โจวต้ากวาน เผยกษัตริย์เจนละในดินแดนเขมรโบราณ  “สมพาส” (ร่วมประเวณี) กับ “งู”

ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพลายเส้นของนครธม วาดโดยชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19 (ภาพจากหนังสือ Voyage d'exploration en Indo-Chine)

โจวต้ากวาน ราชทูตจีนสมัยราชวงศ์หยวนที่ได้เดินทางไปยัง “เขมร” ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 19 เขาเห็นวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และคติความเชื่อของผู้คนในยุคนั้น จึงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน

เรื่องหนึ่งที่โจวต้ากวานบันทึกไว้คือเรื่องเกี่ยวกับกษัตริย์อาณาจักรเจนละของในดินแดนเขมรโบราณ ร่วมประเวณี “งู” ปรากฏในหนังสือ “บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ” โจวต้ากวาน เขียน, เฉลิม ยงบุญเกิด แปล (สำนักพิมพ์มติชน. พิมพ์ครั้งที่ 2, 2543) รายละเอียดดังนี้

Advertisement

“…ข้าพเจ้าได้ยินมาว่า ภายในพระราชวังนั้นมีสิ่งแปลกประหลาดอยู่มาก แต่การระวังรักษาและการห้ามนั้นกวดขันนัก จึงไม่สามารถที่จะเห็นได้

ส่วนที่เกี่ยวกับปราสาททองคำ [หมายถึง ปราสาทพิมานอากาศ – ผู้แปล] ภายในพระราชวังนั้น พระเจ้าแผ่นดินเข้าที่พระบรรทมในยามราตรีบนยอดปราสาท พวกชาวพื้นเมืองพากันกล่าวว่า ในปราสาทนั้นมีภูติงูเก้าศีรษะ ซึ่งเป็นพระภูมิเจ้าที่ทั่วทั้งประเทศ ภูติตนนี้เป็นร่างของสัตรีและจะปรากฏกายทุกคืน พระเจ้าแผ่นดินจะเข้าที่พระบรรทมและทรงร่วมสมพาสด้วยก่อน แม้แต่บรรดามเหสีทั้งหลายของพระเจ้าแผ่นดินก็ไม่กล้าเข้าไปในปราสาทนี้

พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จออกจากปราสาทนั้นเมื่อเพลายามที่ 2 แล้วจึงจะเข้าที่พระบรรทมร่วมกับพระมเหสีและพระสนมได้ ถ้าหากราตรีใดภูติตนนี้ไม่ปรากฏกาย ก็หมายความว่า เวลาสวรรคตของพระเจ้าแผ่นดินของชาวป่าเถื่อนพระองค์นั้นใกล้เข้ามาแล้ว ถ้าพระเจ้าแผ่นดิินของชาวป่าเถื่อนมิได้เสด็จไปเพียงราตรีเดียว ก็จะต้องทรงได้รับภัยอันตราย…”

เรื่องนี้อาจจะเป็นเพียงแค่นิทาน แต่ก็สามารถสะท้อนคติและพิธีกรรมของผู้คนในดินแดนเขมรโบราณเกี่ยวกับการบูชาพญานาค หรืองูยักษ์ ซึ่งเป็นความเชื่อที่แพร่หลายในอุษาคเนย์มานับพันปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กันยายน 2565