ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระยาพหลพลพยุหเสนา หลังวางมือการเมือง บั้นปลายชีวิตเหลือเงินติดบ้านร้อยกว่าบาท
หลัง “พระยาพหลพลพยุหเสนา” นายกรัฐมนตรี ยุบสภาฯ ในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2481 และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 แล้วนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่ต้องการให้ท่านกลับมารับตำแหน่งนายกฯ อีกครั้ง แต่ท่านยืนกรานปฏิเสธตำแหน่ง แม้คณะผู้สำเร็จราชการจะวิงวอนขอก็ตาม
พระยาพหลฯ ยังคงเป็นสมาชิกสภาฯ ประเภทที่ 2 ยังคงทำงานในรัฐสภา แต่ได้สิ้นสุดสมาชิกภาพสมาชิกสภาฯ เนื่องจากเข้าอุปสมบทเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 ณ วัดพระศรีมหาธาตุ โดยคณะรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพในงานอุปสมบท ส่วนการดำเนินงานทั้งหมดมีสำนักงานเลขานุการนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ
พระยาพหลฯ จำพรรษาที่วัดเบญจมพิตรดุสิตวนาราม 1 พรรษา ลาสิกขาเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ปีเดียวกัน แล้วกลับเข้าเป็นสมาชิกสภาฯ ประเภทที่ 2 ตามเดิม
พระยาพหลฯ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาทหารสูงสุดในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อมาในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2485 ได้เป็นหัวหน้าคณะทูตฉลองกติกาพันธไมตรีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งแต่เดิมญี่ปุ่นต้องการให้จอมพล ป. ไปญี่ปุ่นในการเชื่อมสัมพันธ์ครั้งนี้ แต่จอมพล ป. ไม่อยากไป จึงเลือกให้พระยาพหลฯ ไปแทน
ภารกิจครั้งนี้เป็นภารกิจครั้งสำคัญของพระยาพหลฯ ในช่วงบั้นปลายชีวิต เพราะหลังกลับประเทศไทยแล้วจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพใหญ่ มีสิทธิ์บังคับบัญชาสามเหล่าทัพ แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นตำแหน่งเพื่อเกียรติยศเสียมากกว่า และดำรงอยู่ในตำแหน่งเพียงปีครึ่งเท่านั้น
พระยาพหลฯ กลับมารับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ช่วง พ.ศ. 2487-2488 แต่ก็เพียงชั่วคราว จากนั้นก็ไม่ได้รับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ
ส. พลายน้อย บรรยายว่า พระยาพหลฯ และภรรยา ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายตามอัตภาพ จนแทบไม่มีใครจะระลึกถึงท่านว่ามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร
พระยาพหลฯ พำนักอยู่ที่วังปารุสกวัน ซึ่งได้รับพระราชทานให้ใช้เป็นบ้านพักของท่านกับครอบครัว แม้ภายนอกจะดูเป็นคนร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ แต่ความจริงท่านเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ มาตั้งแต่เด็ก ๆ เรื่อยมา
ท่านล้มป่วยครั้งใหญ่ด้วยโรคอัมพาต เนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตกมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 แต่ด้วยกำลังกายและกำลังใจของพระยาพหลฯ และความสามารถของแพทย์ ทำให้มีชีวิตต่อมาได้อีก 2 ปี
เดือนธันวาคม พ.ศ. 2489 กุหลาบ สายประดิษฐ์ มีโอกาสเข้าเยี่ยมพระยาพหลฯ และได้บรรยายสภาพของท่านว่า ซูบผอมเห็นชายโครง มือซ้ายงอพับใช้การไม่ได้ตลอดลำแขน พูดไม่ค่อยถนัด ทำให้กุหลาบ สายประดิษฐ์ รู้สึกสลดใจ แต่ท่านก็ยังยิ้มแย้มและมีแววตาแจ่มใส
ท่านกล่าวกับกุหลาบ สายประดิษฐ์ ว่า “ในเวลานั้นอาการค่อนดีขึ้นมาก ออกเดินเล่นได้บ้างในระยะทางสั้น ๆ ความทรงจำไม่สู้ดี และการใช้ความคิดก็เป็นของแสลง…”
การเยี่ยมครั้งนั้น พระยาพหลฯ กล่าวถึงเรื่องการสละตำแหน่งนายกฯ ว่า
“ข้อที่เจ็บป่วยนั้นก็เป็นความจริงสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้ผมไม่เต็มใจรับตำแหน่ง”
“พวกที่มาติดต่อ เขาอาจจะไม่เข้าใจและอาจคิดไปว่าผมเล่นตัวหรือไม่เข้าช่วยกันรับแบกภาระประเทศ แต่ความจริงผมป่วยและหย่อนกำลังวังชาจริง ๆ แต่อาศัยโรคของผมมันก็ไม่ถึงแก่ล้มหมอนนอนเสื่อเสียด้วย มันยังไปไหนมาไหนได้ ข้อนั้นแหละที่อาจทำให้พวกที่มาติดต่อเข้าใจผิดไปได้ แต่ความจริงนั้น ผมทำงานตรากตรำไม่ได้ เพียงเดินมากก็เหนื่อยหอบ อายจะเข้ารับตำแหน่งโดยตัวเองทำการไม่ได้เต็มที่นั้น ผมก็ไม่เต็มใจรับ เมื่อรับแล้วก็อยากทำให้เต็มกำลังของตน”
“ผมก็เจ็บใจตัวเองเหมือนกัน ที่ต้องมาเจ็บออดแอดร่วมปี เมื่อมีการสำคัญของประเทศมาถึงตัว ก็รับทำให้เขาไม่ได้ มันช่างเป็นกรรมจริงเทียวคุณ”
มีบันทึกว่าในห้วงสุดท้ายก่อนที่พระยาพหลฯ จะถึงแก่อสัญกรรม ท่านได้เรียกหลวงอดุลเดชจรัส และนายปรีดี พนมยงค์ ไปหา พร้อมสั่งเสียถึง “พินัยกรรมทางการเมือง” ไว้ว่า
“ประชาธิปไตย ซึ่งคณะผู้ก่อการ 24 มิถุนายน 75 ได้ปฏิบัติมาก็เพื่อให้แก่คนไทยทุกคน ไม่ใช่ให้แก่หมู่คณะใด ฉะนั้น เมื่อสิ้นบุญไปแล้ว ก็ขอให้ทุกคนจงรักษาไว้ อย่ายอมให้หมู่คณะใดมายื้อไปใช้อย่างผิด ๆ”
จวบจนกระทั่ง เวลา 21.40 น. ของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 ท่านมีอาการหายใจลึกและสะท้อน ชีพจรอ่อน พูดไม่ได้ มีเสมหะในลำคอ ม่านตาไม่ขยาย แพทย์ประจำตัวได้พยายามฉีดยาช่วยหัวใจและปอดให้ทำงานดีขึ้น อาการของพระยาพหลฯ ทรุดลงกะทันหัน เนื่องมาจากขณะกำลังอาบน้ำอยู่ก็มีจิ้งจกตกลงมาที่แขน ด้วยเป็นคนที่เกลียดสัตว์ประเภทนี้เป็นที่สุด ท่านจึงตกใจสุดขีดถึงกับล้มฟุบลงและหมดสติ
ล่วงถึงเวลา 03.05 ของวันที่ 14 กุมภาพันธ์ อาการของท่านมีแต่ทรุดลง กระทั่งถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบ โดยแพทย์ลงความเห็นกันว่าเส้นเลือดในสมองแตกเป็นครั้งที่ 2
ในวันเปิดพินัยกรรม พระยาพหลฯ ไม่ได้เขียนพินัยกรรมซับซ้อนหรือมีเงื่อนไขใดมากนัก ท่านได้แบ่งทรัพย์สินให้กับภรรยาและบุตรตามสมควร ทรัพย์สินของท่านมิได้มีมากมาย นอกจากเคหะสถานและที่ดินในเชียงแสน กาญจนบุรี และบางซื่อแล้ว ก็มีพระเครื่อง พระพุทธรูป และข้าวของเครื่องใช้จำนวนหนึ่ง มิได้มีทรัพย์สินมีมูลค่ามหาศาลปรากฏในบันทึกวันเปิดพินัยกรรมแต่อย่างใด
ภายหลังครอบครัวของพระยาพหลฯ ได้ใช้ชีวิตกันอย่างธรรมดาในบ้านบนถนนศรีอยุธยา นักข่าวจากหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ได้สัมภาษณ์ท่านผู้หญิงบุญหลง ภรรยาของพระยาพหลฯ ว่า ครอบครัวได้เงินค่าเลี้ยงดูจากรัฐบาลเดือนละ 1,500 บาท ซึ่งเทียบกับครอบครัวนักการเมืองหลายคนแล้ว ต่างกันราวฟ้ากับเหวเลยทีเดียว
มานะ สีบัวแดง บรรยายห้วงเวลาวันที่พระยาพหลฯ ถึงแก่อสัญกรรมว่า “ในวันที่ท่านเจ้าคุณพหลฯ ถึงแก่อสัญกรรมนั้น ท่านมีเงินติดบ้านอยู่เพียงร้อยกว่าบาท, ไม่พอแม้ค่าซื้อโลง, ทางรัฐบาลต้องช่วยอุปถัมภ์. แม้แต่หนังสือแจกในงานศพของท่าน คณะรัฐบาลก็ต้องช่วยจัดพิมพ์ให้ โดยพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีเวลานั้นเป็นผู้เขียนคำนำให้”
สอดคล้องกับบทความในบางกอกไทม์ ฉบับ พ.ศ. 2521 อธิบายว่า “ซึ่งตอนที่ท่านเสียชีวิตแทบไม่มีเงินจะทำศพ มีเงินติดบ้านอยู่เพียงร้อยกว่าบาทเท่านั้นเอง เนื่องจากไม่มีรายได้ทางอื่น อาศัยเงินเดือนจริง ๆ เลี้ยงครอบครัวตลอดมา การทำศพได้รับความช่วยเหลือจากพรรคพวกช่วยกัน…”
ท่านผู้หญิงบุญหลงเคยเล่าให้นักข่าวฟังว่า “ในฐานะที่เป็นภรรยาหัวหน้าคณะปฏิวัติจน ๆ อย่างท่านเจ้าคุณพระยาพหลฯ ท่านไม่เคยสะสมสมบัติอะไรไว้เลย แม้แต่บ้านจะอยู่เป็นของตัวเองก็ไม่มี ต้องอาศัยบ้านหลวง เงินทองใช้จ่ายก็อาศัยเงินเดือนใช้จ่ายไปเดือน ๆ หนึ่งเท่านั้นเอง…”
กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนไว้อาลัยถึงพระยาพหลฯ ว่า “หลักใหญ่ของประเทศหลักหนึ่งได้ล้มลงเมื่อเวลาตีสาม ในคืนวันพุธที่ 13 ประเทศไทยได้เสียอภิชาตบุตรไปอีกคนหนึ่ง ท่านเจ้าคุณพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นบุคคลแรกของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงตราเกียรติคุณให้ปรากฏลือชาไว้ในแผ่นดิน และได้ทรงสถาปนายกไว้ในฐานะเชษฐบุรุษ หรือนัยหนึ่ง รัฐบุรุษหลักของประเทศ…”
อ่านเพิ่มเติม :
- ย้อนรอยปัจฉิมกาลผู้นำคณะราษฎร วาระสุดท้ายของชีวิตเหล่าผู้ก่อการปฏิวัติ 2475
- บันทึกเหตุการณ์ ลอบสังหารจอมพล ป. กระสุน-ยาพิษ ไม่ระคาย “จอมพลกระดูกเหล็ก”
- “ปรีดี พนมยงค์” เห็นควรใช้ชื่อประเทศว่า “Muang Thai” ดีกว่า “Thailand”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
มานะ สีบัวแดง. (กุมภาพันธ์, 2536). พระยาพหลพลพยุหเสนา : เชษฐบุรุษแห่งระบอบประชาธิปไตย. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 14 ฉบับที่ 4.
ไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์. (2552). 111 ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา “เชษฐบุรุษ” 29 มีนาคม 2551. สำนักพิมพ์สุขภาพใจ.
ส. พลายน้อย. (2555). พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีผู้ซื่อสัตย์. สำนักพิมพ์มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มีนาคม 2563