วางระเบียงคดล้อมพระอุโบสถ-พระวิหาร คติผังเขตพุทธาวาสแบบใหม่สมัยรัชกาลที่ 1

วัดสมัยรัชกาลที่ 1 ตามคำอธิบายกระแสหลักยังคงตั้งอยู่บนทฤษฎี การฟื้นฟู และลอกเลียนรูปแบบในสมัยอยุธยาตอนปลายอยู่เช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นการลอกในเชิงรูปแบบ ทรวดทรง องค์ประกอบ โครงสร้าง ตลอดจน ลวดลายประดับตกแต่ง

แต่จากข้อเท็จจริงทางกายภาพ เราจะเห็นได้ว่า วัดที่สร้างขึ้นโดยพระราชดำริโดยตรงของรัชกาลที่ 1 มีลักษณะเฉพาะบางประการที่แตกต่างออกมาจากวัดในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยสิ่งที่ควรกล่าวถึงเป็นพิเศษคือ การออกแบบวางผังพื้นที่เขตพุทธาวาสของวัดในสมัยรัชกาลที่ 1

ลักษณะผังวัดแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 1 โดยทั่วไปคือ การออกแบบให้พระอุโบสถหรือพระวิหารเป็นประธานของวัด โดยมีระเบียงคดล้อมรอบ โดยภายในระเบียงคดนิยมสร้างสถูปเจดีย์ประดิษฐานไว้ที่มุมทั้งสี่ ผังที่มีลักษณะนี้มีหลายแห่ง อาทิ วัดพระเชตุพน, วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, วัดสระเกศ, วัดราชบุรณะ เป็นต้น ซึ่งการออกแบบผังแบบนี้ยังส่งอิทธิพลต่อมายังสมัยรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 ด้วย อาทิ วัดอรุณราชวราราม และวัดสุทัศนเทพวราราม ด้วย

วัดพระเชตุพน หรือวัดโพธิ์

แม้กระทั่งวัดอื่น ๆ ที่สร้างขึ้นร่วมสมัยรัชกาลที่ 1 บางแห่งก็ได้รับอิทธิพลการวางผังนี้ เช่น วัดดุสิดาราม ไม่เว้นแม้แต่สถาปัตยกรรมในสกุลช่างวังหน้า ก็นิยมออกแบบในลักษณะเดียวกัน เช่น วัดมหาธาตุ และวัดปทุมคงคา เพียงแต่วัดวังหน้านิยมที่จะออกแบบให้มีพระอุโบสถและพระวิหารตั้งคู่กัน จากนั้นจึงใช้ระเบียงคดล้อมรอบทั้ง 2 อาคาร ซึ่งแตกต่างจากวัดวังหลวง ที่นิยมใช้พระอุโบสถเพียงหลังเดียวเป็นภายในวงรอบของระเบียงคด หรือบางวัดที่อยู่ในการอุปถัมภ์ของวังหลัง ก็ได้รับอิทธิพลแบบนี้ เช่น วัดอมรินทราราม นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดไปสู่วัดสำคัญในเวียงจันทน์ยุคต้นรัตนโกสินทร์ด้วย คือ วัดสีสะเกด เป็นต้น

การออกแบบผังพุทธาวาสลักษณะนี้ไม่เคยมีมาก่อนในสมัยอยุธยา การสร้างวัดที่มีระเบียงคดล้อมอาคารปรากฏเฉพาะในสมัยต้นอยุธยา แต่อาคารประธานของวัดที่ระเบียงคดล้อมนั้นก็นิยมสร้างเป็นพระปรางค์ มิใช่พระอุโบสถแบบสมัยรัชกาลที่ 1 และเมื่อเข้าสู่สมัยอยุธยาตอนปลาย แม้จะมีคตินิยมในการสร้างพระอุโบสถเป็นประธานของวัด แต่ก็กลับไม่มีคตินิยมในการสร้างระเบียงคดล้อมรอบแต่อย่างใด

วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ด้านหน้ามีเสาชิงช้าโบราณสถานประจำเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ (ภาพจาก กรุงเพทฯ 2489-2539)

ดังนั้น การออกแบบให้พระอุโบสถหรือพระวิหารเป็นประธานของวัด โดยมีระเบียงคดล้อม จึงเป็นลักษณะเฉพาะที่ถูกปรุงขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่ไม่มีในสมัยอยุธยา และเป็นลักษณะเฉพาะของการออกแบบวัดสำคัญ ๆ ในยุคต้นรัตนโกสินทร์โดยภาพรวมทั้งหมด

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ การเมืองในสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 1 เขียนโดย ชาตรี ประกิตนนทการ (สำนักพิมพ์มติชน, 2558)

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 สิงหาคม 2564