เปิดจดหมายปรีดีถึงภรรยา ทำไมต้องพูดปด ทำไมต้องปฏิวัติ

ลายมือ ปรีดี พนมยงค์ จดหมายปรีดี พนมยงค์
คำขึ้นต้นและลงท้ายในจดหมายที่นายปรีดีเขียนถึงท่านผู้หญิงพูนศุขภรรยา

จดหมายปรีดี พนมยงค์ ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2475 ถึงท่านผู้หญิงพูนศุข คือ เอกสารพยานหนึ่งในเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จดหมายฉบับดังกล่าวเดิมท่านผู้หญิงพูนศุขครอบครอง เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี และไม่ได้เปิดเผยกับสาธารณะแต่อย่างใด

กระทั่งวันที่ 6 กันยายน 2535 (ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 13 กันยายน 2535) ในรายการ “มองต่างมุมนัดพิเศษ” ที่โรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค ซึ่งจัดโดยมูลนิธิสื่อสร้างสรรค์ เพื่อให้ประชาชนได้ฟังทัศนะความคิดเห็นของ “ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 20” นอกจากนี้ยังจัดให้มีการประมูลภาพวาด, บทกวี ฯลฯ เพื่อหาเงินให้ “โครงการสนับสนุนประชาธิปไตย” ของมูลนิธิสื่อสร้างสรรค์

ท่านผู้หญิงพูนศุข จึงนำ จดหมายปรีดี พนมยงค์ ที่กล่าวถึงตนเอง มาร่วมการประมูลครั้งนั้น

นายปรีดา เตียสุวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แพรนด้า จำกัด (ตำแหน่งและชื่อบริษัทขณะนั้น) เป็นผู้ประมูลจดหมายดังกล่าวได้ในราคา 800,000 บาท ซึ่งเป็นรายการที่มีราคาการประมูลสูงที่สุดในงานวันนั้น หากนายปรีดาได้มอบจดหมายตัวจริงคืนให้แก่มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ แล้วรับฉบับรีพรินท์กลับไปแทนโดยให้เหตุผลว่า

“…จดหมายฉบับนี้สมควรให้ลูกไทยหลานไทยได้อ่าน เพราะเป็นภาพสะท้อนที่ดีเหลือเกินว่า คนรุ่นนั้นมีสำนึกประชาธิปไตยกันอย่างไร แล้วประชาธิปไตยใน 60 ปีหลังของสังคมไทย เป็นอย่างไร…

สำหรับเนื้อความในจดหมายฉบับนั้น นายปรีดีเขียนด้วยลายมือตนเองไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่แตกต่างจากต้นฉบับ และเน้นคำ เพื่อความสะดวกในการอ่าน-ผู้เขียน)

จดหมายของนายปรีดีถึงท่านผู้หญิงพูนศุข (ภาพจาก https://pridi.or.th)

พระที่นั่งอนันตสมาคม

วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2475

พูนศุข น้องรัก

ขอโทษอย่างมากที่ต้องพูดปดในวันนั้นว่าจะไปอยุธยาฯ เพราะถ้าบอกความจริงก็เกรงว่าจะมาจากบ้านไม่ได้ และผลร้ายก็จะเกิดขึ้นเปนแม่นมั่น คือทางเจ้าหน้าที่ได้คิดจะทำการจับกุมฉันในวันรุ่งขึ้น เวลา 10 นาฬิกาเท่าที่ได้ทราบมา

การที่ทำอะไรไป ทั้งนี้ก็เพื่อเห็นแก่ชาติและราษฎรเปนส่วนมาก เห็นว่าเกิดมาครั้งเดียว เมื่อมีโอกาสทำได้ก็ควรทำ ไม่ควรบำเพ็ญตนให้เป็นคนหนักโลก ที่ไม่บอกมาแต่ต้นก็เพราะกลัวว่าจะตกใจ และเมื่อทำตกใจแพร่งพรายออกไปก็จะเสียการที่คิดไว้ทั้งหมด ทุกสิ่งทุกอย่างก่อนลงมือกระทำก็ได้เปนห่วงและคิดไว้ว้าถ้าตายลงไปก็คงพอมีเงินเลี้ยงลูกและเธอ โดยมีประกันชีวิตร์และเงินสดในธนาคารที่ได้โอนให้เมื่อก่อนหน้ากระทำการสักสองสามวัน

เรื่องโรงพิมพ์ต้องขอให้ช่วยดู ที่สั่งเขาไปนั้นไม่หมายความว่าจะเอาตราไปทำอะไร ให้เอาตราไปรับเงิน C.O.D. [1] เพื่อส่ง C.O.D. เท่านั้นแล้วให้นำเงินมามอบเธอ นับประสาอะไรเงินและ C.O.D. เงินตั้งหมื่นห้าพันฉันยังโอนให้ได้ นอกจากนั้นเงินเดือนก็ให้เขาเอามาให้ทั้งหมดไม่ได้ชักหรือหักไว้ ค่าส่ง C.O.D. วิจิตร์ว่าจะต้องใช้เงินราว 300 บาท ฉันไม่ให้มากวนเธอ ให้วิจิตร์เขาเอาจากหลวงประกอบ ไม่พอให้เขาเอาเงินเขาทดรอง หักเหลือเท่าใดให้ส่งเธอเท่านั้น ขอเธออย่าเข้าใจผิด ให้เข้าใจเสียใหม่ต่อไปการโรงพิมพ์ทั้งหมดเธอจะต้องดูและบัญชาการทั้งนั้น ที่ไม่บอกมาแต่ต้นเพราะฉันไม่มีเวลาจริงๆ งานเหลือมือทำแทบไม่ไหว เผอิญขณะนี้ว่างลงหน่อยก็มีเวลาพอเขียนหนังสือมา คิดถึงเธอและลูก ตั้งใจจะมาบ้านแต่เห็นว่าเวลานี้ควรอยู่ที่นี่กับทหารดีกว่า ขอให้เธอนึกว่าฉันบวช เพราะก่อนลงมือได้เคยถามแล้วว่าถ้าฉันบวชสัก 4 เดือน เธอจะว่าอย่างไร เธอก็ตอบเต็มใจ

การที่ทำทั้งนี้ยิ่งกว่าการบวช เราได้กุศล ผลบุญที่ทำให้ชาติย่อมได้สืบต่อไปจนบุตร์หลาน ภรรยาก็มีส่วนร่วมอยู่ด้วย ความจริงบ่นถึงทุกวันกับหัวหน้าทหารที่นี่ว่า เธอเองคงเศร้าโศก แต่จะทำอย่างไรได้ เมื่อเราทำการเพื่อชาติ และในชีวิตร์ของคนอีกหลายร้อยล้าน หามีโอกาสไม่ ไม่ช้าเมื่อเรียบร้อยแล้ว เราคงอยู่กันเป็นปกติต่อไป ขอให้คิดถึงชาติและราษฎรให้มากๆ การทั้งหลายฉันได้เริ่มมาแต่ปารีศ เมื่อมุ่งทางนี้อยู่แล้วจะสละเกียรติยศทิ้งเสียอย่างไรได้ การเมืองก็การเมือง การส่วนตัวก็ส่วนตัว พวกบ้านมาทีไร หรือเมื่อมีใครไปเยี่ยมกลับมาก็ถามข่าวคราวทุกข์ศุขเสมอ คิดถึง หนู [ลลิตา-ลูกสาวคนโต] และปาน [ปาล -ลูกชายคนโต] อยู่เปนนิตย์เหมือนกันไม่ใช่นิ่งเฉยเสีย 

เรื่องโรงพิมพ์เธอต้องรับควบคุมต่อไป

คิดถึงเสมอ

ปรีดี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เชิงอรรถ :

[1] เนื้อหาจดหมายข้างต้นจาก https://pridi.or.th

[2] คำว่า C.O.D. มาจากคำว่า Cash order delivery ซึ่งท่านผู้หญิงพูนศุข ให้คำอธิบายว่า หมายถึงเงินที่สมาชิกหนังสือกฎหมายของโรงพิมพ์จัดส่งมาเป็นการชำระค่าหนังสือทางไปรษณีย์ ซึ่งทางโรงพิมพ์จะต้องนำตราเครื่องหมายไปแสดงเพื่อรับเงินดังกล่าวอีกต่อหนึ่ง


ข้อมูลจาก :

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์. “จดหมายประวัติศาสตร์ 60 ปี จากปรีดี พนมยงค์ ถึงท่านพูนศุข” ใน,  ศิลปวัฒนธรรม พฤศจิกายน 2535

ทีมงานเว็บไซต์ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์. 3 กรกฎาคม 2575 จดหมายถึง “พูนศุข น้องรัก”. 4 เมษายน 2563 https://pridi.or.th/th/content/2020/04/40 สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2565


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2565