“ยี่กอฮง” นำพ่อค้าจีนตั้งบริษัท “สู้” ฝรั่งผูกขาดธุรกิจเดินเรือไปฮ่องกง-ซัวเถา

ท่าเรือบริษัทวินด์เซอร์ ซึ่งเป็นบริษัทเดินเรือโดยสารของชาวตะวันตก (ภาพจาก “ลูกจีนหลานมอญ”)

ในปี พ.ศ. 2451 ยี่กอฮง (พระอนุวัตน์ราชนิยม) ร่วมกับพ่อค้าชาวจีนคนอื่นๆ ก่อตั้ง บริษัทเรือเมล์จีนสยาม เพื่อทําลายการผูกขาดการขนส่งทางเรือของบริษัทเรือของชาติตะวันตก และเพื่อสนองตอบการค้าระหว่างจีนและไทยที่กําลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้นทุกที บริษัทเรือเมล์จีนสยาม ทุนจํากัด (Chino-SiamSteam Navigation Ltd) เริ่มจัดตั้งโดยมีทุน 3 ล้านบาท ตั้งขึ้นเพื่อเดินเรือรับส่งคนโดยสารและบรรทุกสินค้าต่างๆ ไปมาระหว่างฮ่องกง-ซัวเถา-ไฮเค้า [1] โดยเช่าเรือต่างประเทศมาดําเนินการ ผู้ถือหุ้นใหญ่มีดังนี้

1. พระอนุวัตน์ราชนิยม (ฮง เตชะวณิช) ถือหุ้น 30,000 หุ้น เป็นเงิน 300,000 บาท

Advertisement

2. หลวงโสภณเพชรรัตน์ (กิมเซ่งหลี) ถือหุ้น 25,000 หุ้น เป็นเงิน 250,000 บาท

3. พระสวามิภักดิ์ภูวนาท (แต้ไต้ฉิน เตชะกําพุช) ถือหุ้น 12,000 หุ้น เป็นเงิน 120,000 บาท

4. พระสรรพกร (เชย) ถือหุ้น 10,000 หุ้น เป็นเงิน 100,000 บาท

5. หลวงจิตรจํานงวานิช (ถมยา รงควนิช)ถือหุ้น 6,000 หุ้น เป็นเงิน 60,000 บาท

6. จีนติดหยู ถือหุ้น 6,000 หุ้น เป็นเงิน 60,000 บาท

7. จีนไขบุ๋น ถือหุ้น 6,000 หุ้น เป็นเงิน 60,000 บาท

นอกจากนี้ยังมีผู้นําจีนที่สําคัญคนอื่นๆ ถือหุ้นอีก ได้แก่ นายฮุนกิมฮวด ผู้นําจีนไหหลํา, นายอึ้ง ล่ำซำ ผู้นําจีนแคะ, นายเซียวฮุดเสง ผู้นํา ก๊กมินตั๋งในไทย เป็นต้น กรรมการบริหารของบริษัทจึงมาจากผู้นําของชาวจีนห้าภาษา

ยี่กอฮงในชุดขุนนางจีน (ภาพจาก www.wikipedia.com)

บริษัทเรือเมล์จีนสยาม ทุนจํากัด มีพระอนุวัตน์ราชนิยม (ฮง เตชะวณิช) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีผู้ริเริ่มคนสําคัญ คือ หลวงโสภณเพชรรัตน์ (จีนกี๊ กิมเซ่งหลี) ซึ่งพยายามวิ่งเต้นและเสียเงินในการดําเนินการไปมาก เงินที่เสียไปนั้นเป็นเงินสูญเปล่าไม่ได้นับเข้าในเงินแชร์ การที่ธุรกิจของหลวงโสภณฯ ทายาทกลุ่มกิมเซ่งหลีทรุดลง ส่วนสําคัญมาจากการจัดตั้งบริษัทนี้ด้วย

ความพยายามในการจัดตั้งบริษัทเดินเรือของชาวจีนให้สำเร็จนี้ เกิดจากความรู้สึกชาตินิยมของชาวจีนในขณะนั้น ที่ต้องการสร้างชาติจีนให้แข็งแกร่งและสามารถต่อสู้กับชาติตะวันตกได้ การสร้างบริษัทเดินเรือของชาวจีนจึงเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับชาติตะวันตก

การจัดตั้งบริษัทนี้นับเป็นความร่วมมือระหว่างพ่อค้าและชนชั้นสูงของจีนทั้งในสยามและที่ซัวเถาเพื่อให้บริษัทแข่งขันกับบริษัทเยอรมันนอเดนท์เชอร์ลอยด์ (The German Norddeutscher Lloyd) ที่ผูกขาดการเดินเรือระหว่างกรุงเทพฯ-ซัวเถาอยู่ในขณะนั้นๆ

การจัดตั้งบริษัทเรือเมล์จีนสยามไม่ใช่เป็นเพียงการช่วยเหลือทางการค้าของพ่อค้าเท่านั้น หากเป็นเรื่องของชาตินิยมจีนด้วย เช่นเดียวกับการจัดตั้งธนาคารจีน บริษัทเรือเมล์จีนสยามดําเนินการด้วยการเช่าเรือกลไฟขนาดระวางน้ำหนักลําละ 2,000 ตัน จํานวน 3 ลํา

เมื่อครั้งเริ่มดําเนินการมีการเชิญชวนให้ชาวจีนและพ่อค้าทั้งหลายใช้บริการ ปรากฏว่า ในปีแรกชาวจีนใช้บริการมาก ส่งผลให้เรือของบริษัทเยอรมันฯ ลดบทบาทในการขนส่งลงจากร้อยละ 50 เหลือร้อยละ 47

ในการแข่งขันครั้งนี้บริษัทเรือเมล์จีนสยามพยายามทําทุกอย่างให้ชาวจีนมาใช้บริการ ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2452 บริษัทได้ประกาศว่าหากจีนคนใดโดยสารเรือของบริษัทอื่นเข้ามาในกรุงเทพฯ แล้ว พ่อค้าในกรุงเทพฯ จะไม่ถือเป็นคนร่วมชาติ โดยไม่เลือกว่าเป็นญาติหรือไม่ และเมื่อยามเจ็บไข้จะไม่ยอมให้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจีนด้วย

ยี่กอฮงผู้มีบทบาทสําคัญในการจัดตั้งบริษัทแห่งนี้ได้เอาพลตระเวน ซึ่งประจําอยู่โรงหวยและหลงจู๊ของยี่กอฮงไปคอยยืนกํากับให้คนโดยสารเรือเมล์จีนสยามที่ถนนเจริญกรุง การกระทําดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้บริษัทวินด์เซอร์มาก นอกจากนี้บริษัทยังประกาศห้ามไม่ให้ร้านโพยก๊วน ซึ่งรับจําหน่ายตั๋วโดยสารเรือให้กุลีโรงสีต่างๆ จําหน่ายตั๋วเรือให้แก่บริษัทอื่น นอกจากตัวเรือของบริษัทเรือเมล์จีนสยาม ร้านโพยก๊วนใดที่ยังคงขายตั๋วเรือต่างชาติก็ด้วยใบปลิวและหนังสือพิมพ์อย่างรุนแรง

บริษัทของเยอรมันใช้มาตรการลดอัตราค่าโดยสารและขนส่งทางเรือ เข้าสู้กับบริษัทเรือเมล์จีนสยาม โดยลดอัตราค่าโดยสารระหว่างกรุงเทพฯ-ซัวเถาเหลือเพียง 5 บาท ก่อนหน้านี้เก็บถึง 20-25 บาท ขณะที่บริษัทเรือเมล์จีนสยามเก็บราคา 10 บาท การลดราคาของบริษัทเยอรมันนี้ทําให้พ่อค้าชาวจีนรวมทั้งกรรมกรจีนหันกลับไปใช้บริการของบริษัทเยอรมัน บริษัทเรือเมล์จีนสยามต้องประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักถึงประมาณ 400,000 บาท หลังจากเปิดดําเนินการมาได้ 2 ปี

ในปี พ.ศ. 2453 บรรดาพ่อค้าต่างๆ ได้เคลื่อนไหวเพื่อให้ชาวจีนหันกลับมาใช้บริการของบริษัทเรือเมล์จีนสยาม พ่อค้าเหล่านั้นได้แก่ โรงรับจํานํา ร้านตลาดใหม่ สะพานเหล็ก สําเพ็ง และโรงรถลาก พ่อค้าเหล่านี้ต่างรวมกันที่จะใช้บริการของบริษัทเรือเมล์จีนสยาม พวกพ่อค้าโรงรับจํานําทําข้อตกลงว่า หากผู้ทํากิจการโรงรับจํานําไปใช้เรือของต่างประเทศเดินทางระหว่างไทยและจีนแล้ว จะจัดการว่ากล่าวและไม่อุดหนุนผู้นั้น ส่วนพ่อค้าที่อยู่ตําบลวัดสามจีนทําข้อตกลงและข้อบังคับใช้ ดังนี้

1. เมื่อพวกพ้องหรือลูกจ้างในร้านใดจะกลับไปเมืองจีน ตัวเจ้าของร้านต้องจัดซื้อตั๋วโดยสารจากบริษัทเรือจีนสยาม ผู้ใดขัดขืนไม่ประพฤติตามข้อบังคับนี้ต้องถูกปรับเป็นเงิน 5 บาท

2. จีนใหม่หรือจีนเก่าก็ดี ถ้าเพิ่งมาจากเมืองจีนจะมาขออาศรัยอยู่ในบ้านใด ต้องมีใบสําคัญที่ปรากฏว่าได้โดยสารเรือจีนสยามมา แม้ไม่มีใบสําคัญจะปรับเงิน 5 บาท

3. ถ้าจีนใหม่มิได้โดยสารเรือจีนมาแลไม่มีเงินที่จะให้ค่าปรับจะไม่ยอมให้อาศรัยอยู่ในบ้าน

4. ผู้ที่โง่เขลาไม่รู้การรับผิดชอบแลมิได้โดยสารเรือบริษัทจีนมาต้องถูกปรับ 4 บาท จึงจะยอมให้อาศัยในร้านได้

ความพยายามของพ่อค้าชาวจีนและชุมชนชาวจีนที่ต่อสู้ในธุรกิจเดินเรือกับชาติตะวันตก ในที่สุดก็ต้องประสบความล้มเหลว บริษัทขาดทุนตั้งแต่ปีแรก เฉลี่ยเดือนละ 22,648 บาท ในปีที่ 4 บริษัทขาดทุนถึง 2 ใน 3 ของเงินทุนทั้งหมด (ประมาณ 2,000,000 บาท)

กิจการเดินเรือชาวจีนต้องประสบความล้มเหลว เนื่องจากไม่สามารถสู้เรื่องราคากับบริษัทตะวันตก บริษัทตะวันตกมีทุนมากกว่า สามารถทนกับภาวะขาดทุนจากการลดอัตราค่าโดยสารได้นานกว่า และถึงแม้พ่อค้าและชุมชนชาวจีนจะใช้มาตรการบังคับให้ชาวจีนใช้บริการของชนชาติเดียวกัน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะราคาค่าโดยสารของบริษัทเยอรมันนอเดนท์เชอร์ลอยด์ลดลงต่ำมาก

ในที่สุดรัฐบาลที่กวางตั้ง ได้รับซื้อหุ้นของบริษัทไว้ 2,137 หุ้น และโอนบริษัทกลับไปอยู่ภายใต้กฎหมายจีนใน พ.ศ. 2455 หลังจากนั้นเพียงปีเดียวบริษัทสามารถดําเนินการจนได้ผลกําไรถึง 343,370 บาท

[1] ฮ่องกง-ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนกวางตุ้ง, ซัวเถา-ประชากรส่วนใหญ่คนแต้จิ๋ว ทั้ง 2 เมืองอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง ไฮเค้า-ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนไหหลำ ตั้งอยู่ในมณฑลไหหลำ

 


ข้อมูลจาก :

พรรณี บัวเล็ก. “เส้นทางชีวิตผู้นำสยาม”, ลูกจีนหลานมอญ สำนักพิมพ์สารคดี.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มีนาคม 2562