ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
หลังการรัฐประหารวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 โดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ส่งผลให้ขั้วอำนาจตรงข้ามทั้ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ปิดฉากเกมการเมืองสามเส้าที่ดำเนินมายาวนานเกือบ 10 ปี
ต่อมา พลตำรวจเอก เผ่า ได้ออกมาให้สัมภาษณ์นักหนังสือพิมพ์ไทยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2502 เมื่อถูกถามถึง จอมพล ป. พิบูลสงคราม และการหวนคืนกลับประเทศไทยนั้น จึงกล่าวว่า
“ท่านจอมพล ป. ท่านคิดกลับบ้านเสมอแหละ แต่ท่านจะกลับโดยวิธีใดของท่าน ผมไม่ทราบ แต่ผมขอลาโรง ไม่เล่นกับท่านอีกต่อไป”
พลตำรวจเอก เผ่า ยังยืนยันว่า “ถ้าจอมพลสฤษดิ์ยังอยู่ ผมจะไม่เข้ามาเด็ดขาดตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ ผมจะเข้ามาเมืองไทยอีก ก็ต่อเมื่อมีพรรคการเมืองและมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว บางที ผมอาจจะมาเป็นฝ่ายค้านของคุณสฤษดิ์ก็ได้นะ”
อัศวินตำรวจผู้นี้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า
“ผมยอมรับว่า ผมผิดไปแล้ว จึงไม่คิดจะทำผิดต่อไปอีก เพราะผู้รับผิดอันแท้จริงนั้น มิใช่ใครอื่น คือประชาชนนั่นเอง…ผมได้มีส่วนเป็นมือให้จอมพล ป. เผด็จการด้วยเหมือนกัน แต่ก็ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผมรู้สึกผิดไปแล้ว ถ้าประชาชนจะให้อภัยได้ ก็จะช่วยให้ผมนอนตายตาหลับเป็นแน่”
พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ จบชีวิตลงหลังบทสัมภาษณ์นี้ในปีต่อมาเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2503 หลังนั่งสูบซิการ์และลุกขึ้นเล่นปิงปอง ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
อ่านเพิ่มเติม :
- บรรยากาศก่อน 24 มิถุนายน 2475 ในบันทึกของเผ่า ศรียานนท์
- ปากคำ “เดช บุญ-หลง” เลขา เผ่า ศรียานนท์ เล่าเกร็ดเบื้องหลังของนายตำรวจแห่งยุค 2500
- เพื่อนรัก หักเหลี่ยมโหด ฉบับ “สฤษดิ์-เผ่า” กับควันหลงวาทะ “ทำไมมึงทำกับกู..พูดกันดีๆ ก็ได้”
อ้างอิง :
นริศ จรัสจรรยาวงศ์. (มกราคม, 2565). โหราจารย์การเมือง สมัยปฏิวัติ 2475. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 43 : ฉบับที่ 3.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มกราคม 2565