จาก “วัดประชาธิปไตย” ถึง “วัดพระศรีมหาธาตุ” วัดสัญลักษณ์ประชาธิปไตย

วัดประชาธิปไตย วัดพระศรีมหาธาตุ วัด
ภาพถ่ายทางอากาศวัดประชาธิปไตย หรือ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน

“…ขณะนี้ทุกสิ่งทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติแล้วควรจะทำบุญอะไรสักอย่าง มีความเห็นว่าควรสร้างวัดสักแห่งหนึ่ง…” คำปรารภของพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ทำให้เกิด “วัดประชาธิปไตย” หรือ วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร ขึ้นที่ ตำบลกูบแดง อำเภอบางเขน

หลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกฯ ในขณะนั้น) เสนอต่อที่ประชุมว่าจะขออนุมัติเงินสร้างวัด เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งการปกครองในระบบประชาธิปไตย การสร้างวัดครั้งนี้รัฐบาลเห็นว่าควรให้เป็นงานกุศลของชาติ ที่ประชาชนและรัฐบาลร่วมกัน

จึงติดประกาศเชิญชวนได้รับเงินบริจาค (ได้เงินบริจาค 336,535 บาท จากงบที่ประมาณไว้ 400,000 บาท) ส่วนที่ให้ชื่อว่า “วัดประชาธิปไตย” นั้นเนื่องจากทำเลที่ตั้งของวัด วัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธินซึ่งเป็นถนนที่ตัดขึ้นใหม่ (เดิมชื่อถนนประชาธิปัตย์) บริเวณใกล้ๆ กันนั้น เดิมมี “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ในเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช”

นอกจากนี้รัฐบาลยังต้องการที่จะสร้างให้วัดประชาธิปไตยนี้ เป็นวัดตัวอย่างที่มีความสมบูรณ์ในการสร้างวัด เป็นมาตรฐานของสถาปัตยกรรมไทย และเป็นวัดที่รวมเอามหานิกายและธรรมยุตินิกายเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อที่จะสร้างให้วัดพระศรีมหาธาตุเป็นวัดที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของชาติไทยในสมัยประชาธิปไตย สิ่งที่ช่วยยืนยันอีกประการคือ การอัญเชิญ “พระพุทธสิหิงค์” พระพุทธรูปสำคัญองค์ที่ 3 ของประเทศไทย ต่อจากพระแก้วมรกต และพระพุทธชินราชที่พิษณุโลก มาเป็นพระประธานของวัด

“พระพุทธสิหิงค์” พระประธานภายในพระอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน

วัดพระศรีมหาธาตุทำพิธีเปิดทางเป็นทางการ หรือถวายเป็นเสนาสนะ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485 ซึ่งเป็นการกำหนดวันให้ตรงกับวันปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อ 10 ปีก่อน และพระยาพหลพลพยุหเสนาก็ได้มาเป็นบุคคลแรกที่ทำพิธีอุปสมบทในวัดพระศรีมหาธาตุแห่งนี้

ต่อมารัฐบาลได้ส่งคณะทูตพิเศษนำโดย นาวาเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เดินทางไปประเทศอินเดีย เพื่อติดต่อขอพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดินสังเวชนียสถานทั้งสี่ และกิ่งพระศรีมหาโพธิ 5 กิ่ง เพื่อนำมาประดิษฐานที่วัดประชาธิปไตย จึงตกลงเปลี่ยนนามวัดใหม่เป็น “วัดพระศรีมหาธาตุ”

แต่วัดยังคงความหมายในการเป็นอนุสรณ์ของระบอบประชาธิปไตยและคณะราษฎร สัญลักษณ์สำคัญที่สุดที่สะท้อนความหมายของประชาธิปไตยและคณะราษฎรคือ พระธาตุเจดีย์ หน้าพระอุโบสถ

เจดีย์วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ที่สื่อ”หลัก 6 ประการของคณะราษฎร” ภายในนอกจากบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ยังบรรจุอัฐิของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

การสร้างพระธาตุเจดีย์ไว้หน้าพระอุโบสถ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย เจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นเป็นเจดีย์ 2 ชั้น ชั้นนอกเป็นเจดีย์ใหญ่สูง 38 เมตร ชั้นในทำเป็นเจดีย์องค์เล็กตั้งอยู่ตรงกลาง (บรรจุพระธาตุที่อัญเชิญมา) มีพื้นที่ระหว่างผนังทั้ง 2 ชั้นราว 2 เมตรครึ่ง สำหรับให้เข้าไปนมัสการได้ แต่ลักษณะพิเศษแตกต่างจากพระธาตุเจดีย์ทั่วไปคือ ส่วนที่เป็นผนังด้านในของเจดีย์องค์ใหญ่ ได้ถูกออกแบบให้เป็นช่องจำนวน 112 ช่อง

หลวงวิจิตรวาทการเสนอความเห็นว่า ควรทำใช้บรรจุอัฐิของคณะราษฎร หรือบุคคลอื่นที่ทำคุณงามความดีแก่ชาติบ้านเมือง โดยยกตัวอย่าง Pantheon ในประเทศฝรั่งเศสมาเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบ และยกเหตุผลประกอบว่า

“…เมื่อครั้งเจ้าคุณพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านได้มีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะสร้างที่บรรจุอัฐิของผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้เคยมีบัญชาให้กรมศิลปากรออกแบบเสนอมาแล้ว แต่ปรากฏว่าต้องใช้เงินราว 4 แสนบาท เรื่องจึงสงบไป…ข้าพเจ้าจึงมาคิดว่าถ้าใช้ช่องที่ทำไว้ในเจดีย์พระศรีมหาธาตุนี้เป็นที่บรรจุอัฐิของผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ดูเป็นการสมควรและเป็นการสะดวก…”

สุดท้ายคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกับข้อเสนอว่า จะใช้เป็นที่บรรจุอัฐิของผู้ที่ทำประโยชน์แก่ชาติ โดยมิได้กล่าวเจาะจงเฉพาะว่าเป็นอัฐิของคณะราษฎร

ผนังภายในเจดีย์ เป็นช่องบรรจุอัฐิของคณะผู้ก่อการฯ 2475

อย่างไรก็ตามในการปฏิบัติจริง ภายในช่องบรรจุอัฐิในพระเจดีย์ ก็ล้วนแต่บรรจุอัฐิของบุคคลที่เป็นคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งสิ้น อาทิ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, พระยาพหลพลพยุหเสนา, ปรีดี พนมยงค์, พลโท ประยูร ภมรมนตรี, นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย, นาวาเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ฯลฯ และในหลายช่องก็ได้ใช้เป็นที่บรรจุอัฐิของภรรยาคณะผู้ก่อการฯ ด้วย เช่น ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม เป็นต้น

นอกจากนี้ พระธาตุเจดีย์ ยังออกแบบส่วนยอดให้ไม่มีบัลลังก์ และมีจำนวนบัวกลุ่มที่ยอด 6 ชั้น ซึ่งมิใช่ระเบียบโดยทั่วไปขององค์ประกอบเจดีย์ที่หากทำยอดเป็นบัวกลุ่ม มักจะออกแบบให้ชั้นบัวกลุ่มนี้เป็นเลขคี่ และเลขคี่ที่นิยมคือ 5, 7, 9 และ 11 ชั้นการทำบัวกลุ่ม 6 ชั้น อาจจะสื่อความหมายถึง “หลัก 6 ประการ” ของคณะราษฎร เช่นเดียวสถาปัตยกรรมในยุคคณะราษฎรอื่นๆ

และด้วย พระพรหมพิจิตร เป็นนายช่างผู้ออกแบบ ที่มีลักษณะงานของท่านมีลักษณะเรียบง่าย เน้นประโยชน์ใช้สอย ฯลฯ ดังนั้น แม้ทางสถาปัตยกรรมจะได้รับอิทธิพลจากพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร แต่ในรายละเอียดนั้นจะพบว่า พระพรหมพิจิตรได้สร้างรูปแบบทางสถาปัตยกรรมไทยแบบใหม่ขึ้น โดยพยายามลดทอนรายละเอียดของลวดลายไทยลงสู่ความเรียบง่ายของรูปทรงเรขาคณิต รูปแบบศิลปะที่เรียบง่ายเหล่านี้ได้ถูกนำไปใช้สื่อสารในความหมายของงานสถาปัตยกรรมในระบอบประชาธิปไตย

โดยเฉพาะ หน้าบัน ที่ในแบบจารีตนิยมจะทำเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ตราพระราชลัญจกรต่างๆ หรือเทพเทวดาชั้นสูงอื่นๆ แต่ที่หน้าบันด้านหน้าของวัดพระศรีมหาธาตุ กลับทำเป็นรูป “อรุณเทพบุตร” ตามตำนาน มีหน้าที่เป็นสารถีขับรถให้กับพระอาทิตย์ หมายถึง “แสงตะวันเมื่อแรกขึ้น” เท่าที่ผ่านมาไม่พบว่าเทพองค์นี้เคยถูกนำมาใช้เป็นลายหน้าบันหลักของอาคารใดเลย

ลายอรุณเทพบุตร บนหน้าบันพระอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุ

ถ้าลองวิเคราะห์ความหมายของอรุณเทพบุตรที่หมายถึง “แสงตะวันเมื่อแรกขึ้น” นั้นมีความหมายที่ดีและเข้ากันได้ ที่จะใช้สื่อถึงการถือกำเนิดขึ้นของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย ที่เพิ่งเริ่มลงหลักปักฐาน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

นริศ จรัสจรรยาวงศ์. หลอมนิกาย” มหาสังฆกรรมคณะราษฎร อุปสมบทพระยาพหลฯ พ.ศ. 2484, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมิถุนายน 2561

ชาตรี ประกิตนนทการ. วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน : วัดสัญลักษณ์ประชาธิปไตยยุคคณะราษฎร, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมิถุนายน 2550

พุฒรียา ประเสริฐสมบัติ. วัดพระศรีมหาธาตุ วรวิหาร บางเขน: ประวัติศาสตร์ และศิลปกรรม, วิทยานิพนธ์ ภาควิชากประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2548


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2562