“เซ็กซ์หมู่” ในลิลิตพระลอ “บทอัศจรรย์” วิจิตรกามาแห่งวรรณคดีไทย

พระเพื่อนพระแพง พระลอ ลิลิตพระลอ
ภาพร่าง "พระลอ-พระเพื่อนพระแพง" พ.ศ. 2512 วาดเส้นดินสอบนกระดาษ ผลงานของ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566) - มีการตกแต่งกราฟิกเพิ่มโดย กอง บก.ศิลปวัฒนธรรม

ลิลิตพระลอ วรรณคดีที่มีพื้นหลังเป็นดินแดนภาคเหนือของไทย สันนิษฐานว่าประพันธ์ขึ้นราว ๆ สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา หนึ่งในนิทานยุคโบราณที่มี แก่นเรื่องละม้ายคล้ายคลึงกับ “โรมิโอและจูเลียต” อยู่ไม่น้อย เพราะตัวละครเอกหญิง-ชายต่างเกิดความรักใคร่กันตั้งแต่แรกเห็น (อันที่จริงก่อนแรกเห็นด้วยซ้ำ) ก่อนจะสมหวังเพียงได้เสพสมกัน แต่ไม่สามารถร่วมหัวจมท้ายแบบสร้างครอบครัวได้ ต้องพบจุดจบแบบโศกนาฏกรรม เพราะความเกลียดชังจากคนรุ่นพ่อ-แม่ ปู่ย่าตาทวด หรือความไม่ลงรอยระหว่างตระกูลของพวกเขา

นอกจากตัวบทที่นำเสนออย่างตราตรึงใจและสะเทือนอารมณ์แล้ว ลิลิตพระลอยังเป็นงานประพันธ์ที่ “หาญกล้า” อย่างยิ่งในการนำเสนอ “บทอัศจรรย์” หรือฉากร่วมเพศของคู่พระ-นางอย่างไม่เกรงอกเกรงใจ “ขนบ” แบบจารีต จนบ่อยครั้งถูกด้อยค่าว่าเน้นเรื่องตัญหาและความใคร่ เรท 18+ มากเกินไป จนกลบทับคุณค่าทางวรรณศิลป์ ซึ่ง ลิลิตพระลอ ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าวรรณคดีเรื่องอื่น ๆ ในยุคจารีตเลย

เรื่องราวใน ลิลิตพระลอ เล่าถึงตัวพระ คือ “พระลอ” กษัตริย์แห่งเมืองแมนสรวง และตัวนาง คือ “พระเพื่อน” กับ “พระแพง” สองราชธิดาท้าวพิชัยพิษณุกร กษัตริย์เมืองสรอง สองเมืองนี้มีสงครามประหัตประหารกันมาแต่ครั้งบุพการีของคู่พระ-นางแล้ว เมล็ดพันธุ์แห่งความแค้นฝังรากลึกอยู่ในจิตใจญาติผู้ใหญ่ของทั้งสามหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ (พระลอ พระเพื่อน พระแพง)

แต่เมื่อพระเพื่อนพระแพงได้ฟังคำยอยศพระลอว่ารูปงามเลิศล้ำ ก็บังเกิดความรักใคร่ผูกพันขึ้น นำไปสู่การชักนำพระลอจากเมืองแมนสรวงให้บุกป่าฝ่าดงมาหา โดยความช่วยเหลือของสองสาวใช้ “นางรื่นนางโรย” และอิทธิฤทธิ์ของ “ปู่เจ้าสมิงพราย”

พระลอที่แม้มีมเหสีคู่บุญอยู่แล้วจึงผละหนี พร้อมเมินคำทัดทานของมารดา ทิ้งบ้านเมืองแล้วดั้นด้นมาสู่สองนางพร้อมสองข้าผู้ติดตามคือ นายแก้วนายขวัญจะเห็นว่าเรื่องราวจุดประกายจาก ความใคร่อยาก หรือแรงปรารถนาอันรุนแรงของคู่พระ-นาง สะท้อนธรรมชาติของมนุษย์ หลุดหนีขนบทั้งหลายในยุคนั้น ทั้งความเป็นสตรีสูงศักดิ์ของพระเพื่อนพระแพงซึ่งคู่ควรกับการรักนวลสงวนตัว แต่กลับใช้เล่ห์มนตราลวงล่อบุรุษมาสู่ตน หรือพระลอที่มีคู่อภิเษกอยู่แล้ว แต่ยังสละทิ้งเกียรติยศและบ้านเมืองมาด้วยแรงปรารถนา

เหล่านี้จึงปูทางไปสู่ “บทอัศจรรย์” ที่ลือเลื่องเป็นอันดับต้น ๆ ในหมู่วรรณคดีไทย ตอนหนึ่งของบทความวิจารณ์วรรณคดี โดย นิพัทธ์ แย้มเดช เรื่อง “ความอาย ความรัก และความตายของพระเพื่อนพระแพง” (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2565) ที่จะเสนอต่อไปนี้ คือคำอธิบายว่าเหตุใด ความปรารถนา แรงขับทางเพศ ตลอดจนการเสพสมของสามกษัตริย์ใน “บทอัศจรรย์” ของลิลิตพระลอ จึงนับได้ว่าเป็นต้นแบบ วิจิตรกามาในวรรณคดีไทย โดยเป็นเรื่องราวหลังจากพระลอเดินทางจากเมืองแมนทรวง ล่วงเข้าสู่เขตแดนเมืองสรอง ในขณะที่สองนางรอกษัตริย์หนุ่มด้วยใจถวิลหา [จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


 

“สะเทือนฟ้าฟื้นลั่น สรวงสวรรค์” : ความรักสมใจปอง

…พระเพื่อนพระแพงโหยหาพระลอโดยทุกข์ทรมานใจอย่างยิ่ง ยิ่งช้านานพระนางก็คร่ำครวญน้ำตานองหน้า จิตใจอ้างว้าง คิดถึงวันเวลาที่พระลอจะมาถึง กวีแทรกน้ำเสียงแสดงความสงสารพระนางทั้งสองโดยกล่าวว่า

“เอ็นดูอุดมดวงดอกไม้  สองเพื่อนไท้แพงกษัตริย์
เสด็จในรัตนบรรทม  ปรารมภ์ใจอ้างว้าง
กรกอดอกไห้ช้าง  เพื่อชู้นานถึง”

จะเห็นได้ว่ากวีสรรคำมาใช้อย่างมีวรรณศิลป์ เห็นภาพความเปรียบอุปลักษณ์ พระเพื่อนพระแพงเป็น “ดวงดอกไม้” ที่ “อุดม” คือ สูงส่ง คำว่า “ไห้ช้าง” สุมาลี วีระวงศ์ อธิบายความหมายศัพท์นี้ได้อย่างน่าสนใจ โดยกล่าวว่า ไห้ช้างเป็นการร้องไห้อย่างช้างร้อง

“มันมีนัยสองอย่าง อย่างหนึ่งก็คือ ร้องไห้ด้วยความทุกข์ระทมอย่างยวดยิ่ง ความทุกข์นั้นมีขนาดเท่าช้าง นี่เป็นวิธีตีความด้านหนึ่ง แต่อีกด้านก็คือ ร้องไห้เหมือนอย่างช้างร้องไห้ นั่นก็คือปล่อยน้ำตาให้หยาดลงมาเฉย ๆ โดยไม่มีเสียงสะอึกสะอื้น”

ดังนั้น เราจะเห็นภาพพระเพื่อนพระแพงโหยหาพระลอบนแท่นบรรทม เอามือกอดอก สะอื้นฮักมีหยาดน้ำตาไหลนองใบหน้า…อำนาจใดเล่าจะน่าประหวั่นพรั่นพรึงเท่าการรอคอยเพราะแรงสิเน่หา พระนางระบายความอัดอั้นต่อนางพี่เลี้ยงว่า “แม้บสมชู้แก้ว พรุ่งนี้เผือตาย”

แม้นางรื่นนางโรยจะปลอบประโลมว่า “สองอย่าปรารมณ์กระสัน แม้มิวันพรุงนี้เช้า ลอราชจักเสด็จเต้า สู่สร้อยสวนขวัญ” โดยเอาน้ำเย็นเข้าลูบอารมณ์ร้อนรนว่าพระนางทั้งสองอย่ากระสันรัญจวนเลย ไม่วันนี้พรุ่งนี้เช้าพระลอก็จะมาถึงสวนขวัญ พระเพื่อนพระแพงรีบสวนทันทีว่า เหตุใดนางพี่เลี้ยงจึงรู้ มีใครส่งข่าวให้บอกมา “เร็วพี่อย่าช้า ท่านท้าวเสด็จมา แม่นฤๅ”

นางรื่นนางโรยไม่จนมุมต่อกระทู้ดังกล่าว นางอ้างนิมิตจากนกที่ท่านผู้เฒ่าสั่งสอนมา ก็แน่ใจว่าความสุขเกษมจะเกิดขึ้นแก่พระนางในอีกไม่ช้า คำตอบนี้พระเพื่อนพระแพงพึงพอใจเพราะเป็นการให้กำลังใจที่มีความหวัง จนพระนางนอนหลับไป…

ลิลิตพระลอ พระเพื่อน พระแพง
“พระเพื่อนพระแพง” พ.ศ. 2514 สีน้ำมันบนผ้าใบ ผลงานของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต

ช่วงเวลาที่พระเพื่อนพระแพงพบพระลอ เป็นการสิ้นสุดการรอคอย เสน่ห์คาถาอาคมนั้นเป็นที่พึ่งทางใจและข้ออ้างของมนุษย์ที่สนับสนุนความชอบธรรมของตน กระนั้นก็ตาม การทำเสน่ห์ก็ไม่เทียบเท่าแรงกามาที่ดึงดูดบุคคลทั้งสามเข้าหากัน ต่อให้ห่างไกลเพียงใด ฝ่ายหนึ่งพยายามเดินทางข้ามน้ำ บุกป่าฝ่าดงมาหาอีกฝ่ายหนึ่งได้ เรียกได้ว่า ความหลงใหลทางเพศต่างชักนำให้กษัตริย์ทั้งสามเผชิญหน้ากัน

เราจะได้เห็นว่า เมื่อพระเพื่อนพระแพงพบหน้ากษัตริย์หนุ่ม ก็ตกตะลึงในรูปโฉมจนลืมอาย จ้องมองไม่กะพริบตา เพ้อกล่าวว่าเป็นเทพหรือไฉน ฝ่ายพระลอก็จ้องมองนางทั้งสองจนลืมตัวเช่นกัน สบตากันและหัวเราะกันไปมา

พี่เลี้ยงทั้งสี่นึกพิศวงและสรรเสริญความงามของทั้ง 3 พระองค์ว่าไม่ต่างจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ประหนึ่งเทพรังสรรค์ และงดงามเกินใครในสามโลก ความงามอันเกิดจากจินตนาการที่ทั้ง 3 กษัตริย์หลงใหล บัดนี้เปลี่ยนเป็นภาพความจริง…

ความงามอันเกิดจากการเย้ายวนดูดกลืนร่างกายและจิตใจกษัตริย์ทั้งสามให้หลอมเป็นหนึ่งเดียว ดังนั้น เมื่อต่างฝ่ายต่างอยู่ในที่ลับตา พระลอจึงปลดปล่อยความใคร่เสพสวาทพระเพื่อนพระแพงอย่างรุกเร้ารุนแรง

พระเพื่อนพระแพงนั้นไม่เคยสัมผัสประสบการณ์ทางเพศ เมื่อเจอพระคลอเคล้าคลึงอย่างไม่รู้เหนื่อย เรือนร่างและจิตใจก็ลื่นไหลไปตามจังหวะแรงหื่นกระหายของพระลอ เราจะเห็นได้ว่า กิจกรรมทางเพศในตอนนี้มีความน่าสนใจมากทีเดียว เพราะกวีเทหัวใจพรรณาบทอัศจรรย์ของกษัตริย์ทั้งสามอย่างไม่ปิดบัง ในลักษณะร่างกายกษัตริย์ทั้งสามแนบเข้าหากัน จูบกันอย่างดูดดื่ม แสดงกิริยาร่วมรักด้วยความโลดโผน แต่ก็กลับโรยแรง เพราะเหนื่อยล้า แต่แล้วก็คึกคะนองสลับกัน พร้อม ๆ ความรู้สึดเดี๋ยวสดชื่นเดี๋ยวสร้อยเศร้า จนลืมวันเวลาที่ผ่านไป

แรงปรารถนาของกษัตริย์ทั้งสาม แสดงให้เห็นในบทบทอัศจรรย์ ดังตัวอย่างที่ว่า

สะเทือนฟ้าฟื้นลั่น  สรวงสวรรค์
พื้นแผ่นดินแดยรร  หย่อนไส้
สาครคลื่นอึงอรร  ณพเฟื่อง ฟองนา
แลทั่วทิศไม้ไหล้  โยคเยื้องอัศจรรย์

ขุนสีหคลึงคู่เคล้า  สาวสีห์
สารแนบนางคชลี  ลาศเหล้น
ทรายทองย่องยงกรี  ฑาชื่น ชมนา
กะต่ายกะแตเต้น  ตอบเต้าสมสมร

ทินกรก่ายเกี้ยว  เมียงบัว
บัวบ่บานหุบกลัว  ภู่ย้ำ
ภุมรีภมรมัว  เมาซราบ บัวนา
ซอนนอกในกลีบกล้ำ  กลิ่นกลั้วเกสร

อนึ่ง เราควรกล่าวด้วยว่าบทอัศจรรย์ในลิลิตพระลอ ไม่ใช่บทกวีที่ “โป๊” “ลามก” หรือ “อนาจาร” หรือควร “มองข้าม” บทอัศจรรย์ในลิลิตพระลอถือว่าเป็นศิลปะ “ซ่อนรูป” ต้องใช้จินตนาการพินิจความเปรียบเทียบเกี่ยวกับสัตว์ พืช ธรรมชาติ ซึ่งเคลื่อนไหวด้วยความรุนแรง ภายใต้ผืนฟ้า แผ่นดิน และห้วงน้ำ สะเทือนไหวจนถึงสรวงสวรรค์

สัญลักษณ์เช่นนี้ ผสานเข้ากับกิจกรรมเนื้อแนบเนื้อ นมแนบนม ทั้ง 3 กษัตริย์ไม่ได้เปิดเปลือยอารมณ์หื่นกระหายในที่โล่งแจ้ง หากกระทำภายในตำหนักอันเป็นที่รโหฐานสำหรับบรรทมของพระเพื่อนพระแพง…

สะท้อนว่าธรรมดาหญิงสองชายหนึ่ง ต่างเรียกร้องความใคร่ซึ่งกันและกันอยู่ก่อนแล้ว เมื่ออยู่ในที่ลับตา บรรยากาศเอื้อให้ปลดปล่อยพลังรักเร่าร้อน ย่อมสรุปได้ไม่ยากว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นใด…

หากเราพินิจข้อคิดเห็นที่ว่า “ลิลิตพระลอได้ฉายภาพและนาฏการแห่งความรักออกมาอย่างเร้าอารมณ์ ขณะเดียวกันก็โจ่งแจ้งเสียจนไม่ต้องใช้จินตนาการใด ๆ อีก” จะเห็นได้ว่าด่วนสรุปเกินไป การแสดงภาพศิลปะอันวิจิตรไม่น่ามองดูแล้วเข้าใจแจ่มแจ้งโดยไม่ต้องนึกคิด ถ้าเราพิศชมงานศิลปะชิ้นใดแล้วเข้าใจทันทีไม่ปลุกเร้าความคิด หรืออารมณ์สุนทรีย์เลย คงไม่นับว่าผลงานนั้นเป็นศิลปะชั้นดี

เช่นเดียวกับถ้าเราอ่านบทอัศจรรย์ในลิลิตพระลอ จะให้ความรู้สึกถึงความงามลงตัวทางศิลปะ ตรงกับคำกล่าว หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ว่าความรู้สึกที่ได้อ่านลิลิตพระลอจบ “คือความสมดุลอาจไม่ ‘สมจริง’ ตามสภาพชีวิตบุคคลธรรมดา แต่มีความ ‘สมรูป’ เชิงศิลปะ”

…เราจะเห็นได้ว่ากษัตริย์ทั้งสามมีอารมณ์ปรารถนารุนแรงไม่ต่างกันเลย กวีรักษาระดับอารมณ์เข้มข้นโดยตลอด คือ ต่างฝ่ายต่างหลง ต่างเพ้อหา ต่างรัญจวน และยึดมั่นในอัตตา ซึ่งกิจกรรมทางเพศ แท้แล้วคือการปลดปล่อยอารมณ์ปรารถนาที่รุนแรง แต่ความรู้สึกอีกด้านของความหมายเบื้องหลังบทอัศจรรย์ ชวนให้สะท้านถึงความมัวเมาในกามกิเลสที่เกินควบคุม

การที่พระลอรุกเร้าร่างกายพระเพื่อนพระแพง ดูดดื่มความหอมหวานเพศรสซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยไม่กลัวความชอกช้ำจะเกิดแก่เนื้อหนังมังสาของฝ่ายหญิง แม้สองนางเว้าวอนขอให้พระลอทะนุถนอมบ้าง แต่แรงขับก็ยิ่งพลุ่งพล่าน กิจกรรมทางเพศของกษัตริย์ทั้งสามจึงสอดคล้องกับที่กวีพรรณนาว่าเหมือนอยู่กลางสนามรบ คือ ต่างฝ่ายต่างทุ่มทอดกายและใจเพื่อปลดปล่อยความหื่นกระหาย ราวกับวันนี้ชีวิตจะถึงแก่กาลอวสาน ต้องตักตวงความสุขให้เต็มที่

…ส่วนพี่เลี้ยงนายแก้วนายขวัญ นางรื่นนางโรย ก็จับคู่เสพสังวาสกัน เพราะความเย้ายวนจากแรงกาม

อย่างไรก็ตามถ้าลิลิตพระลอจบเรื่องด้วยความสุขสมหวัง พระเอกกับนางเอกแต่งงานกันดังเจตจำนงของท้าวพิไชยพิษณุกร โครงเรื่องและแก่นเรื่องย่อมเปลี่ยนไป อีกทั้งความซาบซึ้งตรึงใจในบทบาทตัวละครจะลดน้อยลง… เพราะท้ายที่สุดแล้วชีวิตตัวละครก็มิได้สุขีสโมสร สมหวังไปเสียทุกสิ่ง…

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

เพ็ญสุภา สุขคตะ. “พระเพื่อน พระแพง แรงกรรม ปมทางเพศ หรือวิจิตรกามา?”. ใน ปริศนาโบราณคดี, มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 – 13 กรกฎาคม 2561. <https://www.matichonweekly.com/column/article_115673>

ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย (Thai Literature Directory), ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (สืบค้นวันที่ 25 มกราคม 2566) : ลิลิตพระลอ. <https://www.sac.or.th/databases/thailitdir/detail.php?meta_id=163>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มกราคม 2566