ยุทธวิธีทางทหารในการเมืองและเลือกตั้งสกปรก 2500 ฤาสฤษดิ์ปิดประตูตีแมว (เผ่า)?

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ พ.ศ. 2500 ที่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์

ในงานเสวนา “การเมืองเบื้องหลัง เลือกตั้ง ‘สกปรก’ 2500” วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ในช่วงที่ 2 ของการเสวนา พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ ได้อธิบายกลวิธีการโกงการเลือกตั้ง พ.ศ. 2500 ของพรรคเสรีมนังคศิลาที่มี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าพรรค โดยยกหลักฐานมาจากคำฟ้องของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมทย์ เช่นว่ามีการใช้พลร่ม-ไพ่ไฟ ใช้พวกนักเลง-อันธพาลป่วน ก่อกวน กดขี่ ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งและกรรมการหน่วยเลือกตั้ง หรือแม้แต่กรณี “ไฟดับ” ขณะนับคะแนนที่จู่ ๆ ก็มีคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นมากกว่าจำนวนผู้มาลงทะเบียนใช้สิทธิ์

อ. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดความผิดปกติในการเลือกตั้งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเขตดุสิต?

Advertisement

พลเอกบัญชร แสดงความคิดเห็นว่า เขตดุสิตคือเขตทหาร แต่ช่วงเวลานั้น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กำชับทหารว่าอย่าเข้าไปยุ่ง (เกี่ยวกับเหตุการณ์สกปรกในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น – ผู้เขียน)

พลเอกบัญชร กล่าวว่า ในการรบกับข้าศึกมียุทธวิธีหนึ่งคือ Mobile defense หรือแปลเป็นไทยว่าการตั้งรับแบบคล่องตัว คือ ขณะที่ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายตั้งรับวางกำลังรอการเข้าโจมตีของข้าศึก จะแกล้งปล่อยบางจุดให้ข้าศึกถลำลึกเข้ามาจนกระทั่งเกิดเป็น pocket หรือถุง จากนั้นฝ่ายตั้งรับก็จะโอบล้อม “ปิดปากถุง” แล้วจึงเข้าถล่มข้าศึก

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

พลเอกบัญชรแสดงทัศนะว่า จอมพลสฤษดิ์นำยุทธวิธีการทหารนี้มาปรับใช้เป็นยุทธวิธีในเกมการเมือง ในการล่อ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ที่เป็นคู่ต่อสู้ที่กำลังแข่งขันอำนาจทางการเมืองในขณะนั้นให้ถลำลึกไปให้สุดตัวแล้วจึงทำการ “ปิดปากถุง”

แต่สำหรับกรณีที่เขตทหารมีเลือกโกงการเลือกตั้งมากกว่าเขตอื่น พลเอกบัญชร ตั้งสมมติฐานว่า อาจเป็นจอมพลสฤษดิ์สั่งไม่ให้ทหารเข้าไปยุ่งเกี่ยว (จึงอาจทำให้เกิดภาวะ “สกปรก” มากกว่าเขตอื่นเพราะไม่มี “คน” มาควบคุม – ผู้เขียน) หรืออาจแอบเข้าไปทำให้เกิดเรื่องขึ้นมาก็ได้ อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้ก็ไม่มีอะไรมายืนยันว่าจอมพลสฤษดิ์ได้แอบ “ป่วน” การเลือกตั้งครั้งนี้ตามยุทธวิธี Mobile defense 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2562