รัฐประหาร 2490 “รุ่งอรุณแห่งแสงเงินแสงทองของวันใหม่”

รัฐประหาร 2490 ปืนใหญ่ ด้านหน้า พระบรมมหาราชวัง
ภาพเหตุการณ์ รัฐประหาร พ.ศ. 2490 (ภาพจากเพจ : ห้องวิจัยประวัติศาสตร์)

รัฐประหาร 2490 เกิดขึ้นกลางดึกของวันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2490 เวลา 23.00 น. ต่อเนื่องถึงเช้าวันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2490 กลุ่มนายทหารนอกประจำการที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ, น.อ.กาจ กาจสงคราม, พ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์, พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์, พ.อ.ถนอม กิตติขจร, พ.ท.ประภาส จารุเสถียร และ ร.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นำกำลังทหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่บริหารประเทศมาได้เพียง 5 เดือน

ผิน ชุณหะวัณ
พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ให้สัมภาษณ์ ณ กองบัญชาการที่กระทรวงกลาโหม (ภาพจากเพจ : ห้องวิจัยประวัติศาสตร์)

เหตุผลที่คณะรัฐประหารนำมาอ้างได้แก่

1. ความเดือดร้อนของประชาชนจากการขาดแคลนข้าวบริโภค

2. ปัญหาเศรษฐกิจเสื่อมโทรมภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

3. การบริหารงานของรัฐบาลหย่อนสมรรถภาพ

4. กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8

5. การอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคประชาธิปัตย์

และ 6. ความไม่พอใจของกลุ่มทหารบกจากการไม่ได้รับการดูแลจากการเลิกทัพจากเชียงตุง และกรณีถูกลดบทบาทด้อยกว่าเสรีไทย

ก่อนหน้ารัฐประหาร ถึงแม้จะมีข่าวลือ แต่บุคคลสำคัญในรัฐบาลเชื่อมั่นว่ารัฐประหารเกิดขึ้นได้ยาก และพลเอก อดุล อดุลเดชจำรัส ผบ.ทบ. รับรองว่าสามารถควบคุมทหารบกได้

คณะรัฐประหารใช้กระทรวงกลาโหมเป็นกองบัญชาการ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว (ฉายาฉบับใต้ตุ่ม) และเชิญจอมพล ป.พิบูลสงคราม มาเป็น ผบ.ทหารแห่งประเทศไทย โดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เป็นรองฯ คณะรัฐประหารได้เชิญ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาล เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบกับต่างประเทศ

รัฐประหาร 2490 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขี่คอ ทหาร
จอมพล ป. พิบูลสงคราม มาถึงกองบัญชาการที่กระทรวงกลาโหม (ภาพจากเพจ : ห้องวิจัยประวัติศาสตร์)

29 มกราคม 2491 ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรตามบทเฉพาะกาล พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด นายควง อภัยวงศ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง สหรัฐอเมริกาและอังกฤษต่างรับรอง

แต่หลังจากนายควง อภัยวงศ์ บริหารประเทศมาเพียง 1 เดือน ก็ถูกคณะรัฐประหารบังคับให้ลาออก และเชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีและดำรงตำแหน่งนายกฯ ยาวนานไปอีก 10 ปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

สุชิน ตันติกุล. รัฐประหาร พ.ศ. 2490. สำนักพิมพ์มติชน, 2557

ขอบคุณภาพจากเพจ : ห้องวิจัยประวัติศาสตร์


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2562