ย้อนรอยปัจฉิมกาลผู้นำคณะราษฎร วาระสุดท้ายของชีวิตเหล่าผู้ก่อการปฏิวัติ 2475

[จากซ้ายไปขวา] พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน), จอมพล แปลก พิบูลสงคราม และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) 3 ผู้นำคณะราษฎรในคณะรัฐบาลพระยาพหลฯ ยุคปลาย 2480 ภาพจากปกนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มิถุนายน 2564

24 มิถุนายน 2564 จะเป็นปีที่ 89 ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยของไทย คงมีบทความเกี่ยวกับ “คณะราษฎร” ผู้สถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยออกมาให้อ่านตามช่องทางต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของเหตุการณ์ในการปฏิวัติ หรือการเตรียมการเป็นส่วนใหญ่

แต่นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมิถุนายน 2564 เลือก “วาระสุดท้าย” ของ 3 สมาชิกคนสำคัญในคณะราษฎร คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ ปรีดี พนมยงค์ ในบทความชื่อ “นระ 2475 ลาเวที ทิ้งชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ดวงหน้าสุดท้ายและอนุสาวรีย์ 3 ผู้นำคณะราษฎร” โดยนริศ จรัสจรรยาวงศ์

Advertisement

นริศ จรัสจรรยาวงศ์ เป็นนักเขียนที่นำเสนอบทความเกี่ยวกับคณะราษฎรอย่างต่อเนื่อง ในมิติที่หลากหลายด้วยความหนักแน่นของข้อมูลที่เขาสืบค้น เช่น อนุสรณ์งานศพสมาชิกคณะราษฎร (ศิลปวัฒนธรรม, มิถุนายน 2560) 3+1 มุสลิมีนคณะราษฎร ผู้ก่อการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 (ศิลปวัฒนธรรม, มีนาคม 2563) ข้างหลังภาพ “คณะราษฎร” ณ กรุงปารีส (ศิลปวัฒนธรรม, มิถุนายน 2563) ฯลฯ

ในบทความล่าสุดของนริศ “3 ผู้นำคณะราษฎร” ที่เขากล่าวถึงก็คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ ปรีดี พนมยงค์ เพราะนี้คือผู้นำการก่อการ ขุมพลัง และมันสมองของคณะราษฎร ตามลำดับ

พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) “เชษฐบุรุษ” ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ

เพราะหลังเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยใหม่เพียง 1 ปี พระยาพหลฯ จับมือหลวงพิบูลฯ รัฐประหารซ้ำรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เนื่องจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาสั่งปิดรัฐสภาและเนรเทศปรีดีออกจากประเทศจากการนำเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ ปฏิบัติการครั้งนั้นนำพามาซึ่งเสถียรภาพของคณะราษฎรและนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของ 3 ประสาน “พระยาพหลฯ-หลวงพิบูลฯ-ปรีดี”

เมื่อพระยาพหลฯ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ถือได้ว่ามีหลวงพิบูลฯ และปรีดีเป็นเสมือนมือซ้ายมือขวาช่วยงาน จนบริหารงานได้อย่างราบรื่น อีกราว 5 ปี ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงได้เปลี่ยนผ่านสู่คณะราษฎรรุ่นหนุ่มด้วยวัยเพียง 41 ปี อย่างหลวงพิบูลสงครามปลาย พ.ศ. 2481

นายโรแฮน รีแวตต์ ชาวอังกฤษผู้เข้ามาอยู่เมืองไทยและตกเป็นเชลยศึกตลอดระยะสงคราม ได้เขียนบทความชื่อ “Problem of Modern Siam” ในนิตยสารรายสัปดาห์ The Listener กล่าวถึงภาวการณ์ช่วงนั้นดังนี้

“อำนาจอันแท้จริงในประเทศไทยนั้น ได้ตกอยู่ในมือของบุคคลสำคัญเพียงสองคน นับแต่ปี 1938 คนหนึ่งคือพิบูลผู้ปกครองในปัจจุบัน เขาปกครองประเทศไทยก่อนสงครามและเกือบตลอดระยะเวลาที่ญี่ปุ่นยึดครองประเทศไทยอยู่ อีกคนหนึ่งคือประดิษฐ์ ผู้นำพรรคใต้ดินไทย ผู้นิยมพันธมิตร์ ตั้งแต่ปี 1942 ถึง 1945 และผู้ปกครองประเทศ นับแต่การปลดแอกจนถึงเดือนพฤศจิกายน ปี 1947”

หากในที่นี้ขอกล่าวเฉพาะ พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) (พ.ศ. 2430-2490) เท่านั้น

วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2488 พระยาพหลพลพยุหเสนาเริ่มล้มป่วยลงด้วยโรคอัมพาตเนื่องจากเส้นโลหิตในสมองแตก และต่อสู้กับโรคาพยาธิตลอดมาอีกราว 2 ปี จนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 ณ วังปารุสกวัน

ตั้งโกศพระยาพหลพลพยุหเสนา ณ วังปารุสกวัน

กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนบทความ “เชษฐบุรุษอำลา” อุทิศแด่พระยาพหลฯ ไว้ในหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษฉบับวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 ไว้ว่า “หลักใหญ่ของประเทศหลักหนึ่ง ได้ล้มลงเมื่อเวลาตีสามในคืนวันพุธที่ 13 ประเทศไทยได้เสียอภิชาตบุตร ไปอีกคนหนึ่ง”

กุหลาบหวนรำลึกถึงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ เมื่อได้มีโอกาสสัมภาษณ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2476 (แต่ในคำนำหนังสือเบื้องหลังการปฏิวัติระบุว่าวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ก่อนการรัฐประหารซ้ำเพียง 1 อาทิตย์ ขณะลาออกพร้อม 4 ทหารเสือแล้วพระยาพหลฯ ว่า “ท่านเป็นโรคเจ็บปวดที่หัวใจ”) บรรยายถึงการเข้าสักการะเยี่ยมเยือนครั้งสุดท้ายก่อนท่านสิ้น 6 สัปดาห์ไว้ว่า

พระยาพหลฯ คุยอย่างเป็นกันเองว่าหยุดอ่านพงศาวดารจีนที่ชื่นชอบ แต่ยังสูบบุหรี่อร่อยดีอยู่ รับประทานอาหารได้มาก และยังดื่มสุราได้ออกรสดีบ้างนิดหน่อย พระยาพหลฯ กล่าวถึงเหตุผลเรื่องที่ปฏิเสธตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลัง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ลาออกเมื่อ พ.ศ. 2487 ว่านอกจากเรื่องสุขภาพไม่เอื้ออำนวย อีก ๑ สาเหตุที่ไม่ได้เปิดเผยแก่คนทั่วไป คือ

“เมื่อตอนที่ผมบอกสละตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและปล่อยตำแหน่งนั้นแก่คุณหลวงพิบูลนั้น [พ.ศ. 2481-นริศ จรัสจรรยาวงศ์] ผมได้บอกแก่คุณหลวงพิบูลว่า ผมสละตำแหน่งนั้นโดยเด็ดขาดและโดยเต็มใจ ฉะนั้น ขอคุณหลวงพิบูลอย่ามีกังวลว่า ผมจะกลับมาครองตำแหน่งนั้นอีก นี่แหละคุณ เมื่อผมได้ลั่นวาจาเช่นนั้นไว้แก่เขาแล้ว…”

เมื่อมีนักข่าวขอสัมภาษณ์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงข่าวอสัญกรรมของเจ้าคุณพหลฯ ท่านทำบันทึกข้อความมาให้ว่า “ผมขอโทษที่ไม่ได้มาพบ เพราะไม่อยากจะแสดงอะไรยิ่งไปกว่าการทำมาหากิน การที่เจ้าคุณพหลฯ ได้ถึงแก่อสัญกรรมผมขอให้ท่านสู่สุคติ พร้อมด้วยเสียใจ”

ซึ่งหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษได้นำประโยคดังกล่าวมากระทบกระเทียบ จอมพล ป. ไว้ว่า “ท่านจอมพล ผู้มุ่งหน้าแต่จะทำมาหากินก็มิได้มาร่วมพิธีในงานซึ่งจะได้เห็นหน้าเพื่อนร่วมตายผู้อาวุโสของท่านเป็นครั้งสุดท้าย.”

ส่วน ปรีดี พนมยงค์ นั้นในวันรดน้ำศพพระยาพหลฯ อยู่ระหว่างเดินทางไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ 9 ประเทศ เป็นเวลา 3 เดือนเศษ ทันทีที่ลงจากเครื่องบินเมื่อเย็นวันที่ 20 กุมภาพันธ์ หนังสือพิมพ์สยามนิกรพาดหัวข่าวตัวโตว่า “ปรีดีมาก็ถามถึงพระยาพหลฯ” และ “รีบรุดไปคำนับศพทันที”

วันที่ 17 เมษายน มีการฌาปนกิจ พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ณ วัดเบญจมบพิตร นายสมุทร สุรักขกะ อดีตนายกสโมสรผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ เขียนถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ว่า

“วันนั้นเป็นวันพระราชทานเพลิงศพ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา…ปรีดี พนมยงค์ พล.ร.ต. หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีจัดงานเป็นเจ้าภาพอยู่ก่อน พอรัฐพิธีสิ้นแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็แอบไปในงานค่ำ ได้พบและร่วมวงคุยกันอย่างสนุกสนานแบบเพื่อนร่วมปฏิวัติ 2475 คณะผู้ก่อการ 2475 เป็นจำนวนมาก อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นวันสุดท้ายที่ปรีดีและจอมพลพบกันจนกระทั่งจอมพลสิ้นชีพไป…”

ป้ายอัฐิของพระยาพหลพลพยุหเสนา ณ วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน

พระยาพหลพลพยุหเสนาสั่งความที่เสมือนพินัยกรรมการเมืองแด่หลวงอดุลเดชจรัสและ นายปรีดี พนมยงค์ ไว้ว่า

“ประชาธิปไตย ซึ่งคณะผู้ก่อการ 24 มิถุนายน 75 ได้ปฏิบัติมาก็เพื่อให้แก่ คนไทยทุกคน ไม่ใช่ให้แก่หมู่คณะใด ฉะนั้น เมื่อสิ้นบุญไปแล้ว ก็ขอให้คนไทยทุกคนจงรักษาไว้ อย่ายอมให้หมู่คณะใดมายื้อแย่งไปใช้อย่างผิดๆ”

ภายหลังการอสัญกรรมของพระยาพหลพลพยุหเสนา มีการรำลึกถึงเกียรติประวัติในรูปแบบต่างๆ เช่น

พ.ศ. 2493 ในสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เปลี่ยนชื่อทางหลวงแผ่นดินสายเหนือจากเดิม “ประชาธิปัตย์” เป็น “พหลโยธิน” เพื่อเป็นเกียรติแก่พระยาพหลฯ ผู้ก่อการคณะราษฎร

วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2495 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อค่ายทหาร จังหวัดลพบุรี จากเดิม “กรมจเรทหารปืนใหญ่” เป็น “ค่ายพหลโยธิน” สมัย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์  มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ภายในค่ายนี้จนแล้วเสร็จกำหนดพิธีเปิดอย่างทางการเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2503

อนุสาวรีย์ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา

ที่กล่าวมานี้ก็แค่เนื้อหาบางส่วนของพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะปฏิวัติ-คนแรกและคนเดียวของไทย ที่ยากจนผิดปกติ

สำหรับเรื่องราวที่เหลือเกี่ยวกับพระยาพหลฯ  รวมถึง จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ ปรีดี พนมยงค์ ที่ไม่ได้กล่าวไว้ในบทความนี้ ขอได้โปรดติดตามอ่านจาก “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมิถุนายนนี้

ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2564

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 13 มิถุนายน พ.ศ.2564