“ประธานบริษัท” คราบผู้นำเผด็จการ : ธุรกิจแหล่งทุนอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีของไทย มีภาพเป็นผู้นำเผด็จการที่คนไทยรู้จักดี แต่หากลบภาพผู้นำประเทศ ละตำแหน่งทางราชการเอาไว้ จอมพลสฤษดิ์ยังเป็นทั้ง ประธานบริษัท นักธุรกิจ และเจ้าของกิจการจำนวนมากมาย

การดำเนินการของจอมพลสฤษดิ์ในธุรกิจเหล่านี้ก็เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อันใช้เป็นฐานส่งเสริมและค้ำจุนอำนาจทางการเมืองของตนและพรรคพวก ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 อาจเรียกได้ว่าเป็นขุมกำลังสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้จอมพลสฤษดิ์สามารถก้าวขึ้นสู่อำนาจสูงสุดของประเทศได้

จอมพลสฤษดิ์มีธุรกิจจำนวนมากและหลากหลายประเภท แม้จอมพลสฤษดิ์จะไม่ได้เป็น “ประธานบริษัท” หรือเข้าไปบริหารงานด้วยตนเองโดยตรงทุกองค์กร แต่ส่วนมากก็จะเข้าไปถือหุ้น และให้คนใกล้ชิดดำเนินกิจการแทน บางธุรกิจแม้ไม่มีชื่อของจอมพลสฤษดิ์เกี่ยวข้อง แต่ก็เป็นเครือข่ายอำนาจทางเศรษฐกิจของจอมพลสฤษดิ์ สะท้อนการประสานผลประโยชน์ระหว่างจอมพลสฤษดิ์ คนใกล้ชิด และนักธุรกิจ

ในภาคการเงิน จอมพลสฤษดิ์เป็นผู้ก่อตั้งธนาคารทหารไทย เมื่อ พ.ศ. 2500 ซึ่งในปีนั้นนอกจากจะเป็นประธานบริหารธนาคารแล้ว ก็ยังแต่งตั้งคนใกล้ชิดเป็นผู้จัดการธนาคารอีกด้วย คือ นายโชติ คุณะเกษม ซึ่งเป็นนักธุรกิจที่ได้รับความไว้วางใจอย่างมาก โดยจอมพลสฤษดิ์ได้ใช้ธนาคารทหารไทยเป็นแหล่งพักเงินที่ได้มาในทางมิชอบจากหน่วยราชการต่าง ๆ

นอกจากธนาคารทหารไทยแล้ว จอมพลสฤษดิ์ยังเข้าไปมีบทบาทสำคัญในธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น ๆ อีก เช่น พ.ศ. 2495 เข้าไปเป็นกรรมการในธนาคารเอเชีย ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ใช้เป็นแหล่งเงินทุนและใช้อิทธิพลในการเบิกเงินเกินบัญชี (Overdraft) มาใช้ในการก่อตั้งและดำเนินธุรกิจของตน ส่วนธนาคารสหธนาคาร ก็เป็นธนาคารที่คนใกล้ชิดของจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้บริหาร ได้ใช้อิทธิพลในการเบิกเงินเกินบัญชีมาก่อตั้งธุรกิจเช่นกัน อาทิ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (แรกตั้งชื่อว่า บริษัท ประกันภัยเอเชียติ๊ก จำกัด ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท รัชตประกันภัย จำกัด ตามลำดับ) และบริษัท บางกอกกระสอบ จำกัด

ในภาคอุตสาหกรรม จอมพลสฤษดิ์มีส่วนร่วมก่อตั้งหลายบริษัท อาทิ บริษัท เหมืองแร่บูรพาสากลเศรษฐกิจ จำกัด เมื่อ พ.ศ. 2499, บริษัท ชลประทานซีเมนต์ จำกัด เมื่อ พ.ศ. 2499, บริษัท บางกอกกระสอบ จำกัด เมื่อ พ.ศ. 2503, บริษัท ยางไฟร์สโตน จำกัด เมื่อ พ.ศ. 2505 และในภาคการค้าและบริการ อาทิ บริษัท บูรพาสากลเศรษฐกิจ จำกัด เมื่อ พ.ศ. 2492 และบริษัท บางกอกสากลการค้า จำกัด เมื่อ พ.ศ. 2495 เป็นต้น

รายชื่อธุรกิจของจอมพลสฤษดิ์บางส่วนมีดังนี้ (บางส่วนเป็นการลงทุนร่วมโดยมีจอมพลสฤษดิ์ถือหุ้นด้วย) ธนาคารเอเชีย, ธนาคารแหลมทอง, บริษัท ทิพยประกันภัย, ธนาคารทหารไทย, บริษัท ไทยเซฟวิ่งทรัสต์, บริษัท ไทยทำ, บริษัท วิจิตรก่อสร้าง, บริษัท รัชตศิลา, บริษัท บางกอกเดินเรือและการค้า, บริษัท ธนะการพิมพ์, บริษัท ถ่านและน้ำมันไทย, บริษัท แสนสุรัตน์, บริษัท ชลประทานซีเมนต์, บริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์, บริษัท สหสามัคคีเดินเรือ, บริษัท เหมืองแร่บูรพาเศรษฐกิจ, บริษัท บางกอกเบียร์, บริษัท บางกอกกระสอบ, บริษัท กรุงเทพไหมไทย, บริษัท โรงงานกลั่นน้ำมันไทย, บริษัท ยางไฟร์สโตน, บริษัท บูรพาสากลเศรษฐกิจ, บริษัท ผดุงสินพาณิชย์, บริษัท ทหารอยุธยา, บริษัท ธัญญะไทย, บริษัท บางกอกสากลการค้า, บริษัท สหพาณิชย์สามัคคี, บริษัทการค้าสามัคคี เป็นต้น

นอกจากการที่จอมพลสฤษดิ์มักจะดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของตนเองและพรรคพวกแล้ว จอมพลสฤษดิ์มักจะดำเนินการใช้อำนาจหน้าที่ของตนหรือกลไกอำนาจรัฐบางอย่าง เพื่ออำนวยและประสานผลประโยชน์ธุรกิจของตนเองและพรรคพวกด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ การก่อตั้งบริษัท บางกอกกระสอบ จำกัด ดังจะแสดงรายละเอียดต่อไปนี้

สืบเนื่องจากมีเงินก้อนหนึ่งราว 14 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินขององค์การบริหารวิเทศธนกิจ (ICA) ของสหรัฐอเมริกา คงเหลืออยู่ รัฐบาลจึงจึงจัดประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2503 พิจารณาว่าจะนำเงินนั้นไปใช้จ่ายอย่างไร

ต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2503 จอมพลสฤษดิ์ได้ให้คนใกล้ชิดก่อตั้ง บริษัท บางกอกกระสอบ จำกัด มีนายบรรเจิด ชลวิจารณ์ คนใกล้ชิดของจอมพลสฤษดิ์ เป็นประธานบริษัท ในการประชุมพิจารณาผู้ถือหุ้นนั้น ที่ประชุมมอบหุ้นให้จอมพลสฤษดิ์ 14,000 หุ้น ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ 3,000 หุ้น และที่เหลือเป็นหุ้นของคนใกล้ชิดของจอมพลสฤษดิ์

เมื่อตั้งบริษัทแล้วเสร็จ ต่อมาเมื่อมีการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเงินจำนวน 14 ล้านบาทดังกล่าวนั้น นายโชติ คุณะเกษม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คนใกล้ชิดของจอมพลสฤษดิ์ จึงเสนอว่าเงินจำนวนดังกล่าวควรให้บริษัท บางกอกกระสอบ จำกัด กู้ยืม

โดยบริษัท บางกอกกระสอบ จำกัด ให้คำมั่นต่อรัฐบาลว่าจะเรียกค่าหุ้นอย่างต่ำ 40 ล้านบาท คือก่อนที่จะมีการกู้เงิน 14 ล้านบาท กับกระทรวงการคลัง จะต้องเรียกเงินค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้นได้แล้วเป็นเงิน 40 ล้านบาท โดยเงินจำนวนดังกล่าวได้มาจาก 2 แหล่ง คือ กองสลากกินแบ่งรัฐบาล 10 ล้านบาท (จอมพลสฤษดิ์เป็นประธานกองสลากฯ) และธนาคารสหธนาคาร จำกัด 30 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองล้วนแต่เป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของจอมพลสฤษดิ์ทั้งสิ้น

ต่อมา ธนาคารสหธนาคารซึ่งมีนายบรรเจิด ชลวิจารณ์ เป็นกรรมการผู้จัดการ ได้อนุมัติเงินกู้จำนวน 30 ล้านบาท แล้วสั่งจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท บางกอกกระสอบ จำกัด 7 คน เมื่อแต่ละคนได้รับเงินแล้วจึงโอนเงินเข้าบัญชีของบริษัท บางกอกกระสอบ จำกัด ที่เปิดบัญชีไว้กับธนาคารสหธนาคารก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อบริษัท บางกอกกระสอบ จำกัด สามารถทำได้ตามคำมั่นต่อรัฐบาล (มีค่าหุ้นอย่างต่ำ 40 ล้านบาท) จึงได้ทำสัญญากู้เงิน 14 ล้านบาท กับกระทรวงการคลัง จากนั้นบริษัทจึงคืนเงิน 30 ล้านบาท ให้กับธนาคารสหธนาคาร

กรณีนี้จะเห็นได้ว่า การดำเนินธุรกิจของจอมพลสฤษดิ์และพรรคพวก นอกจากจะไม่มีเงินทุนแล้วยังใช้อำนาจจากตำแหน่งหน้าที่ของตนกดดันให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่ตนเสนอ โดยมีพรรคพวกทั้งคนใกล้ชิดที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการ และคนใกล้ชิดนอกวงข่ายราชการหรือพวกนักธุรกิจเป็นแขนขาอีกทอดหนึ่ง

จอมพลสฤษดิ์ใช้กลไกประสานผลประโยชน์กับบรรดานายทุนและนักธุรกิจ ด้วยการใช้อำนาจจากการดำรงตำแหน่งหน้าที่ของตน โดยเป็นผู้ผลักดันทางด้านนโยบายจากรัฐเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิพิเศษในการลงทุน รวมทั้งกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบราชการ และในบางครั้งได้ใช้อำนาจผลักดันส่วนราชการต่าง ๆ ในการอนุมัติโครงการให้บริษัทของตนและพวกพ้องได้รับการดำเนินงานเสมอ

 


อ้างอิง :

รัตพงษ์ สอนสุภาพ. (2539). ทุนขุนนางไทย (พ.ศ. 2500-2516), วิทยานิพนธ์ เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2564