ผู้เขียน | เสมียนอารีย์ |
---|---|
เผยแพร่ |
บันทึกเหตุการณ์ ลอบสังหารจอมพล ป. กระสุน-ยาพิษ ไม่ระคาย “จอมพลกระดูกเหล็ก”
จอมพล ป. พิบูลสงคราม (14 กรกฎาคม 2440 – 11 มิถุนายน 2507) ผู้ที่ได้รับสมญาว่า “จอมพลกระดูกเหล็ก” เพราะรอดตายจากเหตุการณ์ลอบสังหาร 3 ครั้ง ในช่วง พ.ศ. 2477-2481 คือลอบยิง 2 ครั้ง และวางยาพิษ 1 ครั้ง
เรื่องนี้มีบันทึกไว้ใน หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ณ เมรุวัดธาตุทอง 14 สิงหาคม พ.ศ. 2527 ซึ่ง พล
ในระหว่าง พ.ศ. 2477 ถึง พ.ศ. 2487 ได้มีเหตุการณ์ที่ท่าน จอมพล ป. ถูกปองร้าย ซึ่งจะทำให้ท่านถึงแก่ชีวิตถึง 3 ครั้งด้วยกัน ทุก ๆ ครั้ง ท่านผู้หญิงละเอียดได้มีส่วนเหมือน “เพื่อนร่วมชีวิต” อย่างแท้จริง
พล.ต. อนันต์ พิบูลสงคราม ได้บันทึกไว้ว่า
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2477
กรุงเทพพระมหานครมีสนามสาธารณะเพียง 2 แห่งเท่านั้น ที่คนไทยทุกเพศทุกวัยอาจใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจได้ตามความพอใจ คือที่สวนลุมพินีแห่งหนึ่ง และที่ทุ่งพระเมรุท้องสนามหลวงอีกแห่งหนึ่ง แต่สวนลุมพินีก็นับว่าอยู่ห่างไกลมากสำหรับคนกรุงเทพฯ ในสมัยเมื่อ 40 ปีมาแล้ว คนส่วนมากจึงชอบมากันที่ท้องสนามหลวงมากกว่าเพราะตั้งอยู่ใจกลางพระนคร…
รายการพิเศษที่ท้องสนามหลวงในเดือนกุมภาพันธ์ก็ได้แก่การแข่งขันฟุตบอลล์ระหว่างทหารเหล่าต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ… การแข่งขันฟุตบอลล์ทหารได้ดำเนินมาแล้วเป็นเวลาหลายเดือน จนถึงคู่สุดท้ายที่จะต้องแข่งขันกันในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2477 เพื่อชิงตำแหน่งชนะเลิศ ทีมชนะจะได้รับถ้วยของ พ.อ. หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไว้เป็นเกียรติยศ
ในวันนั้น พ.อ. หลวงพิบูลสงครามพร้อมด้วยบรรดานายทหารชั้นผู้ใหญ่ได้ไปชมการแข่งขันตั้งแต่เริ่มต้น และท่านจะเป็นผู้มอบถ้วยเกียรติยศให้แก่ทีมชนะเลิศด้วย ประชาชนได้มาชมการแข่งขันฟุตบอลล์ทหารคู่สุดท้ายอย่างล้นหลาม… เมื่อการแข่งขันได้ยุติลงแล้ว พ.อ. หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็คล้องพวงมาลัยให้แก่ผู้เล่นทุกคน แล้วมอบถ้วยรางวัลให้แก่ทีมที่ชนะเลิศให้โอวาทแสดงความพอใจและยินดีที่การแข่งขันฟุตบอลล์ทหารได้ดำเนินมาด้วยความเรียบร้อยตั้งแต่ต้นจนจบสมความมุ่งหมายของทางราชการทหาร
เสร็จพิธีแล้ว พ.อ. หลวงพิบูลสงครามก็กล่าวอำลาผู้รับเชิญและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่มาร่วมชมการแข่งขันโดยทั่วถึง จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมติดตามด้วย พ.ต. หลวงสุนาวิน วิวัฒน์ เลขานุการ และ ร.อ. ทวน วิชัยขัทคะ นายทหารคนสนิท ก็เดินมุ่งไปยังรถยนต์ที่จอดคอยรับอยู่ใกล้กระโจมพิธี
เมื่อ พ.อ. หลวงพิบูลสงคราม ได้ขึ้นนั่งบนรถยนต์เรียบร้อยแล้ว ท่านก็ก้มลงหยิบกระบี่ที่วางขวางอยู่ข้างตัวเพื่อส่งให้ พ.ต. หลวงสุนาวินวิวัฒน์ผู้ซึ่งกำลังยืนส่งอยู่ข้างรถ ทันใดนั้นเอง เสียงปืน ปัง-ปัง ก็ดังระเบิดขึ้น 2 นัด พ.ต. หลวงสุนาวินวิวัฒน์เหลียวไปเห็นชายคนหนึ่ง ในระยะใกล้ชิดกำลังถือปืนพกจ้องปากกระบอกปืนตรงไปที่ร่างของ พ.อ. หลวงพิบูลสงคราม ปากกระบอกปืนยังปรากฏมีควันกรุ่นอยู่
ด้วยความรวดเร็ว พ.ต. หลวงสุนาวินวิวัฒน์กระโดดปัดมือชายผู้นั้นจนปืนตกกระเด็นจากมือพร้อมกับกระสุนได้หลุดออกไปจากลำกล้องเป็นนัดที่ 3 ทหารหลายคนกรูกันเข้ารวบตัวชายผู้นั้นไว้ได้ ร.อ. ทวน วิชัยขัทคะ รีบประคองร่างของท่านรัฐมนตรีไว้ด้วยความตกใจสุดขีด เมื่อมองเห็นเลือดสีแดงเข้มไหลรินออกจากรูกระสุนปืนตรงต้นคอ ทำให้เสื้อสีกากีที่ท่านสวมเกิดรอยเปื้อนเป็นทางด้วยเลือดที่ยังไหลจากลำคอของท่านโดยไม่หยุด จากการสอบสวนขั้นต้นปรากฏว่า ผู้ยิ่งชื่อ นายพุ่ม ทับสายทอง…
ท่านผู้หญิงขณะนั้นกำลังอุ้มบุตรสาวคนเล็กคือ พัชรบูล อยู่ที่บ้านกรมทหารปืนใหญ่ บางซื่อ เมื่อได้รับโทรศัพท์แจ้งข่าวถึงกับเป็นลมไปชั่วครู่ ภายหลังจากนั้นครู่เดียว โรงพยาบาลพญาไท หรือในปัจจุบันนี้คือโรงพยาบาลมงกุฎเกล้า ก็ได้เตรียมจัดห้องพิเศษขึ้นอย่างฉุกละหุก อุปกรณ์การผ่าตัดและรักษาพยาบาลเตรียมไว้อย่างครบถ้วน
นายแพทย์ใหญ่ทหารบกคือ พ.ท. หลวงศัลยเวชวิศิษฐ และ ร.อ. แฉล้ม บุญหลวง ผู้ช่วยแพทย์ในเสื้อคลุมสีขาว พร้อมด้วยนางพยาบาลอีกจำนวนหนึ่งได้คอยพร้อมอยู่แล้วอย่างกระสับกระส่าย ภายในห้องรักษาพยาบาลในเวลาเดียวกันนั้น พ.ท. หลวงกาจสงคราม ได้รีบรุดมาอำนวยการวางทหารยามตามจุดทางเข้าออกทุกแห่งด้วยตนเอง เพื่อรักษาความปลอดภัยให้ท่านรัฐมนตรีทั้งในและนอกบริเวณโรงพยาบาล
ทันทีที่ พ.อ. หลวงพิบูลสงครามมาถึงโรงพยาบาล ท่านก็ถูกนำเข้าห้องรักษาพยาบาล โดยไม่ชักช้า ใบหน้าของ พ.อ. หลวงพิบูลสงคราม ซีดเพราะเสียเลือดไปมาก แต่ก็ยิ้มเมื่อท่านลืมตาขึ้นมองเห็นท่านนายแพทย์ใหญ่ทหารบกกำลังปฏิบัติงานอยู่ข้าง ๆ เตียงด้วยลักษณะอาการที่เป็นห่วงและใช้ความคิดหนัก
ผลการตรวจบาดแผลปรากฏว่า พ.อ. หลวงพิบูลสงครามถูกกระสุนปืน 2 แห่งเป็นบาดแผลฉกรรจ์ กล่าวคือ กระสุนลูกหนึ่งเข้าทางแก้มซ้ายด้านหน้าทะลุออกทางด้านหลังของต้นคอ กระสุนลูกที่สองเข้าทางด้านหน้าไหล่ขวาทะลุออกด้านหลัง สำหรับกระสุนนัดแรกนั้น วิถีกระสุนได้แล่นหลีกเลี่ยงส่วนสำคัญไปได้เหมือนปาฏิหารย์ มิฉนั้นแล้ว พ.อ. หลวงพิบูลสงครามจะไม่สามารถรอดผ่านชีวิตผ่านเวลาค่ำของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2477 ไปได้เลย
พ.อ. หลวงพิบูลสงครามต้องนอนรักษาแผลอยู่โรงพยาบาลพญาไทเป็นเวลานานประมาณ 1 เดือน ภายใต้การรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิดของท่านนายแพทย์ใหญ่ทหารบก ผู้ช่วยนายแพทย์ และนางพยาบาลทุกคน พร้อมด้วยความเอาใจใส่ดูแลตลอดวันตลอดคืนของ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม พอแผลถูกยิงหายจวนสนิทพ้นขีดอันตรายแล้ว ท่านก็ได้รับอนุญาตจากนายแพทย์ใหญ่ให้กลับไปพักผ่อนได้ที่บ้านพักของท่านในกรมทหารปืนใหญ่ บางซื่อ
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2481
ตอนค่ำวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่บ้านพักในกรมทหารปืนใหญ่ บางซื่อ เวลาประมาณ 19.00 น. พ.อ. หลวงพิบูลสงครามยืนแต่งตัวอยู่หน้าโต๊ะกระจกในห้องนอน เพื่อเตรียมตัวไปในงานเลี้ยงส่ง พ.อ. หม่อมสนิทวงศ์เสนีย์ และภริยา ไปเป็นทูตทหารประจำประเทศฝรั่งเศส ร.อ. เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งขณะนั้นทำหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรี ตลอดจนนายทหารติดตาม 2 นาย ร.ต. ผล สมงาม และพันจ่าตรีทองดี จันทนะโลหิต ได้ให้การต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงเหตุการณ์ในตอนนี้มีใจความตรงกันว่า
วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 เวลาค่ำ หลวงพิบูลสงครามกับภริยากำลังแต่งตัวจะไปรับประทานอาหารในการเลี้ยงที่กระทรวงกลาโหม ส่วนพันจ่าตรีทองดีได้นำเอาปืนพกชนิดโคลท์รีวอลเวอร์ ซึ่งเป็นปืนพกประจำตัวมาไว้ในรถยนต์คันที่เตรียมจะไปกระทรวงกลาโหม
ครั้นเวลา 19 นาฬิกา มีเสียงปืนลั่นขึ้นที่ห้องชั้นบนในห้องของหลวงพิบูลย์สงคราม 1 นัด ในทันใดนั้น หลวงพิบูลสงครามก็ร้องขึ้นว่า “ตาลี ยิง” นายร้อยตรีผลก็วิ่งขึ้นไปชั้นบนจวนจะสุดบรรไดก็ได้ยินเสียงปืนดังอีก 1 นัด ในขณะที่เห็นหลวงพิบูลสงครามวิ่งออกมาจากห้องนางพิบูลสงคราม ซึ่งขณะนั้นนางพิบูลสงครามก็กำลังแต่งตัวอยู่หน้าโต๊ะเครื่องแป้ง ซึ่งมีนางบุบผา งามกร ช่วยแต่งตัวอยู่ กับมีคุณอุดมลักษณ์ ศรียานนท์ นั่งอยู่ด้วย
นายลีได้วิ่งไล่ยิงหลวงพิบูลมาถึงห้องที่นางพิบูลสงครามแต่งตัวอยู่ กระสุนได้ถูกขอบกระจกโต๊ะเครื่องแป้งข้ามศีรษะนางละเอียดไป นายลีได้วิ่งตามหลวงพิบูลสงครามออกไปห่างประมาณ 1 เมตร ซึ่งพอดีกับนายร้อยตรีผลวิ่งขึ้นมา หลวงพิบูลสงครามได้บอกว่า “ตาลียิง” อีก นายร้อยตรีผลจึงได้ผลักหลวงพิบูลสงครามเข้าไปในห้อง
ในขณะนี้เองนายลีได้ยกมือถือปืนขึ้นหันปากกระบอกปืนไปทางหลวงพิบูลสงคราม ทำท่าจะยิงซ้ำอีก นายร้อยตรีผลจึงได้โดดเอามือซ้ายปัดมือขวาของนายลี ทำให้กระสุนระเบิดมาอีกหนึ่งนัดถูกขากางเกงนายลีเองลงไปยังห้องอาหารชั้นล่าง
ขณะนั้นมีนายร้อยเอกเผ่า ศรียานนท์ นายร้อยตรีเปล่ง รุจะศิริ พันจ่าตรีทองดี ได้เข้ามาช่วยกันจับแย่งปืนจากนายลีไปได้ แล้วจึงนำตัวลงมาข้างล่าง มอบตัวให้ตํารวจไป ปืนที่แย่งมาได้นั้นเป็นปืนโคลท์รีวอลเวอร์ของหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งพันจ่าตรีทองดีนำไปวางไว้ในรถยนต์คันที่จะเตรียมใช้ไปในงานเลี้ยงที่กระทรวงกลาโหมนั่นเอง
เมื่อเหตุการณ์สงบเรียบร้อยลงหลวงพิบูลสงครามและนางพิบูลสงครามก็ได้ไปในงานตามปกติ บรรดาแขกเหรื่อที่ร่วมรับประทานเลี้ยงไม่มีผู้ใดทราบถึงเหตุการณ์อันน่ากลัวที่ผ่านมาเลย
ต่อมาในวันรุ่งขึ้นเมื่อทุกคนทราบข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ทูตอังกฤษ เซอโจซายครอสปี้ ซึ่งนั่งข้างท่านผู้หญิงละเอียดในงานเลี้ยงตอนกลางคืนนั้นกล่าวว่า ท่านผู้หญิงได้เก็บความรู้สึกเก่งมาก เพราะไม่ได้มีอาการแสดงเลยว่าได้ผ่านเหตุการณ์อันน่าสพึงกลัวมาหยก ๆ ตลอดเวลารับประทานเลี้ยงก็เหมือนกับเหตุการณ์ปกติ…
9 ธันวาคม 2481
ขณะที่ พ.อ. หลวงพิบูลสงครามกำลังนั่งรับประทานอาหารกลางวันอยู่ที่บ้านพักในกรมทหารปืนใหญ่ บางซื่อ พร้อมกับท่านผู้หญิงละเอียด พ.ท. หลวงยุทธศาสตร์โกศล พ.ต.ขุนรณนภากาศ พ.ท. หลวง เตชะเสนา พ.ต. หลวงประหาร วิปูปราบ ร.อ. เผ่า ศรียานนท์ และลูกรัชนิบูล ขณะที่กําลังรับประทานคุยกันอย่างสนุกสนาน ในทันใดนั้น พ.อ. หลวงพิบูลสงครามรู้สึกตัวก่อนแล้วอุทานว่า “ผมถ้าจะกินยาพิษเข้าไปแล้ว”
ทุกคนจึงรีบลุกขึ้นจากโต๊ะและพากันไปที่โรงพยาบาลพญาไทในทันที ท่านผู้หญิงละเอียดเป็นผู้ไปทีหลังสุด เพราะท่านยังห่วงสั่งให้เก็บอาหารเอาไว้ก่อนเพื่อให้ตรวจสอบดู ซึ่งความจริงได้ปรากฏต่อมาในภายหลังว่า ยาพิษที่ พ.อ. หลวงพิบูลสงคราม ท่านผู้หญิง และคณะรับประทานเข้าไปกับอาหารกลางวันมื้อนั้นคือสารหนู ยาพิษร้ายแรงชนิดหนึ่งที่จะทำอันตรายต่อชีวิตได้หากนายแพทย์มิได้แก้ไขไว้ทันท่วงที
หลังจากนั้นท่านผู้หญิงก็ต้องมีภาระเพิ่มอีก คือต้องดูแลอาหารทุกมื้ออย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ชงโอวัลตินให้ ตั้งแต่มื้อเช้า จนมื้ออาหารเย็นสุดท้าย ซึ่งต่อมาในระยะหนึ่ง ท่านผู้หญิงได้ขอให้ภริยานายทหารใกล้ชิด 3 ท่านผลัดเวียนกันมาช่วยทำอาหารให้ คือคุณหญิงอุดมลักษณ์ ศรียานนท์ (ภริยาพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์) คุณแอร่ม พิบูลภานุวัธน์ (ภริยาพลโทปลด ปลดปรปักษ์) และคุณลม่อม รัตนพิบูลชัย (ภริยาพลโทศิลป์ ศิลปสรชัย)
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 สิงหาคม 2563