คติ “นาค” แปลงเป็นศาสนาคาร “โบสถ์-วิหาร” แผ่ปรกพระพุทธองค์

ภาพ วัดกัลยาณมิตร
ภาพวัดกัลยาณมิตร ฉายเมื่อ พ.ศ. 2468 (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

“วิหารคือนาคปรก” คติ “นาค” แปลงเป็นศาสนาคาร “โบสถ์-วิหาร” แผ่ปรกพระพุทธองค์

“ครั้นย่างเข้ามา 7 วัน เป็นคำรบ 6 นั้น สมเด็จพระพุทธองค์เสด็จไปทรงนั่งในร่มมุจลินทะไม้จิก บังเกิดกาลเมฆคือฝนตกบ่มิได้ขาดเม็ดเลย ทั้งลมก็พัดกล้า พัดหวลตลบไปมาวนเวียน ครั้งนั้นพระยานาคตนหนึ่งมีศักดานุภาพมาก อยู่ในสระโบกขรณีใกล้มุจลินทะไม้จิกนั้น เห็นพระพุทธองค์ก็บังเกิดเลื่อมใสศรัทธา จึงขึ้นมาจากนิวาสนฐาน แวดล้อมพระองค์สมเด็จพระมหากรุณาเจ้าเข้าไว้ด้วยกำแพงแก้ว

Advertisement

กล่าวคือขนดกายอันใหญ่ขดซ้อน ๆ กันขึ้นไป 7 รอบ แล้วผกพังพานเป็นเพดานบังปิดเบื้องบน ประสงค์จะกันแดดกันฝน กันเหลือบแลริ้นร่าน บ่มิให้แผ้วพานพระองค์ ภายในห้องแห่งกายที่พญานาคขดแวดล้อมพระพุทธองค์นั้น ใหญ่ประมาณเท่าห้องเครื่องในโลหะปราสาท กอร์ปด้วยประทีปตั้งตามไว้ในมุมทั้ง 4 ส่องแสงสว่างโอภาส สมเด็จพระบรมโลกนาถนั้นมีอาการดุจดังนั่งอยู่ในกุฎาคารปราสาท มีบานพระทวารและบานพระแกลปิดมิดชิดเป็นอันดี…” (จากไตรภูมิโลกวินิจฉัยกถา หน้า 138)

เนื้อความในพุทธประวัติ ตอนที่พญานาคเข้าปรกกันพายุฝนให้พุทธองค์ จากหนังสือที่ยกมานี้อธิบายอย่างชัดเจนว่านาคนั้นแปลงปรกเป็นอาคาร โดยมีการ “ผกพังพานเป็นเพดานบังปิดเบื้องบน” มิใช่เพียงเป็นหัวนาคยืนอยู่ข้างหลังในแบบพระพุทธรูปนาคปรกที่เราคุ้นเคย เมื่อข้าพเจ้านำภาพประติมากรรมรูปนาคปรกมาเปรียบเทียบกับภาพเพดานพระวิหาร ก็พบคำตอบที่ชัดเจนว่า สิ่งที่เข้าใจผิดมาตลอดว่าเป็นดาวเพดาน สวรรค์ จักรวาลนั้น แท้ที่จริงก็คือลายดอกบนอกนาคนั้นเอง

ถึงตรงนี้ความเข้าใจใหม่เปิดดวงตาเราแล้วว่า ตัวอาคารทั้งหมดคือนาคแปลง ถ้าไม่มีนาคก็จะไม่มีอาคาร วิหารเกิดขึ้น เมื่อเข้าสำรวจการแปลง จุดแรกเริ่มก็คือน้ำ (นาค) ที่หยดลงมาจากฟ้า (สวรรค์) และเกิดรัศมีวงน้ำ (คายออกเป็นชั้น ๆ) นี่คือเบื้องปฐมแห่งการแปลงในรูปของฉัตร (นาคคายลงมาเป็นชั้น ๆ จากสวรรค์) (ลายเส้นที่ 1)

(ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2547)

จากนั้นฉัตรก็คายตัวลงแปลงเป็นจุดกึ่งกลางหลังคา (ลายประจำยาม) และจากจุดประจำยามนี้เองที่นาคแล่นตัวออกเป็นสันหลังคาและผืนหลังคาทั้งหมด (ลายเส้นที่ 2)

(ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2547)

จากชุดหลังคา นาคก็ทิ้งตัวต่อลงมาเป็นผนังและเสาในระเบียบเดียวกัน คือทิ้งตัวยาวลง ยกหัวสูงขึ้น อกแตะน้ำมีลายประจำยามกลางตัว (ลายเส้นที่ 3)

(ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2547)
(ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2547)

จากตัวอาคารมาถึงฐาน ซึ่งก็คือนาคคายกันลงมาเป็นชั้น ๆ (ลายเส้นที่ 4)

(ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2547)

ในนาค 1 ชุดการคายนั้น เราสามารถสังเกตได้จากลายเส้นน้ำ (ลวด) ซึ่งแต่เดิมเข้าใจกันว่าเป็นเส้นลวดกั้นลาย บัดนี้การค้นพบได้เปิดเผยแล้วว่าคือน้ำ ซึ่งนาคจะต้องอยู่บนน้ำ (ฟองคลื่น) เมื่อเห็นลวดก็ให้รู้ว่านั้นเป็นลักษณะการแปลงทิ้งตัวของนาคลักษณะหนึ่ง เพียงแต่จะเป็นลักษณะใดก็ให้ดูแยกแยะเอา เช่น (ลายเส้นที่ 5)

(ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2547)

จากฐานลงสู่ดิน สู่มนุษย์โลก นี่คือสายความเชื่อเดิมที่ว่าน้ำคือสื่อกลาง เป็นตัวเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์นั่นเอง (ลายเส้นที่ 6)

(ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2547)

สรุปว่าคนโบราณเชื่อเรื่องนาคเรื่องน้ำมาแต่เดิม เป็นความเชื่อที่ต่อสายมายาวนานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี เมื่อพุทธศาสนาเข้ามาจึงต้องมาผสานกับความเชื่อท้องถิ่น มีการสร้างเรื่องให้นาคเป็นผู้ปกปักรักษา แผ่ปรกพุทธองค์ เกิดเป็นตัวอาคารวิหารรูปนาคแปลงขึ้นทั่วแผ่นดิน ทั้งนี้เพื่อโน้มเอาความเชื่อของคนในท้องถิ่นให้เข้ามาทางพุทธศาสนานั่นเอง พูดให้ชัดก็คือพุทธต้องมาพึ่งนาคเพื่อเข้าถึงคนท้องถิ่นที่เชื่อนาคมาแต่เดิม

บัดนี้เราได้รู้แล้วว่าอาคารวิหารคือนาคแปลง ไม่ใช่ไม้ หิน อิฐ ปูนธรรมดา แต่ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตและยังคงมีชีวิตอยู่ เพราะนาคมีอายุยืนไปจนเห็นพระศรีอาริย์ ทุกครั้งที่ก้าวเข้าวัดจึงต้องสำรวมจิตใจว่าเราสัมผัสโดยตรงอยู่กับนาค ทุกการพูด คิด ทำ ขอจงน้อมทางกุศล (ประพฤติธรรม) แล้วนาคก็จะปกปักรักษาคุ้มครองผู้ประพฤติธรรมทั้งปวง

(ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2547)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “วิหารคือนาคปรก” เขียนโดย อมรวัชร กอหรั่งกูล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2565