“กลุ่มราชครู-กลุ่มสี่เสาเทเวศร์” 2 กลุ่มการเมืองใหญ่ยุคเผด็จการทหาร

จอมพลสฤษดิ์ กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ ผิน ชุณหะวัณ กลุ่มราชครู
(ซ้าย) จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้นำกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ (ขวา) จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ผู้นำกลุ่มราชครู

นับตั้งแต่ปี 2490 การเมืองไทยก็ตกอยู่ภายใต้คณะรัฐประหารที่กองทัพบกเป็นผู้นำ แม้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2491 และกินเวลาเกือบ 10 ปี แต่อำนาจที่แท้จริงกลับอยู่ที่ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ และจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เป็นผู้นำกลุ่มการเมืองใหญ่ 2 กลุ่ม คือ “กลุ่มราชครู” และ “กลุ่มสี่เสาเทเวศร์”

ที่มาของกลุ่มราชครูและกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร นายทหารเหล่านี้ขัดแย้งกันเรื่องผลประโยชน์ ทั้งสองกลุ่มจึงสร้างฐานอำนาจทางเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างวิสาหกิจของรัฐ สร้างบริษัทส่วนตัว และดูแลประโยชน์ให้ภาคธุรกิจของเอกชน ทำให้ภาคเอกชนต้องเลือกเข้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพื่อแลกกับการดูแลประโยชน์และโอกาสได้เปรียบทางธุรกิจของตน

ชื่อกลุ่มดังกล่าวเป็นการเรียกตามสถานที่พักของผู้นำกลุ่มทั้งสอง ดังนี้

กลุ่มราชครู เรียกตามที่อยู่ของผู้นำกลุ่มคือ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ที่ซอยราชครู ถนนพหลโยธิน นอกจากจอมพลผินก็ยังมีสมาชิกอื่น ได้แก่ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์, พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร, พลจัตวา ชาติชาย ชุณหะวัณ ฯลฯ

ส่วนธุรกิจการค้าของกลุ่มและธุรกิจที่สัมพันธ์กับกลุ่มราชครู ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ จำกัด, ธนาคารเกษตร จำกัด, บริษัท ประกันชีวิตบูรพา จำกัด, บริษัท เดินเรือไทย จำกัด, บริษัท กระสอบไทย จำกัด, บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลชลบุรี จำกัด, บริษัท ส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติ จำกัด, บริษัท ค้าไม้ทหารสามัคคี จำกัด, บริษัท กรุงเทพสหการสุรา จำกัด ฯลฯ

กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ เรียกตามที่อยู่ของผู้นำกลุ่มคือ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์ (บ้านพักรับรองของกองทัพบก) ที่ถนนศรีอยุธยา สมาชิกของกลุ่มมี พลโท ถนอม กิตติขจร, พลโท ประภาส จารุเสถียร, พลอากาศโท เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร ฯลฯ

ส่วนธุรกิจการค้าของกลุ่มและธุรกิจที่สัมพันธ์กับกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ ได้แก่ กลุ่มบริษัท “สหสามัคคี” ทั้ง 4  (บริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด, บริษัท สหสามัคคีเดินเรือ จำกัด, บริษัท สหพานิชย์สามัคคี จำกัด และบริษัท การค้าสหสามัคคี จำกัด), ธนาคารมณฑล จำกัด, บริษัท เหมืองแร่บูรพาเศรษฐกิจ จำกัด, บริษัท วิจิตรก่อสร้าง จำกัด, บริษัทบางกอกเดินเรือและการค้า จำกัด ฯลฯ

นอกจากนี้ ทั้งสองกลุ่มยังมีหนังสือพิมพ์ของกลุ่มตนเองเป็นเครื่องมือในการโจมตีฝ่ายตรงข้าม กลุ่มราชครู มีหนังสือพิมพ์เผ่าไทย และ 2500 ขุดคุ้ยการทุจริตของพลเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ขณะที่ กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ ก็มีหนังสือพิมพ์สารเสรี และไทยรายวัน เปิดโปงเรื่องการค้าฝิ่น, ค้าทองคำเถื่อน และค้าธนบัตรปลอม

ทั้งสองกลุ่มยังได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลจอมพล ป. เวลานั้น ไม่ตอบสนองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิของสหรัฐฯ รัฐบาลสหรัฐฯ จึงเลือก “เหยียบเรือสองแคม” กล่าวคือ ขณะที่องค์การประมวลข่าวกลางแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ CIA สนับสนุนกลุ่มราชครู กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาก็ให้ความช่วยเหลือกลุ่มสี่เสาเทเวศร์

จนเมื่อพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ มีข่าวพัวพันกับการค้าฝิ่น หน่วยงานของสหรัฐอเมริกาจึงหันมาสนับสนุนกลุ่มสี่เสาเทเวศร์มากขึ้น ต่อมาจอมพล สฤษดิ์ ทำรัฐประหาร (16 กันยายน 2500) จอมพล ป. ลี้ภัยออกนอกประเทศ กลุ่มราชครูเริ่มหมดอำนาจ ธุรกิจเอกชนในเครือข่ายของกลุ่มราชครูที่เคยได้อภิสิทธิ์ต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

ขณะที่ความสัมพันธ์ของกลุ่มสี่เสาเทเวศร์กับสหรัฐฯ ก็แน่นแฟ้นขึ้น ดังจะเห็นจากเมื่อจอมพล สฤษดิ์ เดินทางไปรักษาตัวที่สหรัฐฯ ในฐานะแขกส่วนตัวของประธานาธิบดี ไอเซนฮาวน์ ทั้งยังให้ความช่วยเหลือทางการเงิน, การทหาร ในการพัฒนาและปราบปรามผู้ก่อการร้ายในประเทศไทย รวมถึงการต่อต้านคอมมิวนิสต์

จนกระทั่งถึงการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ของนักศึกษาและประชาชนในเดือนตุลาคม 2516 กลุ่มสี่เสาเทเวศร์จึงหมดอำนาจไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

รวิพรรณ สาลีผล. ประวัติของเศรษฐกิจไทย ตั้งแต่ 2475, สำนักวิชาเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ธันวาคม 2555

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทย : 2475-2500, พิมพ์ครั้งที่ 3 ตุลาคม 2544, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

ดร.ธิกานต์ ศรีนารา. กลุ่มสี่เสาเทเวศร์, เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า, สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2563


เผยแพร่ในระบบออไนลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 ตุลาคม 2563