หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ขอปฏิเสธ! “ข้าพเจ้าไม่ใช่คอมมูนิสต์”

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ปรีดี พนมยงค์
ปรีดี พนมยงค์ (ภาพหน้าปกหนังสือ ปรีดี พนมยงค์ คนดีศรีอยุธยา)

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทยได้มอบหมายให้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้ร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้น ซึ่งหลวงประดิษฐ์ฯ จัดพิมพ์เอกสารดังกล่าว เรียกว่า “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” หรือ “สมุดปกเหลือง” ใน พ.ศ. 2476 โดยยึดมาจากหลัก 6 ประการของคณะราษฎร

กรณีเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ ถูกกล่าวหาว่ามีแนวโน้มไปทางคอมมิวนิสต์ และโจมตีตัวหลวงประดิษฐ์ฯ ว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์เช่นกัน พระยามโนปกรณ์นิติธาดาจึงได้ออกกฎหมายว่าด้วยคอมมิวนิสต์ขึ้นมา และบีบบังคับให้หลวงประดิษฐ์ฯ เดินทางออกนอกประเทศ ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2476

Advertisement

แม้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม จะเดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว แต่ความแตกแยกทางการเมืองยังไม่จบสิ้น พระยามโนปกรณ์นิติธาดาจึงประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งทำให้หลายฝ่ายไม่พอใจ จนกระทั่ง ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2476 พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ขณะที่หลวงประดิษฐ์ฯ ก็ได้ลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส

เมื่อคราวที่หลวงประดิษฐ์ฯ ถูกพระยามโนปกรณ์นิติธาดา บังคับให้เดินทางออกนอกประเทศ ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ “สเตรตไทย” ณ เมืองสิงคโปร์ว่า

“ข้าพเจ้าขอปฏิเสธ ในข้อที่ข้าพเจ้าถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมูนิสต์ ข้าพเจ้าเป็นแต่เพียงโซเซียลลิสต์ต่างหาก”

หลวงประดิษฐ์ฯ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ต่อไปว่า

“มีหนังสือพิมพ์หลายฉบับลงข่าวว่า เท่าที่ข้าพเจ้าไม่ลงรอยกันกับสมาชิกอื่นแห่งคณะรัฐมนตรีนั้น เนื่องจากข้าพเจ้ามีหัวไปในทางคอมมูนิสต์ แท้จริงความคิดของข้าพเจ้าเป็นไปในแนวโซเซียลลิสต์ของรัฐบาล ที่ดำเนินการเพื่อราษฎรต่างหาก แต่ความคิดของข้าพเจ้าในแนวนี้บังเอิญเป็นที่ไม่เห็นพ้องด้วยสมาชิกอื่นแห่งคณะรัฐมนตรี”

หลวงประดิษฐ์ฯ ให้สัมภาษณ์ต่อไปว่า

“ข้าพเจ้าไม่ใช่คอมมูนิสต์ และทั้งมิได้นิยมชมชื่นคอมมูนิสต์เล็กแต่น้อยเลย ข้าพเจ้ายอมรับแต่ว่า ข้าพเจ้าเป็น ‘Radical’ และเป็น ‘Radical’ ที่เป็นไปในแนวโซเซียลลิสต์ แต่ไม่ใช่คอมมูนิสต์แน่ๆ”

เมื่อหลวงประดิษฐ์ฯ เดินทางไปถึงกรุงปารีส ก็ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ว่า

“ข้าพเจ้ากำลังดำเนินนโยบายแห่งการรอคอย และเฝ้าดูภาวะการณ์แห่งกรุงสยาม เมื่อเดือนมิถุนายน 2475 ข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้ทูลถวายถึงนโยบายของข้าพเจ้า ซึ่งมีรูปการณ์ดังที่ได้ปรากฏมาแล้ว ข้าพเจ้าไม่มีความมุ่งมาดจะทําลายล้างสิทธิคนมีเงิน สิ่งที่ข้าพเจ้าจึงปรารถนาอย่างยิ่งนั้น ก็คือ เพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพของราษฎรเท่านั้น และทั้งข้าพเจ้าประสงค์อย่างยิ่งที่จะผดุงชาติโดยการประกอบการอุตสาหกรรม และการงานทั่ว ๆ ไป ลัทธิคอมมูนิสต์ในกรุงสยามมีอิทธิพลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าจะกล่าวตามใจชอบของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้ามีจุดมุ่งหมายไปในทางเกี่ยวกับพรรคเลเบอร์ของอังกฤษอย่างยิ่ง”

อันหัวข้อเกี่ยวเนื่องพระยามโนปกรณ์นิติธาดากล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์นั้น หลวงประดิษฐ์ฯ กล่าวว่า

“ข้าพเจ้ามิได้เป็นคอมมูนิสต์อย่างที่คนเข้าใจกัน ข้าพเจ้าไม่เคยติดต่อสมาคมคอมมูนิสต์ที่ 3 เลย การที่ข้าพเจ้าออกจากประเทศไทยมาเสียเช่นนี้ เป็นเพราะข้าพเจ้าไม่ต้องการให้เกิดความยุ่งยากขึ้น และโดยความเห็นของผู้ใหญ่บางท่านที่ข้าพเจ้ายังเคารพอยู่”

หลังการรัฐประหารของพระยาพหลฯ ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยนั้นได้เรียกตัว หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กลับมาสยาม และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 ใน พ.ศ. 2476 อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในช่วง พ.ศ. 2477-2478 อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

หนังสือ “เหตุการณ์ทางการเมือง 43 ปีแห่งระบอบประชาธิปไตย” ของวิเทศกรณีย์


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มีนาคม 2562