“ปรีดี พนมยงค์” เห็นควรใช้ชื่อประเทศว่า “Muang Thai” ดีกว่า “Thailand”

ปรีดี พนมยงค์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ภาพประกอบเนื้อหา - (ซ้าย) จอมพล ป. พิบูลสงคราม (ขวา) นายปรีดี พนมยงค์

ครั้งหนึ่ง ปรีดี พนมยงค์ ค้าน จอมพล ป. พิบูลสงคราม เรื่อง ชื่อประเทศ

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในอดีตเรียกชื่อ “ประเทศไทย” ว่า “สยาม” เพิ่งมีการเปลี่ยน ชื่อประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2482 โดยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงความ นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่ก็เห็นชอบที่จะเปลี่ยนชื่อจากสยามเป็นไทย แต่มีคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้คือ ปรีดี พนมยงค์

ปรีดีเล่าว่า “คณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่ในสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2482 ลงมติเห็นชอบกับชื่อประเทศใหม่ สภาผู้แทนราษฎรจึงต้องยอมรับชื่อประเทศเป็นภาษาไทยว่า ‘ประเทศไทย’ ดังนั้น ด้วยคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทางภาษาที่มีลักษณะคลั่งชาติคนหนึ่ง ชื่อของประเทศจึงเปลี่ยนเป็น ‘Thailand’ ในภาษาอังกฤษ และ ‘Thailande’ ในภาษาฝรั่งเศส”

“ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาที่มีลักษณะคลั่งชาติคนหนึ่ง” ที่ปรีดีกล่าวถึงนี้ ไม่ใช่ใครที่ไหน คือ หลวงวิจิตรวาทการ หนึ่งในขุนพลคนสำคัญของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นั่นเอง

ปรีดีอธิบายว่า ที่หลวงวิจิตรวาทการได้เสนอให้เรียกชื่อประเทศไทยเป็นภาษาอังกฤษว่า “Thailand” ภาษาฝรั่งเศสว่า “Thailande” และเรียกพลเมืองเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “Thailandais” นั้น ทำให้ “ฝรั่งพากันงง”

โดยเสนอว่า ควรให้เรียกชื่อประเทศไทยเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสว่า “Siam” ตามที่คนทั่วโลกได้รู้จักชื่อนี้อยู่แล้ว ได้ยกตัวอย่างประเทศเยอรมนี ซึ่งเรียกชื่อประเทศเป็นภาษาเยอรมันว่า “DEUTSCHLAND” แต่ก็ไม่ได้กำหนดให้เรียกชื่อประเทศตนเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสตามชื่อภาษาเยอรมนี หากเรียกชื่อประเทศตนในภาษาอังกฤษว่า “GERMANY” และภาษาฝรั่งเศสว่า “ALLEMAGNE” ตามที่คนอังกฤษและฝรั่งเศสเคยเรียก และเคยรู้จักชื่อประเทศเยอรมนีในชื่อนั้น

ปรีดีให้ความเห็นว่า หากจะต้องใช้ชื่อประเทศใหม่ เพื่อแสดงว่าประเทศนี้ประกอบด้วยคนเชื้อชาติไทยเป็นส่วนมาก ควรจะเรียกตามที่คนไทยเรียกชื่อประเทศของตนว่า “Muang Thai” แทนที่จะใส่คำว่า “Land” หรือ “Lande” ต่อท้ายคําว่า “Thai”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. จาก สยาม เป็น ไทย นามนั้นสำคัญไฉน. สำนักพิมพ์มติชน, 2548

สุพจน์ ด่านตระกูล. ไทย หรือ สยาม. พิมพ์ครั้งที่ 2. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545

ปรีดี พนมยงค์. ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน. สำนักพิมพ์เทียนวรรณ, 2529.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 สิงหาคม 2563