ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2560 |
---|---|
ผู้เขียน | ศานติ ภักดีคำ |
เผยแพร่ |
เรื่องราวการรับรู้เกี่ยวกับ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ของคนไทยส่วนใหญ่ มักระลึกถึงท่านในฐานะแม่ทัพผู้ถืออาญาสิทธิ์ในสงครามอานามสยามยุทธ์เท่านั้น แต่เกียรติประวัติสำคัญเรื่องหนึ่งในสงครามอานามสยามยุทธ์ที่ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้คือ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เป็นผู้ที่สร้างเมืองใหม่หลายเมืองซึ่งปัจจุบันอยู่ในกัมพูชา
เมืองสำคัญซึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ได้ให้สร้างขึ้นใหม่ในกัมพูชา ได้แก่ เมืองพระตะบอง เมืองศรีโสภณ และเมืองมงคลบุรี ดังปรากฏหลักฐานทั้งในเอกสารไทย เอกสารกัมพูชา และเอกสารตะวันตก แสดงถึงคุณูปการของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ที่มีในสงครามอานามสยามยุทธ์นอกเหนือจากในด้านการทำสงครามได้เป็นอย่างดี ดังจะได้กล่าวถึงเป็นลำดับต่อไปนี้
เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) สร้างเมืองพระตะบอง
ใน พ.ศ. 2379 เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ยกทัพออกไปเมืองพระตะบอง เห็นค่ายเมืองพระตะบองชำรุดทรุดโทรม จึงมีใบบอกเข้ามาขอก่อป้อมกำแพงสร้างเมืองพระตะบองใหม่ ดังที่หลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ว่า
“…ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชา ยกออกไปถึงเมืองพระตะบอง ณ วันเดือน 3 ขึ้น 5 ค่ำ แล้วบอกเข้ามาว่า ค่ายเมืองพระตะบองทำไว้แต่ก่อนยาว 23 เส้น 10 วา กว้าง 10 เส้น ชำรุดหักพังไปเป็นอันมาก ที่หน้าเมืองเก่าถึงฤดูน้ำฤดูฝนหน้าตลิ่งพัง จะขอทำอิฐเผาปูนก่อป้อมกำแพงเมืองสร้างเมืองขึ้นไปข้างเหนือน้ำที่เจ้าองค์อิ่มตั้งอยู่เป็นที่ดอนน้ำไม่ท่วมตลิ่งไม่พัง ขออย่างป้อมกำแพงออกไป ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท แล้วก็โปรดอนุญาตยอมให้ทำขึ้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึ่งกะเกณฑ์เลขหัวเมืองทำอิฐเผาปูนตระเตรียมไว้…
ลุศักราช 1199 เจ้าพระยาบดินทรเดชา กลับมาทำป้อมกำแพงเมืองพระตะบองยาวตามลำน้ำ 13 เส้น สกัดขึ้นไปบนบก 16 เส้น มีป้อม 6ป้อม…” [1]
รายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างเมืองพระตะบอง ปรากฏในจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เรื่อง “บันทึกจำนวนคนกรุงเทพฯ และหัวเมือง เกณฑ์ไปทำเมืองปัตบอง พ.ศ. 2380” กล่าวถึงการส่งพระสงฆ์ พราหมณ์ และโหร ไปสร้างเมืองพระตะบองว่า
“…วันเดือน 3 แรมค่ำหนึ่ง ให้หลวงบุรินทามาตย์คุมพระสงฆ์ คุมโหร คุมพราหมณ์และสิ่งของออกไปปัตบอง เป็นคนพราหมณ์พิธี พระครูหัสดาจารย์ 1 พราหมณ์มีชื่อ 8 เป็น 9 หมอเฒ่าหลวงอินทร์ฤๅไชย 1 พราหมณ์มีชื่อ 6 เป็น 7 เป็น 16 โหร ขุนพิชัยฤกษ์ ขุนโลกาทิตย์ ขุนพิทักษ์เทวา ขุนญาณประสิทธิ์ 4 คน (รวม) เป็น 20 คน กับคุมเอาเทียนชัยเล่ม 1 เสาหลักเมืองหลัก 1 ศิลารองลกแผ่น 1 แผ่นเงินชตาเมืองหลัก 1 แผ่นเงินปิดต้นเสา 1 แผ่นเงินปิด…1 เป็น 2 เป็น 3 แผ่นทองแดงอาถรรพณ์ใหญ่ 1 แผ่นศิลาอาถรรพณ์ใส่ป้อม 5 แผ่น ศิลาอาถรรพณ์ 8 ทิศ 8 ดวง รูปราชสีมาดวง 1 รูปช้างดวง 1 รูปเต่าดวง 1 เป็น 3” [2]
นอกจากนี้ยังปรากฏในจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เรื่อง “บันทึกรายการบอกขนาดเมืองพระตะบองเป็นต้น” ว่า
“เมืองปัตบองที่สร้าง กว้าง 12 เส้น ยาว 18 เส้น กำแพงสูง 8 ศอก หน้าต้น 2 ศอก 1 คืบ หน้าปลาย 2 ศอก ป้อมใหญ่มุม 2 ป้อม 8 เหลี่ยมๆ ละ 6 วา ป้อมมุม 2 ป้อม 7 เหลี่ยมๆ ละ 5 วา 5 เหลี่ยม เข้ากัน 4 ป้อมๆ กลาง 2 ป้อม ยาว 10 วา เหลี่ยม (ต้นฉบับขาด)…” [3]
เมื่อการก่อสร้างเมืองพระตะบองได้แล้วเสร็จ ในเดือน 4 พ.ศ. 2380 เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ได้ทำพิธีสงฆ์ พิธีพราหมณ์ ฝังอาถรรพ์ที่หลักเมือง เมื่อเดือน 4 ขึ้น 9 ค่ำ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม 2380 แล้วมีหนังสือเข้ามากราบทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ว่า
“…ครั้นมาถึงเดือน 4 เจ้าพระยาบดินทรเดชาบอกมาว่า การซึ่งสร้างเมืองพระตะบองได้ขุดคูรอบเมือง ถมดินเชิงเทินทำทุ่นต้นโกลน แล่นสายโซ่ไว้สำหรับขึงข้ามแม่น้ำไว้ที่หน้าป้อมแห่ง 1 แล้วปลูกศาลเจ้าหลักเมือง ฉางข้าว ตึกดิน ทำวังให้นักองค์อิ่มก่อกำแพงรอบ ครั้น ณ เดือน 4 ขึ้น 9 ค่ำ ได้ตั้งพิธีสงฆ์ พิธีพราหมณ์ ฝังอาถรรพ์ที่หลักเมือง อัญเชิญเทพยดาสถิตหลักเมือง สมโภชเวียนเทียนทำตามตำราจดหมายซึ่งโปรดออกไปทุกประการแล้ว…” [4]
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีตราตอบออกไปว่า “…เจ้าพระยาบดินทรเดชาสร้างป้อมกำแพงเมืองแล้วเสร็จในปี 1 ก็เป็นเกียรติยศแก่แผ่นดินสืบไป…ราชการญวนเขมรสงบอยู่ เจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว ก็ให้กลับเข้าไปแจ้งราชการ ณ กรุงเทพมหานคร…” [5]
เมืองพระตะบองที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) สร้างขึ้นนี้ใช้เวลาในการก่อสร้าง 1 ปี คือ ระหว่าง พ.ศ. 2379-80 เมื่อสร้างแล้วเสร็จได้ทำพิธีฝังอาถรรพ์หลักเมือง เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2380 สอดคล้องกับหลักฐานที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ “จารึกศาลเจ้าหลักเมืองพระตะบอง” ซึ่งกล่าวถึงการสร้างเมืองพระตะบองไว้เช่นเดียวกันดังจะได้กล่าวถึงต่อไป
จารึกเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ที่ผนังศาลเจ้าหลักเมืองพระตะบอง
จารึกผนังศาลเจ้าหลักเมืองพระตะบองเป็นจารึกที่ผนังศาลเจ้าหลักเมืองพระตะบอง ซึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ได้สร้างขึ้นในคราวเดียวกับการสร้างเมืองพระตะบอง เมื่อ พ.ศ. 2379-80 ดังความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ว่า
“…ครั้นมาถึงเดือน 4 เจ้าพระยาบดินทรเดชาบอกมาว่า การซึ่งสร้างเมืองพระตะบองได้ขุดคูรอบเมือง ถมดินเชิงเทินทำทุ่นต้นโกลน แล่นสายโซ่ไว้สำหรับขึงข้ามแม่น้ำไว้ที่หน้าป้อมแห่ง 1 แล้วปลูกศาลเจ้าหลักเมือง ฉางข้าว ตึกดิน ทำวังให้นักองค์อิ่มก่อกำแพงรอบ…” [6]
จารึกผนังศาลเจ้าหลักเมืองพระตะบองมีติดอยู่ที่ผนังด้านตะวันออก และผนังด้านตะวันตกของศาลเจ้าหลักเมืองพระตะบอง เป็นศิลาจารึกของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ส่วนผู้แต่งคือ หลวงลิขิตปรีชา เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล รูปแบบคำประพันธ์ที่พบเป็นโคลงสี่สุภาพ สลับกับกาพย์ฉบัง 16 ดังนี้
1. จารึกผนังศาลเจ้าหลักเมืองพระตะบอง ที่ผนังด้านตะวันออก
เนื้อความในจารึกผนังด้านตะวันออก กล่าวถึงชื่อผู้แต่งคำประพันธ์ คือ หลวงลิขิตปรีชา เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล จากนั้นจึงกล่าวถึงการสร้างป้อมต่างๆ 6 ป้อม ภายในเมืองพระตะบอง สอดคล้องกับหลักฐานที่ปรากฏในจดหมายเหตุและพระราชพงศาวดาร แต่มีการระบุรายชื่อป้อมทั้งหกปรากฏอยู่ด้วย คือ ป้อมนารายน์ ป้อมเสือ ป้อมหมี ป้อมราชสีห์ ป้อมนาคราช และป้อมราหู ซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญ เนื่องจากไม่ปรากฏรายชื่อป้อมเมืองพระตะบองในเอกสารอื่น ดังข้อความในจารึกที่ได้ยกมา
จารึกผนังศาลเจ้าหลักเมืองพระตะบองที่ผนังด้านตะวันออก
๏ อาลักษณ์ศักดิ์ยศพร้อง สมญา
หลวงลิขิตปรีชา ชื่ออ้าง
นิพนธ์สรรพ์พจนา โคลงพากย์ ฉันท์เอย
แนะตรนักนามป้อมสร้าง สฤษดิ์ไว้เปนเฉลิม ฯ
๏ ป้อมนารายน์นารายน์ทรง จักรแก้วฤทธิรงค์
ประหารประหัตดัษกร
๏ ป้อมเสือเสือร้ายแรงขจร ในด้าวดงดอน
จัตุบาทฤๅอาจเทียบทัน
๏ ป้อมหมีหมีสมรรถแข่งขัน รุกขชาติเตอบตัน
ขบเคี้ยวพินาศบัดใจ
๏ ป้อมราชสีห์สีหเกรียงไกร แผดเสียงดินไหว
มฤคม้วยชีพลาญ
๏ ป้อมนาคราชนาคราชร้ายราญ พิศม์เพียงเพลิงผลาญ
ฉกาจอำนาจเรืองรณ
๏ ป้อมราหูราหูผจญ สูงใหญ่ดำกล
ละเมฆอันตั้งบังไถง ฯ
๏ นารายน์เรืองสุรภาพด้วย เดชจักร
ล้างเหล่าปรปักษ์ ป่นสิ้น
ใครแลอาจทะนงศักดิ์ ศึกต่อ ท่านเฮย
ขว้างจักรตัดเศียรดิ้น รด่าวล้มกลางสนาม ฯ
๏ พยัฆเปิบปีบเปรี้ยง คำราม
พงพนัศพนรนาม สนั่นก้อง
หมู่มฤคแสยงขาม เขตสง่า
หวาดวะหวั่นจิตต้อง ตื่นเต้นเร้นหนี ฯ
๏ หมีสามรรถกลั่นแกล้ว เก่งกาจ
เหตุนักสิทธิประสาตร เวทให้
ยูงยางขบเคี้ยวขาด หักโค่น
ใครบอาจกรายใกล้ ขลาดกล้าสง่าหมี ฯ
๏ ราชสีห์มีเดชล้ำ สำเนียง
เผ่นแผดบันลือเสียง สัตว์ม้วย
ผิวะใครและไกรเกรียง จักต่อ ฤทธิ์ฤๅ
พลันพินาศชีพด้วย แผดหลั้นสนั่นไหว ฯ
๏ นาคราชมีพิษเหี้ยม คำแหง
นฤมิตรกายแปลง อื่นได้
อาจยังสัตรูแสยง ขยาตระย่อ พ่ายแฮ
ฤๅพักรบราญให้ เหนื่อยรี้พลทหาร ฯ
๏ ราหูอสูรร้าย แรงฤทธิ์
สูงใหญ่ดำมืดมิด ยิ่งพ้น
ไทยเทพทั่วทุกทิศ ท้อเดช ท่านเฮย
อำนาจฤทธิ์เลื่องล้น ศึกเสี้ยนสยบสยอน ฯ
จบผนังด้านตะวันออกแต่เพียงนี้
2. จารึกผนังศาลเจ้าหลักเมืองพระตะบอง ที่ผนังด้านตะวันตก
เนื้อความในจารึกผนังด้านตะวันตก กล่าวถึงเหตุของการสร้างเมืองพระตะบอง โดยกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) (น่าสังเกตว่า ในศิลาจารึกใช้คำว่า “ตู” แสดงว่าเป็นข้อความที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) บอกให้จารึก แต่หลวงลิขิตปรีชาเป็นผู้แต่งคำประพันธ์) มาสร้างไว้เพื่อป้องกันศัตรู จากนั้นเป็นการกล่าวอธิษฐานขอให้เทพยดาช่วยรักษาคุ้มครองเมืองนี้ ดังข้อความในจารึก คำอธิบายในเชิงอรรถเป็นของผู้เขียน ดังนี้
จารึกผนังศาลเจ้าหลักเมืองพระตะบองที่ผนังด้านตะวันตก
๏ปางปิ่นอดิศวร [7] ผู้ทรง ทศพิธธำรง
จารีตราชประเพณี
๏เฉลิมดิลกพิภพศรี อยุทธเยศบุรี
พระเกียรติเกริ่นธราดล
๏สถิตยพระโรงรัตนโสภณ พร้อมหมู่มุขมน–
ตรีชุลีกรเดียรดาษ
๏บัดเอื้อนราโชยงการประภาษ สั่งตู [8] ข้าบาท
ผู้รองเบื้องมุลิกา
๏ เนาตำแหน่งนิตย์สมุหนา– ยกอรรคมหา
บดีเผด็จราชการ
๏ ให้มาสฤษดิบูรีฤๅนาน กำพุชสถาน
มีนามบัญญัติปัดตะบอง
๏ พร้อมพรั่งพหลพลผอง จัดเปนหมวดกอง
ระดมประจำทำงาน
๏ เร่งกอปรก่อป้อมปราการ เชิงเทอญทวาร
หอรบและคูธารา
๏ ไพรบูลย์สุนทรภาพโสภา คลังกระสุนปืนยา
ศาลาอารักษ์หลักนคร
๏ สร้างสรรค์เพื่อกันดัษกร ทุกทิศาจร
บให้มะเอื้อมมะอาจองค์
๏ หวังผดุงพุทธศาสนให้คง ถาวรธำรง
จิรถีฎิกาลนานมี
๏ หนึ่งตูนิยมย์ยินดี รงงสฤษดิบุรี
ดิเรกเรื่อไพบูลย์
๏ ปองประโยชน์โพธิญาณเป็นมูล หมายมิ่งอนุกูล
นุเคราะห์แก่สัตว์นิกร
๏ กำหนดกิจสำฤทธิ์นคร เสร็จพร้อมบวร
ฉดึงษดิถีสังขยา
๏บริเฉทกาลจันทวา ระเจตมาสา
ศุกระปักษบัณรัศะมี
๏เถลิงจุลศักราชวิธี พันสองร้อยปี
จอสัมฤทธิศกเสร็จสรรพ [9]
๏ข้าขออมรเทพยเทวัญ ทุกช่องสรวงสวรรค์
พิมานมาศอากาศสถาน
๏คือท้าวจัตุภักตร์ [10] มัฆวาร [11] จัตุโลกยบริบาล [12]
อันทรงมหันตเหลือหลาย
๏อีกวงษอิศวรนารายน์ พุทธขิเนตรขินาย [13]
แลสราอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์
๏เสื้อเมืองทรงเมืองเรืองฤทธิ์ ภูมพฤกษทุกทิศ
ล้วนมีสุระภาพศักดา
๏ จงช่วยบริรักษ์พารา เขตรขันทสิมา
สมเด็จนฤนารถจักรี
๏ อย่าให้อรินราชไพรี รันทำย่ำยี
ด้วยอำนาจมอาจทะนงใจ
๏ อนึ่งขออมรเทพย์ไทย คุ้มครองป้องไภย
ซึ่งตูผู้ปองโพธิญาณ
๏ เสร็จคำร่ำประกาศอธิฐาน เทพย์จงบันดาล
ประสิทธิสัมฤทธิบริบูรณ์
จบผนังด้านตะวันตกแต่เพียงนี้
ข้อความในจารึกดังกล่าว ขุนวิทยานุกูลกระวีเป็นผู้บันทึกไว้ เมื่อเดินทางไปเมืองพระตะบองใน จ.ศ. 1244/พ.ศ. 2425 แล้วได้คัดลอกจารึกนี้ไว้ท้ายจดหมายเหตุระยะทางรายวันไปพระตะบอง ดังมีความตอนท้ายเรื่องว่า
“…โคลงแลฉันท์นี้ ได้จาฤกไว้ที่ผนังศาลเจ้าหลักเมืองพระตบอง ที่กลางเมือง ข้าพระพุทธเจ้า ขุนวิทยานุกูลกระวีมาด้วยราชการที่เมืองนี้ได้อ่านดู เห็นว่าเป็นของแต่ครั้งเจ้าพระยาบดินทรเดชา ได้มาสร้างเมืองนี้ จึงได้คัดลอกเอามาไว้เพื่อเป็นที่รฤก ถึงท่านผู้ที่ได้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณมาแต่ก่อน แลที่ข้าพระพุทธเจ้าได้มาฉลองพระเดชพระคุณในเที่ยวนี้ด้วย
ตั้งแต่ ณ วัน 4 ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 12 ปีมเมีย จัตวาศก 1244 (พ.ศ. 2425)” [14]
เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) สร้างเมืองพระตะบองในเอกสารกัมพูชา
นอกจากเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) สร้างเมืองพระตะบองจะปรากฏหลักฐานในเอกสารต่างๆ ของไทย รวมทั้งในศิลาจารึกดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) สร้างเมืองพระตะบอง ยังเป็นที่รับรู้และเล่าขานสืบทอดในความทรงจำของชาวกัมพูชาด้วย โดยเฉพาะชาวเมืองพระตะบอง ดังที่ปรากฏในหนังสือ “พระตะบอง” สมัยท่านเจ้า (บาต่ฎํบง สมัยโลกมฺจาส่) ผลงานของ โตว์จ ฌวง ที่ได้กล่าวถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) สร้างเมืองพระตะบอง ไว้ว่า
“…สยามกังวลมากเกี่ยวกับการแทรกซึมของญวนที่พระตะบองซึ่งเป็นประตูของประเทศ สยามจึงจัดเจ้าพระยาบดินทรเดชา เรียกว่า เจ้าพระยาบดินทร์ หรือท่านเจ้าคุณ ให้จัดแจงเมืองพระตะบอง เกี่ยวเนื่องกับการรบกวนของกองทัพญวนเป็นเหตุ ในระหว่างปี ค.ศ. 1838 ในการจัดแจงเมืองพระตะบองนี้ สยามได้เข้ามาสร้างกำแพงหนึ่งทำจากอิฐโบกปูนขาว มีความยาว 18 เส้น กว้าง 12 เส้น ชาวเมืองเรียกกำแพงปราการนี้ตามสยามว่า กำแพงสูง (กำแปงขปัวะส์) หรือกำแพง ซึ่งแปลว่า กำแพง ได้บัญชาซื้อปืนใหญ่เป็นจำนวนมากจากประเทศอังกฤษ เพื่อการป้องกันกำแพงนี้
อีกประการหนึ่งได้กั้นแม่น้ำเก่า คือ โอร์ฏำบอง ให้ไหลแต่ทางเดียว มาหาแม่น้ำสังแก ซึ่งไหลตัดที่ประชุมชนพระตะบองนี้ เขาได้บรรจุอาคมคาถาในแม่น้ำ ตรงกำพงสีมาที่ข้างบนและเปียมสีมาที่ข้างล่าง เขาถมหินหลักใหญ่ๆ อยู่รอบเมืองเพื่อป้องกันสัตว์ร้ายและศึกศัตรูต่างๆ ในการจัดแจงเมืองนี้ สยามได้เกณฑ์ทั้งตั้งแต่ที่ราบสูงนครราชสีมามา ทัพสยามในเวลานั้นร้ายกาจมาก เดินฆ่าฟันปล้นทรัพย์สมบัติชาวเมือง เพื่อให้ราษฎรเขมรกลัวอย่างหนัก…” [15]
“…หลังจากเจ้าพญาอภัยธิเบศ (รส) ถึงแก่อนิจกรรมไปนั้น พระเจ้าสยามเหมือนกับไม่อยากให้ครอบครัวเจ้าฟ้าแบนถืออำนาจอยู่ที่พระตะบองอีกแล้ว
พระเจ้าสยามได้ตั้งพระองค์อิ่ม ซึ่งเป็นกษัตริย์เขมรที่ปลีกตัวไปเมืองสยาม ให้มากำกับเมืองพระตะบอง
พระเจ้าสยามได้จัดเจ้าพญาบดินทร์ ให้มาก่อสร้างกำแพงค่ายที่พระตะบอง ตามเอกสารบางแห่งว่า พระองค์อิ่มได้สร้างค่ายหนึ่งเสร็จแล้ว แต่ค่ายนั้นเป็นค่ายทำจากไม้แซมกระดาน แล้วน้ำท่วมในฤดูฝน ดังนั้นในปี 1837 เจ้าพญาบดินทร์ ได้มาสถาปนาค่ายอีกค่ายหนึ่ง ซึ่งอยู่ทางเหนือน้ำพ้นจากน้ำหลาก ค่ายใหม่นี้มีกำแพงอิฐโบกปูนอย่างแข็งแรงมั่นคง ชาวเมืองเรียกค่ายนี้ว่า ‘กำแพง’ ตามคำสยามซึ่งแปลว่า ‘กำแพง’ กำแพงนี้มี 2 ชั้น คือ กำแพงสูง และกำแพงแก้ว
ก. กำแพงสูง
เป็นป้อมปราการหนึ่งที่สูงและแข็งแรง ทำจากอิฐโบกปูนมีลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า เอกสารจำนวนมากกล่าวต่างๆ กันเกี่ยวกับขนาดของกำแพงสูงนี้ แต่เอกสารของพระครูสิริสัตถา (แก้ว) มีความเหมาะสมที่สุด และกล่าวว่า กำแพงนี้มีความยาว 18 เส้น กว้าง 12 เส้น สูง 5 ศอก หนา 2 ศอก 1 คืบ
กำแพงสูงนี้มีพรมแดนทางเหนือติดกับทางระหว่างไปรษณีย์ กับโรงงานไฟฟ้า ทางตะวันออกติดกับถนนหมายเลข 1 ทางใต้ถึงตรงโรงเลื่อยไม้ โฮตงฮัน (หู ตุง หาน่) ทางตะวันตกเลียบตามด้านหลังวัดกำแพงปัจจุบันไปทางเหนือ
มองจากข้างนอก กำแพงสูงนี้เป็นผนังสูงชัน แต่จากข้างใน เขาพูนดินให้ลาดบรรจบกับผนังสำหรับให้คนป้องกันค่ายขึ้นมาต่อต้านกับศัตรูได้โดยง่าย ที่บนดินลาดนี้เขาปลูกแต่ต้นจำปาแดง กำแพงมีประตู 6 ประตู คือ ทางตะวันออกมี 2 ประตู ทางตะวันตกมี 2 ประตู ทางเหนือและทางใต้มีอย่างละ 1 ประตู กำแพงนี้มีป้อม 6 ป้อม ซึ่งเพียงแต่เป็นที่สูงเสมอกำแพง แต่ยื่นออกมาข้างนอกเล็กน้อยอยู่ตามมุม และอยู่ตรงกลางทางตะวันออกและทางตะวันตก ป้อมเป็นที่ตั้งปืนใหญ่ ที่ป้อมกลางทางตะวันออก มีเสาธงสูง ชักธงสีแดงมีรูปช้างเผือกอยู่ตรงกลาง คือธงชาติสยามในเวลานั้น
หันมาหาแม่น้ำทางด้านตะวันออก กำแพงมีประตู 2 ประตู แห่งหนึ่งอยู่ระหว่างศาลากลางจังหวัดกับที่ว่าการอำเภอสังแกทุกวันนี้ อีกแห่งหนึ่งอยู่ตรงหน้าวัดกำแพง ถ้าเข้าตามประตูทั้งสองนี้ไปข้างใน จะเห็นปืนใหญ่ตั้งอยู่บนล้อ ซึ่งสามารถเข็นขึ้นเข็นลงได้ วางอยู่ในโรงแห่งหนึ่ง ปืนใหญ่ทั้งสองนี้เองซึ่งเอามาวางตั้งอยู่หน้าโรงแรมจังหวัดทุกวันนี้…
ข้างในกำแพงสูงตรงบริเวณโรงแรมจังหวัดทุกวันนี้มีกำแพงอิฐอีก 1 ชั้น ล้อมที่อยู่ของท่านเจ้า เรียกว่า กำแพงแก้ว ทางเหนือของกำแพงแก้ว มีตึก มีบ้านไม้ใหญ่ๆ จำนวนมาก ซึ่งเป็นที่อยู่พี่น้องท่านเจ้า มีคุณเจ้าขลิบเป็นต้น ทางตะวันตกของกำแพงแก้ว มีคลังปืนและลูกกระสูนปืน คลังข้าวและระแทะสาลี ทางใต้ของกำแพงแก้วมีบ้านชาวเมืองปะปนกัน มีบ้านเสมียนตราเป็นต้น
เลยไปทางใต้เล็กน้อย คือวัดกำแพง วัดกำแพงนี้สถาปนาโดยคุณหญิงทิม ซึ่งเป็นคุณหญิงของท่านเจ้าคทาธร (ญุญ) และเป็นแม่ของท่านเจ้าชุ่มนี้ ด้วยเหตุนี้วัดกำแพงจึงมีชื่อว่า วัดเทพทิมราชนิเวศ วัดกำแพง เดิมตั้งอยู่ตรงทิศใต้โรงเรียนทุกวันนี้ มีพระวิหารประดับด้วยลวดลายอย่างประณีต มีนาคล้อมเสาตั้งแต่ดินไปถึงหลังคา ทางเหนือของพระวิหาร มีเจดีย์ซึ่งมียอดแหลม เป็นเจดีย์พระอรหันตธาตุ สถาปนาตั้งแต่เวลาทำกำแพงในระหว่างปี 1837 นั้น…” [16]
นอกจากเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) จะได้สร้างเมืองพระตะบองใหม่แล้ว ยังได้สร้างวัดไว้ที่เมืองพระตะบองแห่งหนึ่งในบริเวณที่ตั้งทัพ มีชื่อว่า “วัดปราบปรามปัจจามิตร” แต่ชาวเมืองพระตะบองส่วนใหญ่รู้จักในชื่อ “วัดกโดล (วตฺตกฺฎุล)” ดังความในหนังสือ “พระตะบอง” สมัยท่านเจ้า (บาต่ฎํบง สมัยโลกมฺจาส่) ของ โตว์จ ฌวง ว่า
“…วัดกโดลเป็นวัดโบราณ มีกำเนิดในสมัยนั้นด้วย แต่เดิมวัดนี้เป็นที่ตั้งค่ายของเจ้าพญาบดินทร์ แต่ภายหลังได้อุทิศที่ดินนี้ถวายพระพุทธศาสนา เพื่อสร้างวัดอารามแห่งหนึ่งชื่อว่า ‘วัดปราบปรามปัจจามิตร’ เขาสังเกตเห็นมีเหลือเจดีย์ ข้างหลังพระวิหาร ในลักษณะการตกแต่งที่แปลกแตกต่างจากวัดอื่นๆ ในจังหวัด (พระตะบอง)…” [17]
เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ตั้งเมืองมงคลบุรี
เมืองมงคลบุรี เป็นเมืองที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นใหม่ในเส้นทางการเดินทัพไปยังเมืองพระตะบอง ดังปรากฏหลักฐานว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ยกทัพไปรบกับเวียดนามในสงครามอานามสยามยุทธ์นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ด้วง (นักองค์ด้วง) พระโอรสสมเด็จพระนารายณ์ราชารามาธิบดี (พระองค์เอง) เสด็จมาปกครองเมืองมงคลบุรี ในเวลาเดียวกันกับที่โปรดเกล้าฯ ให้พระองค์อิ่ม (นักองค์อิ่ม) ออกมาเป็นเจ้าเมืองพระตะบอง ใน พ.ศ. 2376
เนื่องจากในเวลานั้นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ถึงแก่อสัญกรรม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้พระองค์อิ่มเป็นผู้ว่าราชการเมืองพระตะบอง และให้พระองค์ด้วงไปว่าราชการเมืองมงคลบุรี [18] ดังความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ว่า
“…ฝ่ายราชการข้างเมืองเขมร รับสั่งให้มีตราออกไปถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชาว่า พระยาอภัยภูเบศรเจ้าเมืองพระตะบองถึงแก่อสัญกรรมแล้ว จะตั้งแต่งกรมการผู้ใหญ่ขึ้นเป็นเจ้าเมืองก็จะได้ แต่ทรงเห็นว่านักองค์อิ่ม นักองค์ด้วง เป็นเชื้อสายเจ้านายเขมรอยู่ที่นั้นแล้ว ก็ควรจะยกย่องขึ้นให้เป็นผู้ว่าราชการเมืองต่อไป จะได้เป็นที่นับถือพวกเขมร โปรดให้นักองค์อิ่มเป็นผู้ว่าราชการเมืองพระตะบอง นักองค์ด้วงไปว่าราชการเมืองมงคลบุรี…” [19]
พระองค์ด้วงปกครองเมืองมงคลบุรีระหว่าง พ.ศ. 2376-80 ใน พ.ศ. 2377 ที่พระองค์ด้วงประทับอยู่ที่เมืองมงคลบุรี นักมนางแปนได้ประสูติพระโอรสคือ “พระองค์เจ้าจรอฬึง” (ต่อมาคือ พระองค์ราชาวดี และขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร) เมื่อวันเสาร์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 3 ปีมะแม ตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2377 ที่ตำหนักหลวง ในเมืองมงคลบุรี (ปัจจุบันคือ อำเภอมงคลบุรี จังหวัดบันทายมีชัย) [20]
ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2380 ขุนนางไทยที่เมืองพระตะบองได้รายงานไปกรุงเทพฯ ว่าพระองค์ด้วงกับขุนนางเขมรบางคนได้ร่วมกันเกลี้ยกล่อมชาวเมืองพระตะบองให้อพยพไปอยู่ที่พนมเปญ ทางกรุงเทพฯ ได้ทราบเรื่องจึงให้คุมตัวพระองค์ด้วงเข้ามากรุงเทพมหานคร รวมเวลาที่พระองค์ด้วงเป็นเจ้าเมืองมงคลบุรีอยู่ประมาณ 4 ปี
บริเวณที่ตั้งของตำหนักหลวงที่พระองค์ด้วง (ต่อมาคือ สมเด็จพระหริรักษรามาอิศราธิบดี) ประทับในระหว่างที่ปกครองเมืองมงคลบุรี ระหว่าง พ.ศ. 2376-80 ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดหลวง หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วัดหลวงสีสุวัตถิ์รตนาราม” ในหมู่บ้านภูมิหลวง (ภูมิหฺลฺวง) ตำบลรึเซ็ยโกรก (ฆุมฺฤสฺสีโกฺรก) อำเภอมงคลบุรี (สฺรุกมงฺคลบุรี) จังหวัดบันทายมีชัย (เขตฺตบนฺทายมานชัย) สำหรับสาเหตุที่บริเวณนั้นได้ชื่อว่า “โพธิหลวง” เนื่องมาจากมีตำนานว่า
“…ในเวลาที่พระองค์จรอฬึง (พระองค์ราชาวดี หรือ สมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร) ประสูติ คนใช้ได้นำรกไปฝัง ไม่กี่วันก็เกิดเหตุอัศจรรย์ ด้วยมีต้นโพธิขึ้นในที่ฝังรกนั้น ชาวเมืองมงคลบุรีจึงพากันเรียกว่า ‘โพธิหลวง’ มีความหมายว่า โพธิพระราชา หรือ โพธิเสด็จ (กษัตริย์) เรื่อยมา…” [21]
สำหรับวัดหลวง วัดโพธิหลวง หรือชื่อเต็มว่า “วัดหลวงสีสุวัตถิ์รตนาราม” ตั้งอยู่ริมฝั่งข้างหนึ่งของแม่น้ำมงคลบุรี วัดนี้ได้สร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ เมื่อ พ.ศ. 2462 ดังปรากฏข้อความจารึกที่ผ้าทิพย์ของพระประธานภายในพระวิหาร (พระอุโบสถ) ของวัดหลวงสีสุวัตถิ์รตนาราม ซึ่งแปลได้ความว่า
“พระบาทสีสุวัตถิ์จอมจักรพงศ์บรมบพิตรเจ้าชีวีตทรงมีพระราชศรัทธาสร้างพระวิหารนี้ ได้อนุญาตให้พระครูปริยัติธรรมพร้อมด้วยญาติโยมทุกคนได้ยกพระวิหารในวันพฤหัสบดี เดือน 6 ขึ้น 9 ค่ำ ปีมะแม เอกศก 1281 พระศาสนาได้ 2462 สร้างพระพุทธรูปองค์ธม (ใหญ่) ในวันพฤหัสบดี เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีระกา ตรีศก 1283 พระศาสนาได้ 2464 ฯ พระวัสสาฯ” [22]
ลักษณะเด่นที่แสดงให้เห็นว่าวัดนี้สร้างขึ้นโดยพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ คือ หน้าบันของพระวิหาร (พระอุโบสถ) มีลวดลายสลักแกะไม้ปิดทองเป็นตราอาร์มพระมหากษัตริย์กัมพูชา ประกอบด้วยพระมหามงกุฎ พานวางพระขรรค์ราชย์ ด้านซ้ายมีคชสีห์และฉัตร 5 ชั้น ด้านขวามีภาพราชสีห์และฉัตร 5 ชั้น ถัดลงมาด้านล่างมีข้อความว่า “พระพุทธศาสนาได้ 2462 วัน 5ฯ [9] 6 ปีมะแมเอกศก 1231”
เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ตั้งเมืองศรีโสภณ
หลักฐานเกี่ยวกับการตั้งชุมชนเป็น “เมืองศรีโสภณ” ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หลังสงครามคราวปราบเจ้าอนุวงศ์ เมื่อ พ.ศ. 2369 เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ได้กวาดต้อนครัวเมืองเวียงจันทน์และเมืองขึ้น พร้อมทั้งเมืองอื่นๆ ลงมากรุงเทพฯ แล้วขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อยู่ตามเมืองต่างๆ หลายเมือง
ในจำนวนนั้นมีผู้คนชาวลาวได้ยกมาตั้งถิ่นฐานเป็นหมู่บ้านน้อยใหญ่หลายแห่งในบริเวณเมืองศรีโสภณ ลาวกลุ่มนี้เป็นกลุ่มลาวญ้อ ซึ่งอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านพนมบัก หมู่บ้านน้อย หมู่บ้านตึกทลา หมู่บ้านโอว์อ็อมเบิล จังหวัดบันทายมีชัย เป็นต้น [23] รวมทั้งที่บ้านสวายด้วย เนื่องจากที่ตั้งของบ้านสวายอยู่ติดภูเขาพนมสวายและแม่น้ำสวาย
นอกจากนี้ในหนังสือกลุ่มชนชาติส่วนน้อยในกัมพูชา ได้กล่าวถึงประวัติของ “ชาวลาวญ้อ” ในเมืองศรีโสภณ (บันทายมีชัย) ว่า
“…ถ้าเชื่อมโยงกับหลักฐานประวัติศาสตร์ การมาตั้งที่อยู่ของชาวลาวในบันทายมีชัยเกิดจากสงครามระหว่างสยามกับลาว Jana Raendchen ได้ทำให้ทราบว่า ‘ในเวลารบกัน กองทัพสยามได้จับตัวเจ้าอนุวงศ์ประหารชีวิต ส่วนกรุงเวียงจันท์ถูกทำลายทั้งเมืองในเวลานั้นด้วย แล้วประชาราษฎร์อย่างน้อยจำนวน 100,000 คน ถูกกวาดต้อนเอาออกจากฝั่งตะวันออกให้มาอยู่ฝั่งตะวันตกแม่น้ำโขง’ ส่วนนาย Volker Grabowsky ได้กล่าวว่า
…เราเห็นมีชนชาติลาวนับแสนคน ซึ่งอาศัยอยู่กว่า 20 หมู่บ้านทางภาคเหนือของจังหวัดพระตะบอง…แต่ไม่มีความชัดเจนว่า พวกเขาอพยพมาเองในต้นศตวรรษที่ 18 หรือพวกเขาหนีออกมาเนื่องจากความวุ่นวายในภาคกลาง และภาคใต้ของประเทศลาวในสมัยนั้น หรือว่าพวกเขาเป็นคนที่รับเคราะห์จากการกวาดต้อนเป็นยุทธศาสตร์ของสยาม เพื่อรบกับเวียงจันท์ในปี 1828-1829 นั้นเลย…” [24]
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากประวัติของกลุ่มชาวลาวที่อพยพมาตั้งชุมชนในสมัยรัชกาลที่ 3 ตามเส้นทางเดินทัพไปกัมพูชาแล้ว พบว่า กลุ่ม “ลาวญ้อ” ในศรีโสภณ (บันทายมีชัย) เป็นกลุ่มเดียวกับ “ญ้อ” ในอรัญประเทศนั่นเอง แสดงว่า กลุ่มลาวญ้อในเมืองศรีโสภณน่าจะเป็นกลุ่มที่อพยพมาพร้อมกันนั่นเอง
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองศรีโสภณขึ้น ดังที่ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ว่า
“…ได้ยกบ้านขึ้นเป็นเมืองก็หลายตำบล เมืองขึ้นมหาดไทย บ้านกบแจะยกขึ้นเป็นเมืองประจันตคาม 1 ยกด่านหนุมานขึ้นเป็นเมืองกระบิลบุรี 1 บ้านหินแร่ยกขึ้นเป็นเมืองอรัญประเทศ 1 บ้านทุ่งแขยกขึ้นเป็นเมืองวัฒนานคร1 บ้านสวายเป็นเมืองศรีโสภณ 1…” [25]
สอดคล้องกับที่ เอเจียน อายโมนิเยร์ (Etienne Aymonier) บันทึกไว้ว่า “เมืองซึ่งชาวกัมพูชาเรียกว่า ‘สวาย (มะม่วง)’ เป็นเมืองขึ้นของพระตะบองซึ่งเจ้าคุณบดินทร์ [26]ขุนนางผู้ใหญ่ชาวสยาม ได้ตั้งขึ้นเป็นเมืองใน ค.ศ. 1846 (พ.ศ. 2389) โดยขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเมืองนี้จึงได้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า ศรีโสภณ…” [27]
นอกจากนี้ยังกล่าวว่า “ใน ค.ศ. 1845 (พ.ศ. 2388) เจ้าพระยาบดินทรเดชาสร้างถนนจากตะวันตกไปยังตะวันออก จากวัฒนาไปยังเมืองศรีโสภณ…” [28]
จากหลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้กระทั่งในสมัยที่ เอเจียน อายโมนิเยร์ เดินทางเข้าไปที่ศรีโสภณยังคงได้ทราบประวัติของเมืองนี้อยู่สอดคล้องกับหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ว่า เมืองศรีโสภณสถาปนาขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่จากบันทึกนี้เองที่ทำให้ทราบว่าเมืองศรีโสภณตั้งขึ้นโดยเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ใน พ.ศ. 2389 สอดคล้องกับหลักฐานอื่นๆ โดยเฉพาะจดหมายเหตุสมัยรัชกาลที่ 3
อ่านเพิ่มเติม :
- เกร็ดประวัติ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เคยต้องโทษเป็นกบฏต่อแผ่นดิน
- กลรบเจ้าพระยาบดินทร์ หลอกญวนระหว่างถอยทัพโดยวิธีอันแยบคาย
- เจ้าพระยาบดินทร์ (สิงห์) เฆี่ยนลูกที่ลอบขายฝิ่น “ตายก็ช่างมัน จะได้ไปเกิดใหม่เป็นคนดีๆ”
เชิงอรรถ :
[1] เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. (กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2538), น. 70.
[2] กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 12. (กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2549), น. 688.
[3] เรื่องเดียวกัน, น. 689.
[4] เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. น. 74.
[5] เรื่องเดียวกัน, น. 75.
[6] เรื่องเดียวกัน, น. 74.
[7] หมายถึง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (ผู้เขียน)
[8] คำว่า “ตู” ในที่นี้หมายถึง เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ดังนั้นศิลาจารึกนี้จึงน่าจะเป็นศิลาจารึกที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ให้ทำขึ้น จึงใช้คำว่า “ตู” แทนสรรพนามบุรุษที่ 1 หมายถึง ตัวเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เอง (ผู้เขียน)
[9] หมายถึง วันเวลาที่สร้างเมืองพระตะบองเสร็จ คือ วันจันทร์ เดือนเจตร (เดือน 5) ขึ้น 15 ค่ำ จุลศักราช 1200 ปีจอ สัมฤทธิศก ตรงกับวันที่ 9 เมษายน 2381 (ผู้เขียน)
[10] หมายถึง พระพรหม (ผู้เขียน)
[11] หมายถึง พระอินทร์ (ผู้เขียน)
[12] หมายถึง ท้าวจตุโลกบาล ประกอบด้วย ท้าวธตรฐ ท้าวเวสวัณ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ (ผู้เขียน)
[13] หมายถึง พระพิฆเนศวร (ผู้เขียน)
[14] ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. สามเจ้าพระยา. (พระนคร : อาศรมอักษร, 2505), น. 258.
[15] แปลจาก โตว์จ ฌวง (ตูจ ฌวง). บาต่ฎํบง สมัยโลกมฺจาส่. (หาไว มชฺฌมณฺฑลเอกสารสฺราวชฺราวอารฺยธรฺมแขฺมร, 1994). น. 20-21.
[16] เรื่องเดียวกัน, น. 192-196.
[17] เรื่องเดียวกัน, น. 171-172.
[18] เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. น. 60.
[19] เรื่องเดียวกัน.
[20] ฉาย สุผล. อำณาจ นึงราชบลฺลังฺกไนมหากฺสตฺรแขฺมรแส องฺคฑวง นโรตฺตม สีสุวตฺถิ. (ภฺนํเพญ, 2015), น. 61.
[21] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
[22] แปลโดยผู้เขียน จากข้อความในจารึก ตามที่ได้เดินทางไปเก็บข้อมูลเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2558
[23] มชฺฌมณฺฎฑลสํราบ่การสิกฺสาสฺราวชฺราวชาน่ขฺพส่. กฺรุมชนชาติภาคติจเนากมฺพุชา. (ภฺนํเพญ คฺรึะสฺถานเบาะพุมฺพผฺสายสาสฺตฺรา, 2009), น. 641.
[24] เรื่องเดียวกัน, น. 642.
[25] เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. น. 149.
[26] เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์)
[27] Etienne Aymonier. Khmer Heritage in the Old Siamese Provinces of Cambodia. (Bangkok : White Lotus, 1999), p. 27.
[28] Ibid., p. 29.
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สร้างเมืองใหม่ในกัมพูชา” เขียนโดย รศ.ดร. ศานติ ภักดีคำ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2560
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ธันวาคม 2562