“มรดกบาป” รัฐประหาร 2490 กับบทบาทใหม่ของทหาร

รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 จอมพล ป. พิบูลสงคราม กระทรวงกลาโหม
(ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2565)

รัฐประหาร 2490 กับบทบาทใหม่ของทหาร

หลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหารมิได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาคอมมิวนิสต์มากนัก พ.ศ. 2492 จอมพล ป. นายกรัฐมนตรีชี้แจงต่อรัฐสภาว่า คอมมิวนิสต์มิใช่สาเหตุของความวุ่นวายในขณะนั้น แต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจีนเป็นคอมมิวนิสต์เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2492 ส่งผลให้สหรัฐหวาดกลัวการขยายตัวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในเวียดนามจึงพยายามโน้มน้าวให้รัฐบาลไทยให้การรับรองรัฐบาลของเวียดนามใต้ที่มีจักรพรรดิเบาได๋เป็นผู้นำ

ในชั้นต้น จอมพล ป. เห็นด้วยกับข้อเสนอของกระทรวงการต่างประเทศให้สงวนท่าทีเพื่อมิให้เกิดปัญหาในอนาคตหากโฮจิมินห์เป็นฝ่ายชนะ แต่ในที่สุดจากการโน้มน้าวของสหรัฐอเมริกาและข้อเสนอการให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ คิดเป็นมูลค่ามหาศาล จอมพล ป. จึงเปลี่ยนนโยบายอย่างกะทันหันประกาศรับรองรัฐบาลเบาได๋ เป็นผลให้ นายพจน์ สารสิน ซึ่งยืนยันตามข้อเสนอเดิมลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทันที จากนั้นเป็นต้นมา ไทยก็เข้าเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายโลกเสรีที่มีสหรัฐเป็นผู้นำ

รัฐประหารครั้งนี้ มิได้เพียงแต่ทำให้ไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในยุคสงครามเย็นเท่านั้น แต่ยังได้ก่อให้เกิดบทบาทใหม่ทางด้านเศรษฐกิจของทหารไทยอีกด้วย

ภาพเหตุการณ์รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 จอมพล ป. พิบูลสงคราม กองบัญชาการคณะรัฐประหาร กระทรวงกลาโหม
ภาพเหตุการณ์รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 เมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มาถึงกองบัญชาการคณะรัฐประหารที่กระทรวงกลาโหม (ภาพจากเพจ : ห้องวิจัยประวัติศาสตร์)

คนจีนกับ จอมพล ป.

คนจีนเริ่มมีบทบาททางธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญมาตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยการเข้าเกาะเกี่ยวกับกลุ่มผู้มีอำนาจในการปกครองสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนกระทั่งกลายเป็นกลุ่มอิทธิพลแอบแฝงที่ทรงพลังทางด้านเศรษฐกิจของสยามในที่สุด

การเติบโตของกลุ่มนักธุรกิจจีนเหล่านี้กลายเป็นที่หวาดระแวงและนำไปสู่มาตรการต่อต้านกีดกันต่างๆ จากอำนาจรัฐ ซึ่งเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 นโยบายที่มีลักษณะประชาธิปไตยของคณะราษฎรทำให้การกีดกันคนจีนลดน้อยลง แต่ต่อมาเมื่อ จอมพล ป. ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2481 นโยบายกีดกันคนจีนก็ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้อีกครั้งหนึ่งและเข้มข้นขึ้นเมื่อรัฐบาลตัดสินใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา และเป็นไปเช่นนี้ตลอดสมัยรัฐบาล จอมพล ป. ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2487

สวามิภักดิ์ขุนนางและเจ้านาย

มาตรการกีดกันคนจีนที่ดำเนินการติดต่อมาตั้งแต่ครั้งกลางยุครัตนโกสินทร์นั้น เกิดขึ้นระหว่างเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระบบผูกขาด แต่การแก้ปัญหาอย่างชาญฉลาดของนักธุรกิจจีนด้วยการเสนอตัวเข้าสวามิภักดิ์ต่อขุนนางและเจ้านาย ทำให้กลุ่มทุนจีนสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้การเข้าหากลุ่มผู้มีอำนาจจำเป็นต้องมี “ทุนที่ต้องจ่าย” แต่ก็เป็นธรรมเนียมปกติทางธุรกิจของคนจีน กลุ่มทุนจีนจึงยังคงเติบโตต่อไป แม้จะเกิดภาวะขลุกขลักอยู่บ้างในยุคที่ จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกและช่วงที่กองทัพญี่ปุ่นยึดครองประเทศไทย แต่ก็กินเวลาไม่นานนัก

นักธุรกิจไทยเชื้อสายจีน

มาตรการกีดกันคนจีนหวนกลับมาอีกครั้งหลังการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ของ จอมพล ป. หลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

เริ่มแรกทีเดียว เมื่อขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อต้นปี พ.ศ. 2491 นั้น จอมพล ป. ระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งโดยไม่แตะต้องคนจีนในไทย เนื่องจากสาธารณรัฐจีนก๊กมินตั๋งของ จอมพล เจียงไคเช็ค เป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงคราม รวมทั้งยังไม่เห็นความสำคัญของอันตรายจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งประธานเหมาเจ๋อตงประสบความสำเร็จยึดแผ่นดินจีนแล้วเปลี่ยนเป็น “สาธารณรัฐประชาชนจีน”เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2492 จึงนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญต่อนโยบายของสหรัฐและผลักดันให้ไทยต้องเข้าร่วมกับฝ่ายโลกเสรีในที่สุดดังกล่าว

ทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกหลังสงครามและการช่วยเหลือที่ไม่จำกัดเฉพาะทางด้านการทหารเท่านั้นจากสหรัฐ ทำให้เศรษฐกิจทุนนิยมของไทยในยุคทศวรรษ 2490 เติบโตอย่างก้าวกระโดด สหรัฐวางตำแหน่งไทยให้เป็นทั้งฐานด้านวัตถุดิบและตลาดของญี่ปุ่นเพื่อการฟื้นตัวของญี่ปุ่น ท่ามกลางการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในสถานการณ์เช่นนี้ นักธุรกิจไทยซึ่งถึงยุคนี้อาจเรียกเสียใหม่ว่า “นักธุรกิจไทยเชื้อสายจีน” จึงมีความหวังเต็มเปี่ยมกับอนาคตอันสดใสทางธุรกิจของตนและอาจหมายรวมถึงประเทศไทยที่อยู่อาศัย

“ไม้กันสุนัข”

นักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนเริ่มรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนหลังอิทธิพลของสหรัฐอเมริกามีน้ำหนักมากขึ้นต่อการกำหนดนโยบายของไทย บรรยากาศแห่งการกดดันและกีดกันนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนหวนกลับมาอีกครั้งหนึ่งเมื่อรัฐบาลของ จอมพล ป. ต้องการแสดงให้มหามิตรผู้นำแห่งโลกเสรีสหรัฐได้เชื่อถือว่า รัฐบาลไทยรังเกียจฝ่ายคอมมิวนิสต์อย่างจริงจังโดยถือเป็นศัตรูอันดับหนึ่งของประเทศ ทำให้คนจีนและคนไทยเชื้อสายจีนในไทยต้องตกอยู่ในฐานะที่ต้องถูกจับตาดูอย่างใกล้ชิดจากรัฐบาล

รัฐบาล จอมพล ป. ในยุคต่อต้านคอมมิวนิสต์ กำหนดความหมายของศัตรูของชาติด้วยตรรกะง่ายๆ คือเมื่อจีนแผนดินใหญ่เป็นคอมมิวนิสต์ ก็ต้องถือว่าคนจีนเป็นคอมมิวนิสต์ แม้จะมีข้อยกเว้นให้กับไต้หวัน แต่นั่นก็มาจากการกำหนดของสหรัฐ

การกำหนดศัตรูของชาติด้วยตรรกะง่ายๆ เช่นนี้ ยังนำมาใช้กับประชาชนชาวไทยทั่วไปอีกด้วย ใครที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยเฉพาะผู้ที่กล่าวหาว่ารัฐบาลเป็นเผด็จการ คนนั้นเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นศัตรูของชาติ ตรรกะนี้จะมีผลอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทย

นักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนจึงจำเป็นต้องแสวงหาหนทางเพื่อความอยู่รอด และด้วยประสบการณ์ที่ถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น พวกเขาจึงหันกลับไปหามาตรการ “ไม้กันสุนัข” อีกครั้งหนึ่ง

อำนาจกับเงินตรา

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 คณะทหารต่างเข้าไปมีบทบาททางการเมืองในทุกกระทรวง มีการกำหนดนโยบายสร้างวิสาหกิจของรัฐขึ้นมาเป็นจำนวนมากเพื่อให้ผลประโยชน์ไม่ตกอยู่ในกำมือของธุรกิจต่างชาติดังเช่นที่ผ่านมา ผลการประกอบการอาจไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ แต่ก็ไม่ปรากฏข่าวเรื่องของการแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบมากนัก อาจเป็นเพราะอุดมการณ์ยังคงเหนียวแน่น หรือยังขาดประสบการณ์ และงบประมาณก็มีอยู่อย่างจำกัดตามฐานะของประเทศที่ยังไม่เข้าสู่ระบบทุนนิยมอย่างเต็มที่ในขณะนั้นก็ตาม

แต่พลันที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงและเมื่อไทยตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายโลกเสรีอย่างเต็มที่ การขยายตัวในระบบทุนนิยมของไทยก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด

Power Corrupts…

เมื่ออำนาจรัฐอยู่ในกำมือ ประกอบกับการมีบทบาทเดิมในการก่อตั้งและบริหารรัฐวิสาหกิจมาก่อน ทำให้บรรดาสมาชิกผู้ก่อการรัฐประหารที่นอกจากจะมีตำแหน่งทางการทหารซึ่งเติบโตขึ้นและเข้าไปมีตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ยังเข้าไปมีบทบาทในรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่แต่เดิมและที่จัดตั้งขึ้นใหม่แล้วเข้าไปเป็นประธานกรรมการและคณะกรรมการ อันนำไปสู่การเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ทั้งแหล่งที่มาของทุนและการให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ที่มิได้เป็นเพียงเงินประจำตำแหน่งหรือเบี้ยประชุมเท่านั้น

นอกจากนั้น บทบาทในรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ยังทำให้คณะรัฐประหารเริ่มรู้จักและใกล้ชิดกับนักธุรกิจอาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่คือนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนที่กำลังเสาะหา “ไม้กันสุนัข” จากนโยบายของ จอมพล ป. ที่ไม่เป็นมิตรกับนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนเหล่านี้นัก

จอมพล ป. พิบูลสงคราม พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์
จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ (ภาพจาก คุณประวิทย์ สังข์มี)

หุ้นลม

การกดดันนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนตามนโยบายของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีกลไกฝ่ายตำรวจที่อยู่ภายใต้อธิบดีกรมตำรวจ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งเป็นที่หวาดกลัวในสังคมไทยยุคนั้นถึงกับมีการขนานนามว่า “รัฐตำรวจ”

การเสาะหา “ไม้กันสุนัข” เพื่อประกันความปลอดภัยจากการคุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อมของอำนาจรัฐ จึงเริ่มจากการเข้าหาฝ่ายตำรวจ ด้วยการเชื้อเชิญอย่างนอบน้อม วาจาอ่อนหวานยกย่อง ขอความกรุณาให้เกียรติไปเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการ โดยจะมอบ “หุ้นลม” ซึ่งไม่ต้องจ่ายค่าหุ้นแต่อย่างใดให้ถือเพื่อเป็นเกียรติ ขอภาพถ่ายในเครื่องแบบเต็มยศเพื่อประดับเป็นเกียรติในสำนักงาน ฯลฯ ซึ่งมักได้รับการตอบรับด้วยความยินดี

หลังประสบความสำเร็จต่อฝ่ายตำรวจ วิธีการนี้จึงเริ่มแพร่หลายไปสู่ฝ่ายทหารในที่สุด ความสัมพันธ์ใกล้ชิดต่อกลุ่มนักธุรกิจมืออาชีพเหล่านี้ ทำให้สมาชิกผู้ก่อการรัฐประหารหลายคนเริ่มเรียนรู้และมีประสบการณ์ทางธุรกิจอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งมองเห็นช่องทางในการสร้างและขยายฐานในทางเศรษฐกิจของตนเองขึ้น โดยไม่ต้องหวังพึ่งแต่เพียงหุ้นลม หรือค่าตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ จากนักธุรกิจ จึงเริ่มก่อตั้งบริษัทของตนเองขึ้นเพื่อให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ผลประโยชน์และความแตกแยก

ผลประโยชน์จากธุรกิจการค้าที่มีมูลค่ามากมายมหาศาลขึ้นตามลำดับ รวมทั้งเป้าหมายทางการเมืองทำให้สมาชิกผู้ก่อการรัฐประหารค่อยๆ แยกตัวออกไปเป็น 2 กลุ่มขนาดใหญ่ กลุ่มหนึ่งมี จอมพล สฤษดิ์ เป็นผู้นำเรียกกันว่า “กลุ่มสี่เสาเทเวศร์” และอีกกลุ่มหนึ่งมี จอมพล ผิน และ พลตำรวจเอก เผ่าเป็นผู้นำเรียกกันว่า “กลุ่มซอยราชครู”

จอมพล ผิน ชุณหะวัณ
จอมพล ผิน ชุณหะวัณ

ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ คริส เบเคอร์ สรุปภาพไว้ในเศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ ไว้ดังนี้

ผู้นำคณะรัฐประหารหาประโยชน์จากการใช้จ่ายของรัฐบาลโดยรับเงินค่าคอมมิสชั่นในการก่อสร้าง การหากำไรจากการจัดหาสิ่งของให้รัฐบาลหรือการใช้จ่ายในรูปแบบอื่นๆ ต้นทศวรรษ 2490 จอมพล สฤษดิ์เข้าควบคุมสำนักงานสลากกินแบ่งและผันเงินรายได้มาใช้ในกิจกรรมทางการเมืองและเป็นทรัพย์สินส่วนตัว พลตำรวจเอก เผ่าใช้องค์การทหารผ่านศึกก่อตั้งบริษัทเพื่อขายอาวุธแก่กรมตำรวจ ขายสินค้าก่อสร้างแก่กรมทางหลวง และสั่งสินค้านำเข้าแก่ร้านสหกรณ์ของกรมตำรวจ

จอมพล สฤษดิ์ก่อตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศเพื่อสั่งสินค้าประเภทต่างๆ แก่ทางราชการ และรัฐวิสาหกิจในความควบคุม เช่น อุปกรณ์ต่างๆ สำหรับสำนักงานสลากกินแบ่ง นำเข้ารถไฟสำหรับการรถไฟแห่งประเทศไทย เรือชนิดต่างๆ สำหรับการท่าเรือแห่งประเทศไทย แท่นพิมพ์ธนบัตรสำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย อุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับกรมป่าไม้ และที่โรงงานยาสูบต้องการ

การก่อตั้งบริษัทเหล่านี้ จอมพล สฤษดิ์และผู้ถือหุ้นไม่ต้องลงทุนเอง แต่ใช้วิธีกู้ยืมจากธนาคารซึ่งกลุ่มตนควบคุมอยู่ นอกจากนั้น จอมพล สฤษดิ์ยังใช้วิธีการเดียวกันนี้ก่อตั้งบริษัทประกันภัย ซึ่งมีกิจกรรมหลักคือการประกันทรัพย์สินของรัฐบาล

แหล่งรายได้ที่สําคัญที่สุดของบรรดาคณะรัฐประหารก็คือการรับเหมาก่อสร้างแก่รัฐบาล เนื่องจากเป็นช่วงที่สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญและทุ่มเทความช่วยเหลือในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อเป็นฐานสนับสนุนสงครามในอินโดจีน จอมพล สฤษดิ์ และ พลตำรวจเอก เผ่า ซึ่งล้วนมีประสบการณ์ทางธุรกิจการค้าอย่างเต็มที่แล้ว ต่างมีบริษัทก่อสร้างของตนเอง จอมพล สฤษดิ์ก่อตั้งบริษัท วิจิตราก่อสร้าง ซึ่งใช้ชื่อภรรยาโดยไม่เกรงข้อครหาเพื่อรับเหมางานจากกองสลากกินแบ่งและกองทัพบกที่ตนมีอิทธิพลอยู่ พลตำรวจเอก เผ่าก่อตั้งบริษัท สามัคคีก่อสร้าง จำกัด เพื่อรับงานก่อสร้างจากกรมตำรวจ

บริษัทที่ผู้มีอำนาจทั้งสองก่อตั้งขึ้นเหล่านี้ ไม่ได้เป็นบริษัทก่อสร้างจริงที่มีบุคลากรและเครื่องมือก่อสร้างเป็นของบริษัทแม้แต่ชิ้นเดียว เพราะมีหน้าที่เพียงรับค่าคอมมิสชั่นแล้วส่งงานให้บริษัทอื่นทำ

ครั้นถึงกลางทศวรรษ 2490 ผู้นำคณะรัฐประหารได้เข้าไปมีบทบาทในธุรกิจเอกชนและการขยายตัวของทุนนิยมในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง พลตำรวจเอก เผ่าเป็นกรรมการบริษัท 26 แห่ง ทั้งธนาคาร บริษัทภาพยนตร์ โรงแรม โรงงานน้ำตาล ธุรกิจการนำเข้าและส่งออก และธุรกิจเครื่องจักรกล ขณะที่ จอมพล สฤษดิ์เป็นกรรมการ 22 บริษัท

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ภาพจาก คุณประวิทย์ สังข์มี)

มรดกจากคณะรัฐประหาร

หลังอสัญกรรมของ จอมพล สฤษดิ์เมื่อปลาย พ.ศ. 2506 แต่บทบาททางธุรกิจของคณะทหารก็ยังคงดำรงอยู่ กลุ่มนายทหารที่สืบทอดอำนาจจาก จอมพล สฤษดิ์ยังคงขยายขอบข่ายผลประโยชน์ของตนไปในทำนองเดียวกันอย่างกว้างขวาง

พ.ศ. 2512 จอมพล ประภาสเป็นกรรมการบริษัทธุรกิจ 44 แห่ง พลเอก กฤษณ์ สีวะรา 50 แห่ง และอธิบดีกรมตำรวจ พลตำรวจเอก ประเสริฐ รุจิรวงศ์ 33 แห่ง

ลู่ทางใหม่ๆ ที่นายทหารสมัยนั้นแสวงหารายได้ก็คือจากงบประมาณของทหารเอง กองทัพเป็นแหล่งของงานรับเหมาและการจัดซื้อสินค้าวัสดุต่างๆ ที่มีมูลค่ามหาศาล แม้อาวุธยุทโธปกรณ์ส่วนใหญ่เป็นความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา แต่กองทัพก็มีงบประมาณเพื่อใช้จ่ายจัดซื้อจัดจ้างของตนเอง การซื้ออาวุธนั้นเชื่อกันว่ามีการให้คอมมิสชั่นถึงระดับร้อยละ 10 ของมูลค่าการซื้อ นอกจากนั้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐ กองทัพบกไทยก็ต้องการมีสิทธิ์ในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายเอง เมื่อ USAID ของสหรัฐพยายามที่จะเป็นผู้ดูแลการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการช่วยเหลือระดับหมู่บ้านที่เกี่ยวโยงกับแผนการต่อต้านผู้ก่อการร้าย ฝ่ายกองทัพบกไทยก็คัดค้านและขอเป็นผู้จัดซื้อจัดจ้างโดยตรง

นอกจากนั้น ระหว่าง พ.ศ. 2508-15 ทหารอเมริกันทั้งในประเทศไทยและจากเวียดนามที่ลาพักผ่อนภายใต้โครงการ R&R ซึ่งกองทัพสหรัฐจัดสรรค่าใช้จ่ายคิดเป็นมูลค่าประมาณ 111 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การเจรจาเพื่อโครงการ R&R ในประเทศไทย ดำเนินการโดยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพอากาศผู้หนึ่งซึ่งตั้งบริษัททัวร์ของตนเองขึ้นเพื่อจัดการเรื่องการเดินทาง ที่พัก รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเงินของทหารอเมริกันเหล่านั้น นอกจากนั้น การขนส่งสัมภาระทางการทหารของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยก็อยู่ในความดูแลของบริษัท ซึ่งมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นคนสนิทคนหนึ่งของ จอมพล สฤษดิ์เป็นประธานกรรมการเช่นเดียวกัน

ทั้งหมดนี้คือมรดกจากการรัฐประหาร 8 พฤจิกายน 2490 ซึ่งเป็นที่มาของข้อครหานายพลไทยกับธุรกิจที่ยังคงเป็นข้อสงสัยของสังคมไทย โดยเฉพาะทุกครั้งที่มีรายการจัดซื้ออาวุธขนาดใหญ่.

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดจาก “รัฐประหาร ๒๔๙๐ มรดกบาป” เขียนโดย พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2565 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 พฤษภาคม 2566