ผู้เขียน | เอนก นาวิกมูล |
---|
เผยแพร่ | |
---|
เจ้าพระยาบดินทร์ (สิงห์) เฆี่ยนลูกที่ลอบขายฝิ่น “ตายก็ช่างมัน จะได้ไปเกิดใหม่เป็นคนดีๆ”
เพราะต้องไปดูของบริจาคให้บ้านพิพิธภัณฑ์ที่ถนนทรงวาดเมื่อ ส 23 มิถุนายน 2561 จึงถือโอกาสเข้าไปเยี่ยมวัดจักรวรรดิ์หรือวัดสามปลื้มเสียด้วย
เข้าวัดสามปลื้มแล้วก็ต้องถ่ายรูปพระพุทธฉายและพระพุทธบาทจำลองเพื่อไปประกอบการบรรยายเรื่องงานวัดให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เพราะงานวัดสามปลื้มเมื่อยุคต้นรัชกาลที่ 5 คนนิยมไปเที่ยวกันมาก เนื่องจากมีของแปลกๆ จากตลาดสำเพ็งที่อยู่ติดวัดมาวางขายมากมาย
จากนั้นก็ต้องถ่ายรูปปั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่ (ของรัชกาลที่ 3)
ผู้ปฏิสังขรณ์วัดสามปลื้ม ผู้สร้างวัดตึกชัยชนะสงครามที่พวกคลองถมไปอาศัยจอดรถ สร้างวัดเทพลีลา ที่บางกะปิ และอีกหลายวัด
เจ้าพระยาบดินทร์ไปกรากกรำทำศึกสงครามในดินแดนลาวญวนเขมรอย่างต่อเนื่องนานถึง 15 ปี (15 ปีนะครับไม่ใช่ 5 ปี) เป็นคนทรหด เด็ดเดี่ยว รักแผ่นดิน ชิงชังคนไม่ซื่อสัตย์คดโกงสุดๆ
เห็นรูปปั้นเจ้าพระยาบดินทร์แล้วตกใจ
เพราะของเดิมเป็นสีดิบๆ อีกแบบ แต่บัดนี้ทางวัดได้ทาสีทองเหลืองอร่ามทับลงไปเช่นเดียวกับรูปแกะสลักนายนกนายเรืองที่เผาตัวเอง หน้าโบสถ์วัดอรุณ นั่นก็ทาสีทอง แทนที่จะเก็บสีหินแกรนิตเดิมเอาไว้ (แถมหัวนายเรืองก็ถูกคนร้ายใจชั่วบั่นไปเสียตั้งแต่ราวปี 2537)
กลั้นสะอื้นถ่ายรูปเจ้าพระยาบดินทร์แล้วก็ต้องมาอ่านหนังสือประวัติเจ้าพระยาบดินทร์และอ่านหนังสือชื่อ “อานามสยามยุทธ” ที่นายกุหลาบ ตฤษณานนท์เขียนและพิมพ์เมื่อสมัย ร.5 พ.ศ. 2444 สำนักพิมพ์แพร่พิทยานำมาพิมพ์ซ้ำเป็น 2 เล่มจบเมื่อ พ.ศ.2514
หนังสือ 2 เล่มนี้นายกุหลาบแถลงว่ารวบรวมจากจดหมายเหตุของเจ้าพระยามุขมนตรี (เกต) บุตรเจ้าพระยาบดินทร์บ้าง ไปถามจากคุณจอมกลีบ บุตรีเจ้าพระยาบดินทร์บ้าง ไปถามจากลูกหลานคนอื่นๆ ของเจ้าพระยาบดินทร์บ้าง
เจ้าพระยาบดินทร์ ที่รัชกาลที่ 3 ทรงเรียกด้วยความยกย่องว่า พี่บดินทร์นั้นเป็นแม่ทัพใหญ่ที่มีความกล้าหาญและเฉียบขาดจริงๆ เกิด พ.ศ.2320 ถึงแก่อสัญกรรมด้วยอหิวาตกโรคเมื่อ พ.ศ 2392 ปลายสมัยรัชกาลที่ 3 อายุ 72 ปี
หนังสือกล่าวตอนหนี่งว่า ครั้งหนึ่งนายแสง หลานชายของเจ้าพระยาบดินทร์หลบกระสุนปืนข้าศึกไปแอบอยู่ที่หลักจังกูดหางเสือเรือรบ พอท่านทราบท่านก็ฆ่าเสียเพราะถือว่าเป็นคนขี้ขลาด
อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นเรื่องนายแสงมหาดเล็กหุ้มแพร คนนี้เป็นบุตรของท่านเอง แต่ชื่อซ้ำกับนายแสงหลานชายคนที่กล่าวไปแล้ว
เรื่องของเรื่องคือนายแสงไปแอบลักลอบขายฝิ่นซึ่งรัชกาลที่ 3 ทรงห้ามนักห้ามหนาไม่ให้ขายในพระราชอาณาจักร พอจมื่นไชยพร (พิน) จับได้ ก็นำความไปกราบเรียนเจ้าพระยาบดินทร์ เจ้าพระยาบดินทร์ก็มีบัญชาให้นายพินนำคามาสวมศีรษะนายแสง มัดมือมัดเท้าโยงกับหลักปักขื่อคาแล้วให้นำหวายมาเฆี่ยนหลังที่หน้าหอนั่งในจวนของท่าน
เมื่อราชมัลทะลวงฟันเฆี่ยนไปได้ 84 ที นายแสงก็สลบอยู่กับคา (ราชมัล-เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำโทษคน นายกุหลาบพูดต่อกันกับทะลวงฟัน… คำว่าทะลวงฟันนี่เราคุ้นหูเช่นหัวหมู่ทะลวงฟัน แต่ไม่มีในพจนานุกรม เราจะอธิบายอย่างไรกันดี)
เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี (ปาน) บุตรเขยของเจ้าพระยาบดินทร์ นําความไปกราบเรียนขอแก้มัดออกมาพักรักษาให้หายก่อนแล้วจึงจะเฆี่ยนต่อ แต่ท่านกลับถามว่าเฆี่ยนได้เท่าไร
เจ้าหมื่นฯ กราบเรียนว่า 84 ที ยังขาดอีก 16 จึงจะครบ 100 เจ้าพระยาบดินทร์ก็สั่งให้เฆี่ยนต่อไปอีกให้ครบร้อย
เจ้าหมื่นฯ กราบเรียนว่าถ้าเฆี่ยนต่อ เห็นจะตายในคา ท่านก็ว่า “ตายก็ช่างมันเถิด จะได้ไปเกิดใหม่ให้เป็นคนดีๆ”
เจ้าหมื่นสรรพเพธกลัวอาญาก็กราบลาออกมา สั่งให้ราชมัลทะลวงฟันเฆี่ยนหลังนายแสงต่อจนครบร้อยแล้วเข้าไปกราบเรียนว่าครบ 100 ทีแล้ว
เจ้าพระยาบดินทร์ถามว่าตายแล้วหรือยัง กราบเรียนว่ายังไม่ตาย ก็มีบัญชาสั่งว่าให้ปล่อยตัวไปทำราชการดังเก่า….
คืนวันนั้นนายแสงไปเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 3 ในพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัยทั้งที่หลังลายโลหิตไหลติดหลังมีแผลอยู่นั้น
สมัยรัชกาลที่ 3 นั้นมีธรรมเนียมว่าถ้ายังไม่ถึงเวลาลดโคม ถึงจะหนาวอย่างไรก็สวมเสื้อเข้าเฝ้าไม่ได้
พอรัชกาลที่ 3 เสด็จออกขุนนางไม่เห็นเจ้าพระยาบดินทร์ก็ทรงถามพระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต บุนนาค) ว่าเหตุใดวันนี้จึงมาเฝ้าดึก
พระยาศรีพิพัฒน์กราบทูลว่าตนได้ชักชวนพระยาราชนิกูล (เสือ)+พระยาอภัยฤทธิ์ (บุญนาก)+พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ซึ่งสามคนนี้ชอบพอกับเจ้าพระยาบดินทร์ ไปขอโทษแทนนายแสง จึงกลับมาเข้าเฝ้าไม่ทันเวลา พระราชอาญาเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม
รัชกาลที่ 3 ทรงซักถามขุนนางทั้งสามไปตามลำดับ ทุกคนก็ตอบว่าเกรงบารมีเจ้าคุณแม่ทัพ ไม่อาจขอร้องประการใดได้ เมื่อเฆี่ยนเสร็จ เจ้าคุณแม่ทัพก็ลุกขึ้นเข้าข้างใน มิได้ทักทายพูดจากับผู้ใดเลย
รัชกาลที่ 3 ทรงถามพระยาราชสุภาวดี (โต กัลยาณมิตร) บ้างว่าได้ไปกับเขาด้วยหรือ
พระยาราชสุภาวดี (โต) กราบบังคมทูลว่าพี่ชายของนายแสงมาขอให้ไปอ้อนวอน ตนก็ต้องไป พอไปถึงจวน ท่านเจ้าคุณก็พูดดักไว้ว่า
“เราเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ต่างพระเนตรพระกรรณล้นเกล้าล้นกระหม่อม เราเห็นว่าผู้ใดเป็นเสี้ยนหนามหลักตอต่อทางราชการแผ่นดินแผ่นทราย ประพฤติผิดพระราชกำหนดกฎหมายแล้วเรามีอำนาจอันชอบธรรมที่จะลงโทษผู้กระทำผิดได้….”
เป็นอันว่าทุกคนจนใจพูดไม่ออก จากนั้นรัชกาลที่ 3 ก็สั่งให้นายแสงเข้าไปเฝ้าใกล้ๆ นายแสงก็คลานเข้าไปให้ทอดพระเนตร
รัชกาลที่ 3 ทรงเห็นว่าเป็นรอยยับเหมือนสับฟากและสับเขียง ทรงรู้สึกสังเวชสลดพระราชหฤทัยในความดุร้ายของเจ้าพระยาบดินทร์ จากนั้นจึงทรงสั่งขุนธนศักดิ์ (ม่วง) ว่า
“อ้ายธนศักดิ์ มึงเอาเงิน 5 ชั่งในคลังให้แก่อ้ายแสงมันไปเจียดยามารักษาแผลที่หลังมันด้วย”
รับสั่งเท่านี้แล้วก็เสด็จเข้าในพระราชมณเฑียร…
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กรกฎาคม 2561