โบสถ์-วิหาร-หอไตร ฯลฯ ไม้สักของเมืองตากที่หายไป และกำลังจะหายไป

วิหารวัดมะเขือแจ้ จังหวัดตาก ส่วนกองไม้ด้านหน้า คืออดีตโบสถ์และกุฏิทรงไทย (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2532)
เสาหลักเมืองตาก มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา อยู่ที่บ้านป่ามะม่วง (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2532)

บทความนี้ คุณสวาท ณ น่าน ที่พำนักอยู่ที่ถนนตากสิน ตำบลระแหง อำเภอเมือง จังหวัดตาก เขียนไว้ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2532 ในบทความที่ชื่อว่า “ของดีๆ ที่เมืองตาก” พร้อมกับรูปถ่าย ด้วยความเป็นห่วงของดีๆ ในจังหวัดตาก อันได้แก่ โบสถ์, วิหาร, หอไตร ฯลฯ ที่ปลูกสร้างด้วยไม้สัก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ วัดโบสถ์มณีศรีบุญเรือง ซึ่งขณะที่ท่านเขียนบทความนี้นั้น กำลังจะมีการบูรณะ และต่อไปนี้คือ เนื้อหาบางส่วนของบทความที่ คุณสวาท ณ น่าน เขียนไว้

“แต่เดิมนั้น ตัวเมืองตากอยู่ในเขตอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก สร้างสมัยพระนางจามเทวี สมัยลพบุรีโน่น ราว พ.ศ. 1200-1300 อยู่เหนือจากตัวจังหวัดตากขึ้นไปประมาณ 25 กิโลเมตร ตามลำน้ำแม่ปิง อยู่ทางตะวันตกของฝั่งแม่น้ำ

ต่อมาในสมัยอยุธยา ได้ย้ายเมืองมาตั้งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับเขตเทศบาลเมืองตากในขณะนี้ ตรงปากห้วยแม่ท้อ บริเวณบ้านป่ามะม่วง เพื่อเป็นการสกัดทัพพม่า ซึ่งมักจะยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมาข้ามดอยมาลงลำห้วยแม่ท้อ ที่ไหลลงแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตก เรียกเมืองตากระแหง

จนกระทั่งก่อนเสียกรุงครั้งสุดท้าย เมืองตากระแหงนี้ก็แตกไปก่อนกรุงศรีอยุธยา พร้อมๆ กับเมืองตากเดิมที่บ้านตาก และเมืองเชียงทองที่อยู่ทางด้านใต้ของเมืองตากระแหงไป 10 กิโลเมตรกว่าๆ ผู้คนแตกกระสานซ่านเซ็นถูกกวาดต้อนไปบ้าง หนีลงใต้บ้าง เข้าป่าขึ้นเขาขึ้นดอยไปบ้างจนถึงสมัยกรุงเทพฯ ร.ศ.ต้นๆ กองทัพพระเจ้ากาวิละก็ได้รวบรวมชาวเมืองตากเดิมที่บ้านตาก ชาวตากระแหงและชาวเมืองเชียงทอง (เป็นเมืองเปิดไม่มีกำแพงเมือง ตั้งขึ้นมาเนื่องจากเป็นท่าข้ามแม่น้ำปิง เป็นชุมชนค้าขายข้ามฟาก) มาตั้งเมืองใหม่อีกครั้ง

แต่การมาตั้งเมืองใหม่ครั้งนี้ เนื่องจากศึกพม่าที่มาจากทางด้านตะวันตกนี้ยังใหญ่หลวงนัก ถ้าตั้งเมืองอยู่ที่เดิมคือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง พม่ายกทัพวิ่งลงดอยมาก็จะจ๊ะเอ๋กันภายในเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง เมืองตากชาวเมืองก็มีอยู่น้อยนิดกำลังปะทะนั้นหายห่วงคือไม่มีแรงต้านศึกก็คงจะแตกไปภายในชั่วโมงที่ 3

เลยต้องยกชุมนุมชนมาตั้งฝั่งตรงกันข้ามของเมืองเดิม คือมาอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง เอาแม่น้ำปิงเป็นปราการกั้นพม่าเอาไว้ตามสภาพภูมิประเทศด้านตะวันตก เรียกว่าระแหง

เมืองตากครั้งหลังนี้ สร้างด้วยความฉุกเฉินตามหลักยุทธศาสตร์ต้านรับศึกจึงอยู่แบบขอไปที คือต้องอยู่กันอย่างง่ายๆ ตามที่ผู้ล้มละลายจากการพ่ายศึกพม่า ตัวเมืองจึงไม่มีคูเมืองและกำแพงเมือง คือเป็นเมืองเปิดพร้อมที่จะหนีได้ทันทีถ้าพม่ามายืนออหาเรือแพกันอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงอีกฟากหนึ่ง

ศาลาทรงไทยของป่าช้า วัดคอยคีรี จังหวัดตาก (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2532)

เมื่อพม่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษไปสมัย ร. 4 เมืองตากก็ว่างศึกพม่า เริ่มทำการค้าขายกับพม่าด้านตะวันตก และค้าขายกับทางภาคเหนือของประเทศไทยโดยอาศัยลำแม่น้ำปิงเป็นเส้นทางคมนาคม เป็นชุมชนที่เจริญ ถึงได้มีการทำนุบำรุงวัดวาอาราม บ้านเมือง ดังที่ผมส่งรูปถ่ายมาให้ดูนี้

บริเวณรอบๆ เมืองระแหงหรือบ้านระแหงเป็นเขตเงาฝน คือมีดอยสูงกั้นลมฝนจากด้านทะเลอันดามันด้านทิศตะวันตกเอาไว้ ฝนจึงไม่ค่อยจะตกจึงค่อนข้างจะแห้งแล้งเอาการอยู่ แต่ก็เป็นผลดีอย่างคือดินฟ้าอากาศแบบนี้ต้นสักชอบนัก ไม้สักชั้นดีจึงขึ้นอยู่ทั่วไปในบริเวณนี้ (ในอดีต)

การสร้างบ้านแปลงเมืองของชาวระแหงอุปกรณ์ที่หาง่ายก็คือ ไม้สักนี่เอง

เมืองนี้ บ้านนี้ ใช้ไม้สักฟุ่มเฟือยมากเพราะหาง่าย บ้านก็ใช้ไม้สักทำ ห้องส้วมก็ใช้ไม้สักทำ รั้วบ้านก็ไม้สัก เล้าหมูก็ไม้สัก เชื้อฟืน อย่าตกใจนะครับที่ชาวระแหงใช้ไม้สักทำติดไฟง่ายดี

วัดทุกแห่ง บ้านทุกหลังแต่เดิมทีจะสร้างด้วยไม้สัก สวยขนาดไหนดูรูปประกอบนะครับ

หอไตรวัดมณีบรรพต จังหวัดตาก สร้างอยู่กลางสระน้ำ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2532)

แต่ว่าความทันสมัย หรือนิกส์เข้ามายุ่งเกี่ยว คนทันสมัยก็ต้องอยู่ตึกโบกปูนกัน คนรุ่นใหม่ๆ เริ่มจะเห็นว่าบ้านไม้สัก วิหารไม้สัก ศาลไม้สัก เชยมาก เลยเริ่มรื้อลงทีละหลังสองหลังทั้งชาวบ้านและทั้งพระทั้งเจ้าไม่มีใครคิดจะคัดค้านใคร สิ่งไหนดูเก่าหน่อยไม่มีเงินซ่อมกันแล้ว แต่มีเงินสร้างใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิมเป็นตึก

วิหารไม้สักในประเทศไทย ใครๆ ก็ว่าวิหารวัดพันเตา เชียงใหม่ นั้นสวยจริงๆ แต่หากว่าใครเคยเห็นวิหารวัดพร้าวของจังหวัดตากแล้วอาจจะต้องหยุดคิด

วิหารวัดพร้าวนี้สร้างด้วยไม้สัก เสาวิหารใหญ่ขนาดคนโอบ เป็นวิหารขนาดเล็กระทัดรัด รูปทรงทรงส่วนงามมาก สร้างหลังคาลดหลั่นสอบเอนเข้าหากันเป็นรูปเรือสำเภา

……….

วิหารวัดพร้าวในวันนี้เป็นวิหารที่สร้างใหม่แต่คงกลัวถูกต่อว่าไม่อนุรักษ์ของเก่า เลยทำทรงคล้ายๆ แบบเดิมทำเสาลู่ๆ เข้าไว้…

ของดีเมืองตากชิ้นนี้สูญไปแล้วครับ

เพชรเมืองตากหายไปไหน อะไรจูงใจ วิธีใด ผมไม่ขอออกความเห็นครับ

วิหารวัดโบสถ์มณีศรีบุญเรือง จังหวัดตาก (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2532)

สองวันก่อนได้ข่าวร้ายมาอีกว่าวิหารไม้สักถึงแม้ว่าจะสวยสู้ของวัดพร้าวไม่ได้ เป็นของวัดโบสถ์มณีศรีบุญเรือง สถานที่ตั้งนั้นอยู่ตรงกันข้ามถนนกับศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ด้านตะวันตกของศาลากลางจังหวัด เป็นวิหารหลังสุดท้ายของจังหวัดนี้ จะถูกรื้อเพื่อซ่อมใหม่

ผมกลัวว่าฝีมือช่างสมัยนี้จะไม่ถึงขั้น เห็นมาหลายๆ วัดแล้ว มันจะไม่ใช่การซ่อมแต่เป็นการทำลายลงไปเสียมากกว่า เพราะวิหารวัดนี้ ฝาไม้สักมีภาพเขียนสีติดอยู่ทั้งสองด้าน ด้านใต้ดูฝีมือแล้วเป็นช่างเขียนชาวเหนือฝีมือดี ส่วนทางด้านเหนือนั้นเป็นฝีมือชาวใต้ ฝีมือชาวเหนือนั้นเยี่ยมกว่า คิดว่าคงจะเขียนแข่งกันสร้างประมาณต้นรัชกาลที่ 5 ผนังปูนก็มีภาพเขียน

ภาพเขียนวัดนี้ไม่ค่อยมีใครรู้ คนที่รู้ก็มีแต่ชาวบ้านไปฟังเทศน์ฟังธรรมเพียงไม่กี่คน เป็นภาพที่มีมานานแล้วไม่ใช่การค้นพบใหม่ ไม่ต้องเห่อกัน ผมก็ยังไม่เห่อเห็นมานานแล้ว แต่จะยอมให้ทำอะไรง่ายๆ นั้นไม่ได้

หรือว่าใครอยากดูอะไรดีๆ ในภาพเขียนนั้นก็ได้ เช่น รูปสาวเหนือเวลาจะฉี่นั้นทำยังไง พระถูกเสือกัดจะแก้ไขวิธีใดก็ไปดูเองได้…

ถึงวันนี้ เวลาผ่านมา 30 กว่าปี จากที่คุณสวาท ณ น่าน เขียนบทความนี้ สถานการณ์ปัจจุบัน ท่านผู้อ่านที่เป็นชาวตาก มีถิ่นพำนักอยู่ที่เมืองตาก หรือพอทราบความเคลื่อนไหว โปรดช่วยแถลงไข

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 สิงหาคม 2565