บรรยากาศก่อน 24 มิถุนายน 2475 ในบันทึกของเผ่า ศรียานนท์

พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์
พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์

งานบันทึกเรื่องการก่อตั้งคณะราษฎร หรือการวางแผนยึดอํานาจในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์หลายท่านได้เขียนไว้จำนวนหนึ่งในแง่มุมต่างๆ แต่งานของ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ที่ชื่อ “เหตุการณ์ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองและการชิงอำนาจระหว่างผู้ก่อการ” (ใน, หนังสือเบื้องแรกประชาธิปตัย, สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2560) นี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันนัก

พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ไม่ได้เขียนจากฐานะของผู้เข้าร่วมในเหตุการณ์ หากเป็นการเล่าถึงสภาพความเป็นไปของบ้านเมืองในเวลานั้นเท่าที่ผู้บันทึกซึ่งเวลานั้นเป็นเพียงนายทหารชั้นผู้น้อยได้รู้หรือเข้าใจ

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมเคยคัดบางตอนจากบันทึกดังกล่าวมาเป็นเอกสารประกอบการเสวนาเรื่อง “เส้นทางสี่ทหารเสือ : ตำนานการเมืองไทยสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง” (22 มิถุนายน พ.ศ. 2560) สำหรับครั้งนี้จะคัดเนื้อหาเหตุการณ์บางส่วนก่อนวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เพื่อให้ภาพเฉพาะบรรยากาศใกล้ๆ วันสำคัญเวลานั้นดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)

“…เพราะสโมสรนายทหารสวนเจ้าเชตุนั้นอยู่ใกล้กองตำรวจภูบาลที่ตำบลท่าเตียน นายทหารนายตำรวจอดสังคมเรื่องสุรา ในตอนเย็นๆ ไม่ได้ จึงต้องแวะเวียนมาสุขสำราญที่สโมสรนายทหารมหาดเล็ก ดังนั้นทุกๆ เย็น ที่สโมสรนายทหารสวนเจ้าเชตุเต็มไปด้วยนายตำรวจ การวิพากษ์วิจารณ์การปกครองบ้านเมืองจึงน้อยลง เพราะเกรงว่านายทหารซึ่งไปอยู่ตำรวจจะเข้าใจผิด

นายทหารที่ชอบคุยการบ้านการเมืองจึงแอบหลบไปคุยกันข้างนอก ซึ่งนายร้อยตรี บ๋วย บุณยรัตพันธุ์ ก็เริ่มเผยแพร่ลัทธิซามิ่นจูหงีขึ้นมาอีก เป็นที่สบายอารมณ์กันในยามบ้านเมืองเศรษฐกิจตกต่ำ

ตามร้านจำหน่ายสุราและเบียร์ฮอล สถานที่เต้นรำ เห็นนายทหารเข้าออกไปดื่มสุราและกับแกล้มที่ใด ก็อดมีประชาชนมองดูไม่ได้ ข่าวว่าการฉลองพระนครครบรอบ 150 ปีนี้ จะเกิดจลาจลถึงเลือดท่วมท้องช้าง จะมีพวกกบฏเตรียมจับตัวทูลกระหม่อมบริพัตรฯ ผู้บังคับกรมทหารมหาดเล็กเป็นประกัน และจะขอพระราชทานให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ใต้กฎหมาย การกระทำนี้จะกระทำในวันสวนสนาม และในวันฉลองสะพาน หมู่นี้นายตำรวจภูบาลที่มาสุขสำราญที่สโมสรในตอนเย็นๆ ก็หายไป

มีข่าวลือออกมาจากกรมเสนาธิการทหารบกว่ามีตำรวจภูบาลปลอมเป็นแขกขายเนื้อสะเต๊ะ เพื่อสดับตรับฟัง ข่าวลือนั้นมักเป็นจริงเสมอ ได้มีการประชุมนายทหารในกรมเสนาธิการทหารบก โดยเสนาธิการทหารบกคนใหม่คือ พล.ท. พระยาสีหราชเดโชชัย เป็นประธานที่ประชุม

เสนาธิการทหารคนใหม่ได้แถลงว่ามีข่าวเล่าลือว่า นายทหารฝ่ายเสนาธิการในกรมเสนาธิการนี้ จะคิดการไปในทำนองนายทหาร ร.ศ. 130 ซึ่งเสนาธิการทหารบกได้คาดกันว่า ท่านจะยอมให้นายทหารฝ่ายเสนาธิการคิดเช่นนี้ไม่ได้เป็นอันขาด และได้กำชับให้ปกปิดในเรื่องการประชุมนี้ไว้เป็นความลับ และให้นายทหารฝ่ายเสนาธิการสอดส่องและสดับตรับฟังในเรื่องนี้โดยใกล้ชิด

แต่ความลับคงไม่มี เช่นในคราวราชการสำคัญอื่นๆ การประชุมได้ประชุมในตอน 10.00 น. ตอนบ่ายวันนั้นก็เล่าลือแพร่สะพัดออกไปในกรมกองทหารต่างๆ ร.ต. บ๋วย บุณยรัตพันธุ์ อาจารย์แห่งการเก๊กเหม็ง ก็หัวร่อร่วนในวงสุราว่า ‘เห็นไหมล่ะ ผมว่าแล้วมีข่าวแปร่งๆ ในหมู่ทหารบกพวกเรานี้ เมืองไทยนั้นถึงคราวมาช้านาน ถ้าพร้อมเพรียงกันเป็นสำเร็จแน่’

………..

หลังจากการฉลองพระนครแล้ว ทางกองทัพบกได้มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างกองพันทหาร เรียกว่า ถ้วยนักรบ ซึ่งจะได้ขอพระราชทานเมื่อใกล้จะจบฤดูกาลแข่งขัน การแข่งขันได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ทหารใหม่เข้ามารับราชการทหาร ดังนั้นทุกๆ เย็นภายหลังฤดูว่าวซึ่งจบลงแล้ว ท้องสนามก็กลายเป็นสนามกีฬาทหารบก ซึ่งเป็นที่น่าบันเทิงใจสำหรับนายทหาร นายสิบ และพลทหารเป็นอย่างยิ่ง

เหตุการณ์ปฏิวัติหรือการกบฏก็ไม่ปรากฏว่ามีนายทหาร หรือผู้หนึ่งผู้ใดสนใจแม้แต่น้อย ตำรวจภูบาลซึ่งเคยห่างสโมสรสวนเจ้าเชตุไปช้านาน ก็กลับมาจับกลุ่มเล่นไพ่บริดจ์ และดื่มกันทุกๆ เย็นเป็นปกติ ขณะเดียวก็มีข่าวลือออกมาว่าในเดือนพฤษภาคม ตำรวจภูบาลและตำรวจภูธรกลางได้พบหลักฐานว่ามีนักเรียนต่างประเทศซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนกลุ่มหนึ่ง ได้คิดเปลี่ยนระบบการปกครองประเพณี โดยให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย

แต่ไม่ปรากฏว่าจะใช้กำลังหน่วยใดสําหรับยึดอำนาจ การสอบสวนของตำรวจได้ผลแต่เพียงว่า บรรดาข้าราชการพลเรือนเหล่านี้ได้ทราบพระราชประสงค์ว่า จะมีการพระราชทานรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นการดำริขององค์พระมหากษัตริย์เอง จึงศึกษาค้นคว้าตามเพราะเห็นเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย ในที่สุดก็ปรากฏว่าเรื่องทั้งหลายนี้ได้เสนอไปยังทูลกระหม่อมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งพระองค์ได้ปรึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะกับอธิบดีกรมอัยการ

เรื่องนี้เปิดเผยขึ้นเพราะในวันหนึ่ง ในเดือนพฤษภาคม ได้มีชาวพระนครเป็นจำนวนมากเดินทางไปพักผ่อนหย่อนใจที่หัวหิน ในตอนขากลับก็มีพวกหนุ่มๆ ซึ่งสังเกตได้ว่าเป็นนักเรียนกฎหมายเดินทางกลับมาจากหัวหินโดยขบวนรถไฟหัวหิน-กรุงเทพฯ ครั้นถึงเวลาเย็น หนุ่มๆ เหล่านี้ก็สำราญสำเริงไปด้วยสุราและนารี และก็ได้คุยกันถึงแผนการขั้นสูง การสนทนาพาทีของพวกหนุ่มๆ เหล่านี้ ก็สะกิดใจตำรวจภูธรกลางที่ได้โดยสารรถไฟหัวหิน-กรุงเทพฯ มาในขบวนนั้นด้วย

ชื่อบุคคลสำคัญๆ อันอยู่ในขั้นสูงก็อยู่ในสมุดช่วยความจำของตำรวจผู้นั้นโดยตลอด เมื่อรถไฟเทียบชานสถานีกรุงเทพฯ บุรุษกลุ่มเหล่านั้นก็ได้ถูกติดตามโดยนายตำรวจภูธรกลางผู้นั้น และทราบถึงแผนการกว้างขวางต่อไปอีก ตำรวจภูบาลและตำรวจนครบาลกองพิเศษได้ติดตามหาข่าวนี้หนักขึ้น

ในตอนต้นเดือนมิถุนายน การหาข่าวต้นตอในการกบฏและปฏิวัติได้มีขึ้นตามกรมกองทหารอีก และตามแผนของคณะปฏิวัติก็ถูกถ่ายทอดออกมาถึงหูตำรวจว่าจะนำกำลังทหารที่ออกไปทำการฝึก เป็นกำลังปฏิวัติ เพราะทราบว่ามีนายทหารชั้นผู้บังคับกองร้อยร่วมด้วย เพราะนายทหารชั้นผู้บังคับกองร้อยส่วนมากหมดหนทางที่จะก้าวหน้า เพราะไม่มีโอกาสที่จะเข้าศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการ ซึ่งจะได้มีโอกาสก้าวหน้าตามแผนใหม่ของกองทัพบก

ในระยะนี้ ก็ได้มีตรวจการฝึกของผู้บังคับบัญชาชั้นสูง และเหล่าเสนาธิการมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการโจษจันกันว่า มีนายทหารในกรมกลางแต่งกายพลเรือนออกเดินเล่นในตอนเช้า เพื่อสดับตรับฟังและไปพูดคุยกับผู้บังคับกองร้อย ซึ่งออกไปควบคุมการฝึกทหารในตอนเช้า นายทหารผู้สวมเครื่องแบบพลเรือนก็มีเสียงเล่าต่อกันมาว่าเป็นนายทหารที่ส่งมาจากผู้บังคับบัญชาชั้นสูง

ระยะนั้นผู้ฝึกทหารใหม่ ซึ่งเป็นทหารร้อยตรี นายร้อยโท ได้ระวังตัวกันลีบ เพราะมีผู้ตรวจตรากันมากมายเหลือเกิน และข่าวของการปฏิวัติค่อยๆ สงบลงไป ในเมื่อมีเสียงลือว่าคณะผู้ก่อการให้พระเจ้าแผ่นดินอยู่ภายใต้กฎหมายนั้น ตำรวจได้รู้ตัวว่าใครบ้าง และขณะนี้ได้ติดตามพฤติการณ์อยู่โดยตลอด ทหารมหาดเล็กก็เริ่มถูกอบรมให้จงรักภักดีต่อพระราชวงศ์ และองค์พระมหากษัตริย์ยิ่งขึ้น

รองผู้บังคับการทหารมหาดเล็ก คือ พ.อ.พระยาสุรเดชรณชิต ก็ให้บรรดานายทหารทุกคน เขียนเรื่องทหารมหาดเล็กกับพระมหากษัตริย์ส่งผ่านกองทัพไปยังกรมทุกๆ นาย ทั้งนี้ได้โจษจันกันในหมู่นายทหารว่า จะนำเอาลายมือไปตรวจสอบ เพราะมีคำสั่งให้เขียนด้วยลายมือของตนเองทุกคน นอกจากการตรวจสอบลายมือแล้ว ยังพิจารณากันต่อไปว่าคงจะเป็นการทดลองความคิดเห็นในการปกครองโดยปัจจุบันนี้ว่า นายทหารส่วนมากมีความคิดเห็นอย่างไร

ระหว่างนี้ตำนานของกรมในห้องสมุดของสโมสรถูกยืมไปอ่านกันมาก เพราะทุกๆ คนก็ล้วนแต่อ้างถึงประวัติของกรมนี้ในการจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ และก็เริ่มมีระบบสายลับภายในกรมกองทหารและตามสโมสรนายทหาร ระยะนี้ตามสโมสรนายทหารมีการกวดขัน นายทหารในกรมกองอื่นที่มาเยี่ยมมากขึ้น

ดังนั้นการพบปะระหว่างนายทหารต่างกรมกองด้วยกันก็เปลี่ยนไปเป็นที่อื่นๆ เช่น ตาม ร้านฮั่วตุ้น หรือตามร้านขายอาหาร แถบสี่กั๊กพระยาศรี หรือตามหน้าโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง ที่กำลังก่อสร้างขึ้นใหม่ ร.ต. บ๋วย บุณยรัตพันธุ์ นักนิยมลัทธิซามิ่นจูหลีก็หายหน้าไป ทราบว่าถูกตำรวจติดตามในฐานที่เป็นนักเลงสุราพูดมาก ในด้านของทหารเรือ ได้ทราบว่ามีการวิจารณ์กันมากในเรื่องพวกนักเรียนกฎหมายถูกตำรวจติดตามในฐานะจะก่อความไม่สงบ บางคนก็พูดว่าทหารเรือนั้นผู้บังคับบัญชาชั้นสูง ต้องปล่อยให้วิพากษ์วิจารณ์ เพราะทหารเรือต้องศึกษากฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายสำหรับประเทศที่ตนจะต้องเดินเรือไปฝึกภาคกัน…

ดังนั้นการวิพากษ์วิจารณ์จึงพูดกันได้กว้างขวางยิ่งกว่านายทหารบก แต่พูดส่วนรวมแล้ว ทราบว่านายทหารเรือส่วนมากยังจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์อยู่เป็นอันมาก และในตอนเย็นวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เวลาค่ำก็ได้มีโทรศัพท์ติดต่อจากกรมทหารมหาดเล็ก ซึ่งตั้งอยู่สะพานมัฆวานฯ โดยผู้บังคับกองรักษาการณ์ คัดส่งไปตามกองร้อยต่างๆ ว่า

พรุ่งนี้เวลา 06.00 น. พล.อ. พระยาทรงสุรเดช อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร จะทำการฝึกเรื่องการป้องกันภัยทางอากาศแก่ขบวนเดินของทหาร โดยใช้นักเรียนนายร้อยเป็นลูกมือ หากกรมกองใดสนใจก็ให้จัดส่งนายทหารไปดูการฝึกได้ หรือหากกองพันใดจะนำพลทหารไปดูการฝึกด้วยก็ให้นำไปได้

คำสั่งดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏว่ารองผู้บังคับการกรม หรือผู้บังคับกองพันได้สั่งการอย่างไร”

นี่คือบรรยากาศของบ้านเมืองก่อนถึงเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มิถุนายน 2564