ผู้เขียน | ศราวิน ปานชัย |
---|---|
เผยแพร่ |
ปฏิวัติ 2475 เป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย (สยามในขณะนั้น) เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยกลุ่ม “คณะราษฎร” นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าเรื่องการปฏิวัติจะเป็นความลับสุดยอด เพราะมีเอกสารและบันทึกร่วมสมัยหลายชิ้นบ่งบอกว่า “ข่าวลือ” เรื่องจะเกิดการปฏิวัติได้หลุดรอดและรับรู้กันมาเป็นเวลานานแล้ว
ในปี 2475 ซึ่งครบรอบ 150 ปีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการจัดพระราชพิธีสมโภชพระนคร ช่วงเวลานั้นมีข่าวลือต่าง ๆ อาทิ ข่าวลือการปฏิวัติ หรือการทำร้ายในหลวง รัชกาลที่ 7 หลุดรอดออกมา โดย ยาสุกิจิ ยาตาเบ อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศสยาม ได้บันทึกเหตุการณ์ไว้ว่า
“กลางเดือนมีนาคม ค.ศ. 1932 ซึ่งกำลังมีการเตรียมพิธีการใหญ่อยู่ ได้เกิดมีข่าวลือออกมาบ่อย ๆ ว่ามีคนวางแผนจะก่อการไม่สงบโดยอาศัยความชุลมุนวุ่นวายของงานฉลองพระนคร 150 ปี ข่าวลือแบบนี้ทำให้จิตใจของผู้คนทั่วไปมีความกังวลใจ เรื่องนี้เป็นความจริง แต่ว่าพิธีการใหญ่ที่ดำเนินติดต่อกันห้าวัน โดยที่มีวันที่ 6 เมษายน เป็นช่วงกลางของงาน ก็สิ้นสุดลงด้วยความเรียบร้อย และไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไรเกิดขึ้น”
ข่าวลือเรื่อง ปฏิวัติ 2475 ก็เป็นที่รับรู้ของฝ่ายรัฐบาลเช่นกัน ดังปรากฏบันทึกว่า ก่อนถึงวันเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นาน พลตำรวจโท พระยาอธิกรณ์ประกาศ อธิบดีกรมตำรวจภูธร ได้เสนอรายงานเรื่องการปฏิวัติที่กำลังจะเกิดขึ้น และเตรียมพร้อมจะจับกุมสมาชิกคณะราษฏร แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ให้ทรงทราบ แต่พระองค์ไม่ทรงเชื่อรายงานดังกล่าว และมีพระดำริว่า
“คนที่พลาดการใช้โอกาสในเหตุการณ์ชุลมุนเมื่องานฉลองพระนคร 150 ปี คงจะไม่มีความสามารถก่อการปฏิวัติได้”
แต่เมื่อถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ฝ่ายรัฐบาลจึงได้รู้ตัวว่าคิดผิด ข่าวลือเรื่องการปฏิวัติเป็นเรื่องจริง และ คณะราษฎร ก็ก่อการสำเร็จในช่วงเช้าวันนั้น
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปฏิวัติ 2475 สถานการณ์ทางการเมืองยังคงเต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่ นายกรัฐมนตรีคนแรก คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งเป็นฝ่ายระบอบเก่า ถูกรัฐประหารโดยคณะราษฎรในเดือนมิถุนายน ปี 2476 และต้องหลบหนีไปอยู่ปีนัง
ในเวลาต่อมา หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ซึ่งตามเสด็จพระบิดา คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไปประทับปีนังเช่นกัน ได้พบพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และบันทึกความทรงจำบทสนทนากับพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่พูดถึงข่าวลือการเปลี่ยนแปลงการปกครองไว้ว่า
“พระยามโนปกรณ์ฯ นายกคนแรกได้รับสารภาพกับข้าพเจ้าเองที่ปินังว่า-“ที่จริงใคร ๆ ก็รู้กันดีทั้งนั้นแหละว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง, แต่เขากำลังเบื่อ, เขาก็พากันเมิน ๆ ทำไม่รู้เสีย!” ข้าพเจ้าถามว่า- “เบื่ออะไร?” เจ้าคุณตอบว่า- “ก็เบื่ออ้ายการปกครองอย่างที่เป็นอยู่น่ะซี.” ข้าพเจ้าย้อนถามว่า- “อ้อ, แล้วพวกเจ้าคุณก็เห็นซีว่า-เจ้ารัฐธรรมนูญ-นี่แหละจะช่วยให้เรียบร้อยรุ่งเรืองได้?” เจ้าคุณหัวเราะแล้วพยักหน้ารับว่า- “ก็อย่างนั้นน่ะซี!” ข้าพเจ้าช่วยต่อให้จบว่า- “แล้วเราก็มาอยู่ปินังนี่ด้วยกัน!”
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นการแพร่สะพัดของ “ข่าวลือ” และบรรยากาศทางการเมืองช่วงนั้นว่าเป็นอย่างไร
อ่านเพิ่มเติม :
- ย้อนเหตุบุกจับเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ เมื่อทหารไว้พระทัยกลายเป็นคณะราษฎร 2475
- ร่องรอยแผ่นเสียงเพลงไทยที่สาบสูญ ไม่มีใครสนใจหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
- 4 กรกฎาคม 2475 รัชกาลที่ 7 พระราชทานอภัยคณะราษฎร กรณีประกาศ 24 มิถุนายน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. (2553). การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475. พิมพ์ครั้งที่ 5. นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน.
ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล. (2546). สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน.
ยาสุกิจิ ยาตาเบ. (2562). บันทึกของทูตญี่ปุ่นผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม. แปลโดย เออิจิ มูราชิมา และ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2566