ร่องรอยแผ่นเสียงเพลงไทยที่สาบสูญ ไม่มีใครสนใจหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

เดิมทีเพลงไทยที่ร้องบรรเลงสืบต่อกันมา ไม่ได้มีการจดทำนองไว้เป็นตัวโน้ตดังเพลงคลาสสิคของฝรั่ง ครั้งกระโน้นเพลงไทยมีความใกล้ชิดกับธรรมชาติอยู่มาก แม้วิธีเรียนเพลงก็ใช้วิธีธรรมชาติ คือนักดนตรีไทยจะคุ้นเคยกับการจำทำนองด้วยสมอง จะทำเพลงได้ดีเพียงใด ขึ้นอยู่กับว่าฝึกฝนท่องจำบ่อยแค่ไหน

ตามระบบอย่างว่านั้น เพลงในความทรงจำจึงมักดับสูญไปกับชีวิตครูดนตรี ซึ่งในกรณีที่ครูท่านใดไม่มีศิษย์ที่ไว้วางใจได้ ก็จะงดเว้นการสอนหรือถ่ายทอดวิชาให้แก่คนรุ่นถัดมาโดยเด็ดขาด

หากไม่นับโน้ตเพลงไทย “สายสมร” ที่ปรากฏในบันทึกของลาลูแบร์ ว่าด้วยเพลงไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา อาจกล่าวได้ว่า มีการรวบรวมจัดเก็บทำนองและวิถีบรรเลงของเครื่องดนตรีไทยแต่ละชิ้นอย่างสมบูรณ์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ก่อนช่วงแห่งการเปลี่ยนระบอบการปกครอง พ.ศ. 2475 เพียงไม่นาน

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เจ้านายไทยหลายพระองค์มีพระทัยในทางเพลงดนตรีสากลเป็นพิเศษ เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงพระนิพนธ์เพลงไพเราะไว้เป็นอันมาก ทั้งทำนองไทยและฝรั่งโน้ตเพลงพระนิพนธ์ยังคงอยู่มาถึงสมัยนี้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย เป็นชาวไทยที่มีผู้กล่าวว่า สามารถเล่นพิณฝรั่ง (Harp) เครื่องดนตรีสี่สิบเจ็ดสายได้ก่อนใครๆ

อีกสองพระองค์คือ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ผู้ประทานกำเนิดเพลงร้องของทหารเรือไทย เช่นเพลงดอกประดู่ เพลงดาบของชาติ กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ พระองค์หลังนี้ แม้ไม่ปรากฏว่าได้ทรงพระนิพนธ์เพลงใดไว้ ก็ทรงสนับสนุนงานดนตรีอย่างมาก

ในรัชกาลที่ 7 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะทรงเป็นนายกราชบัณฑิตยสภา ทรงริเริ่มและดำเนินงานบันทึกเพลงไทยเป็นตัวโน้ตสากล โดยความร่วมมืออย่างดียิ่งของอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย และครูทางดนตรีทุกฝ่าย

นอกจากเพลงไทยจะได้รับการจารึกตามระบบมาตรฐานดนตรีโลกแล้ว ยังมีการบรรเลงเพลงบันทึกแผ่นเสียงขนานใหญ่ด้วย

ปรากฏความตามหนังสือถึงเจ้าพระยาวรพงศพิพัฒน์ เสนาบดีกระทรวงวัง แสดงออกเรื่องความรู้สึกที่ทรงห่วงใยในสมบัติเพลงไทย ดังนี้

“ที่ 24/516

วันที่ 27 มกราคม พุทธศักราช 2473 แจ้งความยัง ท่านเจ้าพระยาวรพงศพิพัฒน์ เสนาบดีกระทรวงวัง

ด้วยราชบัณฑิตยสภาปรารภว่าเพลงปี่พาทย์มโหรีของไทยฝึกหัดและรักษากันมาแต่ด้วยความทรงจำ เป็นเหตุให้เพลงปีพาทย์มโหรีของเก่าสูญไป มีเหลืออยู่แต่ชื่อเป็นอันมากน่าเสียดายอยู่ เห็นว่าความบกพร่องอันนี้อาจจะแก้ไขในปัจจุบันนี้ด้วยวิธีจดเพลงลงโน้ตรักษาไว้และราชบัณฑิตยสภาเต็มใจที่จะรับอำนวยการ ถ้าหากเจ้าคุณเห็นชอบด้วย และรับจะอุดหนุนด้วยผู้เชี่ยวชาญการดุริยางค์ดนตรีทั้งอย่างไทยและอย่างฝรั่งขึ้นอยู่ในกระทรวงวังทั้งนั้น ขอให้พระเจนดุริยางค์ จัดคนชำนาญการจดโน้ตมาให้และขอให้อนุญาตให้เรียกครูดุริยางค์ดนตรี ในกรมมหรศพมาบอกเพลงให้จด

จดแล้วเก็บรักษาไว้ในหอพระสมุดสำหรับพระนคร เห็นว่าถ้าทำอย่างนี้จะได้เพลงปี่พาทย์ของไทยไว้สืบไปไม่มีสูญ โดยไม่ต้องเพิ่มเงินจ่ายอย่างหนึ่งอย่างใดนอกจากค่ากระดาษเครื่องเขียน เพราะผู้ชำนาญเหล่านี้รับเงินเดือนในกระทรวงวังอยู่ แล้วทั้งสองพวกหวังใจว่าเจ้าคุณจะเห็นชอบด้วยและอนุญาตตามที่เสนอมา.

(ลงพระนาม) ดำรงราชานุภาพ

นายกราชบัณฑิตยสภา”

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ บันทึกเรื่องทำโน้ตเพลงและแผ่นเสียงไว้ในหนังสือเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ “หญิงเหลือ” หรือหม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุ ดิศกุล พระธิดาอีกองค์หนึ่งของสมเด็จฯ โดยเรียกขาน “หญิงเหลือ” ว่า “เธอ”

“เสด็จพ่อทรงมอบการรับผิดชอบในการจัดทำแผ่นเสียงและโน้ตเพลงครั้งนี้ให้เธอและ ตรัสสั่งว่า ถ้ามีเหตุขัดข้องที่จะต้องชี้ขาด ให้ไปทูลถามสมเด็จอาว์ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ทรงตัดสิน

หญิงเหลือเริ่มงานแต่มีพิธีไหว้ครูร่วมกันที่ห้องพระโรงวังวรดิศแล้วจึงลงมือซ้อมและจดลงโน้ตอย่างฝรั่งต่อไปทุกวัน เธอเป็นทั้งผู้เลือกบทร้องและเพลงร่วมกับอาจารย์ทั้งหลาย เป็นทั้ง Conductor ในเวลาใส่แผ่นเสียง และเป็นแม่บ้านเลี้ยงดูผู้ทำงานด้วยกันตลอดเวลา ใช้เวลาซ้อมกันอยู่ประมาณ 4-5 เดือน แล้วฝรั่งผู้จะใส่ลงในจานเสียงขี้ผึ้งก็ไปเลือกที่ทำงานได้ในพระที่นั่งอิศเรศราชานุสร หญิงเหลือก็ไปคุมเองทุกครั้งจนเสร็จเรียบร้อย ฝรั่งรับแผ่นเสียงกลับไปเมืองเยอรมันนี้เพื่อทำลงแผ่นจริง แล้วส่งตัวอย่างกลับมาถวาย 3 ชุด ชุด 1 ทูนเกล้าฯถวายพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ชุดที่ 2 ให้แก่ราชบัณฑิตยสภา ชุดที่ 3 ให้หญิงเหลือของชุดละ 7 แผ่น 14 หน้า ส่วนการจดลงเป็นสมุดโน้ตก็ทำต่อไปจนสำเร็จได้ 3 เล่มสมุดแล้ว โดยได้เชิญท่านอาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ เช่น หลวงประดิษฐ์ไพเราะมา เป็นที่ปรึกษาด้วย..”

นับว่าการทำงานบันทึกเสียงดนตรีในไทยเมื่อห้าสิบปีเศษล่วงแล้วนั้น เป็นงานที่สามารถระดมทั้งกำลังฝีมือ และวัสดุที่ทันสมัยมาใช้อย่างพร้อมมูล

สำหรับการควบคุมงาน-หม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุ ดิศกุล ได้ทรงเล่าเรื่องนี้ไว้ว่า

“…ข้าพเจ้าไม่ใช่จะเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในทางดนตรีอยู่มาก ซึ่งพอจะเป็นที่พึ่งในทางไต่ถามและขอความช่วยเหลือได้จึงกล้ารับจัดการสนองพระเดชพระคุณ…”

ในส่วนการจดโน้ตเพลงไทย คุณพระเจนดุริยางค์ ซึ่งเวลานั้นเป็นปลัดกระทรวงในกองเครื่องสายฝรั่งหลวงได้ทำงานร่วมกับนักดนตรีไทยผู้มีความสันทัดในเพลงไทยโบราณหลายท่าน โดยเฉพาะคุณครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)

เพลงชุดแรกจดโน้ตเสร็จ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2474 หลังจากเริ่มงานในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 โดยการร่วมแรงร่วมใจของบุคคลที่กล่าวนามแล้ว

คุณพระเจนดุริยางค์บันทึกไว้ว่า งานจดโน้ตเพลงไทยครั้งนั้นทำกันทุกวันพฤหัสบดีและวันเสาร์ เพลงชุดแรกที่ทำสำเร็จคือเพลงโหมโรงเย็นหรือโหมโรงละคร

สำหรับโน้ตเพลงยังตกทอดมาถึงปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าในตัวเองอย่างสูง และเป็นที่วางใจได้ว่า “เพลงแบบแผน” ที่สำคัญส่วนหนึ่งจะยังคงอยู่

ส่วนแผ่นเสียงเพลงไทยที่บันทึกไว้ในปี 2474 นั้น มีจำนวนมากถึง 132 แผ่น ดังรายการในบทแผ่นเสียงต่อไปนี้

เพลงประกอบรูปภาพ เรื่องนางซินเดอร์ริลลา แผ่นเสียง 3 แผ่น

เรื่องสามก๊ก แผ่นเสียง 3 แผ่น

เรื่องขอมดำดิน แผ่นเสียง 3 แผ่น

เรื่องพระลอ แผ่นเสียง 2 แผ่น

เรื่องอุณรุท แผ่นเสียง 2 แผ่น

เรื่องรามเกียรติ์ ศึกพรหมาสตร์ แผ่น เสียง 8 แผ่น

เรื่องนารายณ์ปราบนนทุก แผ่นเสียง 13 แผ่น

เรื่องจันทกินรี แผ่นเสียง 13 แผ่น

เรื่องยศเกตุ แผ่นเสียง 13 แผ่น

เรื่องท้าวแสนปม แผ่นเสียง 16 แผ่น

บทมโหรีเรื่องกากี เพลงเบ็ดเตล็ด แผ่นเสียง 56 แผ่น

ทำนองเพลงเก่าที่หายากและกำลังจะสูญหายได้ถูกบันทึกลงแผ่นเสียงเป็นเพลงสำหรับฟังกันได้นานๆ เจตนาอันงามของท่านผู้ริเริ่มและความมีวิริยะของผู้ร่วมงานทำท่าจะบรรลุผล แต่แล้วเหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนรูปการปกครองแผ่นดินในเดือนมิถุนายน 2475 ได้กระทบถึงงานดนตรีชิ้นนี้ด้วย ความตอนนี้ เห็นสมควรให้บันทึกของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล เป็นแหล่งอ้างอิง

“…กำลังทำโน้ตอยู่ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 พวกเราบ้านแตกสาแหรกขาด ต่างคนต่างแยกกันไป ข้าวของไม่มีใครรู้ว่าอะไรอยู่ที่ไหน ทางบ้านเมืองก็กำลังมีเพลงเกิดใหม่ เช่น-เลือดสุพรรณ เอ๋ย-เป็นเพลงที่ฮิตอย่างกึกก้อง ๆ จนไม่มีผู้ใดนึกถึงแผ่นเสียงของเรานั้นเลย เราได้รื่นรมย์แต่เมื่อได้ฟังจากแผ่นเสียงตัวอย่างที่เขาส่งมาให้ 3 ชุดเท่านั้น ซึ่งทำให้หายเหนื่อยได้ดี เพราะเพลงกลองโยนในบทโขนตอนพรหมาสตร์ของสมเด็จพระยานริศนั้น หญิงเหลือเขา Conduct ให้ ตามบทร้องว่า

ช้างเอยช้างนิมิต เหมือนไม่ผิดช้างมัฆวาน..

ถึงบรรทัดที่ 7 ว่า-กลองชนะประโคมครึก มโหระทึกกึกก้องเสียงแตรสังข์ส่งสำเนียง นางจำเรียงเคียงช้างทรง– นักสิทธิ์ฤทธิ์รงค์ ถือทวนธงลิ่วลอยมาฯ

พอร้องถึงคำว่า กลองชนะ เขาก็ให้พิณพาทย์เบาลงให้ได้ยินแต่เสียงกลองชนะ ถึงมโหระทึก ก็ได้ยินแต่เสียงมโหระทึก ถึงแตรสังข์ ก็มีแต่เสียงแตรสังข์ ต้องคอยชี้ให้ใครเล่นให้ถูกจังหวะ แบ่งคำร้องเธอก็ไม่ยอมให้ผิดเนื้อความ เช่นในเรื่องซินเดอร์ริลลาว่า-ทันใดเจ้าหนุ่มเชื้อเชิญนาง ต้องแบ่งร้องให้ถูกวรรคโคลงพระราชนิพนธ์ เสียงระฆังสองยามก็เอาระฆังฝรั่ง ที่จริงๆ พระเจนดุริยางค์ตีเองตรงคำว่า –หง่าง เสียงใส จึงทำให้เพราะจับอกจับใจมาก”

เพลงนับร้อยจากฝีมือกลั่นกรองด้วยความรักและเสียดายของผู้ดำเนินงานบันทึกเสียงได้สูญหายไปในเยอรมนี ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านผู้หญิงพูนฯ ทรงเล่าว่า

” เราพยายามติดต่อไปทางเยอรมันนี เพื่อติดตามหาแผ่นเสียงเหล่านั้น ได้ตอบว่าบอมบ์ลงเมื่อสงคราม ไหม้หมดไม่เหลือเลย รวมความว่าได้ทำอย่างแสนดีและแสนจะเหนื่อย กลายเป็นไม่มีอะไรเหลือ นอกจากหนังสือเล่มที่พิมพ์ไว้มีพูดขึ้นครั้งไร หญิงเหลือเป็นร้องไห้ทุกที….”

สงครามและความผันผวนนานาประการ ดูเหมือนว่าได้มาพร้อมกัน โหมซัดในดวงพระทัยสมเด็จฯ อย่างหนัก จนมิได้ทรงมีพระนิพนธ์อื่นใดที่กล่าวอ้างถึงความสูญเสียทางดนตรีครั้งยิ่งใหญ่นั้นอีกแม้เพียงสักน้อย

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หนังสือประกอบการเขียน :

ราชสกุลวงศ์ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม), พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมราชวงศ์ บุญรับ พินิจขนคดี ท.จ. ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส, 2525.

ความทรงจำ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สำนักพิมพ์คลังวิทยา, 2517

พระประวัติ พระนิพนธ์ และภาพฝีพระหัตถ์ ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, 2506.

ชีวประวัติของข้าพเจ้า โดย พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร), โรงพิมพ์บางกอกซีเกรตาเรียล, 2512.

บทแผ่นเสียง ของราชบัณฑิตยสภา ชุดที่ 1, พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าหญิง พัฒนายุ ดิศกุล ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส, 2517.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 เมษายน 2562