ลาวดวงเดือน ลาวไหนกันแน่ เพ้อรักถึงเจ้าหญิงชมชื่น หรือใครอื่น?

ลาวดวงเดือน เพลงไทยสำเนียงลาวยอดฮิต พระนิพนธ์ในพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม นิพนธ์ขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2450-2452 ขณะรับราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมเพาะปลูก กระทรวงเกษตราธิการ

ปมปัญหา เกิดจากการนำเสนอประวัติที่มาของเพลง 2 ด้าน ในหนังสือ “ฟังและเข้าใจเพลงไทย” โดยครูมนตรี ตราโมท กล่าวว่า กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม นิพนธ์เพลงลาวดวงเดือนขึ้น โดยได้รับแรงดลใจจากการเสด็จตรวจราชการในแถบมณฑลอีสาน และในที่เดียวกันนี้ ได้นำเสนอข้อมูลของ ครูสง่า อารัมภีร์ ไว้ด้วยว่า กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมได้รับแรงดลใจจากการไปพบรักเจ้าหญิงชมชื่น เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองเชียงใหม่ เสริมเรื่องตามครูสง่าด้วยหนังสือเพ็ชร์ลานนา เล่ม 2 โดย ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง

พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม

จากข้อมูลที่ไม่แน่ชัดและขัดแย้งกันดังกล่าว ก่อให้เกิดความสับสนสงสัย ถกเถียงกันว่า ลาวดวงเดือน ลาวไหนกันแน่ ระหว่างเหนือกับอีสาน ผู้เขียนจึงได้ทำการวิเคราะห์ ตรวจสอบโครงสร้างของเพลงลาวดวงเดือน ทั้งทำนองและบทร้อง เพื่อประกอบการพิจารณาควบคู่กับประวัติความเป็นมาของเพลง ในอันที่จะทำให้เกิดความกระจ่างและชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ลาวดวงเดือนปรับปรุงดัดแปลงมาจากเพลงลาวดำเนินทรายหรือไม่ ตามข้อมูลของครูมนตรี ตราโมท

เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างทำนองและบทร้อง พบว่า

1. โครงสร้างทำนองและลีลาจังหวะของเพลงลาวดวงเดือนมีความสอดคล้องใกล้เคียงกันกับเพลงลาวดำเนินทราย 2 ชั้น จริง โดยเฉพาะในท่อนที่ 1 ผู้แต่งเพียงแต่ตัดทอนจังหวะและตกแต่งสำนวนกลอนใหม่เท่านั้น ส่วนในท่อนที่ 2 ก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน โดยสำนวนลูกล้อของเพลงลาวดวงเดือนกับสำนวนกลอนใน 3 จังหวะหน้าทับแรกของเพลงลาวดำเนินทรายใช้สำนวนกลอนเดียวกัน หลังจากนั้นผู้แต่งได้สร้างทำนองเฉพาะเป็นของตนเอง

2. บทร้องมีนัยความหมายใกล้เคียงกัน กล่าวคือ เพลงลาวดำเนินทราย จ่าเผ่นผยองยิ่ง (โคม) เป็นผู้แต่งบทร้องและทางร้องขึ้น เรียกว่า “ทางสักวา” (สักวาลาวเล็ก) ประเภทลำลา คือมีความหมายเชิงตัดพ้อต่อว่า ด้วยถึงเวลาต้องจำจากจำไกล ส่วนทางดนตรีบรรเลงรับร้อง พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้นสำหรับบรรเลงรับร้องในวงเครื่องสายปี่ชวา

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบบทร้องระหว่างเพลงลาวดวงเดือนกับเพลงลาวดำเนินทราย ทั้งในด้านแนวความคิด (Concept) และการใช้คำ (Wording) พบว่า ทั้งสองเพลงมีจุดมุ่งหมายและการใช้คำเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ เป็นเพลงที่แสดงถึงช่วงเวลา (ยามค่ำคืนตอนดึก) บรรยากาศ (การพลอดรักของหนุ่มสาว) อารมณ์ความรู้สึก (อาลัยอาวรณ์ ต้องพรากจากกัน) เป็นสื่อสร้างความหมายและจินตนาการให้กับบทเพลง

ในการใช้คำ พบว่า มีการใช้คำเดียวกัน เช่น คำว่า ดึก หนอ เกสร โกสุม กรรม ห่วง หรือ คำที่มีนัยความหมายเดียวกัน เช่น โอ้ว่าอกเอ๋ยกรรม กับ โอ้เป็นกรรม จำจากไกล กับ ต้องจำจากไป แสนอาวรณ์ กับ อกพี่อาลัย เป็นต้น

ดังนั้น การที่ผู้แต่งให้ชื่อเพลงนี้ว่า “ลาวดำเนินเกวียน” ก็เพื่อให้สอดคล้องหรือให้คู่กันกับเพลง “ลาวดำเนินทราย” อย่างแน่นอน

จึงสรุปได้ว่า เพลงลาวดำเนินทรายเป็นต้นแบบของเพลงลาวดวงเดือน ทั้งในแง่การตั้งชื่อเพลง โครงสร้างทำนอง ลีลาจังหวะ บทร้อง และความหมายของเพลง นั่นหมายความว่า ในการแต่งเพลงลาวดวงเดือนไม่ใช่ความคิดใหม่ทั้งหมด เพียงแต่ผู้แต่งได้เรียบเรียง ขัดเกลา และสร้างจินตนาการขยายความจากเพลงลาวดำเนินทรายขึ้นเป็นอีกเพลงหนึ่ง แล้วประทานชื่อเพลงว่า “ลาวดำเนินเกวียน” ให้เข้าคู่กัน ซึ่งก็ตรงกับคำอธิบายของครูมนตรี ตราโมท นอกจากนี้ เพลงลาวดำเนินทรายจะต้องถือเป็นเพลงสำคัญและเป็นเพลงโปรดของกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม มาก่อนด้วยเช่นกัน

ลาวดวงเดือนลาวเหนือหรือลาวอีสาน?

ถ้าหากพิจารณาต่อไปก็จะพบคำตอบอยู่ในบทร้องที่แสดงถึงความเป็นลาวที่ว่า “ข้อยมาเว้า” หรือ “ข้อยเบิ่งดูฟ้า” เพราะทั้งสองประโยคนี้แสดงชัดเจนว่า ลาวดวงเดือนเป็นลาวทางอีสานไม่ใช่ลาวทางเหนือ เพราะคำว่า “ข้อย” ทางเหนือใช้คำว่า “เปิ้น”

คำว่า “เว้า” ทางเหนือใช้คำว่า “อู้”

คำว่า “เบิ่ง” ทางเหนือใช้คำว่า “ผ่อ” หรือ “กอย”

บางคนอาจจะโต้แย้งว่า น่าจะเป็นความเข้าใจผิดของผู้แต่งเกี่ยวกับเรื่องลาวจนไม่สามารถแยกออกระหว่างลาวทางเหนือกับลาวทางอีสานได้

ประเด็นนี้คงเป็นไปไม่ได้เพราะว่า กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม เคยเสด็จประพาสเมืองเหนือมาแล้วเมื่อ พ.ศ. 2446 หลังจากเสด็จกลับจากตรวจราชการที่มณฑลราชสีมา เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2444 และขบวนเสด็จขึ้นเหนือคราวนั้นได้ล่องเรือขึ้นตามลำน้ำ ดังนั้น กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมจะต้องทราบดีว่าชาวบ้านชาวเมืองในเมืองเหนือ โดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่สื่อสารกันด้วยภาษาอะไร

มาถึงตรงนี้ มีประเด็นคำถามต่อไปว่า ถ้าหากกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมแต่งเพลงนี้ขึ้น เพื่อต้องการระบายความรักความอาลัยที่มีต่อเจ้าหญิงเมืองเชียงใหม่จริง เหตุใดจึงใช้คำร้องที่แสดงถึงความเป็นลาวชาวอีสาน ไม่ใช้คำลาวชาวเมืองเหนือ (คำเมือง) เพราะจะต้องผ่านการพบปะพูดคุยกันมาก่อนแล้ว ถ้าหากโปรดเพลง “ลาวเจริญศรี” เป็นพิเศษทำไมจึงตั้งชื่อเพลงว่า ลาวดำเนินเกวียน และไม่ตั้งชื่อหรือแต่งทำนองเนื้อร้องที่สัมพันธ์กับเพลงลาวเจริญศรี หรือการเดินทางโดยเรือหรือล้อ

สิ่งที่ยืนยันอีกประการหนึ่งว่า สำเนียงลาวดวงเดือนเป็นลาวทางอีสานก็คือ คำขึ้นต้นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่กลายเป็นชื่อเพลงในสมัยหลังว่า “โอ้ละหนอดวงเดือนเอย” กับคำร้องว่า “ข้อยเบิ่งดูฟ้า” แล้วมี (ละหนอ) มาต่อท้ายนั้น เป็นสิ่งที่แสดงถึงวัฒนธรรมการขับลำของชาวลาว ทั้งในประเทศลาวและไทยภาคอีสาน เพราะการขับลำของหมอลำทั้งหลาย มักจะปรากฏว่ามีการ “โอ่” หรือ “โอ้” อยู่เสมอ โดยเฉพาะคำว่า “โอนอ” หรือ “โอละนอ” ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ธรรมเนียมการขึ้นต้นในการแสดง “หมอลำกลอน” ดังเช่น

“โอละนอ…. (นวล) เอย”

“โอละนอ…. (แม่หม้าย) เอย”

“โอละนอ…. (พระนาง) เอย”

“โอละนอ…. (พี่ชาย) เอย”

ฯลฯ

หมายเหตุ คำที่อยู่ในวงเล็บสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่คำว่า “โอละนอ” กับ “เอย” จะต้องคงอยู่

กลอนไหว้ครูลำทางสั้น

โอละนอ…สาธุสา ผู้ข้าขอบูชาคุณพระรัตนตรัย

พร้อมด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทรงสถิตอยู่พื้นแผ่นโลกา

คุณบิดามารดาคุณครูบาอาจารย์ให้มากุ้มมาเลื่อมงำ

ผู้ข้าลำบนเวทีอย่าให้มีแนวคา

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในโลกาให้มากุ้มหุ้มห่อในวัน (คืน) นี้…

โอละนอ…นวลนวลเอย…

สาธุสาจั่งว่าสาธุเด้อ

อภิวันทาน้อมจอมไตรแก้วแก่น

คุณพระยกใส่เกล้ากวมกุ้มใส่เศียร

ทุกสิ่งเผี้ยนก้มกราบวันทา

คุณครูบาอาจารย์สอนให้ส่งพรชูค้ำ

ผู้ข้าลำวันนี้เวทีสนามข่วง

 ปวงประชาไพร่ฟ้าทั้งพื้นแผ่นไตร… (ราตรี ศรีวิไล, 2537)

กลอนไหว้ครูแอ่วเคล้าซอ

โอนอ โอ้นอ นวลเอย

ขอกระสาวันทากราบไหว้

ขันดอกไม้ยกขึ้นเพียงตา

ขันเสมายกขึ้นเพียงคิ้ว

มือสิบนิ้วลูกค่อยประนม

เจ้าน้อยติเลิศเหยิน ขออันเชิญลงมาสู่วงแคน

เพราะฉะนั้น สำเนียง “โอละนอ” ของคนอีสานกับสำเนียง “โอ้ละหนอ” ของคนภาคกลางประกอบคำว่า “(นวล) เอย” ของคนอีสาน กับ “(ดวงเดือน) เอย หรือ (นวลตา) เอย” ของคนกรุงเทพฯ จึงไม่น่าจะแตกต่างกัน

หลายคนอาจจะสงสัยว่า วัฒนธรรมการขับลำแบบหมอลำกลอนเข้ามาสอดแทรกในเพลงลาวดวงเดือนได้อย่างไร ก็คงต้องอธิบายว่า แต่เดิมนั้นหมอลำกลอนเคยมีบทบาทและมีอิทธิพลในสังคมภาคกลาง รวมทั้งราชสำนักมาก่อนแล้ว แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกัน เพราะชาวภาคกลางไม่ได้เรียกหมอลำกลอน แต่เรียกว่า “แอ่วลาว” บ้าง “ลาวแคน” บ้าง “ลำแคน” บ้าง สุดแท้แต่จะเรียกกันตามที่นิยม ที่ชัดเจนก็คือ คำว่า “แอ่วลาว” และ “ลาวแคน” ซึ่งปรากฏในคำประกาศของรัชกาลที่ 4 ที่ห้ามมิให้เล่นแอ่วลาว เพราะ “ชาวไทยทั้งปวงละทิ้งการเล่นสำหรับเมืองตัวคือ ปี่พาทย์มโหรี เสภาครึ่งท่อน ปรบไก่ สักวา เพลงไก่ป่า เกี่ยวข้าว และละครร้องเสียหมด พากันเล่นแต่ลาวแคนไปทุกหนทุกแห่ง ทุกตำบลทั้งผู้ชายผู้หญิง…” ซึ่งก็ไม่เว้นแม้แต่ในราชสำนักอันมีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้นำที่เชี่ยวชาญทั้งการแอ่ว (ลำ) และทรงเป่าแคนได้เป็นอย่างดี

ถึงแม้ว่าคำประกาศนั้น จะส่งผลให้หมอลำกลอนถูกลดบทบาทลงบ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความไพเราะและความประทับใจของผู้คนจะเสื่อมคลายลง ในขณะเดียวกันกลับมีการคิดค้นหาวิธีการเพื่อหลีกเลี่ยงอาญาแผ่นดิน ดังที่มีการนำเอาซอด้วงหรือซออู้มาใช้แทนเสียงแคนพร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงเนื้อร้องและทำนองให้เป็นอย่างเพลงพื้นบ้านภาคกลาง แล้วเรียกเพลงชนิดใหม่นี้ว่า “แอ่วเคล้าซอ” ซึ่งก็พบว่ามีการขึ้นต้นเพลงด้วยคำร้องว่า “โอนอ…โอนอ…นวลเอย” เช่นเดียวกับหมอลำกลอนในยุคปัจจุบัน

ด้วยเหตุความไพเราะและอิทธิพลของหมอลำกลอนดังกล่าวมา คงไม่เป็นเรื่องแปลกที่ครูดนตรีในราชสำนักจะจดจำหรือเก็บคำร้อง พร้อมทั้งลีลาสำนวนกลอน เพื่อมาใช้สร้างสรรค์เพลงในประเภทสำเนียงลาวสืบเนื่องต่อมา ซึ่งรวมทั้งสำนักปี่พาทย์ในวังพระองค์เพ็ญนี้ด้วย

ดังนั้น สำเนียงลาวในเพลงลาวดวงเดือนจึงมีกลิ่นอายของแอ่วลาวหรือหมอลำกลอนของชาวลาวอีสานผสมผสานอยู่ ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้คำร้องขึ้นต้นที่ว่า “โอ้ละหนอ…ดวงเดือนเอย” กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะให้ผู้คนจดจำและเรียกขานกลายเป็นชื่อเพลงในสมัยต่อมาว่า “ลาวดวงเดือน” พระนามแฝงของผู้ประพันธ์

ผลจากการวิเคราะห์ทั้งหมด จึงมีความเอนเอียงไปทางความคิดเห็นของครูมนตรี ตราโมท ที่ว่า เพลงลาวดวงเดือนหรือลาวดำเนินเกวียนมีเนื้อหาและท่วงทำนองเลียนแบบมาจากเพลงลาวดำเนินทราย รวมทั้งลาวดวงเดือนจะต้องเป็นเพลงที่เกิดขึ้นจากการเสด็จตรวจราชการในแถบมณฑลอีสานอย่างค่อนข้างแน่

มูลเหตุที่มาของบทเพลงนี้

คนส่วนมาก มักตรึงใจกับเรื่องราวความรักหวานเศร้า (Romantic) ของหนุ่มสาว มากกว่าความเจ็บป่วยไข้ของชีวิต ที่มาของเพลงลาวดวงเดือนก็เช่นกัน

ในที่สุด ผู้เขียนก็พบหลักฐานว่า นับแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452 เป็นต้นมา ผู้นิพนธ์เพลงลาวดวงเดือนคือ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคฝีในท้อง (วัณโรค) ในวัยหนุ่มแน่นและเป็นเรี่ยวแรงสำคัญของพระราชบิดา คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สร้างรากฐานความเจริญให้แก่สังคมชาวสยามมาจนกระทั่งทุกวันนี้

พระอาการประชวรอันเป็นเหตุแห่งการสิ้นพระชนม์นั้นเอง คือแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เจ้าชายพระองค์นี้ คิดสร้างสรรค์ผลงานเป็นอนุสรณ์แห่งชีวิตของตนเอง

ตัดกล่าวเฉพาะเมื่อสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษแล้ว กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ได้เข้ารับราชการในกระทรวงเกษตราธิการ ตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเป็นถึงอธิบดีกรมช่างไหมและกรมเพาะปลูก พระกรณียกิจที่สำคัญคือ ดำเนินการตั้งโรงเรียนและโรงเลี้ยงไหมขึ้นที่กรุงเทพฯ นครราชสีมา และบุรีรัมย์ ถือเป็นการบุกเบิกวางรากฐานเกี่ยวกับไหมไทยอย่างสำคัญ

3 มกราคม พ.ศ. 2445 นิพนธ์เรื่องการทำไหมที่นครราชสีมา ทูลเกล้าถวายรัชกาลที่ 5

ปี พ.ศ. 2446 เสด็จขึ้นเหนือไปที่เชียงใหม่ นัยว่าเพื่อศึกษางานด้านการทำไหม คราวนี้เองมีเรื่องเล่าว่า ทรงพบรักกับ “เจ้าหญิงชมชื่น” แต่ด้วยอุปสรรคราชประเพณีการแต่งงานทำให้ทรงผิดหวัง และเป็นเหตุให้โปรดเพลง “ลาวเจริญศรี” (บทร้องจากวรรณคดีเรื่องพระลอ) นำมาสู่แรงบันดาลใจนิพนธ์เพลงลาวดวงเดือนในที่สุด

เรื่องราว ณ เมืองเชียงใหม่จะจริงเท็จอย่างไรก็ตาม และเกี่ยวข้องกับแรงดลใจในการประพันธ์เพลงลาวดวงเดือนหรือไม่ ย่อมไม่สามารถยืนยันได้ถึงความในพระทัยของ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ด้วยเป็นแต่เพียงเรื่องเล่าเชื่อมโยงเข้ากับเพลงลาวดวงเดือนในชั้นหลัง หากทว่าโดยหลักฐานด้านดุริยวรรณกรรม (Music Literature) ลาวดวงเดือนเป็นพระนิพนธ์ที่แต่งขึ้นด้วยขนบนิราศ คือแสดงความอาลัยหญิงคนรัก และเป็นอนุสรณ์การเดินทาง ทั้งมักสอดแทรกพระนามเดิมไว้เสมอ จึงไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า เพลงนี้แต่งขึ้นเพราะทรงผิดหวังความรักจากเจ้าหญิงชมชื่น แต่ที่ทราบก็คือ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ทรงเสกสมรส กับหม่อมเจ้าวรรณวิไลย กฤษดากร พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ มีพระธิดา ๑ องค์ คือหม่อมเจ้าหญิงพรรณเพ็ญแข และมีโอรสกับหม่อมเทียม (คชเสนี) ๑ พระองค์ คือ หม่อมเจ้าชายเผ่าเพ็ญพัฒน์

หม่อมเจ้าวรรณวิไลย เพ็ญพัฒน์

ประชวร ในปี พ.ศ. 2449 ระหว่างที่ทรงงานด้วยพระอุตสาหะนั้น ก็ปรากฏว่าพระองค์ทรงมีพระอาการประชวรด้วยพระโรคฝีในท้อง หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า “วัณโรค” จนต้องเสด็จไปรักษาตัว ณ ประเทศอียิปต์ สาเหตุมาจากการที่ทรงสูบบุหรี่จัด ระยะเวลาที่เสด็จไปรักษาพระอาการประชวรนั้น ตรงกับช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2450) ท่านจึงได้ตามเสด็จด้วย

นิราศรักษาตัว คราวที่เสด็จไปรักษาพระอาการเจ็บป่วย ณ ประเทศอียิปต์นี้เอง กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ได้นิพนธ์บทร้อยกรองขึ้นมาบทหนึ่งแบบกลอนนิราศ ให้ชื่อว่า “นิราศรักษาตัว” พร้อมทั้งเขียนอุทิศไว้ว่า “ให้น้องที่รักไว้เป็นที่รฤก เมื่อจากกันไปรักษาตัว ณ ประเทศนอก แต่ผู้แต่ง (ลงพระนาม) เพ็ญพัฒนพงษ์ วันที่ 17 มีนาคม ร.ศ. 125 (พ.ศ.2449) เมืองไคโร ประเทศอียิปต์” ทั้งนี้ มีรูปหม่อมเจ้าวรรณวิไลย เพ็ญพัฒน์ ในหนังสือ

ต่อมาครูเฉลิม บัวทั่ง ได้นำบทพระนิพนธ์บางส่วน จากบิดาคือ ครูปั้น บัวทั่ง ครูปี่พาทย์คนสำคัญในวังท่าเตียน มาบรรจุบทร้อง แล้วตั้งชื่อเพลงว่า “มอญอ้อยอิ่ง เถา”

นิราศรักษาตัวหรือบทร้องเพลงมอญอ้อยอิ่ง เถา นี้เอง เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า แบบอย่างการประพันธ์เพลงของ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม คือ “กลอนนิราศ”

(ควรสังเกตด้วยว่า บ้าน/วัง/ตระกูลนี้ ชำนาญเรื่อง นิราศ เช่น นิราศหนองคาย (หลวงพัฒนพงศ์ภักดี/ทิม) นิราศหัวหิน (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี) และนิราศรักษาตัว เป็นต้น)

ร่ำลาและอาลัย ภายหลังเสด็จกลับจากรักษาพระอาการประชวรจากยุโรปแล้ว พระโรคยังไม่หายขาด แต่ก็ยังต้องทรงงานตามปรกติ ในระยะนี้เองที่ทรงนิพนธ์บทร้องขึ้นหลายเพลง สะท้อนความในพระทัยอย่างตรงไปตรงมา คือ กล่าวถึงการลาจากหญิงคนรัก

หนังสือฉบับหนึ่งระบุ วันที่ 3 มกราคม ร.ศ. 127 (พ.ศ. ๒๔๕๑) เสด็จตรวจงานอยู่ที่นครราชสีมา ดังบันทึกรายงานของพระองค์ว่า

“วันที่ ๓ (มกราคม ร.ศ. ๑๒๗ – ผู้เขียน) อยู่นครราชสีมา วันที่ ๔ จะไปพิมาย”

รักครั้งนี้มอบแด่ลูกแก้วและเมียขวัญ ย้อนกลับไปนิราศรักษาตัว ถ้อยคำสำคัญได้ปรากฏ ชัดเจน!!! จนไม่รู้จะชัดยังไง ว่ากรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม นิพนธ์บทนิราศและบรรจุเพลงอาลัยรักในชายาพระองค์ท่าน ทั้งบอกชื่อเป็นนัย ด้วยความรักอาลัยครวญ ดังบทกลอนต่อไปนี้

“เห็นเวลาสายัณห์ตะวันคล้อย

แล้วเลยลอยลับไปไร้เวหา

เหมือนพี่ร้างไร้นุชสุดอุรา

เสียดายรักพักตราแสนอาลัย

เห็นเวลาจันทร์เคลื่อนดาวเกลื่อนฟ้า

แสงจันทราเพ็ญส่องสุดผ่องใส

เห็นเดือนส่องหมองจิตต์ยิ่งคิดไป

เหมือนหน้านุชสุดสายใจ #วิลัยพรรณ” (วรรณวิไลย)

(กลอนต่อกัน)

#เพลงตลุ้มโปง (เพลงสุดท้ายในนิราศตอน 1 ที่นิพนธ์เผยแพร่นี้)

คิดสิ่งใดก็ไม่ชวนให้หวนคิด

เหมือนคิดมิตรยอดสวาทนาฏนวลขวัญ

คิดถึงหน้าคิดถึงเนตรถึงเกษกรรณ

คิดทุกวันทุกเวลาโศกอาลัย

คิดถึงพัตรยามเจ้ายักเจ้าเยื้องย้อน

คิดถึงเนตรยามเจ้างอนแล้วค้อนให้

คิดถึงสอยามพี่คลอสอดวงใจ

คิดถึงเกษยามเจ้าใส่น้ำมันดี

คิดถึงโอฐจิ้มลิ้มยามยิ้มย่อง

คิดนาสายามเจ้าต้องจูบแก้มพี่

คิดถึงปรางยามพี่จูบลูบยวนยี

คิดถึงถันยามพี่เคล้าคลึงชม

คิดถึงหลังยามงอนนั่งหันหลังให้

คิดถึงไหล่ยามพี่ซบประกบสม

คิดถึงเอวยามพี่กอดลอดรัดกลม

คิดถึงกรเจ้ากรีดห่มสไบบาง

คิดถึงหัตถ์ยามกระหวัดรัดมือพี่

คิดถึงเพลางามดีเมื่อเยื้องย่าง

คิดถึงบาทยามแม่ยาตราสำอาง

คิดถึงนางไม่รู้เว้นเป็นอาจินต์

(เพลงหมดเท่านี้)

แสนระกำสุดร่ำแก้ผันแปรได้

แสนอาลัยสุดอาดูรไม่สูญสิ้น

แสนรักนุชสุดรักหน้ายุพาพิน

แสนเทวศสุดถวิลแทบสิ้นใจ

สุดร่ำคิดแสนรำคาญยังนานนัก

สุดเห็นหน้าแสนหาพักตร์ไม่เปรียบได้

สุดจิตต์แม่นแสนใจหมางมาห่างไกล

สุดใจครากแสนอยากใคร่ได้เห็นนวล

สุดจะหักแสนจักให้ใจลืมน้อง

สุดจะลองแสนจ้องเล่าเฝ้ากลับหวล

สุดจะคิดแสนจิตต์คุไฟลุลวน

สุดร้อนนักแสนรักล้วนป่วนฤาทัย

ถ้าไปได้ก็จะใคร่ไปหามิตร

ถ้าปลิดได้ก็จะปลิดชีวิตให้

ถึงจากนานก็ไม่ลืมแม่ปลื้มใจ

ถึงจากไกลก็ไม่ใช่ใจจรดกัน

นิราศนี้ จึงเป็นหลักฐานสำคัญ แสดงให้เห็นว่า กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ท่านรักลูกรักพระชายาของท่านมาก ลาวดวงเดือนฉบับกล่าวถึงผู้หญิงอื่นที่เมืองเชียงใหม่ จึงยากจะเป็นไปได้ ทั้งจากหลักฐานเชิงประจักษ์และแบบฉบับลายเซน (ชื่อ) ที่ปรากฏในบทร้องเพลงต่าง ๆ ลาวดวงเดือนก็เช่นกัน คงเป็นเพลงสุดท้ายต่อจากต่อจากนิราศรักษาตัว เพื่อบันทึกการทรงงานในภาคอีสาน แล้วบรรจุบทเพลงใหม่ ประทานชื่อ “ลาวดำเนินเกวียน” เพื่อให้เข้าคู่กับ “ลาวดำเนินทราย” เพลงต้นแบบ ทั้งยังสอดแทรกพระนาม (เพ็ญ) ไว้ในบทประพันธ์ (แข จันทร์ เพ็ญ เดือน) ตามที่ทรงตั้งพระทัยไว้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักและพระชนม์ชีพของพระองค์นั่นเอง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กันยายน 2565