พระลอ อยู่ล้านช้าง(ในลาว) พระเพื่อน พระแพง อยู่ล้านนา(ในไทย) แม่น้ำกาหลง คือ แม่น้ำโขง

พระลอ พระเพื่อน พระแพง รูปปั้นที่ “อุทยานลิลิตพระลอ” อ. สอง จ. แพร่ (ภาพจาก “ย่ำถิ่นหม้อห้อม แพร่ 8 อำเภอ : ข่าวสดหรรษา” ข่าวสดออนไลน์)

ในวรรณกรรมเรื่อง พระลอ มีชื่อสำคัญๆ ถูกดัดแปลงให้เข้ากับเนื้อหานิยายที่แต่งขึ้น ดังนี้

พระลอ อยู่เมืองแมนสรวง คือ เมืองหลวงพระบาง ในลาว ดินแดนล้านช้าง หลักแหล่งของลาว ในตระกูลไทย-ลาว

พระเพื่อน พระแพง อยู่เมืองสรอง คือ เมืองพะเยา ใน จ. พะเยา ดินแดนล้านนาหลักแหล่งของลัวะ ในตระกูลมอญ-เขมร

แม่น้ำกาหลง คือ แม่น้ำโขง

ประวัติศาสตร์สังคม และเศรษฐกิจการเมือง

พระลอ เป็นคำบอกเล่าเก่าแก่ที่เรียก นิทาน, ตำนาน, หรือจะเรียกนิยายก็ได้ เพราะไม่เป็นเรื่องจริง จึงไม่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ แต่แต่งโดยอาศัยเค้าโครงเหตุการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจการเมือง ที่มีร่องรอยน่าเชื่อว่าเคยเกิดขึ้นจริงเมื่อราวเรือน พ.ศ. 1700

นั่นคือ ความขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่สองฝั่งโขง เช่น ตระกูลมอญ-เขมร, ตระกูลไทย-ลาว, ตระกูลม้ง-เย้า, ฯลฯ เพื่อแย่งชิงอำนาจควบคุมเส้นทางคมนาคมสองฝั่งแม่น้ำโขง และใกล้เคียง

ทั้งนี้ เพราะยุคนั้นมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางการค้าทั่วภูมิภาค หลังจีนแต่งสำเภาขนาดใหญ่ออกค้าขายทางทะเลโดยตรง (ไม่ผ่านตัวแทนเหมือนก่อนหน้านี้) แล้วเข้ามาถึงดินแดนแถบสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ ทำให้ความต้องการสินค้าของป่ามีมากขึ้น

พระลอ

ลอ แปลว่า งาม, ดี

ยืมจากคำเขมร ว่า ลฺอ (ลฺออ) สวย งาม ดี เช่น จิตฺตลฺอ (เจ็ดลฺออ) ใจดี รูปลฺอ (รูป  ลฺออ) รูปสวย (พจนานุกรมเขมร-ไทย ฉบับทุนพระยาอนุมานราชธน เล่ม 4 พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2525 หน้า 748)

พระลอ อยู่เมืองแมนสรวง ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกาหลง เพราะเป็นเชื้อสายแถนแห่งล้านช้าง

เมืองแมนสรวง คือ เมืองหลวงพระบาง ดินแดนล้านช้าง ในลาว

แมนสรวง หมายถึง เมืองแถน คือ เมืองเทวดา, เมืองฟ้า, เมืองสวรรค์ (แมน แปลว่า เทวดา, สรวง แปลว่า ฟ้า หรือ สวรรค์)

เป็นความหมายเดียวกับชื่อ หลวงพระบาง ว่า เมืองฟ้าเมืองสวรรค์ (บาง แปลว่า ฟ้า มีพยานในชื่อ พ่อขุนบางกลางหาว)

ตำนานเมืองหลวงพระบาง เรียกเมืองเซ่า หรือ ซ่าววา หรือ ซวา กร่อนจากคำว่า เจ้าฟ้า คือ ผู้เป็นเจ้านายของฟ้า ตรงกับ แถน ผู้เป็นใหญ่บนฟ้า

เชื้อวงศ์เมืองหลวงพระบางเป็นเชื้อสายแถน เคลื่อนย้ายมาจากเมืองแถน อยู่ภาคเหนือของเวียดนาม (ปัจจุบันเรียกเดียนเบียนฟู)

ตำนานขุนบรมเล่าว่าขุนบรมเป็นเชื้อสายแถน มีลูกชาย 7 คน ส่งไปครองเมืองต่างๆ ลูกชายคนโตครองเมืองหลวงพระบางชื่อขุนลอ

ผู้แต่งเรื่อง “พระลอ” ได้เค้าชื่อจากตำนานขุนบรม จึงให้ท้าวแมนสรวง เจ้าเมืองแมนสรวง มีลูกชายชื่อพระลอ

พระเพื่อน พระแพง

เพื่อน ผู้รักใคร่กัน, ผู้อยู่ด้วยกัน

แพง หวงแหน, สงวน, รัก

(สารานุกรม ภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ปรีชา พิณทอง พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2532 หน้า 574-575)

พระเพื่อน พระแพง อยู่เมืองสรอง ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำกาหลง เพราะเป็นเชื้อสายท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง แห่งล้านนา

เมืองสรอง คือ เมืองพะเยา (จ. พะเยา) ดินแดนล้านนา ในไทย

คำว่า สรอง หมายถึงอะไร? ยังหาไม่พบ แต่น่าจะมาจากคำว่า สอง แล้วเติม ร เข้าไปตามความนิยมให้เป็นโวหารวรรณศิลป์

ตำนานเมืองพะเยาเล่าว่า ขุนเจือง หรือท้าวฮุ่ง เกิดที่เมืองพะเยา ราว พ.ศ. 1617 (พงศาวดารโยนก) เป็นใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำโขง ชื่อดินแดนโยนก บริเวณที่ราบลุ่มน้ำกก-อิง ทางเชียงแสน-เชียงราย-พะเยา

มหากาพย์ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง เล่าว่าขุนเจืองยกทัพข้ามแม่น้ำโขงขยายอำนาจถึงพรมแดนเวียดนาม ปัจจุบันคือเมืองเชียงขวาง ทุ่งไหหิน ในลาว ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของพวกแถน (ตระกูลไทย-ลาว) กับพวกแมน (ตระกูลม้ง-เย้า)

ต่อมาพวกแถน (มีแถนลอเป็นใหญ่) ร่วมกับพวกแมน ต่อต้านการขยายอำนาจ แล้วรุมฆ่าท้าวฮุ่ง ท้าวเจืองตายในที่รบ

[พวกกำมุ (ขมุ) บอกว่าไหหินที่เชียงขวาง คือไหเหล้าเจือง ที่ใส่เหล้าเลี้ยงไพร่พล เมื่อยกทัพถึงที่นั่น]

เชื้อสายของท้าวฮุ่งฯ สืบมาถึงพระพิษณุกร ครองเมืองสรอง อยู่ตะวันตกของแม่น้ำกาหลง มีลูกสาว 2 คน ชื่อ พระเพื่อน พระแพง

แผนที่แสดงตำแหน่งดินแดนล้านช้าง (เมืองแมนสรวง) กับล้านนา (เมืองสรอง) และแม่น้ำโขง (แม่น้ำกาหลง) ในวรรณกรรมเรื่องพระลอ

แม่น้ำกาหลง

แม่น้ำกาหลง คือ แม่น้ำโขง

กาหลง เป็นชื่อแม่น้ำโขง (ลาวเรียกน้ำแม่ของ) ที่เวียดนามเรียกว่ากิวล็อง และจีนเรียกว่ากิวลุ่ง หมายถึง แม่น้ำที่มีนาคเก้าตัวปกปักรักษา (นาคหรือลวงของไทย-ลาว เป็นชนิดเดียวกับมังกรของจีน ที่เรียก เล้ง, หลง)

กาหลง ในมหากาพย์เรื่องท้าวฮุ่งฯ ว่าเป็นชื่อเมืองของแถนลอ มีโคลงว่า “ธรรม์ยำกินกาหลงอยู่กะเสิม ยูสร้าง” หมายถึง (แถนลอ) ครองเมืองหลวงพระบาง

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ อธิบายว่า ชาวจีนเรียกแม่น้ำโขง (ของ) ว่า แม่น้ำล้านช้าง หรือ กิวลุ่งเกียง หมายถึงแม่น้ำมังกรทั้งเก้าหรือนาคเก้าตัว (ไทยสิบสองปันนา กรุงเทพฯ 2498 หน้า 24-25)

มหาสิลา วีระวงส์ อธิบายว่า กาหลงมาจากคำว่าเก๋าหลง (ประวัติศาสตร์ลาวจัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ลำพูน 2535)

ชาวเวียดนามเรียกแม่น้ำของ (โขง) ว่า กิวล็อง มาจากชื่อ กาหลง (ดูรายละเอียดในบทความชื่อ “แม่น้ำโขงในทรรศนะของนักวิชาการลาว”. โดย หุมพัน ลัดตะนะวง พิมพ์ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ปีที่ 15 ฉบับที่ 9 เดือนกรกฎาคม 2537 หน้า 118)

เมื่อจะต้องไปหาพระเพื่อน พระแพง ต้องต่อแพข้ามแม่น้ำ เพราะเมืองสรองของพระเพื่อน พระแพง อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำกาหลง มีร่ายในหนังสือพระลอบอกว่า

“ถึงแม่น้ำกาหลง ปลงช้างชิดติดฝั่ง นั่งสำราญรี่กัน แล้ว ธ ให้ฟันไม้ทำห่วง พ่วงเป็นแพสรรพเสร็จ ธ ก็เสด็จข้ามแม่น้ำแล้วไส้”

ปัญหาที่นักปราชญ์ราชบัณฑิตคิดค้นถกเถียงกันมานานมาก แต่ยังตกลงกันไม่ได้คือ แม่น้ำกาหลง อยู่ที่ไหน?

เคยมีนักค้นคว้าชี้ไปที่เวียงกาหลง (อ. เวียงป่าเป้า จ. เชียงราย) แต่ก็เป็นเวียงบนเนินเขาเตี้ยๆ ลำน้ำที่ไหลผ่านบริเวณนั้นชื่อน้ำแม่ลาว ไม่เรียกน้ำแม่กาหลง ฉะนั้นชื่อเวียงกาหลงไม่เกี่ยวกับแม่น้ำกาหลงในวรรณคดีเรื่องพระลอ เพียงแต่มีชื่อพ้องกัน

ปู่พระลอ ฆ่าปู่เพื่อน แพง

ในวรรณกรรมเรื่อง พระลอ ได้กล่าวพาดพิงถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งของคนสองกลุ่มอย่างน้อย 2 ครั้ง เป็นเหตุให้ท้าวฮุ่งฯตาย

ครั้งแรก เมื่อพระลอถูกเสน่ห์ จะไปหาพระเพื่อน พระแพง นางบุญเหลือผู้เป็นแม่ได้บอกพระลอว่า พวกเราไปฆ่าปู่เขา (คือ ท้าวฮุ่งฯ) มีโคลงบาทหนึ่ง “เพราะปู่เขาเรารอน ขาดเกล้า”

ครั้งหลัง เมื่อย่าเลี้ยงรู้ว่าพระเพื่อน พระแพง สมสู่กับพระลอก็โกรธ  แล้วสั่งให้ฆ่าพระลอ เพราะเป็นลูกศัตรู (คือพวกแถนที่ฆ่าท้าวฮุ่งฯ) ดังมีร่ายตอนหนึ่งบอกว่า พระลอนี้เป็น “ลูกไพรีใจฉกาจ ฆ่าพระราชบิดา แล้วลอบมาดูถูก ประมาทลูกหลานเรา”

ด้วยเหตุทั้งหมดนี้เอง พระเพื่อน พระแพง และ พระลอ จึงต้องถูกพิฆาตให้ยืนตายพร้อมกันสามคน

ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง ต้นเรื่องพระลอ

น้ำแม่กาหลงในท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง เป็นแม่น้ำเดียวกันกับน้ำแม่กาหลงในพระลอ เพราะวรรณกรรมสองเรื่องนี้เกี่ยวข้องต่อเนื่องกัน

ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง เป็นเรื่องตอนต้นของพระลอ

พระลอ เป็นเรื่องตอนปลายของท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง

ทั้งหมด เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์สังคมและเศรษฐกิจการเมือง บริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขงตอนบน ในเรือน พ.ศ. 1700 (ก่อนรับพุทธศาสนา) ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในดินแดนที่เรียกชื่อภายหลังว่าล้านช้างกับล้านนา

[พิมพ์ครั้งแรกในสูจิบัตรละครพันทางเรื่องพระลอ ตอน “พิษเสน่หา แรงอาฆาต” ณ โรงละครแห่งชาติ กรมศิลปากร เมื่อพฤษภาคม-มิถุนายน พ.ศ. 2557 หน้า 2-7]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 พฤษภาคม 2564