ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เกิดเหตุสำคัญ “รัฐประหาร 2490” ที่นำโดย พลโท ผิน ชุณหวัน และพวก การรัฐประหารครั้งนั้น นอกจากจะเป็นการล้มเลิก “รัฐธรรมนูญ” เป็นครั้งแรกในไทย ยังทิ้งหลายอย่างเป็น “มรดก” จนถึงปัจจุบัน
นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2565 จึงขอนำเสนอ 6 บทความหลัก ที่เกี่ยวข้องกับรัฐประหารเมื่อ 75 ปีที่แล้ว
หนึ่งคือ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กับบทความชื่อ “รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 : ปฐมบทของการรื้อสร้างความหมายของรัฐธรรมนูญ”
ที่ว่าด้วยการเกิดความคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรในโลกการเมืองสมัยใหม่ และอิทธิพลที่ไม่ได้มีอยู่แต่เฉพาะในประเทศยุโรปและอเมริกา หากยังเป็นแรงบันดาลใจและเป็นเป้าหมายของระบบปกครองในประเทศทั่วโลก
ในประเทศไทย นับแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ บรรดานักการทูต พ่อค้า และมิชชันนารีที่เดินทางมายังเอเชียก็นำความคิดและนิสัยแบบประชาธิปไตยเข้ามาด้วย เมื่อถึงรัชกาลที่ 5 บรรดาปัญญาชนและขุนนางสยามรุ่นใหม่ที่ศึกษาและทำงานในยุโรป ที่เรียกว่า “คณะ ร.ศ. 103” ทำหนังสือกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน เป็น “คอนสติตูชาแนลโมนากี” (Constitutional Monarchy) ดังเช่นพระเจ้าแผ่นดินในยุโรป ก่อนจะตามมาด้วยคณะเก๊กเหม็ง ร.ศ. 130, คณะราษฎร ในรัชกาลต่อๆ มา
หนึ่งคือ นริศ จรัสจรรยาวงศ์ กับบทความ “ขุนพล รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ‘ผู้ถูกลืม’ พลโท สวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัย สวัสดิเกียรติ (พ.ศ. 2442-95)”
เมื่อกล่าวถึงคณะผู้ก่อการรัฐประหาร 2490 ชื่อของ พลโท สวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัยฯ อาจไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ในวงการแล้วต่างทราบดีว่า พลโท สวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัยฯ คือ 1 ใน 4 ขุนพลการรัฐประหารครั้งนี้ ที่ประกอบด้วย พันโท ก้าน จำนงภูมิเวท, พันเอก กาจ กาจสงคราม, พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก สวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัย สวัสดิเกียรติ (ยศในขณะนั้น) ทั้งสี่ปฏิบัติงานเชื่อมโยงต่อตรงเข้ากับจอมพล ป.พิบูลสงครามผ่านทหารคนสนิท พ.อ.ขุนศิลป์ศรชัย (ศิลป์ รัตนพิบูลชัย)
พลโท สวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัยฯ เจ้ากรมเกียกกายเป็นทหารประจำการคนแรกที่เข้าร่วมก่อการ การประชุมครั้งแรกของคณะรัฐประหาร 2490 ก็เกิดขึ้น ณ บ้านเขา
ที่สำคัญ บ้านของ พลโท สวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัยฯ ตามประวัติ ที่ ว.ช.ประสังสิต บันทึกไว้ว่า “…ก่อนเวลาทำรัฐประหารสักปีกว่า ข้าพเจ้าไปเยี่ยมท่านนายพันผู้นี้ที่บ้านภายในรั้ววังสมเด็จพระมาตุจฉา ตำบลปทุมวัน ได้ปรารภแก่ข้าพเจ้าว่า รัฐบาลถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ มิได้ยกย่องพระมหากษัตริย์ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจริงๆ เลย หากแต่ตั้งไว้เป็นหุ่นสำหรับลวงประชาชนเท่านั้น…”
หนึ่งคือ พันตำรวจโท สมพงษ์ แจ้งเร็ว กับบทความที่ชื่อว่า “บทบาทตำรวจสันติบาลช่วงแรกหลังรัฐประหาร 2490”
ที่เริ่มจากเหตุก่อนหน้าการรัฐประหาร ที่พันตำรวจตรี เชาว์ คล้ายสัมฤทธิ์ ผู้กำกับการตำรวจสันติบาลกอง 2 และ ร้อยตำรวจเอก เฉียบ ชัยสงค์ (ภายหลังเปลี่ยนนามสกุลเป็น “อัมพุนันทน์” ) สารวัตรกองกำกับการตำรวจสันติบาลกอง 2 ได้สืบสวนมาโดยแน่ชัดว่า ใครบ้างที่เริ่มทำการเคลื่อนไหว และรายงานผู้บังคับบัญชา
เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นจริงดัง นอกจากนายตำรวจทั้งสองข้างต้น แล้วหลวงสังวรยุทธกิจ รักษาการอธิบดีกรมตำรวจ ก็ถูกให้ “ออกจากราชการ” โดยคณะรัฐประหารให้ พลตำรวจตรี หลวงชาติตระการโกศล รับตำแหน่ง “อธิบดีกรมตำรวจ” แทน
นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งให้ พันเอก เผ่า ศรียานนท์ เป็น “พลตำรวจตรี” และให้ พลตำรวจตรี พระพินิจชนคดี (เซ่ง อินทรทูต) อดีตผู้บังคับการตำรวจนครบาล ซึ่งเคยถูกคำสั่งกระทรวงมหาดไทยให้ออกจากราชการเมื่อปี 2489 เข้ามารับราชการอีกครั้ง ในตำแหน่งประจำกองกำกับการตำรวจสันติบาลกอง 2 และก้าวหน้าจนได้เป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ
ทางคณะรัฐประหารยังได้มีการโอนนายทหารที่เข้าร่วมในการทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490 มารับราชการในกรมตำรวจอีก 3 นาย คือ พันโท ละม้าย อุทยานานนท์ ผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 1 กรมเสนาธิการทหารบก (ผู้ขับรถถังบุกทำเนียบท่าช้างในวันรัฐประหาร) โอนมารับราชการในตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจสันติบาล, ร้อยเอก ผาด ตุงคะสมิต นายทหารจากกรมรถรบ มาดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการ 4 กองตำรวจสันติบาล และรองผู้กำกับการ 3 กองตำรวจนครบาล ร้อยเอก ทม จิตรวิมล นายทหารจากกรมยานพาหนะทหารบก มาดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจสันติบาลกอง 2
รวมถึงการให้ “อำนาจ” แบบที่ไม่เคยมีมาก่อนแก่ตำรวจสันติบาลในการจัดการปัญหา อีกด้วย
หนึ่งคือ วรวุฒิ บุตรมาตร กับบทความชื่อ “รัฐธรรมนูญ 2490 รัฐธรรมนูญฉบับคณะเจ้า” ที่กล่าวถึงสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวคือการถวายอำนาจให้แก่พระมหากษัตริย์มากขึ้น ตัวอย่างหนึ่งคือ การรื้อฟื้นองค์การเมืองเก่าอย่าง “คณะอภิรัฐมนตรี” ที่สูญสิ้นไปภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กลับมา และให้ประธานคณะอภิรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ในระหว่างที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ
ปัญหาในกรณีก็คือ หากประธานคณะอภิรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องลงนามรับสนองพระบรมราชโองการซึ่งตนเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำในพระปรมาภิไธย ทำให้พระมหากษัตริย์ไม่ทรงปรึกษาหารือกับประธานวุฒิสภาหรือประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่สามารถทรงทราบได้ว่ารัฐสภาจะให้ความไว้วางใจหรือไม่
นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติให้พระมหากษัตริย์สามารถเพิกถอนรัฐมนตรีแต่ละคนหรือทั้งคณะออกจากตำแหน่งได้โดยพระบรมราชโองการ หรือให้พระองค์ทรงแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาขึ้นโดยพระองค์เองด้วย ซึ่งแสดงถึงการถวายพระราชอำนาจทางการเมืองให้กับพระมหากษัตริย์เป็นอย่างมาก
อีกหนึ่งคือ ณัฐพล ใจจริง กับบทความชื่อ “ปฐมบทการม้วนประชาธิปไตย : การรัฐประหาร 2490 กับการตั้ง ‘อีกระบบหนึ่ง’ ” ที่กล่าวถึง อีกความสำเร็จหนึ่งในหลังรัฐประหาร 2490 คือ การด้อยค่า และทำลายความชอบการปฏิวัติ 2475 ด้วยปฏิบัติการทางวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น
หนังสือ เบื้องหลังประวัติศาสตร์ เล่ม 1 (2490) ที่ ม.ร.ว เสนีย์ ปราโมช เขียนโดยใช้ในนามปากกา “แมลงหวี่” แสดงทัศนะว่า ไทยมีรัฐธรรมนูญมาแต่สมัยสุโขทัยก่อนรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 ของคณะราษฎรหลายร้อยปี นั่นก็คือหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง คำอธิบายลักษณะดังกล่าวเผยแพร่อีกครั้งในนิตยสารดุลพาหะเมื่อ 2509 ว่า
“ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย เทียบได้ไม่ต่างกับแม็กนาคาร์ตาของพระเจ้าจอห์นที่ออกมาในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ซึ่งคนอังกฤษถือกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของเขา”
แต่ตัวอย่างที่ “แนบเนียน” คงต้องยกให้นิยายเรื่องสี่แผ่นดิน ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ผู้เขียนใช้ปากของพลอย-นางเอก และตัวละครสำคัญในเรื่อง ที่ถวิลหาอดีตที่รุ่งเรืองอันแสนสงบสุขของเหล่าชนชั้นสูงที่ถูกทำลายลงจากการปฏิวัติ 2475 หลังการปฏิวัติแล้วทุกอย่างมีแต่เสื่อมลง
และสุดท้าย พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ กับบทความชื่อ “รัฐประหาร 2490 มรดกบาป” ที่เรียบเรียงให้เห็นว่ารัฐประหารครั้งนี้ มิได้เพียงแต่ทำให้ไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในยุคสงครามเย็นเท่านั้น แต่ยังได้ก่อให้เกิดบทบาทใหม่ทางด้านเศรษฐกิจของทหารไทยอีกด้วย
บรรดาสมาชิกผู้ก่อการรัฐประหารที่นอกจากจะก้าวหน้าในราชการทหารแล้ว ยังเติบโตในทางการเมืองและในรัฐวิสาหกิจต่างๆ โดยเข้าไปเป็นประธานกรรมการและคณะกรรมการ อันนำไปสู่การเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ทั้งแหล่งที่มาของทุน ตลอดจนการให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ที่มิได้เป็นเพียงเงินประจำตำแหน่งหรือเบี้ยประชุมเท่านั้น
บทบาทในรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ยังทำให้คณะรัฐประหารเริ่มรู้จักและใกล้ชิดกับนักธุรกิจอาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่คือนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนที่กำลังเสาะหา “ไม้กันสุนัข” หรือการมอบ “หุ้นลม” ซึ่งไม่ต้องจ่ายค่าหุ้นแต่อย่างใดเพื่อประกันความปลอดภัยจากการคุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อมของอำนาจรัฐ
ที่กล่าวมานี้คือบางส่วนจากเนื้อหาที่ “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤศจิกายนนี้ อยากเชิญชวนท่านผู้อ่านติดตาม เบื้องหน้า-เบื้องหลัง-เบื้องลึก ของเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อ 75 ปีก่อน
และพิศษในโอกาศขึ้นปีที่ 44 แจกฟรี “ศาสนาผี” ในไทยหลายพันปี โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ และสามารชมภาพยนต์ “รัฐประหาร 2490” โดย แท้ ประกาศวุฒิสาร ด้วยการสแกน QR CODE นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับนี้
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2565