ผู้เขียน | พล อิฏฐารมณ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ในบทความชิ้นก่อนของผม (จาก “สยาม” มาเป็น “ไทย” แล้วทำไม “ไทย” จึงต้องมี “ย”) ได้บอกเล่าความเป็นมาของการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” มาเป็น “ไทย” โดยมิได้บอกเรื่องราวความเป็นมาของคำว่า “สยาม” หรือคำว่า “ไท” หรือ “ไทย”
ก็เพราะว่า สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อคือลักษณะของ “การใช้อำนาจรัฐ” ของรัฐชาตินิยมในสมัยนั้น มากกว่าที่จะแจกแจงที่มาของความหมายในเชิงภาษาศาสตร์ ทำให้ผู้อ่านหลายท่านไม่พอใจ ผมจึงต้องขออภัยมาไว้ ณ ที่นี้ด้วย
แต่ขณะเดียวกัน! บทความชิ้นดังกล่าวได้กลายเป็นบทความที่ได้รับความสนใจจากผู้อ่านระดับทั่วไป (ซึ่งน่าจะไม่ได้เป็นนักประวัติศาสตร์หรือนักภาษาศาสตร์) ค่อนข้างมาก ผมจึงอยากจะนำเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์การเปลี่ยนชื่อประเทศ “สยาม” มาเป็น “ไทย” เพิ่มเติมอีกสักหน่อย
เรื่องที่ว่าก็คือ เสียงวิจารณ์ถึงความหมายของชื่อ “ไทย” ที่เขียนว่า “Thai” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีนักหนังสือพิมพ์รายหนึ่งออกมาให้ความเห็นทำนองเสียดสีว่า การออกเสียงของคำนี้ไปพ้องกับคำในภาษาอังกฤษที่มีความหมายในเชิงวาบหวาบ ฟังดูแล้ว ไม่เป็นมงคลดังนี้
“Thai ซึ่งฝรั่งอังกฤษจะต้องออกเสียงคล้าย thigh ที่แปลแล้วได้ความหมายอันไม่เป็นสิริมงคล คือ ‘แปลว่าขาระหว่างเข่ากับเอว’ ให้นัยยะว่าขาอ่อนนั่นเอง”
ผู้เขียนท่านนี้ยังเสียดสีว่าหากไปเขียนทับศัพท์ว่า “Prades Thai” คนอังกฤษที่ถนัดออกเสียงพยางค์เดียว อาจออกเสียงไปพ้องกับคำว่า “prate” (หรือ prates) ที่แปลว่า “พูดเปนต่อยหอย” (ซึ่งเอาเข้าจริงผมว่า คุณผู้เขียนท่านนี้น่าจะพยายามโยงให้พ้องกับคำว่า “เปรต” ในภาษาไทยเสียด้วยซ้ำ)
คำวิจารณ์ดังกล่าวปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ประมวลวัน ฉบับวันที่ 13 มิถุนายน 2482/1939 หลังการรณรงค์เชิญชวนของกระทรวงกลาโหมซึ่ง ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้ยกมาประกอบในหนังสือ ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ “จาก สยาม เป็น ไทย นามนั้นสำคัญไฉน”
โดย ชาญวิทย์ได้กล่าวว่า บรรยากาศการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศในขณะนั้นดูจะเป็นเรื่องเฉพาะของชนชั้นนำและคนเมืองหลวง และคำวิจารณ์ก็แทบไม่มี ส่วนที่มีอย่างชิ้นนี้ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับชื่อในภาษาไทยสักเท่าไร
การวิจารณ์แต่ความหมายในภาษาอังกฤษลักษณะนี้ทำให้ชาญวิทย์กล่าวว่า เป็นการสะท้อนให้เห็นการมองปัญหาแบบ “ทวิมาตรฐาน” ของชนชั้นนำไทยที่เมื่อต้องการสื่อสารกับฝรั่งโดยเฉพาะกับโลกที่ใช้ภาษาอังกฤษก็จะใช้วิธีคิดแบบหนึ่ง
แต่เมื่อจะใช้กับคนไทยก็จะใช้ฐานคิดอีกแบบหนึ่ง ทำให้ “Siam” เหมาะที่ใช้กับฝรั่งมากกว่าคำว่า “Thailand” ส่วนกับคนไทย คำว่า “ไทย” ย่อมเหมาะกว่าคำว่า “สยาม” ไปเสีย
คลิกอ่านเพิ่มเติม : “ทวี บุณยเกตุ” นายกฯ 18 วัน กับผลงานเปลี่ยนชื่อประเทศกลับเป็น Siam
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กันยายน พ.ศ. 2559 จัดย่อหน้าใหม่โดยกองบรรณาธิการ