เกร็ดประวัติ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เคยต้องโทษเป็นกบฏต่อแผ่นดิน

เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขุนนางที่ทรงอำนาจมากคนหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการทำสงครามกับลาว และญวณ หรือ “อานามสยามยุทธ” แต่กว่าที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีที่สมุหนายกได้นั้น ท่านเคยต้องโทษเป็นกบฏต่อแผ่นดินมาแล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อจุลศักราช 1185 (พ.ศ. 2366) ขณะที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา มียศเป็น “พระยาเกษตรรักษา” (นอกราชการ) นั้น ได้มีโจทก์ยื่นเรื่องฟ้องกล่าวโทษว่า “พระยาเกษตรนอกราชการ ไปตั้งทำนาอยู่ที่ตำบลบางยี่โท ในแควแม่น้ำสีกุกแขวงกรุงเก่า ปลูกโรงใหญ่โตล้อมด้วยไม้ไผ่ทั้งลำ ทำท่วงทีเหมือนจะตั้งค่ายคูประตูหอรบครบบริบูรณ์ พูนโคกขุดคูทำสนามเพลาะเป็นเชิงศึกสงคราม แล้วเกลี้ยกล่อมผู้คนไว้ในอำนาจตนมาก ทั้งตั้งซ่องสุมประชุมผู้คนร้ายไว้มากเกินปรกติทำนา ทั้งหาเครื่องศาสตราวุธสะสมไว้มาก และตั้งซื้อโคกระบือของโจรผู้ร้าย ไว้เป็นพาหนะมากกว่าธรรมทำนา กระทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ด้วยโคกระบือหายตามไม่ได้ สรรพเหตุที่กล่าวหามานี้ เป็นทีเหมือนพระยาเกษตรรักษาจะคิดประทุษฐร้ายต่อแผ่นดิน…”

เมื่อรัชกาลที่ 2 ทรงได้รับรายงานดังกล่าว ทรงมีพระราชวินิจฉัยไม่ทรงเชื่อถือถ้อยคำของโจทก์ แต่ทรงมีพระราชดำรัสว่า “โจทก์กล่าวหาเป็นความอาชญาแผ่นดิน จำจะต้องให้มีตุลาการพิจารณาต่อไป ให้ได้ความเท็จและจริง” จากนั้น โปรดเกล้าฯ ให้ “เจ้ากรมปลัดกรมพระตำรวจ” คุมตัวพระยาเกษตรรักษาจำอยู่ในที่คุมขัง ที่ในทิมตำรวจตั้งอยู่ริมกำแพงด้านเหนือของวัดพระแก้ว ในระหว่างนี้ก็จะมีการพิจารณาชำระความ สืบพยานแล้วก็หาได้ความชัดเจนไม่ แต่ระหว่างนั้นก็มีเหตุวุ่นวายเกิดแทรกขึ้นมาอีก

กล่าวคือ บ่าวของพระยาเกษตรรักษามารายงานผู้เป็นนายว่า ท่านผู้หญิงฟักมารดาของท่านถึงแก่กรรม พระยาเกษตรรักษาจึงใช้ผู้คุมไปกราบเรียนเจ้ากรมปลัดกรมพระตำรวจว่า จะขอความกรุณาอนุญาตออกจากตะรางไปอาบน้ำศพมารดา

เจ้ากรมปลัดกรมพระตำรวจก็เกิดรู้สึกสังเวชแก่เพื่อนมนุษย์ที่มีความกตัญญูต่อบิดามารดา หาได้คิดว่าจะมีความผิดต่อทางราชการไม่ จึงมีคำสั่งอนุญาตแล้วให้ “หมื่นหาญ” ผู้คุมใหญ่ คุมตัวพระยาเกษตรรักษาออกจากตะรางกลับไปบ้านเพื่อร่วมงานศพมารดา

เรื่องนี้ทราบถึง “นายเถื่อน” มหาดเล็กผู้มีหน้าที่รายงานกำกับศาลรับสั่งกรมพระตำรวจทั้ง 8 ศาล จึงใช้ให้คนไปตามหมื่นหาญมาไต่ถามว่า “เหตุใดเจ้าจึงพาพระยาเกษตรออกไปจากทิมตะรางทำให้ผิดต่อทางราชการ เจ้าหาได้บอกกล่าวให้ข้าทราบด้วยไม่” หมื่นหาญตอบว่า “เกล้ากระผมเป็นผู้คุมอยู่ในใต้บังคับเจ้ากรมปลัด ๆ มีคำสั่งให้เกล้าผมพาพระยาเกษตร ไปอาบน้ำศพมารดาที่บ้านพระยาเกษตร เกล้ากระผมเป็นผู้น้อยก็ต้องประพฤติตามคำสั่งท่านผู้ใหญ่ การจะควรประการใดสุดแล้วแต่จะโปรดเถิด” นายเถื่อนจึงตอบไปว่า “ตัวเจ้ามีความผิดล่วงละเมิดราชการ สมควรจะต้องรับราชอาญาเฆี่ยนหลังสั่งสอนเสีย 30 ที”

หมื่นหาญก็โดนเฆี่ยนตามโทษ แล้วนายเถื่อนก็ใช้ให้เสมียนเขียนรายงานเหตุการณ์ เตรียมนำขึ้นกราบบังคมทูลให้รัชกาลที่ 2 ทรงทราบเมื่อจะเสด็จออกว่าราชการในช่วงค่ำ ขณะที่หมื่นหาญก็รีบไปแจ้งเรื่องต่อเจ้ากรมปลัดกรมพระตำรวจ ท่านเจ้ากรมก็เกิดตกใจกลัวในอำนาจของนายเถื่อน เพราะนายเถื่อนผู้นี้เป็นมหาดเล็กคนโปรดของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยต่างพระเนตรพระกรรณ มีอำนาจวาสนามาก

เจ้ากรมปลัดกรมพระตำรวจจึงรีบออกคำสั่งให้นำตัวพระยาเกษตรรักษากลับมาขังไว้ในตะรางดังเก่า ขณะนั้นพระยาเกษตรรักษาอาบน้ำศพมารดาแล้ว แต่ยังไม่ทันจะนำศพลงหีบ ตกใจกลัวราชทัณฑ์ก็รีบกลับเข้ามาอยู่ในตะรางดังเดิม

พระยาเกษตรรักษาก็คิดแก้ไขเรื่องนี้โดยการติดสินบนนายเถื่อน ใช้ให้คนไปพูดจาเกลี้ยกล่อมว่า “ขอความกรุณาอย่านำความรายนี้ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาเลย ให้งดไว้ จะให้เงินตรา 5 ชั่ง เป็นค่าขมิ้นสีเท้า” นายเถื่อนก็ยินดีรับเงินนั้น ตอบรับว่าจะไม่กราบบังคมทูลเลย ขณะที่หมื่นหาญก็ได้เงิน 2 ชั่ง จากพระยาเกษตรรักษาสำหรับเป็นการทำขวัญที่ต้องโทษถูกเฆี่ยน

พระยาเกษตรรักษาต้องรับพระราชอาญาอยู่ในตะรางเป็นเวลาปีเศษ จนเมื่อรัชกาลที่ 2 เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษ และตั้งพระยาเกษตรรักษา (นอกราชการ) เป็น “พระยาราชสุภาวดี จางวางกรมพระสุรัสวดี” กลับเข้ารับราชการตามเดิม

เหตุที่พระยาเกษตรรักษาได้รับพระราชทานอภัยโทษนั้น ก็คงสืบเนื่องมาจากการที่ท่านเป็นขุนนางคนโปรดของรัชกาลที่ 3 และถวายงานรับใช้ใกล้ชิดมาก่อนหน้านั้นเป็นเวลานานหลายปี

ย้อนกลับไปในครั้งที่พระยาเกษตรรักษา ขณะรับราชการอยู่ฝ่ายวังหน้าภายใต้การกำกับของ “สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ตามเสด็จฝ่ายวังหลวงไปทรงรับช้างเผือกที่ตำบลตลาดขวัญ เมืองนนทบุรี ขณะกระบวนเรือผ่านบริเวณปากคลองบางลำพูตอนบน กระบวนเรือของพระยาเกษตรรักษาซึ่งได้ยินเสียงกระบวนเรือเสด็จผ่านมา ท่านก็รีบสั่งให้ฝีพายพายหลบไปริมตลิ่ง ต่อให้กระบวนเรือเสด็จผ่านไปแล้ว ก็จะตามเสด็จท้ายกระบวน แต่เวลานั้นเป็นช่วงเช้ามืดหมอกลงจัด กระบวนเรือของพระยาเกษตรรักษาพายวนเวียนในแม่น้ำไม่เข้าตลิ่งเสียที จนกระทั่งพายตัดกระบวนเรือเสด็จ เป็นเหตุให้พระยาเกษตรรักษาต้องพระราชอาญา

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ถึงกับตรัสถามพระยาเกษตรรักษาว่า “เรือของเจ้าพายผ่านเรือกระบวนของข้าเข้ามาฉะนี้ เจ้าจะเป็นขบถเช่นขุนพิเรนทรเทพ ทำแก่ขุนวรวงศาธิราชเจ้าแผ่นดินกรุงเก่านั้นหรือ?” พระยาเกษตรรักษากราบทูลถึงสาเหตุว่า เกิดจากหมอกลงจัด ไม่ได้คิดเป็นกบฏ แต่ด้วยกระทำผิดจริง คือตัดกระบวนเรือเสด็จ สมควรรับพระราชอาญา จากนั้น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์จึงทรงถอดพระยาเกษตรรักษาออกจากราชการ และให้จำไว้ในตะรางในทิมวังหน้า

พระยาเกษตรรักษาต้องโทษถูกจำในตะรางนานกว่า 4 เดือน จนกระทั่ง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์เสด็จสวรรคต เมื่อนั้น รัชกาลที่ 3 ขณะยังทรงเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงคุ้นเคยสนิทสนมกับพระยาเกษตรรักษามาช้านานแล้ว จึงกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 2 ขอพระราชทานอภัยโทษให้พระยาเกษตรรักษา แล้วให้มารับราชการกับพระองค์ รัชกาลที่ 2 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นตามพระประสงค์นั้น

ตั้งแต่นั้นมา พระยาเกษตรรักษาก็ถวายงานรับใช้รัชกาลที่ 3 ทรงใช้สอยต่อสำเภาถวายหลายลำ ด้วยความที่ท่านเป็นผู้ชำนาญในการต่อสำเภามามาก ต่อมา รัชกาลที่ 3 ก็ทรงมอบหมายให้พระยาเกษตรรักษาไปช่วยดูแลตรวจตรางานที่ทำการก่อภูเขาขุดสระทำเก๋งจีนในพระราชอุทยาน (สวนขวา) ในพระบรมมหาราชวัง ทั้งนี้ รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชประสงค์เป็นนัยว่า เพื่อให้พระยาเกษตรรักษาได้มีเวลาเฝ้าแหนรัชกาลที่ 2 อยู่เสมอ ๆ จะได้มีโอกาสกลับเป็นขุนนางในตำแหน่งโดยเร็ว (ขณะนั้นยังอยู่นอกราชการ) แต่ยังไม่ทันกลับเข้ารับราชการ ก็เกิดเหตุกบฏต่อแผ่นดินดังกล่าวขึ้นเสียก่อน

และด้วยเหตุเหล่านี้เอง พระยาเกษตรรักษา หรือเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) จึงพ้นพระราชอาญาในข้อหาเป็นกบฏต่อบ้านเมืองโดยทันที เมื่อมีการผลัดแผ่นดิน

แต่เรื่องราวระหว่างพระยาเกษตรรักษา กับนายเถื่อน มหาดเล็ก ยังไม่จบลงแต่เพียงเท่านี้

เมื่อขึ้นรัชกาลใหม่ พระยาเกษตรรักษาก็ได้เลื่อยยศถาบรราดาศักดิ์ขึ้นตามลำดับ เมื่อได้เป็น “พระยาราชสุภาวดี” สะท้อนว่า รัชกาลที่ 3 โปรดท่านมากเป็นพิเศษ เพราะตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งราชการสำคัญ เป็นผู้รู้บัญชีแต่ละกรมกองและแต่ละเมืองว่ามีจำนวนไพร่พลเท่าใด มีหน้าที่ออกไปสักเลกเพื่อให้รู้จำนวนไพร่พลเวลาที่ต้องเกณฑ์แรงงานและทหารในยามสงคราม ตำแหน่งพระยาราชสุภาวดีจึงมักเป็นตำแหน่งที่พระเจ้าแผ่นดินจะทรงตั้งบุคคลที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยเป็นพิเศษ

จากนั้นก็ได้เป็นแม่ทัพไปปราบลาวเวียงจันทน์เป็นกบฏ มีความดีความชอบจนได้เป็น “เจ้าพระยาราชสุภาวดี ว่าที่จักรีสมุหนายกกรมมหาไทย” จนที่สุดได้เป็นถึง “เจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่สมุหนายก อรรคมหาเสนาบดีกรมมหาดไทย”

ขณะที่นายเถื่อน ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น “หลวงชาติสุริยง” ข้าราชการฝ่ายวังหน้า แต่สมทบในพระราชวังหลวง เมื่อเกิดสงครามกับญวน หลวงชาติสุริยงถูกเกณฑ์เป็นนายทัพนายกองไปกับกองทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชาด้วย

เมื่อนั้นก็ถึงคราวเอาคืน !

เมื่อกองทัพสยามยกไปตั้งค่ายพักพลอยู่ที่เมืองระสือเขตแดนเขมร เจ้าพระยาบดินทรเดชามีบัญชาให้หลวงชาติสุริยง คุมไพร่พลไปทำสะพานข้ามคลองกะพงปลัก คลองนี้อยู่ในพื้นที่ล่อแหลมใกล้ค่ายของกองทัพญวน ฝ่ายญวนสามารถยิงปืนใหญ่จากค่ายมาได้โดยง่าย หลวงชาติสุริยงก็ไม่อาจสามารถทำสะพานได้ตามบัญชาของแม่ทัพ ถูกญวนยิงปืนมาดังห่าฝน สุดท้ายต้องถอยทัพกลับมาทางใต้ปากคลอง แล้วมีใบบอกไปแจ้งเจ้าพระยาบดินทรเดชาว่า “ทำสะพานเรือกข้ามคลองกะพงปลักไม่ได้ เพราะไพร่พลล้มตายด้วยอาวุธปืนใหญ่ใหญ่ญวนโดยมาก กับปืนใหญ่ในกองทัพไทย ไม่มีจะสู้รบยิงโต้ตอบกับญวนบ้าง เหลือกำลังที่จะทำสะพานข้ามคลองกะพงปลัก ตามบัญชาของใต้เท้าพระกรุณาเจ้าไม่ได้ อาชญาศึกตกลงคงไม่พ้นเกล้าฯ”

เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็มีบัญชาว่า “หลวงชาติสุริยงเป็นคนขลาด และเป็นผู้ขัดคำสั่งแม่ทัพใหญ่ เห็นว่าหลวงชาติสุริยงมีความผิดด้วยอัยการศึก ให้ทะลวงฟันพาตัวหลวงชาติสุริยงไปฆ่า อย่าให้เป็นเยี่ยงอย่างทางราชการแก่คนขลาดต่อไป นายทัพนายกองทั้งหลายจะไม่ได้ทำตามเยี่ยงอย่าง”

จากนั้น หลวงชาติสุริยง หรือนายเถื่อน มหาดเล็ก ก็ถูกประหารชีวิต ส่วนงานสร้างสะพาน เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ไม่ได้ใช้ให้ใครไปทำอีก ต่อมา เมื่อจะไปรบกับญวนนั้น ท่านก็หาได้เดินทัพไปทางที่เคยสั่งให้หลวงชาติสุริยงทำสะพานนั้นไม่ ท่านกลับไปใช้ทางอื่น จนมีผู้หลักผู้ใหญ่ในกองทัพพากันเห็นว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชาฆ่าหลวงชาติสุริยง เพราะมีเหตุอาฆาตพยาบาทมาแต่ครั้งก่อน ก็คือเหตุการณ์ที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาถูกจำในตะรางเมื่อคราวต้องโทษกบฏต่อแผ่นดินนั่นเอง

เพราะเมื่อครั้งกระโน้น นายเถื่อนซึ่งเป็นเพียงมหาดเล็ก ถือตัวว่าเป็นคนโปรดของพระเจ้าแผ่นดิน ทำตัวเป็นพวก “บุญหนักศักดิ์ใหญ่” และด้วยนิสัยเป็นพวก “ปากบอน” ไปยุ่งวุ่นวายกับอีกฝ่าย แม้พระยาเกษตรรักษา (เจ้าพระยาบดินทร์เดชา) ต้องพระราชอาญา และแม้เป็นขุนนางนอกราชการ แต่ก็เป็นถึงชั้น “พระยา” รับราชการมานาน อำนาจบารมีก็หาน้อยไม่ นายเถื่อน “เล่น” ผิดคนแล้ว !

เมื่อผลัดแผ่นดิน นายเถื่อนก็กลายเป็นพวกบ่าวไร้นาย ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินคอย “คุ้มกะลาหัว” ดังแต่ก่อน ขณะที่อีกฝ่าย เจ้านายของตนได้เป็นใหญ่ครองบัลลังก์ จากแต่เดิมเป็นนักโทษฐานกบฏ ที่สุดกลับพลิกผันได้เป็นถึง “เจ้าพระยา” อัครมหาเสนาบดีของแผ่นดิน มีหรือที่นายเถื่อน ที่มียศขุนนางแค่ชั้น “หลวง” (หลวงชาติสุริยง) จะต่อกรอันใดได้อีก

แข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แต่แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งไม่ได้

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อานามสยามยุทธ. (2514). โรงพิมพ์ ร.พ. อักษรบริการ : พระนคร.

ศานติ ภักดีคำ. (2560). เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุหนายก แม่ทัพใหญ่ผู้สำเร็จราชการ ในสงครามอานามสยามยุทธ์. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กันยายน 2565