เมื่อเกาะฮ่องกงผงาด ถิ่นโขดหินที่เคยถูกเมิน ทำไมเป็นแดนการค้าสำคัญได้

เรือสำเภา เกาะฮ่องกง
เกาะฮ่องกง (ภาพประกอบเนื้อหาจาก pixabay)

หากย้อนดูประวัติศาสตร์ของ “ฮ่องกง” กว่าจะเป็นดินแดนที่มีความสำคัญทางการค้า ดินแดนนี้เคยถูกคนเมินเพราะมองว่ามีแต่โขดหิน ปราศจากทรัพยากรธรรมชาติ และไม่เชื่อว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยได้

เกาะฮ่องกง กลายมาเป็นดินแดนที่พัฒนาก้าวหน้าในแง่จุดการค้าได้อย่างไร?

ลักษณะด้านการค้าของฮ่องกงแค่เริ่มแรกนักเขียนบางท่านก็มองว่าเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับการค้าแล้ว วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์ นักเขียนและคอลัมนิสต์อธิบายความหมายของคำว่าฮ่องกงในนิตยสาร “สารคดี” ว่า ชื่อของเกาะเกี่ยวกันกับการค้าขายของป่าจำพวกสมุนไพรไม้หอม เดิมทีชื่อเกาะออกเสียงว่า “แฮ้งก๋อง” ในสำเนียงกวางตุ้งตรงกับคำสำเนียงจีนกลางว่า “เซียงกั๋ง” แปลว่า “ท่าเรือหอม”

ชื่อที่หมายถึง “ท่าเรือหอม” เชื่อว่าสืบเนื่องมาจากพื้นที่บางส่วนของเกาะในอดีตถูกใช้เป็นท่าเรือถ่ายสินค้ากลุ่มไม้หอม เมื่อเรือแล่นเข้าใกล้ ผู้คนจะได้กลิ่นหอม เมื่อชื่อเข้าหูนักเดินเรือฝรั่งก็กลายเป็นคำว่า “ฮ่องกง” หรือข้อมูลบางแห่งก็สันนิษฐานว่า กลิ่นอาจมาจากน้ำจืดที่ไหลเข้ามาจากแม่น้ำจูเจียง ที่ถูกขนานนามว่าแม่น้ำไข่มุก

ฝิ่นและพ่อค้า

ก่อนจะกลายมาเป็นเขตปกครองพิเศษ ฮ่องกงมีเส้นทางยาวนานตั้งแต่พ่อค้ารุ่นบุกเบิกที่เป็นนักเดินเรือชาวอังกฤษที่มาถึงมณฑลกวางตุ้งและชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของจีนในศตวรรษที่ 18 สมัยราชวงศ์เช็ง (ชิง) พ่อค้าเหล่านี้กลายมาเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างจีนกับอังกฤษ ซึ่งนำมาสู่การพัฒนาลักษณะเอกลักษณ์ของฮ่องกง

อันที่จริง ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 18 ก็เริ่มต้นไม่ค่อยราบรื่นแล้ว นักประวัติศาสตร์จีนบันทึกไว้ว่า เมื่อ ค.ศ. 1792 คณะทูตของลอร์ดจอร์จ มาคาร์ทนีย์ พร้อมผู้ช่วยทูตและคณะเดินทางราว 700 คน นำ “สิ่งของ” เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลรอนแรมหลายเดือนมาร่วมพระราชพิธีเฉลิมฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพปีที่ 83 ของพระเจ้าเฉียนหลง ด้วยความแตกต่างระหว่างธรรมเนียมของทั้งสองฝ่าย ทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นหลังจากขุนนางจีนที่ต้อนรับคณะทูตอังกฤษสอนการทำความเคารพแบบจีนที่คุกเข่าบนพื้น 3 ครั้ง และก้มศีรษะคำนับ 9 ครั้งให้มาคาร์ทนีย์ (หลี่เฉวียน, 2556)

แม้จีนจะยอมเปิดการค้ากับอังกฤษ แต่ก็มีระเบียบพอตัว มีเรียกเก็บภาษี และถือเอาข้อได้เปรียบทางการค้าของตัวเองเป็นหลัก ขณะเดียวกันในช่วงศตวรรษที่ 18 พ่อค้าผิวขาวจากอังกฤษนำฝิ่นเข้ามาขายในประเทศจีนอย่างมหาศาล พ่อค้าอังกฤษรับซื้อผ้าไหม ชา สมุนไพร และเครื่องเทศกลับไป

อย่างไรก็ตาม เงินตราจีนก็หลั่งไหลออกนอกประเทศ ราคาสินค้าเริ่มพุ่งสูง ผลกระทบจากฝิ่นต่อประชาชนจีนทวีความรุนแรงเรื่อยๆ อังกฤษก็เริ่มชิงความได้เปรียบด้วยการค้าฝิ่น ค.ศ. 1781 บริษัทอีสต์อินเดียของอังกฤษนำฝิ่นจากอินเดียไปขายได้มหาศาลผ่านทางเมืองกวางโจว

นักการเมืองที่โด่งดังอย่างหลินเจ๋อสวี พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลโจมตีพ่อค้าฝิ่น ในค.ศ. 1796 ทางการจีนประกาศห้ามนำเข้าฝิ่น และให้หลินเจ๋อสวีปราบปรามการค้าฝิ่นอย่างเด็ดขาด การปราบปรามด้วยการเผาฝิ่นจากพ่อค้าต่างชาติอย่างเด็ดขาดกลายเป็นชนวนที่ทำให้อังกฤษเริ่มเปิดศึกทางเรือ ณ อ่าวฮ่องกงใน ค.ศ. 1839 แต่เชื่อว่าเหตุผลเรื่องการทำลายทรัพย์สินและหมิ่นเกียรติที่อังกฤษยกมาใช้นั้นน่าจะเป็นข้ออ้างมากกว่า

ภาพและหุ่นจำลองเหตุการณ์สงครามฝิ่นครั้งที่ 1 (1839-42) ในพิพิธภัณฑ์เซินเจิ้น (ภาพโดย Huangdan2060, via Wikimedia Commons)

อังกฤษรุกรานจีน

กองทัพอังกฤษส่งกองเรือรุกรานจีนในช่วงค.ศ. 1940 ยึดเมืองติ้งไห่ และรุกรานเมืองต้ากู ในช่วงเดือนพฤศจิกายน กองทหารอังกฤษยึดเกาะหินเล็กๆ ตรงข้ามแหลมเกาลูนที่ชื่อ “ฮ่องกง” เป็นฐานที่มั่นสำหรับซ่อมบำรุงเรือเดินทะเลและหลบพายุในฤดูมรสุม

การยึดเกาะฮ่องกงน่าจะเป็นไปเพื่อจุดประสงค์ทางการเดินเรือมากกว่าประการอื่น แม้แต่คนในราชสำนักอังกฤษก็ฉงนกันว่า เกาะนี้จะเป็นที่อยู่อาศัยได้อย่างไร เนื่องจากมีโขดหินแห้งแล้ง ไม่มีทรัพยากรทางธรรมชาติ แถมไข้มาเลเรียก็ชุกชุม

ฮ่องกงที่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษมีเซอร์เฮนรี พอตทิงเกอร์ เป็นผู้สำเร็จราชการรายแรก จะเห็นได้ว่า การค้าเป็นปัจจัยที่ส่งอิทธิพลต่อเกาะฮ่องกงอย่างมากตั้งแต่ช่วงแรก

สนธิสัญญากับอังกฤษ

หลังจากนั้นก็มีศึกอีกหลายหน อังกฤษยึดเมืองได้ต่อเนื่องจนราชสำนักชิงเริ่มวิตกกังวลส่งทูตไปเจรจาสงบศึก และยอมลงนามใน “สนธิสัญญาหนานจิงจีน-อังกฤษ” ว่าด้วยให้จีนยกเกาะฮ่องกงและจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้อังกฤษ 21 ล้านหยวน เปิดการค้ากับต่างประเทศใน 5 เมือง

สัญญาที่ไม่เป็นธรรมยังเกิดต่อเนื่องตามมาอีกหลายฉบับ ระหว่าง ค.ศ. 1841-1898 มีสัญญาที่จีนเสียให้อังกฤษ 3 วาระ จนทำให้รวมกันเป็น “อาณานิคมฮ่องกง” รวมพื้นที่ 1,071 ตารางกิโลเมตร

สัญญาในนั้นมีการเช่าเขตนิวเทอร์ริทอรีส์ (New Territories) ด้วย ซึ่งในช่วงเช่านั้น เกาะฮ่องกงไม่ใช่ก้อนหินไร้ค่าอีกแล้ว เกาะกลายเป็นจุดแวะพักเรือสินค้าที่เหมาะสม มีท่าเรือน้ำลึกธรรมชาติ และกำบังคลื่นลมได้อย่างดี เรือสินค้าทุกมุมโลกแวะเทียบท่าได้ตลอดปี ข้อได้เปรียบเหล่านี้ทำให้ฮ่องกงมียอดรวมการค้ามากถึง 50 ล้านปอนด์

สภาพทางการค้าในฮ่องกงพัฒนาขึ้นตามลำดับ ช่วงทศวรรษ 1950-60 แรงงานจากจีนแผ่นดินใหญ่ก็หลั่งไหลเข้าฮ่องกงประมาณปีละ 4-5 หมื่นราย ยิ่งเมื่อฮ่องกงใช้กลยุทธ์การค้าเสรี เปิดเมืองท่าปลอดภาษียิ่งทำให้เศรษฐกิจฮ่องกงพุ่งทะยาน นักธุรกิจจากละแวกใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจจีนโพ้นทะเลจากมาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และอีกหลายประเทศเข้าไปแสวงหาโอกาสและผลประโยชน์จากสภาพเศรษฐกิจฮ่องกงที่เติบโตอย่างมากและมั่นคงในช่วง 20-30 ปีนั้น

วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์ วิเคราะห์ไว้ว่า “…ความสำเร็จของฮ่องกงเกิดจากนโยบาย โครงสร้างกฎระเบียบที่จัดวางโดยรัฐบาลอังกฤษโดยมีคน ‘จีนฮ่องกง’ เป็นเฟืองขับดันกลจักรเศรษฐกิจให้เคลื่อนไปไม่หยุดยั้ง…

ขณะที่จีนมองการสูญเสียฮ่องกงเป็นความอดสู จีนพยายามเรียกร้องฮ่องกงคืนมาโดยตลอด รวมถึงสมัยที่เติ้งเสี่ยวผิง พยายามรวมจีน (ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน) กลับมาเป็นของจีนให้ได้

หลังสัญญาเช่า “เขต” ใน “ฮ่องกง” หมดลง

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1932 นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษไปเยือนจีน และได้เจรจากับเติ้งเสี่ยวผิง เรื่องอนาคตของฮ่องกงอันเป็นช่วงที่สัญญาเช่าเขตนิวเทอร์ริทอรีส์กำลังจะหมดลง การเจรจาครั้งนี้ก็มีบรรยากาศท้าทายกันด้วย เมื่อผู้นำจีนของให้อังกฤษคืนอำนาจอธิปไตยเหนือฮ่องกงทั้งหมดในปี 1997 แต่นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ตอบกลับทำนองว่า การกระทำเช่นนี้จะทำให้เกิดความโกลาหล

อย่างไรก็ตาม ตามสถานการณ์ในเวลานั้น นักวิเคราะห์มองกันว่า จีนอยู่ในฐานะมหาอำนาจใหญ่โตไม่แพ้อังกฤษ การที่อังกฤษจะยอมเอาตัวเข้าเสี่ยงด้วยก็เป็นการเล่นกับไฟ สองปีหลังจากนั้น จึงมาถึงการบรรลุข้อตกลงนำมาสู่การลงนามในปฏิญญาร่วม อังกฤษมอบอธิปไตยเหนือเกาะฮ่องกงคืนแก่จีน โดยจีนกำหนดให้ฮ่องกงเป็นเขตปกครองพิเศษ ไม่เปลี่ยนแปลงระบบสังคมเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชนเป็นเวลา 50 ปี ตามนโยบายที่เรียกว่า “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ของเติ้งเสี่ยวผิง

ในช่วงเวลาสองปีระหว่างการดำเนินการเจรจาก่อนจะได้ข้อตกลงร่วมกันนั้น สถานการณ์ไม่ได้ราบรื่นแน่นอน สถานการณ์ระหว่างรอโต๊ะเจรจาทำให้เศรษฐกิจฮ่องกงชะงัก ผู้พักอาศัยในฮ่องกงหวั่นวิตกและหวาดกลัวเช่นเดียวกับนักธุรกิจที่เริ่มโยกทรัพย์สินออกนอกประเทศ แต่เมื่อบรรลุข้อตกลงได้สถานการณ์ในฮ่องกงจึงกลับมาปกติอีกครั้ง

หากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ฮ่องกงไม่ได้เผชิญสถานการณ์ที่น่ากังวลระหว่างรอผลจากโต๊ะเจรจา ในช่วงเหตุการณ์เทียนอันเหมิน เดือนพฤษภาคม 1989 ทหารกองทัพแดงใช้กำลังปราบปรามนักศึกษาและประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างรุนแรง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมกันแล้วแตะหลักพันราย ในฮ่องกงก็เกิดกระแสความกังวลพร้อมกับการเคลื่อนไหวแสดงพลังต่อต้านรัฐบาลปักกิ่งด้วย

เมื่อเข้าสู่วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 นายต่งเจี้ยหวา ผู้ว่าการเกาะฮ่องกงคนใหม่ (ผู้ว่าการที่เป็นชาวฮ่องกงคนแรกที่ว่ากันว่ามีสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับจีน) กล่าววาทะที่หลายคนอาจจดจำกันได้ดีว่า “ในที่สุดเราก็ได้เป็นนายในบ้านของตัวเอง”

เหตุการณ์ในครั้งนั้นถูกนักวิเคราะห์สะกิดให้คนทั่วโลกจับตามองสิ่งที่จะเกิดในฮ่องกงอย่างใกล้ชิดเนื่องจากจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกเนื่องจาก “ยังไม่เคยมีเมืองเสรีและร่ำรวยที่สุดของโลกแห่งใดที่เคยตกใต้อำนาจของรัฐบาลหัวเก่า”

นับตั้งแต่ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษชุดแรกก็มีสัญญาณบ่งชี้ถึงขั้วที่แตกต่างดังเช่นคณะผู้บริหารฮ่องกงมีนางแอนสัน ฉั่น เป็นผู้ครองตำแหน่งสำคัญอันดับสองรองจากผู้ว่าเกาะฮ่องกง ซึ่งวิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์ เชื่อว่าเธอเป็นฟากนิยมประชาธิปไตย นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ก็มองกันว่า อนาคตของฮ่องกงก็ขึ้นอยู่กับสภาพการทำงานของทั้งคู่ซึ่งเป็นขั้นระหว่าง “นิยมจีน” กับ “นิยมประชาธิปไตย”

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์. “ฮ่องกง 1997 เมื่ออาทิตย์อัสดงในแผ่นดินจีน”. ใน สารคดี ฉบับที่ 150 ปีที่ 13 เดือนสิงหาคม 2540.

หลี่เฉวียน. ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ. แปลโดย เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กันยายน 2563