เพื่อนรัก หักเหลี่ยมโหด ฉบับ “สฤษดิ์-เผ่า” กับควันหลงวาทะ “ทำไมมึงทำกับกู..พูดกันดีๆ ก็ได้”

เผ่า ศรียานนท์ สฤษดิ์ ธนะรัชต์
(ซ้าย) พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ (ขวา) จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

พันตำรวจเอก พุฒ บูรณสมภพ เขียนหนังสือว่าด้วยเรื่อง “บุรุษเหล็กแห่งเอเชีย” เนื้อหาตอนหนึ่งปรากฏประโยคสนทนาเชิงตัดพ้อระหว่าง พลเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกัน ใจความว่า

“ไอ้เผ่ามึงจะเป็นตัวผู้บัญชาการทหารบกเสียเอง กูก็ยอม ไม่ขัดขวางอะไรมึง ขอให้กูได้สนุกสนานของกูไปวันๆ ก็พอแล้ว กูไม่ทะเยอทะยานไปกว่านี้ ทำไมมึงต้องทำกับกูอย่างนี้ พูดกันดีๆ ก็ได้”

เป็นอีกแง่มุมหนึ่งของเรื่องราวทำนอง เพื่อนรัก หักเหลี่ยมโหด ในฉบับคนใหญ่คนโตที่มีบทบาทสำคัญต่อไทยในช่วงเวลาหนึ่ง

บทสนทนาที่ปรากฏในหนังสือดังกล่าว ผู้เขียนหนังสือเล่มนั้นเล่าว่า อยู่ในบริบทเมื่อ พลเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รับรู้ว่า ที่ตัวเองเดินทางมาวังปารุสกวันพร้อมกับนายทหารคนสนิท ไม่ได้ด้วยสาเหตุ “ชวนมากินเหล้า” ตามคำบอกของ พันตำรวจเอก พุฒ บูรณสมภพ แต่คือถูกลวงมา “ควบคุมตัว” โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังวันที่ 4 พฤษภาคม 2496 เมื่อ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ได้รับพระราชทานยศ “พลเอก” เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ขณะที่ยังคงปักหลักอยู่บนบัลลังก์อธิบดีกรมตำรวจ

กระทั่งเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2497 พลเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทะยานขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

ภูมิหลังเกี่ยวกับการหักเหลี่ยมโหดระหว่างเพื่อนสนิทกันจากตำแหน่งดังกล่าวนั้น พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ เขียนบทความ ” ‘คำทำนายที่ถูกครึ่งเดียวของ จอมพล ป.’ ‘เพื่อนรัก หักเหลี่ยมโหด’ ” เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ พฤศจิกายน 2562 ก่อนจะทำความเข้าใจเรื่อง “เพื่อนรัก หักเหลี่ยมโหด” บทความนี้ยกเนื้อหาในบันทึกของจอมพล ผิน ชุณหะวัณ ที่เล่าถึงเหตุการณ์สำคัญในการขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของกองทัพบกของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไว้ใน “ชีวิตกับเหตุการณ์ของ จอมพลผิน ชุณหะวัณ” ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

“ครั้นคณะรัฐประหารเงียบ [วันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 – บัญชร] ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม เริ่มแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีและข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่งเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2494 แล้วต่อไปก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรลงวันที่ 12 ธันวาคม 2496 อีกตำแหน่งหนึ่ง

การที่ข้าพเจ้าได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลในครั้งนั้นมีตำแหน่งประจำถึง 3 ตำแหน่งล้วนแต่เป็นตำแหน่งที่สำคัญทั้งนั้น คือตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร โดยเฉพาะในหน้าที่การเกษตร ข้าพเจ้าถือว่ามีความสำคัญยิ่งเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศชาติซึ่งพลเมืองได้ประกอบอาชีพในทางนี้ถึงประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้นับว่าเป็นการใหม่ของข้าพเจ้าด้วยแล้วตั้งใจจะพยายามทำงานให้ดีที่สุดเท่าที่สมองจะอำนวยให้ แต่เมื่อหวนถึงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกอันเกี่ยวกับการต่อสู้และป้องกันชาติก็มีความสำคัญยิ่งเช่นเดียวกัน จึงมาจินตนาการถึงสังขารของข้าพเจ้ามีอายุย่างเข้า 63 ปีแล้ว เกรงว่าถ้าขืนฝืนร่างกายดำเนินงานทั้ง 3 ตำแหน่ง การบริหารอาจไม่สมบูรณ์ก็เป็นได้ คิดจะสละตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกให้ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงและยังหนุ่มอยู่ดำรงตำแหน่งแทนต่อไป จึงได้นำความคิดดังกล่าวเข้าปรารภกับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี

ท่านก็เห็นใจและบอกว่า ถ้าจะสละตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแล้วท่านจะขอเป็นผู้บัญชาการทหารบกเอง ซึ่งท่านมีเหตุผลที่น่าฟังมากกว่า ตั้งแต่พวกเราทำรัฐประหารมาก็มีกบฏซ้อนถึง 3 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2491 ครั้งหนึ่ง วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 อีกครั้งหนึ่ง และวันที่ 29 มิถุนายน 2494 อีกครั้งหนึ่ง ครั้งหลังนี้ถ้าไม่ได้พวกเราทำการโดยเด็ดขาดแล้วท่านก็คงเอาชีวิตไม่รอดแน่ ส่วนกับกบฏซ้อนครั้งที่ 1 และ 2 นั้นก็เพราะเราทั้งสองได้ร่วมชีวิตกันอย่างเข้มแข็งจึงทำการปราบปรามให้ราบคาบได้ ถ้าขืนให้ผู้อื่นมาครองตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแล้วเราทั้งสองจะเดือดร้อนต่อภายหลัง

การพยากรณ์ของท่าน จอมพล ป. พิบูลสงคราม นับว่าเป็นโหรที่ทำนายได้แม่นยำ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปภายหลัง

เมื่อข้าพเจ้าได้รับคำชี้แจงพร้อมด้วยเหตุผลจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วทำให้จิตใจของข้าพเจ้ากระสับกระส่ายอยู่หลายวัน ใจหนึ่งก็ใคร่จะมอบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตามเหตุผลที่ท่านได้ชี้แจงไว้ อีกใจหนึ่งก็ตั้งใจจะมอบให้กับ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (เป็น พลเอก) ซึ่งเป็นรองผู้บัญชาการทหารบกอยู่ เพราะผู้นี้นอกจากเป็นรองผู้บัญชาการทหารบกซึ่งรอคอยตำแหน่งนี้อยู่แล้ว ยังเป็นเพื่อนร่วมชีวิตคุมกำลังที่สำคัญ (กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์) ทำการรัฐประหาร และเมื่อมีการกบฏซ้อนทั้ง 3 ครั้ง จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็แสดงความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวช่วยจนราบคาบทุกครั้ง

เมื่อได้พิจารณาและชั่งน้ำหนักของบุคคลทั้งสองแล้วคิดอยู่แต่ผู้เดียวว่าควรจะมอบให้ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งผู้นี้ยังหนุ่มและร่างกายแข็งแรงสามารถจะควบคุมและเดินทางไปตรวจตราตามหน่วยทหารบกที่ตั้งอยู่ทั่วราชอาณาจักรได้ทั่ว ทั้งได้แสดงว่าใคร่จะได้ตำแหน่งมานานแล้ว ในที่สุดเวลาได้ผ่านไป 7 วัน ข้าพเจ้านำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ขอเวนคืนตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและมอบให้ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกต่อไปเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2497”

พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ ตั้งข้อสังเกตถึงกรณี “เวนคืน” ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกไว้ว่า จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ไม่ได้กล่าวถึง พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ทั้งที่ได้รับพระราชทานยศ “พลเอก” และเคยมีตัวอย่างการโยกย้ายจากตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจของ “พลเอก” อดุล อดุลเดชจรัส มาเป็น “ผู้บัญชาการทหารบก” เมื่อ พ.ศ. 2489 ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก

และทั้งที่ไปปรึกษาหารือกับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้บังคับบัญชา นายกรัฐมนตรี และ “เพื่อนตาย” ที่ให้ความเคารพนับถือ ฝั่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังให้เหตุผลคัดค้านการสละตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกไว้อย่างชัดเจนแล้ว

เหตุใด จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ตัดสินใจนำเรื่องนี้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เสมือนเป็นการกระทำโดยไม่ใส่ใจและไม่ให้น้ำหนักต่อท่าทีที่ชัดเจนของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ข้อสงสัยนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ครั้งนั้นเป็นแผนการที่วางไว้ร่วมกับ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เพื่อการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือไม่?

แต่เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยน การตัดสินใจก็เปลี่ยน ขณะที่การรวบรัดเสนอ “เวนคืน” ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกให้ พลเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2497 ตามเนื้อหาในบันทึกนั้น เท่ากับว่าเป็นการทำลายแผนนี้โดยตรง

ต่อข้อกรณีนี้ บทความของ พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ ได้วิเคราะห์ต่อมา เนื้อหามีดังนี้

จอมพล ผิน ต้องการอะไร?

“แผนชิงชาติไทยฯ” ของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ บันทึกความไม่พอใจของนายทหารกองทัพบกหลังการรัฐประหารวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ไม่นาน ต่อบทบาทของ พลโท ผิน ชุณหะวัณ ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ “กบฏเสนาธิการ” เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2491 ว่ามาจาก “การที่ พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ เข้าไปควบคุมองค์การทหารผ่านศึก และเริ่มเข้าไปพัวพันกับสัมปทานและผลประโยชน์”

ความไม่พอใจของนายทหารกองทัพบกเช่นนี้สืบเนื่องมาจาก มิใช่เฉพาะ พลโท ผิน ชุณหะวัณ เท่านั้น แต่รวมถึงคณะรัฐประหารซึ่งนอกจากจะมีตำแหน่งทางการทหาร และเข้าไปมีตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ยังเข้าไปมีบทบาทอยู่ในรัฐวิสาหกิจและเข้าไปเป็นประธานกรรมการและคณะกรรมการของบริษัทและธุรกิจการค้าต่างๆ อย่างมากมาย ทั้งที่เป็นสถาบันการเงิน การส่งออกและนำเข้า และการรับเหมาก่อสร้างเป็นต้น

แรกทีเดียว การที่นายทหารนายตำรวจคณะรัฐประหารได้มีส่วนในทางธุรกิจก็เพราะบรรดาพ่อค้านักธุรกิจเชื้อสายจีนต้องการให้เข้าไปเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการเพื่อเป็นผู้ประกันความปลอดภัยจากการคุกคามของทางราชการโดยการมอบ “หุ้นลม” ให้ แต่ต่อมาก็มีนักการทหารและนักการเมืองหลายคนเริ่มมองเห็นช่องทางในการสร้างและขยายฐานในทางเศรษฐกิจจึงได้ก่อตั้งบริษัทของตนเองขึ้น จากการขยายฐานเข้าไปในวงการธุรกิจการค้านั่นเอง ทำให้สมาชิกผู้ก่อการรัฐประหารซึ่งเคยเป็นพวกเดียวกัน ร่วมเป็นร่วมตายมาด้วยกัน ค่อยๆ แยกตัวออกไปเป็น 2 กลุ่มขนาดใหญ่ คือ “กลุ่มซอยราชครู” และ “กลุ่มสี่เสาเทเวศร์” ในที่สุด

กล่าวเฉพาะ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ จากการสำรวจศึกษาและรวบรวมเข้าเป็นระบบของ สังศิต พิริยะรังสรรค์ ในวิทยานิพนธ์เรื่องทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2503 ได้จำแนกการเข้าไปมีบทบาทในทางธุรกิจการค้าไว้ดังนี้

“จอมพล ผิน ชุณหะวัณ

1. บริษัท กระสอบไทย จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2494 2. บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทย จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2493 3. บริษัท ส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติ จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2497 4. บริษัท ส่งเสริมปอแห่งประเทศไทย จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2497 5. บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลชลบุรี จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2498 6. ธนาคารเกษตร จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2494 7. บริษัท ค้าไม้ทหารสามัคคี จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2501”

นี่อาจเป็น “ตัวตน” ที่แท้จริงของ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ จนนำไปสู่ท่วงทำนองชวนพิศวงที่ดูเหมือนเอื้อต่อ พลเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มากกว่าทั้ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทย พ.ศ. 2500

คำพยากรณ์ที่ถูกครึ่งเดียว

หลังการยึดอำนาจของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 (แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495) ยังคงใช้บังคับต่อไป มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2500 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2500 จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และแม้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ก็ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยสภาชุดดังกล่าวสิ้นสุดลงในสมัย จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ก็ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาอีกเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2511

เห็นได้ว่า หลังการยึดอำนาจของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 จอมพล ผิน ชุณหะวัณ จะ “ร่นถอยทางยุทธศาสตร์” อย่างรัดกุม และ “ซุ่มซ่อนยาวนาน รอคอยโอกาส” รักษาขุมกำลัง “กลุ่มซอยราชครู” ไว้จนกระทั่งค่อยๆ ฟื้นคืนชีพและก่อกำเนิด “พรรคชาติไทย” ที่จะมีบทบาทยาวนานนับหลายทศวรรษหลังการอสัญกรรมของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2506 กระทั่ง พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ บุตรชายขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีท่านที่ 17 เมื่อ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2531

คำพยากรณ์ “ถ้าขืนให้ผู้อื่นมาครองตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแล้วเราทั้งสองจะเดือดร้อนต่อภายหลัง” ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงถูกเพียงครึ่งเดียว

จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ไม่เดือดร้อน (นัก).

ไม่ว่าเหตุผลในการตัดสินใจของ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ในการมอบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกให้ พลเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่หลังการยึดอำนาจโดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 จอมพล ผิน ชุณหะวัณ จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับ จอมพล ป . พิบูลสงคราม และ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดย่อและเรียบเรียงเนื้อหาใหม่จากบทความ “‘คำทำนายที่ถูกครึ่งเดียวของ จอมพล ป.’ ‘เพื่อนรัก หักเหลี่ยมโหด’ ” เขียนโดย พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2562


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2564