ปากคำ “เดช บุญ-หลง” เลขา เผ่า ศรียานนท์ เล่าเกร็ดเบื้องหลังของนายตำรวจแห่งยุค 2500

(ซ้าย) พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์, (ขวา) เดช บุญ-หลง

เดช บุญ-หลง อดีตนักการเมืองไทยที่แม้ชื่อนี้จะไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ชายผู้นี้มีประวัติโลดโพน น่าสนุก น่าติดตาม โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ที่เขาได้เป็น “เลขานุการ” ของ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ก่อนที่ เดช บุญ-หลงจะก้าวลงสู่สนามการเมืองอย่างเต็มตัวในภายหลัง

นายตำรวจใหญ่

เดช บุญ-หลงเรียนจบนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ทั้งยังจบบัญชีที่โรงเรียนสากลการบัญชีมาอีกสาขาวิชา ทำให้เขาเป็นทนายความเนื้อหอมมากคนหนึ่ง โดยเขาทำงานอยู่ที่สำนักงานทนายความของ บุญรอด ธรรมกูล พร้อมกับรับทำหน้าที่ดูแลบัญชีให้บริษัทต่าง ๆ กว่า 50 บริษัท

เดช บุญ-หลงเล่าชีวิตในช่วงนั้นว่า “ตอนนั้นผมเที่ยวเตร่ ออกเต้นรำเป็นหนุ่มเจ้าสำราญ เพราะมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 7,000-8,000 บาท ถามว่ามากขนาดไหน ก็ลองเทียบดูจากราคารถเก๋งออสตินรุ่นก่อนสงครามโลกขณะนั้นราคาหมื่นกว่าบาท”

เพราะความเนื้อหอมนี้เองที่ไปขวางหูขวางตาคนอื่นเข้าจนทำให้เกิดความหมั่นไส้ คนที่ไม่ชอบเขาจึงกลั่นแกล้งด้วยการแจ้งจับเขาในข้อหาเป็น “คอมมิวนิสต์”

อย่างไรก็ดี เดช บุญ-หลงได้รับการช่วยเหลือจาก พล.ต.อ. เผ่า เนื่องจากแม่ของเขาเป็นแม่ครัวอยู่ที่โรงแรมแห่งหนึ่งที่ พล.ต.อ. เผ่า เป็นเจ้าของกิจการ เขาล่าว่า “คุณเผ่ารับปากกับแม่ผมว่า จะจัดการให้ ไม่นานผมก็ได้รับการปล่อยตัว ท่านก็ถามผมว่า จริงหรือเปล่าที่ไปคบค้าสมาคมกับทูตรัสเซียที่อยู่แถวเทเวศร์ ผมอึ้งไปเลยเพราะไม่เคยรู้จักอะไร…”

ต่อมา พล.ต.อ. เผ่า ชักชวน เดช บุญ-หลงให้มาทำงานด้วยกัน เสนอให้เป็นตำรวจยศร้อยตำรวจตรี เงินเดือน 800 บาท หากทำงานดีขึ้นจะให้เป็นสารวัตร ยศร้อยตำรวจเอก เงินเดือน 1,200 บาท เมื่อทราบตัวเลขเงินเดือนนั้นทำให้ เดช บุญ-หลงถึงกับ “เหี่ยว” เพราะตอนนั้นเขามีเงินเดือนอยู่กว่า 8,000 บาท แต่สุดท้าย พล.ต.อ. เผ่า ก็ให้เขาไปทำงานอยู่กรมประมวลราชการ กระทรวงมหาดไทย เป็นเลขานุการส่วนตัว เงินเดือน 2,000 บาท ทั้งนี้ เดช บุญ-หลงยังทำงานบัญชีและว่าความได้เช่นเดิม

ส่วนรูปแบบการทำงานในฐานะเลขาฯ ส่วนตัว เดช บุญ-หลงอธิบายความว่า “แล้วแต่ท่านจะสั่ง”

ศึกหนังสือพิมพ์

ด้วยความสามารถที่มีของ เดช บุญ-หลง ในด้านกฎหมายและบัญชี พล.ต.อ. เผ่า จึงมอบหมายให้เขาไปทำหน้าที่ผู้อำนวยการของหนังสือพิมพ์ของฝ่าย “ซอยราชครู” เช่น หนังสือพิมพ์ ชาวไทย, พิมพ์เช้า, บางกอกเวิลด์ 2500 รายวัน

โดยหนังสือพิมพ์ของฝ่าย “ซอยราชครู” ทำการขุดคุ้ยการทุจริตของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ขณะที่ฝ่าย “สี่เสาเทเวศร์” ของ จอมพล สฤษดิ์ ก็มีหนังสือพิมพ์ สารเสรี, ไทยรายวัน เปิดโปงเรื่องการค้าฝิ่น การค้าทองคำเถื่อน การค้าธนบัตรปลอม ของฝ่ายตรงข้าม

เดช บุญ-หลงเล่าช่วงที่เข้าไปควบคุมหนังสือพิมพ์ว่า “คุณเผ่าต้องการให้ผมมาแก้ปัญหาการขาดทุนของหนังสือพิมพ์ที่ขาดทุนเดือนละ 4 แสนบาท สมัยนั้นเขาเรียกหนังสือพิมพ์เหล่านี้แบบประชดว่า กิโลรายวัน ที่ผมรู้เรื่องดีเพราะเขามาเบิกเงินที่ผมทุกเดือน ผมเป็นคนคุมเซฟเงินคุณเผ่า ดูแลงบลับ คุมเงินงบประมาณทั้งหมด เมื่อเข้ามาดูแลผมก็บอกว่าให้เลิกทำพฤติกรรมแบบนี้ เพราะมันเทียบไม่ได้กับหนังสือพิมพ์สารเสรีและไทยรายวันของจอมพลสฤษดิ์ ที่ยุคนั้นขายดิบขายดี”

เดช บุญ-หลงพบการทุจริตในกิจการหนังสือพิมพ์ที่เขามาดูแล เขาจึงเสนอต่อ พล.ต.อ. เผ่า ให้เลิกทำหนังสือพิมพ์ แต่ผลปรากฏว่า…

“ผมถูกไล่เตะ และถูกต่อว่า กูใช้ให้มึงไปดูว่าทำอย่างไรถึงจะไม่ขาดทุน แต่มึงกลับมาบอกกูว่าให้เลิกเถอะ มึงรู้หรือเปล่าว่านี่คือนโยบายของจอมพล ป. เขา มึงดูแล้วมึงเสือกมาเสนอให้เลิกอีก ตอนนั้นท่านโกรธผมมาก ที่สุดก็ไม่ได้เลิก”

เดช บุญ-หลง
เดช บุญ-หลง (ภาพจาก ศูนย์ข้อมูลมติชน, สงวนลิขสิทธิ์ภาพ)

ทีมอัศวิน-สั่งเก็บ

เดช บุญ-หลงทำงานร่วมกับ พล.ต.อ. เผ่า อย่างใกล้ชิด จนได้รับความไว้วางใจให้ทำงานสำคัญ ๆ เขาจึงถูกจัดอยู่ใน “ทีมอัศวิน” ของ พล.ต.อ. เผ่า

ทีมอัศวิน คือ ทีมนายตำรวจหรือลูกน้องที่ทำงานให้กับ พล.ต.อ. เผ่า ทีมนี้มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่ร่ำลือมากในยุคนั้น โดย พล.ต.อ. เผ่า จะมอบ “แหวนอัศวิน” อันเป็นสัญลักษณ์ของทีมเฉพาะกิจที่เป็นคนสนิทของ พล.ต.อ. เผ่า ไว้ครอบครอง เดช บุญ-หลงก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับแหวนชนิดนี้ เขาเล่าว่า

“แหวนอัศวินนี้เป็นแหวนทองคำหนัก 2 บาท ข้างในจะสลักชื่อและลำดับไว้ด้วย ผมได้ลำดับ (เบอร์) ที่ 55 ซึ่งผมไม่รู้ว่าอัศวินของคุณเผ่ามีทั้งหมดกี่คน แต่ที่บอกได้แน่นอนว่า ตั้งแต่อยู่กับท่านมาไม่เคยได้ยินท่านสั่งฆ่าใครแม้แต่คนเดียว จะมีก็คงเป็นบางครั้งที่ทีมอัศวินของท่านมารายงานว่า ไอ้คนนั้น คนนี้ มันสมควรจะโดน ซึ่งท่านก็แค่ส่งเสียงอือ ๆ ในลำคอเท่านั้น…”

สวนส้มแคลิฟอร์เนีย

การเมืองไทยในยุคนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่า “เงิน” เป็นปัจจัยสำคัญในการเกื้อหนุนอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายจอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือ จอมพล สฤษดิ์ ทางฟาก “ซอยราชครู” เองก็มีเงินทุนอุดหนุนทำสงครามการเมืองอยู่เช่นกัน นี่จึงทำให้เกิดข้อสงสัยถึงความร่ำรวยของ พล.ต.อ. เผ่า โดยเฉพาะการมี “สวนส้ม” ขนาดใหญ่ที่แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

เดช บุญ-หลงเล่าถึงประเด็นนี้ว่า “ท่านไม่ได้ร่ำรวยอะไรเลย เพราะผมดูแลเงินทรัพย์สินท่านอยู่ถึงได้รู้ เงินทองที่เอามาบริหารในช่วงมีอำนาจก็เป็นงบฯ ของราชการ ไม่เคยมีสวนส้มที่แคลิฟอร์เนีย ตามที่กล่าวหา ขนาดโรงเรียนไผทอุดมศึกษา (ริมถนนวิภาวดีรังสิต สร้างเมื่อปี 2512) ที่ผมทำตามเจตนารมณ์ของท่านหลังเสียชีวิต ยังต้องไปค้ำประกันเงินกู้มา 9 ล้านกว่าบาทเพื่อทำโรงเรียน หากคุณเผ่ามีเงินจริง ผมจะต้องไปค้ำประกันเงินกู้ทำไม…”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งในชีวิตของ เดช บุญ-หลง ที่ชะตาพาให้เข้าไปเกี่ยวพันกับนายตำรวจแห่งยุค 2500 จาก “ซอยราชครู”

“ถือว่าผมเป็นเลขานุการของคุณเผ่าในยุคที่ท่านรุ่งเรืองมากที่สุด และผมก็อยู่กับท่านมาตลอด แม้แต่ตอนที่ท่านต้องไปอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลังการปฏิวัติ 16 กันยายน 2500 และเสียชีวิตที่นั่น… ผมเห็นว่าท่านเป็นคนที่ดี มีเมตตากรุณา แต่หลายคนอาจจะมองว่าเป็นคนโหดร้าย ความจริงคุณเผ่าเป็นคนที่มีความคิดเฉียบคม ความคิดดี แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นเวลาที่ท่านหายเมาแล้ว… เวลาที่ท่านไม่กินเหล้า ต้องยกนิ้วให้ว่าเป็นสุดยอดมนุษย์”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ทีมข่าวการเมืองมติชน. (2547). ฉะ แฉ ฉาว. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤษภาคม 2564