สาเหตุ “รัฐประหาร 2490” จากปัญหานานัปการหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ

รัฐประหาร พ.ศ. 2490
ภาพเหตุการณ์ รัฐประหาร พ.ศ. 2490 (ภาพจากเพจ : ห้องวิจัยประวัติศาสตร์ ได้รับอนุญาตให้ใช้งานแล้ว)

สาเหตุ รัฐประหาร 2490 จากปัญหานานัปการหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ

เมื่อเกิดการรัฐประหารในประเทศไทย มักมีการยก “เหตุผล” ขึ้นมาสนับสนุนการกระทำ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับคณะรัฐประหารในแทบทุกครั้ง เหตุผลที่ยกขึ้นมานั้นล้วนมีสาเหตุจากผลปฏิบัติของรัฐบาลที่ไม่สามารถดำรงไว้ซึ่งความเข็มแข็งของประเทศหลายด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

“รัฐประหาร 2490” เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ก็เป็นรัฐประหารครั้งสำคัญครั้งหนึ่งที่ได้ยกเหตุผลแห่งการรัฐประหาร ดังคำแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ความบางตอนว่า “…ภาวะการณ์ของชาติไทยเท่าที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ คณะรัฐบาลปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี จึงเป็นเหตุให้พี่น้องทั้งหลายได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัาดังที่ผจญในเวลานี้… เช่น ไม่สามารถแก้ไขในเรื่องภาระการครองชีพของประชาชนโดยเฉพาะเรื่องข้าว มิหนำซ้ำยังปล่อยให้เกิดทุจริตเรื่องนี้ และเรื่องอื่น ๆ อย่างขนาดใหญ่…”

ในประกาศฉบับดังกล่าวยังมีการระบุถึงการคอร์รัปชันของนักการเมืองเพื่อตักตวงผลประโยชน์เขาตนเองอันเป็นอีกเหตุผลสำคัญประการหนึ่ง และในคำแถลงการณ์ฉบับต่อ ๆ มาก็มีการยกเหตุผลที่ชี้ให้เห็นเพิ่มเติมถึงความจำเป็นของคณะรัฐประหาร 2490 ซึ่ง “…จำใจต้องกระทำการยึดอำนาจ…” ซึ่งพอสรุปสาเหตุได้ดังนี้

ภาวะข้าวยากหมากแพง

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนข้าว เนื่องจากปัญหาหลายประการ เช่น ถูกญี่ปุ่นบังคับซื้อข้าว, อุทกภัย พ.ศ. 2485, จำนวนประชากรในประเทศเพิ่มสูงขึ้น, การลักลอบขายข้าว และการส่งข้าวให้อังกฤษตามสัญญา “ความตกลงสมบูรณ์แบบ” ดังนั้นทำให้ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2480-2490 ประเทศไทยจึงเผชิญปัญหาขาดแคลนข้าวและราคาข้าวแพงมาโดยตลอด

ปัญหานี้มีมาเรื้อรังจนถึงสมัยรัฐบาล ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เกิดปัญหาข้าวขาดแคลนจนต้องใช้บัตรปันส่วนซื้อข้าวในเขตพระนครธนบุรี, จังหวัดระนองขาดแคลนข้าวอย่างหนัก ต้องซื้อข้าวจากจังหวัดใกล้เคียงช่วยเหลือ, มีการลักลอบนำข้าวในประเทศออกไปขายต่างประเทศ เนื่องจากได้ราคาสูงกว่า ฯลฯ ขณะที่จอมพล ผิน ชุณหะวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหาร 2490 สะท้อนปัญหาเรื่องข้าว ความว่า “เมืองเราเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวแท้ ๆ แต่ต้องเข้าคิวซื้อข้าวกิน และข้าวที่ได้มานั้นก็มีคุณภาพเลวที่สุด”

ร.ต.อ. เฉียบ ชัยสงค์ นายตำรวจสันติบาล บันทึกสภาพช่วงเวลานั้นไว้ว่า “…ข้าวสารที่ตกถึงมือราษฎรเพื่อการบริโภคก็กลายเป็นข้าวสารชนิดเลวเป็นข้าวเหม็นสาบหรือไม่ก็เป็นข้าวที่แหลกหาชิ้นดีมิได้ ไม่ผิดอะไรกับต้มให้หมูกิน ราษฎรก็แช่งชักหักกระดูกรัฐบาลอย่างอึงมีว่าคนไทยปลูกข้าวเองแต่ต้องมากินข้าวที่มีคุณภาพเลวเช่นนี้ ซ้ำก็หาซื้อยากเสียอีกด้วย”

นอกจากปัญหาเรื่องข้าวแล้ว สินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ก็มีราคาสูง ทำให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น สภาพเศรษฐกิจไม่มั่นคง เกิดภาวะเงินเฟ้อและค่าของเงินตกต่ำ รวมถึงปัญหาขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ สภาพการเงินและการคลังของประเทศก็มีปัญหา ซึ่งล้วนเป็นผลมาจากภาวะสงครามโลก

ความไม่สงบและจลาจล

แม้สงครามจะสิ้นสุดลง แต่ความไม่สงบยังเกิดขึ้นโดยทั่ว เกิด “เสือ” เข้าปล้นสะดมในภาคกลาง แถบจังหวัดราชบุรี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี จนเป็นที่เล่าขานจนเป็นตำนานอย่าง เสือดำ เสือฝ้าย เสือใบ เสือมเหศวร เป็นต้น ในขณะที่ภาคใต้ก็เผชิญกับโจรสลัด นอกจากนี้ยังพบว่าทหารบางนายที่กลับไปเยี่ยมบ้าน มักจะลอบเข้าปล้นสะดมชาวบ้านเพราะปัญหาค่าครองชีพสูง ทหารนอกประจำการก็กระทำเช่นกัน ซึ่งผู้บังคับบัญชาไม่สามารถเอาผิดวินัยทหารได้ ส่วนชาวจีนก็มักก็ความวุ่นวายในย่านเยาวราช บ้างก็วิวาทกันเองเนื่องจากสนับสนุนจีนคนละฝ่ายในสงครามกลางเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ในประเทศจีน

จอมพล ผิน บรรยายถึงสภาพกรุงเทพฯ ในเวลานั้นว่า “…ชาวจีนก่อการวิวาทตำรวจต้องปราบปราม เราได้ยินแต่เสียงปืนไม่เว้นแต่ละวัน… ประชาชนในพระนครเกิดอลเวงคล้ายบ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแป ตามร้านขายอาหารขายกาแฟและโรงมหรสพกล่าวติเตียนรัฐบาลแซ่ไปหมดเหลือที่จะฟังได้…”

ความอ่อนแอของรัฐบาล

นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด รัฐบาลที่ขึ้นมาปกครองประเทศล้วนแต่มีอายุสั้นเพียงไม่กี่เดือน ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการบริหารและฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม ซ้ำยังต้องเผชิญกับปัญหาคอร์รัปชันอย่างกว้างขวาง

วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 ได้จัดการประชุมพิเศษที่ทำเนียท่าช้างของ ปรีดี พนมยงค์ มีเป้าหมายเพื่อแก้การหย่อนประสิทธิภาพของรัฐบาลในการบริหารประเทศ พลเอก อดุล อุลเดชจรัส ผู้บัญชาการทหารบก โต้เถียงกับถวัลย์ผู้เป็นนายกรัฐมนตรี ในประเด็นว่า รัฐบาลเคยแถลงว่าจะปราบการทุจริต แต่ “…ดูเสมือนว่าคณะรัฐบาลจะปล่อยปละละเลย ทำให้เข้าใจว่า ถ้าไม่เกิดจากความอ่อนแอไร้สมรรถภาพ ก็รู้เห็นเป็นใจในการกระทำเช่นนั้นด้วย”

น้อย อินทนนท์ วิจารณ์รัฐบาลลงหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ไม่กี่วันก่อนเกิดรัฐประหารว่า “…ปัญหาภายใน 2 ประการ ข้าวซึ่งเป็นอาหารประจำวันและข้าราชการทุกจริตอันเป็นโรคประจำชาติหลังสงคราม… ถ้าท่าน [ถวัลย์] มีเข่าและหลังที่แข็งพอเพราะความเด็ดขาดเป็นยาขนานเดียวที่จะรักษาโรคทั้ง 2 นั้นได้ และเพราะความใจอ่อน เข่าอ่อน เป็นโรคประจำตัวที่นายถวัลย์ ผู้กลัวคนจะเกลียดเพื่อนจะชังไปเสียทั้งนั้นรักษาไม่หายเหมือนกัน ปัญหาที่ควรจะบรรลุล่วงไปนานแล้วจึงยังคาราคาซังมาจนบัดนี้…”

กรณีสวรรคต

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคตในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 รัฐบาลของปรีดี และกรมตำรวจได้ทำการสืบสวนและออกแถลงการณ์ 2 ฉบับ ลงวันที่ 10 และ 11 มิถุนายน สรุปว่า รัชกาลที่ 8 สวรรคตโดยอุปัทวเหตุ สอดคล้องกับแถลงการณ์สำนักพระราชวัง ลงวันที่ 9 มิถุนายน ที่ระบุถึงสาเหตุการเสด็จสวรรคต ตามความว่า “…ได้ความสันนิษฐานว่า คงจะทรงจับคลำพระแสงปืนตามพระราชอัธยาศัยที่ทรงชอบแล้วเกิดอุปัทวเหตุขึ้น”

แต่คำแถลงการณ์ไม่อาจลดกระแสสังคมลงไปได้ แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน และปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่อาจหาข้อสรุปกรณีนี้เพื่อชี้แจงต่อสาธารณชนได้ มิหนำซ้ำ ประเด็นนี้ยังถูกนำมาอภิปรายโดยพรรคประชาธิปัตย์ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลถวัลย์ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2490 ซึ่งรัฐบาลถูกโจมจตีอย่างหนัก ทำให้เกิดแรงสั่นคลอนเสถียรภาพและความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล

กรณีสวรรคตนั้นยังเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ขณะนั้นมียศเป็น พลเอก เป็นผู้บัญชาการกรมทหารราบที่ 1) ตัดสินใจเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร 2490 ดังความว่า “ทหารบกถูกเหยียบเกียรติมาก เสรีไทยสั่งปลด ร้ายที่สุดในขณะที่ในหลวงสวรรคต ผมเป็นผู้บังคับบัญชากรม ร.1 รักษาพระองค์ทหารองครักษ์ แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าวังหลวงได้”

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อธิบายว่า “…เหตุการณ์ดังกล่าวได้กลายเป็นเครื่องมืออันดียิ่งสำหรับฝ่ายประชาธิปัตย์ที่จะนำมาใช้ในการเคลื่อนไหวต่อต้าน และโจมตีปรีดี พนมยงค์ และส่งผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อมา… กรณีสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลยังคงตกต่ำ…”

อภิปรายไม่ไว้วางใจ

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2490 พรรคประชาธิปัตย์เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล มีญัตติ 8 ข้อคือ

1. ไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยภายในตามนโยบายที่แถลงไว้

2. ไม่สามารถรักษานโยบายการเงินของชาติไว้ในทางมั่นคง ทำให้ฐานะการคลังล้มเหลวลงทุกทาง

3. ในทางเศรษฐกิจ ได้ดำเนินการทางเศรษฐกิจผิดพลาด ไม่เหมาะสมแก่ภาวะการณ์ปัจจุบัน เป็นเหตุให้ประชาชนเดือดร้อนในการครองชีพ

4. การต่างประเทศ ไม่อาจสร้างความเชื่อถือกับนานาประเทศตามนโยบายที่แถลงไว้

5. ใช้อำนาจทางการเมืองแทรกแซงในราชการประจำ ทำให้เกิดผลเสียหายแก่ราชการแผ่นดิน

6. ไม่สามารถรักษาฐานะของข้าราชการให้อยู่ในระดับที่สมควรทำให้ข้าราชการขาดกำลังใจที่จะปฏิบัติราชการ

7. ทางการศึกษาของชาติ รัฐบาลนี้ก็ไม่ได้ปรับปรุงและดำเนินการตามนโยบายที่แถลงไว้

8. ไม่สามารถค้นหาข้อเท็จจริงแถลงต่อประชาชนให้ทราบว่าในหลวงรัชกาลที่ 8 สวรรคตเพราะเหตุใด

การอภิปรายมีตั้งแต่วันที่ 19-27 พฤษภาคม ปรากฏว่ารัฐบาลชนะการลงมติไม่ไว้วางใจมาด้วยคะแนน 86 ต่อ 55

กระนั้นก็ตาม การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลมีผลให้ประชาชนและสื่อหนังสือพิมพ์ได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างกว้างขวาง สุชิน ตันติกุล อธิบายว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในครั้งนี้ เสมือนเป็นการรัฐประหารทางรัฐสภา ซึ่งจะเปิดทางให้คณะรัฐประหาร 2490 ในเวลาต่อมา

ความไม่พอใจของทหารบก

ประการสำคัญของสาเหตุที่นำไปสู่รัฐประหารคือ ความไม่พอใจหลาย ๆ ประการของทหารบก ซึ่งทั้งสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และสุชิน ตันติกุล ต่างก็ชี้ให้เห็นถึงสถานภาพของทหารไทย โดยเฉพาะในส่วนของกองทัพบกที่ถูกลดบทบาทหลังสงครามสิ้นสุดลงไปมาก ประกอบกับการถูกเหยียดหยาม และปัญหาข้างต้นประกอบ จึงเป็นเชื้อไฟอย่างดีที่ทำให้ทหารกลุ่มนี้ตัดสินใจกระทำรัฐประหาร 2490

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่ง “กองทัพพายัพ” ไปยึดดินแดนที่เรียกว่า “สหรัฐไทยเดิม” แถบเมืองเชียงตุงในพม่า ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่เมื่อสงครามสิ้นสุด ไทยจำต้องคืนดินแดนเหล่านั้นให้อังกฤษ ทหารไทยจึงต้องถอดตัวออกจากดินแดนที่ยึดครอง ปรากฏว่าการถอนกำลังของทหารไทยเป็นไปอย่างยากลำบาก ขาดพาหนะรับ-ส่งทหาร ซ้ำถูกอังกฤษกดดันให้ส่งทหารเชลยญี่ปุ่นลงมาก่อน ทหารบางส่วนจึงตกค้างอยู่ที่นั่น บางส่วนถึงกับต้องเดินทางกลับด้วยตนเองอย่างทุลักทุเล

ทหารที่กลับจากการรบซึ่งต้องเสี่ยงชีวิต และเผชิญกับความลำบากตรากตรำอยู่ในภาวะตึงเครียด เมื่อเสร็จสงครามแทนที่จะได้รับการต้อนรับ บำรุงขวัญจากทางราชการและประชาชนต้องมาพบกับความเหนื่อยยากลำบากในการเดินทางกลับ ทำให้ได้รับความกระทบกระเทือนทั้งร่างกายและจิตใจ (สุชิน ตันติกุล, 2557)

นอกจากนี้ ยังมีกระแสความนิยม “เสรีไทย” ที่ได้กลายเป็น “ฮีโร่” สงครามไปในช่วงระยะเวลาไม่นานก่อนสงครามจะยุติ ส่วนทหารไทยกลับถูกเหยียดหยาม ยิ่งมีการเดินสวนสนามของเสรีไทยยิ่งทำให้ทหารไทยถูกลดความสำคัญลง ดังบันทึกของพลโทประยูร ภมรมนตรี ว่า “สร้างความชอกช้ำขมขื่นแก่มวลทหารทั่วทั้งกองทัพอย่างยิ่ง”

พลโทกาจ กาจสงคราม ว่า “บางคนสดุดีเสรีไทยในหนังสือพิมพ์แล้วก็ยังไม่พอ ได้เหยียดหยามกองทัพบกว่าตั้งมาได้ถึง 50 ปีแล้ว ทำประโยชน์ได้ไม่เท่าเสรีไทยที่ตั้งมาเพียงสองปี…” ขณะที่พลเอกเนตร เขมะโยธิน บันทึกว่า “…ครั้นสงครามยุติลงก็ไม่ได้รับความเหลียวแลและทะนุบำรุงเท่าที่ควร ซ้ำร้ายกว่านั้นยังถูก ‘เสรีไทย’ บางคนดูหมิ่นเหยียดหยามอีกด้วย ความน้อยใจที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็เลยกลายเป็นช้ำใจหนักขึ้น เมื่อถูกแหย่หรือชักชวนก็ฮึดขึ้นมา”

หลังจากจอมพล ป. หมดอำนาจลง ทหารที่เคยมีอำนาจหลาย ๆ ด้านในยุคลัทธิทหารนิยมกลับต้องเผชิญความยากลำบาก จากการแข่งขันและตื่นตัวประชาธิปไตยหลังสงคราม การเมืองและพรรคการเมืองกลับมาคึกคักอีกครั้ง ขณะที่ทหารไม่สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างเต็มที่เหมือนแต่ก่อน อันเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2489 ได้พยายามกันข้าราชการประจำออกจากการเมือง

นอกจากนี้ ทหารบางนายต้องถูกปลดออกจากราชการ ยุบหน่วยงานทหารบางหน่วย แม้จะมีการตั้ง “คณะกรรมการพิจารณาหาทางช่วยเหลือทหารกองหนุน” แต่ก็ใช้ระยะเวลานาน ทหารบางคนต้องดิ้นรนทำมาหากินด้วยตนเอง บางนายก็ว่างงาน บางนายก็หันไปทำงานทุจริต เป็นโจรเป็นอันธพาลก่อความไม่สงบก็มี

สรุป

ปัจจัยที่นำไปสู่การเกิดรัฐประหารมีหลายประการด้วยกัน สาเหตุส่วนใหญ่เป็นผลสืบเนื่องมาจากสงคราม อันได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย ปัญหาการปลดปล่อยทหาร เป็นต้น ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลชุดหลังสงครามต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นการที่รัฐบาลทั้งชุดนายปรีดี พนมยงค์ และพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีไม่สามารถคลี่คลายกรณีรัชกาลที่ 8 สวรรคตให้กระจ่างแน่ชัด ย่อมทำให้รัฐบาลอยู่ในฐานะคลอนแคลนมีแต่ทรุดลงทุกวัน เพราะไม่อาจขจัดการโจมตีของนักการเมืองฝ่ายค้าน และการวิพากย์วิจารณ์ของประชาชน เป็นเหตุให้ผู้กระทำรัฐประหารนำมาเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารในที่สุด (สุชิน ตันติกุล, 2557)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (2553). แผนชิงชาติไทย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : พี.เพรส.

สุชิน ตันติกุล. (2557). รัฐประหาร พ.ศ. 2490. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2562