(นาง) นาคแม่น้ำโขง เชื่อมโยงเครือญาติ “ไทย-ลาว” กับ “มอญ-เขมร”

ภาพสลักหิน บายน นครธม เล่าเรื่อง กษัตริย์ นาค
ภาพสลักหินที่ปราสาทบายน ในนครธม เชื่อว่าเป็นภาพที่เล่าเรื่องกษัตริย์กับ "นาค" ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2546)

“นาค” แม่น้ำโขง เชื่อมโยงเครือญาติ “ไทย-ลาว” กับ “มอญ-เขมร”

คนโบราณเชื่อว่า แม่น้ำโขงเกิดขึ้นเพราะพญานาคขุดไว้

Advertisement

คนสมัยนี้ไม่เชื่อก็ได้ ไม่มีใครด่า ฉะนั้น จะไม่อ่านเรื่องนี้ก็ได้ ไม่มีใครว่าอะไร

เอกสารโบราณไม่ได้บอกว่านาคตัวผู้หรือนาคตัวเมีย แต่ร่องรอยในตำนานหรือนิทานปรัมปราของภูมิภาคอุษาคเนย์นี้มักให้ความสำคัญ “นางนาค” เช่น พระร่วงลูกนางนาค พระทองกับนางนาค กษัตริย์เขมรกับลูกสาวพญานาค ฯลฯ ทำให้น่าเชื่อว่านาคที่ขุดแม่น้ำโขงเป็นนาคตัวเมีย

ถ้าจะว่ากันแบบสุด ๆ ก็อาจรวมถึงนิทานไทยสมัยใหม่เรื่อง “แม่นาคพระโขนง” กับนิทานเขมรสมัยใหม่เรื่อง “งูเก็งกอง” ด้วยก็ได้

ไม่ต้องทักท้วง ไม่ต้องถกเถียง เพราะผม “เดา” เอง จะว่าผิดก็ได้ ถูกก็ได้

จะว่ายังไงได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นไม่ต้องเสียเวลาถกเถียงหรือทักท้วง

แม่น้ำโขง เกิดจากนาคกัดกัน

“ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ” (อยู่ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 72) จดไว้ในรูปนิทานว่า

พวกนาคที่อยู่หนองแส (ในมณฑลยูนนาน ทางภาคใต้ของจีน) เกิดทะเลาะวิวาทกัน นาคพวกหนึ่งต้องหนี

การหนีตายของนาคพวกนี้ทำให้เกิดการคุ้ยควักแผ่นดินที่ผ่านไปเป็นร่องน้ำ แล้วกลายเป็นแม่น้ำโขง ดังมีความพิสดารต่อไปนี้

“ครั้งนั้นมีพญานาค 2 ตัว เป็นสหายกัน อาศัยอยู่ใน หนองกระแสหลวง เมื่อได้บริโภคอาหารสิ่งใดก็แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนหนึ่งส่งไปให้แก่สหายเสมอมิได้ขาด

อยู่มาวันหนึ่ง พญาศรีสัตตนาคราช ซึ่งอยู่ทิศใต้หนองกระแสหลวงได้กุญชรตัวหนึ่งก็แบ่งเนื้อกุญชรส่งไปให้แก่สหายซึ่งอยู่ทิศเหนือหนองบริโภคส่วนหนึ่ง

วันหนึ่ง พญาสุตตนาคตัวเป็นสหายซึ่งอยู่ทิศเหนือหนองได้สรกา คือเม่นตัวหนึ่ง ก็ได้แบ่งเนื้อเม่นส่งไปให้สหายส่วนหนึ่งดังหนหลังนั้นแหละ

ครั้งนั้นฝ่ายพญาศรีสัตตนาค เมื่อได้แลเห็นเนื้อเม่นน้อยก็มีความโกรธแก่พญาสุตตนาค เรียกร้องเอาบริวารของตนได้ 7 โกฏิ พากันไปถึงที่อยู่ของพญาสุตตนาคก็เห็นขนเม่น จึงกล่าวว่าสหายนี้ไม่รักกันแท้หนอ เมื่อได้อาหารตัวใหญ่โตถึงเพียงนี้เหตุไรจึงแบ่งไปให้เราแต่นิดหน่อย แม้แต่เพียงดมก็ไม่พอจักเหม็นสาบ

พญาสุตตนาคจึงกล่าวว่า สัตว์นี้มีขนโตก็จริง แต่ตัวเล็ก เราได้แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่งไปให้ท่านส่วนหนึ่งดังที่เคยกระทำมาแล้ว

พญาศรีสัตตนาคจึงกล่าวว่า ชาติสัตว์ตัวมีขนใหญ่ถึงปานนี้ เหตุไรท่านจึงว่าตัวเล็กเล่า กูไม่เชื่อฟังถ้อยคำมึงละ มึงนี้หาความสัตย์บมิได้ แล้วก็ได้พาเอาบริวารของตนเข้ากระทำยุทธกับบริวารของพญาสุตตนาค มีเสียงอันทึกก้องโกลาหนสนั่นหวั่นไหว ประดุจดังว่าสระหนองกระแสนี้จักแตกทำลายไป

แต่รบกันอยู่นานได้ 7 วัน 7 คืน

ส่วนพญาศรีสัตตนาคเป็นผู้ที่หาความสัตย์มิได้ พลอยมากล่าวว่าพญาสุตตนาคผู้มีสัตย์ว่าหาสัตย์มิได้ ดังนั้นบริวารของตนก็พ่ายแพ้แก่บริวารของพญาสุตตนาค ครั้นแล้วพญาศรีสัตตนาคก็พาบริวารหนีไปยังที่อยู่ของตน

ส่วนพญาสุตตนาค เห็นว่าพญาศรีสัตตนาคไม่สามารถจะต้านทานเอาชัยชนะแก่ตนได้ ดังนั้นก็พาบริวารขับไล่พญาศรีสัตตนาคพร้อมทั้งบริวารไปถึงที่อยู่แห่งพญาศรีสัตตนาค

ฝ่ายพญาศรีสัตตนาคเห็นว่าพญาสุตตนาคพาบริวารตามมาถึงที่อยู่แห่งตนเช่นนั้น ก็พาบริวารคุ้ยควักพ่ายหนีออกไปทางทิศหรดี เที่ยวอาศัยอยู่ตามซอกห้วยถ้ำภูเขา

แต่นั้นมาน้ำหนองกระแสก็ไหลตามคลองที่พญานาคและบริวารคุ้ยควัก แล้วได้ชื่อว่า แม่น้ำขลนที คือ แม่น้ำโขง หรือ แม่น้ำของ

พญาศรีสัตตนาคคุ้ยควักต่อมาได้ 7 วัน ก็ถึงแม่น้ำรามแม่น้ำหนึ่งที่ไหลมาแต่ทิศอีสาน มีน้ำอันมากอันอู้ โดยเหตุนั้นแม่น้ำนั้นจึงได้ชื่อว่า แม่น้ำอู แล้วล่องไปตามแม่น้ำอูตลอดจนถึงเมืองโพธิสารหลวงโพ้น”

นาค ปลายสะพาน นาคราช
นาค ปลายสะพานนาคราช สมัยนครวัด

ยังไม่หมด เพราะมีนิทานนาคอีกเรื่องหนึ่งอยู่ใน “อุรังคธาตุ” หรือ “ตำนานพระธาตุพนม” จังหวัดนครพนม (วิทยาลัยครูมหาสารคามกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2521) มีโครงเรื่องเดียวกัน แต่เปลี่ยนชื่อ นาค แล้วเพิ่มเรื่องราวเข้าไปอีก เรื่องราวพิสดารมีต่อไปนี้

“มีนาค 2 ตัว เป็นมิตรสหายกัน อยู่ในหนองแส ตัวหนึ่งชื่อ พินทโยนกวติ เป็นใหญ่อยู่หัวหนอง อีกตัวหนึ่งชื่อ ธนะมูลนาค เป็นใหญ่อยู่ท้ายหนอง กับด้วย ชีวายนาค ผู้หลาน

นาคทั้งสองได้ให้ความสัตย์ไว้ซึ่งกันและกันว่า ถ้าหากมีสัตว์ตัวใดตัวหนึ่งมาตกที่หัวหนองก็ดี ตกที่ท้ายหนองก็ดี เราทั้งสองรักกัน ด้วยอาหารการเลี้ยงชีวิต เราทั้งสองจงเอาเนื้อสัตว์นั้น ๆ มาแบ่งปันแก่กันเพื่อเลี้ยงชีวิต และตั้งชีวายนาคผู้เป็นหลานของเรานี้ให้เป็นสักขีแก่เราทั้งสอง

เมื่อนาคทั้งสองให้สัตย์ปฏิญาณแก่กันดังนั้นแล้ว ต่างก็กลับไปสู่ที่อยู่ของตน

ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง ยังมีช้างสารตัวหนึ่ง ตกลงที่ท้ายหนอง ธนะมูลนาคจึงเอาเนื้อสัตว์นั้นมาแบ่งปันออกเป็น 2 พูด (หมายถึง ส่วน) เอาไปให้พินทโยนกวตินาคพูดหนึ่ง อีกพูดหนึ่งนั้นตัวเอาไว้บริโภค

อยู่ต่อมาอีกสองสามวัน มีเหม้น (หรือเม่น) ตัวหนึ่งมาตกลงที่หัวหนอง พินทโยนกวตินาคก็เอาเนื้อสัตว์นั้นมาแบ่งออกเป็น 2 พูด เอาไปให้ธนะมูลนาคพูดหนึ่ง

ธนะมูลนาคบริโภคไม่พออิ่มแต่เผอิญมองไปเห็นขนเหม้นยาวแค่ศอก ก็บังเกิดมีความโกรธขึ้น จึงนำเอาขนเหม้นนั้นไปให้ชีวายนาคผู้เป็นหลานดู จึงกล่าวขึ้นว่า คำสัตย์ปฏิญาณของเรากับพินทโยนกวตินาคนั้นจะขาดจากกันเสียแล้ว เมื่อเราได้ช้างสารมาเป็นอาหารครั้งนั้น เราก็เอาเนื้อแบ่งออกเป็น 2 พูด เอาไปให้พินทโยนกวตินาคพูดหนึ่ง เราเอาไว้บริโภคพูดหนึ่ง บริโภคพออิ่ม ถึงแม้ขนก็พอปานนั้น นี้เราเห็นว่าเหม้นนี้จะใหญ่โตกว่าช้างสารนัก ขนก็โตยาวแค่ศอก เหตุใดพินทโยนกวตินาคจึงให้เนื้อแก่เราน้อยเช่นนี้ เราบริโภคก็ไม่อิ่ม

ตั้งแต่นั้นมา นาคทั้งสองก็เกิดทะเลาะวิวาทกัดกันขึ้นในหนอง เป็นเหตุให้น้ำขุ่นมัวไปสิ้นทั้งหนอง สัตว์ทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในหนองนั้นตายกันสิ้น เทวดาที่เป็นใหญ่อยู่ในที่นั้นว่ากล่าวห้ามปราม นาคทั้งสองก็มิได้เชื่อฟัง จึงนำความขึ้นไปไหว้พระอินทร์

พระอินทร์ได้ทราบในเหตุนั้น ๆ จึงใช้ให้วิสุกรรมเทวบุตรลงมาขับไล่นาคทั้งสองให้หนีไปเสียจากหนองนั้น

เมื่อนาคทั้งสองได้ยินคำบอกเล่าดังนั้น ก็วัดเหวี่ยงกัดกัน ออกหนีจากหนองนั้นไปด้วยอก ดินก็ลึกเป็นคลอง

ชีวายนาคเห็นดังนั้นจึงได้คุ้ยควักให้เป็นแม่น้ำออกไปตามคลองอกแห่งนาคทั้งสองนั้น แม่น้ำนั้นจึงเรียกชื่อว่า อุรังคนที ฝ่ายโลกเรียกว่า แม่น้ำอู ส่วนพินทโยนกวตินาค จึงได้คุ้ยควักให้เป็นแม่น้ำออกไปทางเมืองเชียงใหม่ เรียกชื่อว่า แม่น้ำพิง และ เมืองโยนกวตินคร ตามชื่อนาคตัวนั้น

ส่วนผียักษ์ผีเปรต เห็นสัตว์ทั้งหลายในน้ำหนองแสตายมากนัก เป็นต้นว่าจี่แข้ (หมายถึง จระเข้) เหี้ย เต่า จึงพากันมาชุมนุมกินอยู่ในที่นั้น”

ต่อจากนั้นนิทานใน “อุรังคธาตุ” เล่าเรื่อง พวกนาคอื่น ๆ อีกดังนี้

“ครั้งนั้นนาคทั้งหลายมี สุวรรณนาค พุทโธปาปนาค ปัพพารนาค สุกขรนาค และหัตถีศรีสัตตนาค เป็นต้น อยู่ในหนองน้ำนั้นไม่ได้ ด้วยเหตุว่าน้ำนั้นขุ่น จึงขึ้นมาอาศัยอยู่ตามริมน้ำที่นั้น ผีทั้งหลายเห็นว่านาคเหล่านั้นหวงแหน และจักมาซิงกินกับเขาด้วย ผีเหล่านั้นจึงกระทำให้เป็นอันตรายแก่นาคเหล่านั้นด้วยประการต่าง ๆ ลางตัวก็ตายไป ถึงแม้เงือกงูก็ฉันเดียวกัน

สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น จึงพากันหนีออกไปตามแม่น้ำอุรังคนที ไปเที่ยวแสวงหาที่อยู่ลี่ (ตรงกับ ลี้ หมายถึงซ่อนเร้น) ผีสางทั้งหลาย นาค และเงือกงูทั้งหลายเหล่านั้น จึงล่องหนีไปตามลำแม่น้ำของทางใต้

ศรีสัตตนาคนั้นอยู่เสมอดอยนันทกังรี สุวรรณนาคนั้นอยู่ปู่เวียน พุทโธปาปนาคนั้นก็คุ้ยควักแต่ที่นั้นไปเกลื่อนพังทะลายเป็นหนองบัวบาน แล้วก็อยู่ ณ ที่นั้น

นอกจากนั้น ตัวใดปรารถนาอยู่ที่ใดก็ไปอยู่ ณ ที่นั้น ส่วนเงือกงูทั้งหลายก็อยู่เป็นบริวารแห่งนาคนั้นทุกแห่ง ส่วนปัพพารนาคนั้น จึงคุ้ยควักออกไปอยู่ที่ภูเขาหลวง

พญาเงือกตัว 1 พญางูตัว 1 ทั้งสองนี้ไม่มีความปรารถนาจะอยู่ปะปนด้วย จึงคุ้ยควักออกไปเป็นแม่น้ำอันหนึ่งมีนามว่า แม่น้ำงึม หรือแม่น้ำเงือกงู ก็เรียก ส่วนสุกขรนาคหัตถีนั้นอยู่เป็นหลอด

พวกนาคที่กลัวผียิ่งกว่านาคทั้งหลายเหล่านั้น พากันไปสู่ที่อยู่ธนะมูลนาคใต้ดอยกัปปนคิรี คือภูกำพร้า ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุพนมทุกวันนี้ หนีไปจนถึงน้ำสมุทร แต่นั้นไปเรียกว่า น้ำลี่ผี

น้ำที่อยู่แห่งธนะมูลนาคนั้นไหลว่างเสีย ธนะมูลนาคจึงคุ้ยควักเป็นแม่น้ำออกไปถึงเมืองกุรุนทนคร แม่น้ำนั้นจึงได้เรียกชื่อว่า แม่น้ำมูลนที ตามชื่อนาคตัวนั้น

ชีวายนาคตัวนั้น จึงคุ้ยควักจากแม่น้ำมูลนที ออกเป็นแม่น้ำอ้อมเมืองพระยามหาสุรอุทก ที่กินเมืองหนองหานหลวงพร้อมทั้งเมืองขุนขอมนครหนองหานน้อย ตลอดขึ้นไปถึงเมืองกรุนทนคร แต่นั้นมาแม่น้ำนั้นจึงได้ชื่อว่า แม่น้ำชีวายนที

นาคคืออะไร ? ใครคือนาค ?

นาคทั้ง 2 เรื่อง จากเอกสารโบราณ 2 เล่ม เป็นนิทานหรือนิยายประเภทที่เรียกว่า “ปรัมปรา” (เป็นภาษาทมิฬ หมายถึงเก่าแก่โบร่ำโบราณกาลนานนักหนา และควรจะตรงกับภาษาอังกฤษว่า myth)

เรื่องปรัมปราอย่างนี้ จะเชื่อว่าจริงหรือไม่จริงก็ได้ เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์สมัยหลัง ๆ พยายามใช้ “ประสบการณ์” สร้างจินตนาการมาอธิบายประวัติการเกิดของภูมิประเทศ เช่น แม่น้ำ ที่ราบ ภูเขา และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณเหล่านั้น

แต่คนที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นมาต้องการบอกอะไร ? น่าจะช่วยกันเจาะใจใส่หนังสือนี้

นาค เป็นสัตว์สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ที่กลุ่มชนในภูมิภาคอุษาคเนย์เคารพยกย่อง โดยเฉพาะกลุ่มชนสองฟากแม่น้ำโขง ตั้งแต่ตอนใต้ของมณฑลยูนนานลงมาจนถึงปากแม่น้ำโขงในเขตเขมรกับญวน มีลัทธิบูชานาค เชื่อกันว่านาคเป็นผู้บันดาลให้เกิดแม่น้ำลำคลอง เกิดความอุดมสมบูรณ์ และอาจบันดาลให้เกิดภัยพิบัติได้ เช่น ทำให้เกิดน้ำท่วมบ้านเมืองล่มจม

นาคมีความสัมพันธ์กับคนในฐานะที่เป็นบรรพบุรุษ และมักแสดงสัญลักษณ์เป็นเพศหญิงหรือตัวเมีย เรียกว่า “นางนาค”

นางนาคเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงพื้นเมือง ที่เป็น “แม่” ผู้ให้กําเนิดชีวิตและเป็น “เจ้าแม่” ผู้ถือครองแผ่นดินและน้ำให้ความอุดมสมบูรณ์แก่มนุษย์

มีนิทานทั้งของอินเดียใต้และของบ้านเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคอุษาคเนย์ยกย่องว่านางนาคเป็นบรรพบุรุษของตน โดยเฉพาะตำนานของอาณาจักรจามปาและอาณาจักรฟูนันในเวียดนาม ตำนานของอาณาจักรกัมพูชาในเขมร ล้วนระบุว่านางนาคเป็นเจ้าแม่ครองแผ่นดินอยู่ก่อน ภายหลังจึงมีพราหมณ์จากเมืองไกลมาสมสู่เป็นผัวนางนาคจนได้สร้างบ้านแปลงเมืองขึ้น

ในเมืองไทยเองก็มีนิทานเรื่องพระร่วงกษัตริย์แคว้นสุโขทัยเป็นลูกนางนาค รวมทั้งนิทานแถบโยนก-ล้านนาอีกหลายเรื่องจะเกี่ยวข้องกับนางนาค

ยังมีนิทานประจำนครธมในเขมรบอกว่า นางนาคเป็นเจ้าแม่ผู้ถือครองปราสาทนครธมและเป็นเจ้าแผ่นดินทั้งราชอาณาจักร ทุกคืนจะกลายร่างเป็นหญิงสาวรูปงามเพื่อเสพสังวาสกับกษัตริย์กัมพูชา หากคืนใดกษัตริย์ไม่ขึ้นไปเสพสังวาสตามหน้าที่จะมีเหตุร้ายให้บ้านเมืองพินาศล่มจม

นิทานเรื่องนางนาคประจำนครธมนี้เชื่อกันว่าเป็นเรื่องเดียวกับนิทานพระทอง-นางนาค และเป็นที่มาของเพลงพระทอง-นางนาคครั้งกรุงศรีอยุธยาที่ใช้บรรเลงในงานแต่งงานมาแต่สมัยโบราณ

น่าสงสัยว่านิทานเรื่องนางนาคจากเขมรจะมีอิทธิพลให้เกิดนิยายสมัยใหม่เรื่อง “แม่นาคพระโขนง” ด้วย

ในประเพณีทำขวัญหรือบายศรีสู่ขวัญของกลุ่มชนตระกูลไทย-ลาว จะใช้เพลงนางนาคประโคมขับกล่อม หมายถึงการแสดงความอ่อนน้อม และวิงวอนร้องขอความมั่นคงและมั่งคั่งหรือความอุดมสมบูรณ์จากนางนาคหรือเจ้าแม่ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินและแผ่นน้ำให้แก่ผู้รับทำขวัญนั่นเอง

เมื่อรับคติทางพระพุทธศาสนาแล้ว เพลงนางนาคก็สอดคล้องกับประเพณีบวชของสังคมไทยที่กำหนดให้ลูกชายที่จะอุปสมบทเป็นพระสงฆ์ ต้องโกนผมห่มเครื่องเรียกว่านาคก่อน แล้วมีพิธีทำขวัญนาค ที่หมอขวัญจะขับลำคำร่ายบรรยายกำเนิดของผู้เป็นนาคตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิในครรภ์ของแม่ กระทั่งคลอดเป็นตัวเป็นตนจนเติบใหญ่ได้อายุครบบวช ซึ่งหมายความว่าลูกชายกำลังจะเปลี่ยนสถานะเป็นพระสงฆ์ที่แม่จะต้องกราบไหว้ต่อไป ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลูกชายคือ (ลูก) นาคไม่ลืมพระคุณของแม่คือนางนาคนั้นเอง

จิตรกรรม วัดราชประดิษฐ์ ขบวนแห่ นาค
ขบวนแห่เพื่อนำนาคไปอุปสมบทที่วัด (จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร เขียนสมัยรัชกาลที่ ๕)

นาค สัญลักษณ์ของกลุ่มชนดั้งเดิม

ทั้งตำนานเมืองสุวรรณโคมคำกับอุรังคธาตุ ระบุว่าถิ่นฐานเดิมของนาคอยู่หนองแส

หนองแส อยู่ที่ไหน ? มีความเชื่อเป็น 2 ฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าหนองแสคือทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ อยู่เมืองต้าหลี่ (หรือตาลีฟู) ที่เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรน่านเจ้า อยู่เหนือเมืองคุนมิงขึ้นไป เหตุที่เชื่ออย่างนี้เพราะเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องน่านเจ้าเป็นอาณาจักรของคนไทย

อีกฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าหนองแสคือทะเลสาบเตียนฉือ อยู่เมืองคุนมิง ปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของมณฑลยูนนาน อยู่ใต้เมืองต้าหลี่ลงมา เหตุที่เชื่ออย่างนี้เพราะมีวัฒนธรรมเตียน ที่ทำเครื่องมือโลหะ เช่น มโหระทึกสำริด ฯลฯ สัมพันธ์กับวัฒนธรรมดองซอนในเวียดนามเหนือ มีเครื่องมือโลหะ เช่น มโหระทึกสำริด ฯลฯ คล้ายคลึงกัน

แต่หลักฐานล่าสุดยืนยันว่าอาณาจักรน่านเจ้าไม่ใช่ของกลุ่มชนในตระกูลไทย-ลาว หากเป็นพวกที่พูดภาษาในตระกูลทิเบต-พม่า หรือจีนทิเบต ฉะนั้นหนองแสที่เมืองต้าหลี่ควรเป็นถิ่นฐานของพวกทิเบต-พม่า หรือจีน-ทิเบต แล้วเกี่ยวข้องไปทางพวกพม่ามากกว่าจะเป็นพวกไทย-ลาว

เรื่องนี้ อาจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร บันทึกคำบอกเล่าของท่านเจ้าหม่อมคำลือว่า “…ไทยลื้อเรียกทะเลสาบคุนมิงว่า “หนองแสอยู่แห่งเดียว” คือไม่มีหนองแสที่อื่นอีกแล้ว สําหรับไทยลื้อ หนองน้ำที่คนไทยคิดว่าอยู่ที่น่านเจ้าแถวตาลีฟูกลับเลยสูงขึ้นไปอีกมาก และที่ตาลีฟูไม่มีคนไทยอยู่เลย เว้นแต่พวกที่อพยพไปอยู่ใหม่ประมาณ 200-300 คน ที่เพิ่งขึ้นไปอยู่ใหม่ประมาณ 200 ปีเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ที่เคยเชื่อว่าคนไทยอยู่ในตาลีฟูหรือน่านเจ้านั่น สมัยนี้ไม่มีใครเขาเชื่อแล้ว” (งานจารึกและประวัติศาสตร์ ของศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร : 2534 : หน้า 177)

เป็นอันว่าหนองแสในตำนานไทย-ลาว ไม่ได้อยู่ที่เมืองต้าหลี่ (น่านเจ้าหรือตาลีฟู) ถ้าไม่อยู่เมืองต้าหลี่ หนองแส ก็ต้องอยู่ที่เมืองคุนมิง

แต่บริเวณตอนใต้ของยูนนานเต็มไปด้วยหนองน้ำที่เรียกกันทุกวันนี้ว่าทะเลสาบจำนวนมากมายหลายแห่ง ซึ่งอาจเป็นหนองแสได้ทั้งนั้น แล้วทิศทางของนาคที่ตำนาน 2 เรื่องยังให้ความสำคัญ ลำน้ำอู ที่ไหลจากเวียดนามลงแม่น้ำโขงที่ลาวเหนือหลวงพระบาง แล้วระบุว่าบรรดานาคต่างก็ล่องมาตามลำน้ำอู ยิ่งทำให้น่าสงสัยว่า นาคทั้งหลายจะไม่ได้ล่องตามแม่น้ำโขงจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ แต่มาจากทิศตะวันออก

ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำบอกว่าเมื่อทะเลาะเบาะแว้งกันแล้วพญาศรีสัตตนาคก็คุ้ยควักหนีจนกลายเป็นแม่น้ำโขง ครั้น “พญาศรีสัตตนาคคุ้ยควักต่อมาได้ 7 วันก็ถึงแม่น้ำราม แม่น้ำหนึ่งที่ไหลมาแต่ทิศอีสาน มีน้ำอันมากอัน โดยเหตุนั้นแม่น้ำนั้นจึงได้ชื่อว่าแม่น้ำอู แล้วล่องไปตามแม่น้ำอูตลอดจนถึงเมืองโพธิสารหลวงโพ้น”

เห็นไหมว่านาค “ล่องไปตามแม่น้ำอู” จนถึงเมืองโพธิสารหลวง

เมืองโพธิสารหลวง อยู่ที่ไหน ?

ตอบว่าไม่รู้ เพราะเป็นชื่อเมืองในตำนานเท่านั้น แต่มีร่องรอยอยู่ริมแม่น้ำโขงแน่ ๆ ถ้าว่ากันอย่างเดา ๆ ก็น่าจะเป็นกลุ่มเวียงจันท์-สกลนครในเขตอีสานเหนือ ในสมัยต่อ ๆ มาจะคลี่คลายกลายเป็นแคว้นศรีโคตรบูรณ์

ส่วนอุรังคธาตุบอกว่าเมื่อนาคทะเลาะกันแล้วถูกพระอินทร์ขับไล่หนีออกจากหนองแสนั้น “ก็วัดเหวี่ยงกัดกัน ออกหนีจากหนองนั้นไปด้วยอก ดินก็ลึกเป็นคลอง ชีวายนาคเห็นดังนั้น จึงได้คุ้ยควักให้เป็นแม่น้ำออกไปตามคลองอกแห่งนาคทั้งสองนั้น แม่น้ำนั้นจึงเรียกชื่อว่า อุรังคนที ฝ่ายโลกเรียกว่า แม่น้ำอู ส่วนพินทโยนกวตินาค จึงได้คุ้ยควักให้เป็นแม่น้ำออกไปทางเมืองเชียงใหม่ เรียกชื่อว่า แม่น้ำพิง และ เมืองโยนกวตินคร ตามชื่อนาคตัวนั้น” แล้วยังระบุต่อไปอีกว่า สัตว์อื่น ๆ ทั้งหลายอยู่ในหนองน้ำไม่ได้ “จึงพากันหนีออกไปตามแม่น้ำอุรังคนที ไปเที่ยวแสวงหาที่อยู่ลี่…ผีสางทั้งหลาย นาค และเงือกงูทั้งหลายเหล่านั้น จึงล่องหนีไปตามลำแม่น้ำของทางใต้”

จะเห็นว่านาคเหล่านี้มาตามลำน้ำอูแล้ว ตั้งถิ่นฐานแถบลำน้ำอูกลุ่มหนึ่ง อีกกลุ่มหนึ่งออกแม่น้ำโขง แล้วแยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ตามที่ต่าง ๆ พวกหนึ่งไปอยู่ทางน้ำแม่ปิง อีกพวกหนึ่งล่องไปตามลำน้ำโขงฝั่งลาวแถบลำน้ำงึม กับภาคอีสานของไทยย่านลำน้ำชี-มูลจนถึงแก่งลี่ผีที่จะเป็นเส้นทางลงไปกัมพูชา

เรื่องนาคลงมาตามลำน้ำอูจะไปสัมพันธ์กับเรื่องแถนในพงศาวดารล้านช้างที่บอกว่า ขุนบรมอยู่เมืองแถน (เดียนเบียนฟูในเวียดนามเหนือ) มีลูกชาย 7 คน เมื่อเติบโตขึ้นก็ให้ลูกชาย “แยกครัว” ไปก่อบ้านสร้างเมืองต่าง ๆ ขุนลอเป็นลูกคนโตให้ไปสร้างเมืองชวาหรือหลวงพระบาง ดังข้อความในพงศาวดารว่า “ขุนลอก็เอารี้พลตนล่องมาทางน้ำฮวดน้ำฮู ก็ถูล่องมาฮวดน้ำของ ขอนผาติ่งสบอู แล้วก็ตั้งทัพฮาวคาวจอดอยู่หั้นก่อนแล้ว”

แสดงว่ามีกลุ่มชนไทย-ลาวเคลื่อนย้ายไปมาผ่านลำน้ำอูลงสู่แม่น้ำโขง ในที่สุดก็สร้างบ้านแปลงเมืองที่รู้จักกันภายหลังว่าหลวงพระบาง แล้วขยายขอบเขตเป็นแคว้นล้านช้างอยู่ร่วมสมัยกับแคว้นสุโขทัย แคว้นล้านนา และแคว้นอื่น ๆ

กลุ่มชนเหล่านี้ตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่สองฟากแม่น้ำโขง รวมทั้งภาคอีสานของไทย เมื่อประสมประสานกับคนพื้นเมืองดั้งเดิม จึงเคารพวีรบุรุษในตำนานคือท้าวฮุงหรือขุนเจืองร่วมกัน แต่ยังคงยกย่องแถนเป็นผีบรรพบุรุษด้วย

ลำน้ำอูนี้มีต้นน้ำอยู่ในเขตเวียดนามเหนือที่เมืองแถน แล้วมีเส้นทางคมนาคมไปสู่แม่น้ำดำ ที่มีต้นน้ำอยู่ในยูนนานได้ สมัยรัชกาลที่ 5 ยังใช้เส้นทางลำน้ำอูยกกองทัพขึ้นไปปราบฮ่อที่เมืองแถนแล้วล่องแพกลับมาหลวงพระบางได้สะดวก

ความสัมพันธ์ระหว่างยูนนานกับเวียดนาม ลาว และภาคอีสานของไทยนั้น เห็นได้จากหลักฐานโบราณคดีเกี่ยวกับวัฒนธรรมสำริด ซึ่งผมเคยเสนอรายละเอียดไว้ในหนังสือชื่อ “ไทยน้อย ไทยใหญ่ ไทยสยาม” (โดย ศรีศักร วัลลิโภดม และสุจิตต์ วงษ์เทศ : ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ 2534) มีความโดยสรุปว่า

วัฒนธรรมสำริดทั้งในแคว้นเทียนรอบ ๆ ทะเลสาบคุนมิงในยูนนาน กับบริเวณลุ่มน้ำมาในเวียดนาม รวมทั้งแถบกวางสี มีรูปแบบคล้ายคลึงกัน (แต่แตกต่างจากรูปแบบวัฒนธรรมสำริดของจีนที่พบในแหล่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงและฮวงโห) จึงนับเป็นอารยธรรมของภูมิภาคอุษาคเนย์อย่างแท้จริงที่พัฒนาขึ้นเองจนเป็นรูปแบบเฉพาะตัว ก่อนที่อิทธิพลอารยธรรมสำริดในราชวงศ์ฮั่นของจีนจะแพร่หลายเข้ามาครอบงำตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 4-5 เป็นต้นมา

สิ่งนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่า วัฒนธรรมเทียนในยูนนานกับวัฒนธรรมดองเซินในเวียดนาม รวมทั้งวัฒนธรรมสำริดในกวางสี มีความสัมพันธ์กัน มีการคมนาคมติดต่อถึงกันของบ้านเมืองทั้งสามกลุ่ม

นี่คือความสัมพันธ์ไปมาหาสู่กันเป็นปกติของกลุ่มเทียนกับกลุ่มแถนมาแต่โบราณกาล

แต่วัฒนธรรมดองเซินมิได้แพร่หลายอยู่แถบลุ่มแม่น้ำมาในเวียดนามเท่านั้น หากมีเครือข่ายกระจายไปยังบ้านเมืองตามชายฝั่งทะเลผ่านเขตจาม กัมพูชา ภาคกลางกับภาคใต้ของประเทศไทย จนถึงหมู่เกาะอินโดนีเซียด้วย เพราะพบแหล่งโบราณคดีที่มีมโหระทึกกับวัตถุสำริดแบบวัฒนธรรมดองเซินตามดินแดนเหล่านั้น

ส่วนดินแดนประเทศไทยในภาคอีสานและภาคเหนือ พบมโหระทึกแบบดองเซินหลายแห่ง โดยเฉพาะภาคอีสานมีเครื่องมือสำริดใน “วัฒนธรรมบ้านเชียง” ร่วมสมัยกับวัฒนธรรมเทียนของยูนนานกับวัฒนธรรมดองเซินของเวียดนาม ย่อมเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มชนในลุ่มแม่น้ำโขงบริเวณไทย-ลาว-พม่ามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับกลุ่มชนในยูนนานและเวียดนาม รวมทั้งกวางสี เมื่อไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว

แต่ไม่ได้ใช้เส้นทางแม่น้ำโขงจากเหนือลงใต้โดยผ่านสิบสองพันนา เพราะในยุคแรกไม่มีร่องรอยและไม่มีหลักฐาน

ลักษณะความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายไปมาของกลุ่มชนหรือการแลกเปลี่ยนทางสังคม วัฒนธรรม และเทคโนโลยี ล้วนอยู่ในทิศทางตะวันออกเฉียงใต้กับตะวันตกเฉียงเหนือ หรือพูดง่าย ๆ ว่า ตะวันออก-ตะวันตก คือจากยูนนานลงไปหาชายทะเลที่กวางสี (จ้วง) กับเวียดนาม แล้วแพร่ไปทางตะวันตกหาลุ่มแม่น้ำโขง จนถึงลุ่มน้ำสาละวิน-อิระวดี

ทิศทางดังกล่าวนี้ยังมีร่องรอยทางภาษาศาสตร์รองรับด้วย ดังงานค้นคว้าของปราชญ์ต่างประเทศที่ท่านอาจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร รวบรวมแล้วเรียบเรียงเผยแพร่นานแล้วว่า ศูนย์กลางของตระกูลภาษาไทย-ลาวที่เก่าแก่อยู่แถบแม่น้ำดำ-แม่น้ำแดงในเวียดนาม แล้วต่อเนื่องไปถึงจ้วงที่กวางสี หลังจากนั้นภาษาไทยก็แตกกระจายออกไปหลายกลุ่มโดยมีทิศทางเข้าหาแม่น้ำโขง

ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของนาคจากหนองแส ผ่านลำน้ำอู สู่แม่น้ำโขง

เพราะคนโบราณเคารพนับถือลัทธิบูชานาค จึงใช้นาคเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มชนบรรพบุรุษสุดขอบฟ้าก็เท่านั้นเอง

รูปวาดการค้นพบของ Garnier พิสูจน์ว่าแม่น้ำโขงเต็มไปด้วยเกาะแก่งและโขดหินขนาดใหญ่ เรือขนสินค้าไม่สามารถจะแล่นผ่านไปได้

นาค สัญลักษณ์ของศาสนาดั้งเดิม

ระบบความเชื่อหรือศาสนาดั้งเดิมของกลุ่มชนในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะตั้งแต่หนองแสลงมาถึงลุ่มแม่น้ำโขง เป็นลัทธิที่เกี่ยวกับการ บูชางู ที่เรียกกันภายหลังว่า นาค

ภาชนะเขียนสีที่บ้านเชียงซึ่งเป็นรูปวงกลม ก็เชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของงูหรือนาค ลายเขียนสีบางชุดมีรูปหัวงู ซึ่งท่านอาจารย์ชิน อยู่ดี นักปราชญ์ไทยด้านโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ ก็เชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของงู

อย่าอุตริคิดว่ารับประเพณีบูชางูมาจากคลีโอพัตราหรือแขกเป่าปี่เรียกงูเต้นระบำ เพราะมนุษย์สมัยก่อนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน ย่อมมีระบบความเชื่อตรงกันได้โดยไม่จำเป็นว่าฝ่ายหนึ่งจะต้องรับอิทธิพลจากอีกฝ่ายหนึ่ง

นาค เป็นสิ่งที่มีอำนาจนอกเหนือธรรมชาติ สามารถบันดาลให้เกิดแม่น้ำ หนอง บึง ภูเขา และแหล่งที่อยู่อาศัย ครั้นวัฒนธรรมอินเดียโดยเฉพาะพราหมณ์กับพุทธแพร่หลายเข้ามา ลัทธิบูชานาคก็ได้ผสมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิศาสนาที่เข้ามาใหม่

ดังนั้น จะเห็นว่าเรื่องพระพุทธเจ้าทรงทรมานนาคก็ดี เรื่องพระอิศวรกับพระนารายณ์ (พระกฤษณะ) รบกับพญานาคก็ดี ในตำนานอุรังคธาตุนั้น เป็นการแสดงถึงชัยชนะของศาสนาใหม่ที่มีต่อระบบความเชื่อหรือศาสนาเก่า

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายเพิ่มเติมไว้ในหนังสือ “แอ่งอารยธรรมอีสาน” (ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ) ว่า แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ระบบความเชื่อดั้งเดิมจะสลายตัวไป กลับถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาใหม่ด้วย ดังจะเห็นว่าบรรดานาคได้กลายมาเป็นผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนาและศาสนิกชน

กษัตริย์หรือเจ้าเมืององค์ใดยึดมั่นในพระพุทธศาสนา ก็มักจะได้รับความช่วยเหลือจากนาคในการสร้างบ้านแปลงเมือง และบันดาลความอุดมสมบูรณ์ให้แก่บ้านเมือง

แต่ถ้ากษัตริย์หรือเจ้าเมืองและประชาชนไม่ยึดมั่นในพระพุทธศาสนา เพราะขาดศีลธรรม พวกนาคจะกลายเป็นอำนาจนอกเหนือธรรมชาติ ที่บันดาลความวิบัติให้บ้านเมืองนั้นล่มจมไปกลาย เป็นหนองเป็นบึง เช่นเมืองหนองหานหลวง และเมืองมรุกขนคร เป็นต้น

สรุปก็ได้ ไม่สรุปก็ได้

ถ้าจะให้สรุป ก็อยากสรุปว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับ “เฒ่าหัวงู” – เชยส์ไปแล้ว

เพราะ “เฒ่านาคปรก” แสบกว่า

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 ตุลาคม 2565