมื่อ 2477 จากปากส.ส.บุรีรัมย์คนแรก เมืองเก่าท่ามกลางขอม

ขนวนแห่งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษของบุรีรัมย์

บุรีรัมย์ ปัจจุบันเป็นจังหวัดใหญ่แห่งหนึ่งในภาคอีสาน มีพัฒนาการทุกมิติ โดยเฉพาะเชิงเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

แต่ บุรีรัมย์ ในอดีต เมื่อเกือบร้อยปีก่อนเป็นอย่างไร ลองนึกภาพตามสิ่งที่ผู้แทนราษฎรบุรีรัมย์คนแรกคือ นายพันตรีหลวงศักดิ์รณการ กล่าวไว้ทางวิทยุกระจายเสียง เมื่อวันที่ 8 มกราคม พุทธศักราช 2477 และมีตีพิมพ์ในหนังสือ “ปาฐกถาของผู้แทนราษฎร เรื่องสภาพจังหวัดต่างๆ” ซึ่งขอยกมานำเสนอบางส่วน ดังนี้ (ย่อหน้า เว้นวรรค และเน้นคำ โดย กอง บก. ออนไลน์)


 

บุรีรัมย์ เป็นจังหวัดหนึ่งซึ่งเร้นลับอยู่ชายด้าวปลายแดน เมื่อเอ่ยถึงชื่อก็หาผู้ที่รู้จักสภาพและความเป็นอยู่ของจังหวัดนี้ได้น้อยเต็มที ทั้งนี้เพราะจังหวัดนี้เป็นจังหวัดที่มีความเจริญน้อย ไม่เคยมีชื่อเสียงปรากฏในพงศาวดาร จึงไม่อยู่ในห้วงนึกของนักท่องเที่ยว หรือนักศึกษาทั้งหลายดุจจังหวัดอื่น ๆ

แท้จริง จังหวัดนี้เป็นเมืองเก่ามานมนาน เคยเป็นดินแดนอันตั้งอยู่ท่ามกลางความเจริญของชาติขอม หลังเมื่อขอมเสื่อมอำนาจบ้านเมืองทรุดโทรมลง ต่อเมื่อชาติไทยแผ่อำนาจลงมาปกครองดินแดนแถบนี้จึงได้ฟื้นฟูสถานะของบ้านเมืองให้รุ่งเรืองขึ้นมาจนทุกวันนี้…

จังหวัดนี้แบ่งออกเป็น 4 อำเภอ คืออำเภอเมืองบุรีรัมย์ อำเภอนางรอง อำเภอตะลุง และอำเภอพุทไธสง มีบ้านอยู่ 33 ตำบล มีเนื้อที่ประมาณ 8,362,04 กิโลตารางเหลี่ยม ระยะทางห่างจากศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ประมาณ 109 กิโลเมตร (2,725 เส้น) คือ จังหวัดนี้ตั้งอยู่ในระหว่างจังหวัดนครราชสีมากับจังหวัดสุรินทร์…

พลเมืองมีอาชีพในการทำนาเป็นส่วนใหญ่ การอาชีพอย่างอื่นมีน้อย ราษฎรได้ทำการโก่นสร้างที่ว่างเปล่าให้เป็นที่เรือกสวนไร่นาอยู่เสมอ ๆ ทุกปี แต่ปี พ.ศ. 2475 การขยายตัวของราษฎรที่จะทำการโก่นสร้างได้ลดน้อยลง เนื่องจากด้วยฝนไม่ตกตามฤดูกาล ไม่มีน้ำพอแก่การทำนา เพราะในจังหวัดนี้การทำนาต้องอาศัยน้ำฝนเป็นพื้น ทั้งประกอบด้วยราคาข้าวก็ตกต่ำด้วย

ครั้น พ.ศ. ต่อ ๆ มา ถึงแม้ราคาข้าวจะตกต่ำ ราษฎรก็ได้พยายามทำนากันอย่างไม่ลดละ เพราะเป็นอาชีพที่สำคัญของเขา นอกจากนี้มีการตัดไม้เสาไม้หมอนรถไฟ เผาถ่าน ส่งมาขายทางจังหวัดพระนคร และทำไต้ ทอผ้าไหม ทำล้อเกวียน ปั้นหม้อไห และเลี้ยงสัตว์ เช่นโค กระบือ เป็ด ไก่ สุกร ขายเหล่านี้เป็นต้น พ่อค้าจีนเป็นผู้รับซื้อหรือเรียกว่าเป็นคนกลางขายส่งไปอีกต่อหนึ่ง

นิสัยใจคอของพลเมือง ข้าพเจ้าขอกล่าวโดยเต็มปากว่า ซื่อสัตย์สุจริต ว่านอนสอนง่าย ชอบสงบเงี่ยมมักน้อย หาเลี้ยงชีพไปตามธรรมดา ไม่กระตือรือร้น การปล้มสะดมตีชิงวิ่งราวมีน้อย แต่ พ.ศ. 2476-2477 นี้มา การปล้นสะดมมากขึ้น เห็นจะเป็นด้วยราษฎรยากจนลงก็เป็นได้ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่มากเกินควร…

ขบวนแห่พระสงฆ์ด้วยช้างบนถนนสุนทรเทพ ประมาณ พ.ศ. 2492 (นางสุขสันต์ ฟูฟ้ง เจ้าของภาพ จากหนังสือบุรีรัมย์มาจากไหน สนพ.แม่คำผาง)

การศึกษาของกุลบุตรกุลธิดา ทางการได้เริ่มจัดการมาแต่ พ.ศ. 2465 นับได้เวลา 12 ปีเศษ ทางราชการได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาทุกตำบล จัดการสอนดำเนินตามหลักสูตรของกระทรวงธรรมการ

กำหนดชั้นของการศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลที่มีอยู่ในขณะนี้เพียงชั้นมัธยมปีที่ 6 ส่วนโรงเรียนประชาบาลทั่วไป มีแต่ประถม 1-4  แต่บางแห่งถึงประถมปีที่ 5  มีการสอนวิชาชีพอย่างอื่นด้วย

การศึกษาของเด็กได้เรียนรวมกันทั้งชายและหญิงจะแยกกันสอนไม่ได้ เพราะไม่มีสถานที่จะศึกษา ทั้งไม่มีเงินจะก่อสร้างและขาดครู

โดยมากสถานที่ศึกษาได้อาศัยศาลาวัด ในจังหวัดนี้มีโรงเรียนรัฐบาล 1 โรงเรียน โรงเรียนประชาบาล 104 โรงเรียน จำนวนนักเรียนชายหญิงรวมทั้งสิ้น 13,576 คน คิดเป็นร้อยละ 48.16 ของเด็กที่มีอายุในเกณฑ์ตาม พ.ร.บ. ประถมศึกษา…

ถนนหนทางและบ้านเรือนของราษฎรนับว่ายังไม่เรียบร้อย เพราะยังขาดแคลนด้วยกำลังทุนทรัพย์ที่จะบำรุง ในหมู่บ้านหนึ่ง ๆ จะมีเรือนถาวรก็ไม่กี่หลัง โดยมากมักปลูกพออาศัยชั่วคราว เช่นทำฝาด้วยใบพลวงและปรือเหล่านี้เป็นพื้น ส่วนหลังคามุงด้วยหญ้าบ้างแฝกบ้าง ที่ใช้สังกะสีและกะเบื้องมีส่วนน้อย

ลักษณะของบ้านเรือนกล่าวโดยเฉพาะทางสุขาภิบาลและอนามัยยังบกพร่องอยู่มาก เพราะไม่ค่อยทำหน้าต่างหรือทางระบายลม ถึงแม้จะทำก็ทำเล็กจนเกินไป ยิ่งเป็นเรือนที่ตีฝากะดานด้วยแล้วมืดและทึบใหญ่ทีเดียว จะหาแสงสว่างได้ยาก

ตามพื้นเรือนและใต้ถุน หรือบริเวณรอบ ๆ บ้าน สังเกตดูราษฎรไม่ค่อยเอาใจใส่ปัดกวาดรักษาความสะอาดเลย ปล่อยให้เลอะเทอะไปตามบุญตามกรรม บนพื้นเรือนของราษฎรมองแต่ฝุ่นละอองทั่วบริเวณเรือน ไม่ปรากฏว่าได้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดถูพื้นเรือนเลย แม้แต่เท้าไปเหยียบย่ำดินมาก็ไม่เคยล้าง ไปไหนมาก็ขึ้นไปบนเรือนเลยทีเดียว ถึงห้องนอนก็มารักษาความสะอาดพอ…

เนื่องด้วยดินแดนของจังหวัดนี้ขอมเคยมีอำนาจปกครอง จึงมีวัตถุโบราณแบบขอมอยู่หลายแห่ง ที่สำคัญ ๆ คือ

  1. ปราสาทหิน ที่เขาพนมรุ้ง อยู่ในเขตอำเภอนางรอง
  2. ปราสาทหิน ที่ตำบลเมืองต่ำ อำเภอตะลุง
  3. ปราสาทหิน ตำบลบ้านกู่สวนแตง อำเภอพุทไธสง

ข้าพเจ้าขอจบปาฐกถาเรื่องสภาพจังหวัดบุรีรัมย์แต่เพียงนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤษภาคม 2561