รักแสนเศร้า (?) ของ “กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม” ผู้แต่ง “ลาวดวงเดือน”

กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ผู้แต่ง เพลงลาวดวงเดือน ผิดหวัง ความรัก เจ้าหญิงชมชื่น
กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม (ภาพ : Wikimedia Commons)

เพลงเก่าที่มีอายุนานนับร้อยปี ที่คนไทยคุ้นเคยและส่วนใหญ่น่าจะได้ฟังกันอย่างน้อยสักครั้งในชีวิต คือ “เพลงลาวดวงเดือน” พระนิพนธ์ใน “กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม” ว่ากันว่าเบื้องหลังเพลงนี้ คือ ความรักอันผิดหวังของพระองค์กับ “เจ้าหญิงชมชื่น” แห่งเชียงใหม่ แต่เรื่องนี้เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน?

พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม (พระนามเดิม พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงษ์) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดากรกฎ

เมื่อสำเร็จการศึกษาด้านเกษตรศาสตร์จากประเทศอังกฤษ พระองค์ก็เข้ารับราชการเป็นผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง ในกระทรวงเกษตราธิการ ต่อมาทรงขึ้นเป็นอธิบดีกรมช่างไหมและกรมเพาะปลูก มีพระกรณียกิจในการวางรากฐานเรื่องไหมไทย คือ ตั้งโรงเรียนและโรงเลี้ยงไหมขึ้นที่กรุงเทพฯ นครราชสีมา และบุรีรัมย์

นอกจากจะมีพระปรีชาสามารถด้านการเกษตร ยังทรงชื่นชอบการประพันธ์ คาดว่าพระองค์ทรงประพันธ์ “เพลงลาวดวงเดือน” ขึ้นในราว พ.ศ. 2450-2452 ซึ่งเป็นช่วงบั้นปลายพระชนมชีพ เนื่องจากสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคฝีในท้อง (วัณโรค) เมื่อ พ.ศ. 2452 สิริพระชันษา 27 ปี

เพลงลาวดวงเดือน เกิดจากพระองค์ไม่สมหวังเรื่องความรักจริงหรือไม่?

ผศ. ดร. สนอง คลังพระศรี อาจารย์ประจำวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เคยเล่าถึงเรื่องนี้ไว้ในบทความ “ลาวดวงเดือน ลาวไหนกันแน่ เพ้อรักถึงเจ้าหญิงชมชื่น หรือใครอื่น?” ตอนหนึ่งว่า

พ.ศ. 2446 กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมเสด็จขึ้นเหนือไปเชียงใหม่ นัยว่าทรงศึกษางานด้านการทำไหม จนมีเรื่องเล่าว่า ทรงพบรักกับ “เจ้าหญิงชมชื่น” แต่ด้วยอุปสรรคราชประเพณีการแต่งงาน ทำให้ทรงผิดหวัง เป็นเหตุให้โปรดเพลง “ลาวเจริญศรี” (บทร้องจากวรรณคดีเรื่องพระลอ) นำมาสู่แรงบันดาลใจการนิพนธ์ เพลงลาวดวงเดือน ในที่สุด

ผศ. ดร. สนอง บอกว่า เรื่องราวที่เมืองเชียงใหม่จะจริงเท็จอย่างไรก็ตาม และเกี่ยวข้องกับแรงดลใจในการประพันธ์เพลงลาวดวงเดือนหรือไม่ ย่อมไม่สามารถยืนยันได้ถึงความในพระทัยของกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ด้วยเป็นแต่เพียงเรื่องเล่าเชื่อมโยงเข้ากับเพลงลาวดวงเดือนในชั้นหลัง

“ทว่าโดยหลักฐานด้านดุริยวรรณกรรม (Music Literature) ลาวดวงเดือนเป็นพระนิพนธ์ที่แต่งขึ้นด้วยขนบนิราศ คือแสดงความอาลัยหญิงคนรัก และเป็นอนุสรณ์การเดินทาง ทั้งมักสอดแทรกพระนามเดิมไว้เสมอ จึงไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า เพลงนี้แต่งขึ้นเพราะทรงผิดหวังความรักจากเจ้าหญิงชมชื่น”

กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ทรงเสกสมรสกับ หม่อมเจ้าวรรณวิไลย กฤษดากร พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ มีพระธิดา 1 พระองค์ และทรงมีพระโอรสกับหม่อมเทียมอีก 1 พระองค์

พระองค์ทรงรักพระชายาอย่างมาก เห็นได้จาก พ.ศ. 2449 ที่เสด็จไปรักษาพระองค์ที่ประเทศอียิปต์ ทรงนิพนธ์บทร้อยกรองแบบกลอนนิราศขึ้นมาบทหนึ่ง ชื่อว่า “นิราศรักษาตัว” พร้อมทรงเขียนอุทิศไว้ว่า “ให้น้องที่รักไว้เป็นที่รฤก เมื่อจากกันไปรักษาตัว ณ ประเทศนอก”

เมื่อเสด็จกลับจากอียิปต์แล้ว พระโรคยังไม่หายขาด ช่วงนี้เองที่ทรงนิพนธ์บทร้องขึ้นหลายเพลง เนื้อหากล่าวถึงการจากลาหญิงคนรัก มีนัยถึงหม่อมเจ้าวรรณวิไลย

“นิราศนี้จึงเป็นหลักฐานสำคัญ แสดงให้เห็นว่า กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ท่านรักลูกรักพระชายาของท่านมาก ลาวดวงเดือนฉบับกล่าวถึงผู้หญิงอื่นที่เมืองเชียงใหม่ จึงยากจะเป็นไปได้” ผศ. ดร. สนอง บอก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 พฤษภาคม 2567