“ยี่กอฮง” ครอบครัวตกอับขอทาน สู่เศรษฐีจีนในไทย พบหายนะการเงินได้อย่างไร?

โรงเรียน จีน ประกอบ บทความ ยี่กอฮง นายทุนจีน
พิธีเปิดโรงเรียน "เผยอิง" หรืออีกชื่อคือโรงเรียน "ป้วยเอง" เมื่อ พ.ศ. 2463 (ภาพจาก สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ )

ในบรรดาเหล่า นายทุนจีน ที่ก่อร่างสร้างตัวจนกลายเป็นเศรษฐีในไทยได้ ชื่อ “ยี่กอฮง” ย่อมติดในรายชื่อนี้ ประวัติความเป็นมาของเศรษฐีผู้นำชุมชนจีน หรือ นายทุนจีน รายนี้มีเรื่องราวน่าสนใจมากมาย จากสมาชิกในครอบครัวจีนที่ตกอับ สามารถก้าวมาสู่เศรษฐีได้ แต่กระนั้นก็ยังพบกับหายนะทางการเงินในช่วงท้าย

หนังสือ “ลักษณะของนายทุนไทยในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2457-2482 : บทเรียนจากความรุ่งโรจน์สู่โศกนาฏกรรม” อันเป็นผลงานวิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิตของพรรณี บัวเล็ก เอ่ยถึงเศรษฐีผู้นำรายนี้ซึ่งโด่งดังในสมัยรัชกาลที่ 6 พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร สรุปย่อความเป็นมาของ “ยี่กอฮง” หรือ พระอนุวัตร์ราชนิยม (ฮง เตชะวนิช) ไว้ดังเนื้อหาที่คัดย่อมา

เนื้อหานี้คัดย่อจากบทความ “นายทุนไทยรวยข้ามโลก ระวัง! โศกนาฏกรรม A Successful Studies of Failure” โดย พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2545


 

ยี่กอฮง เกิดในสยามประเทศปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บิดาแซ่แต้ อพยพมาทำมาหากินในดินแดนทางภาคเหนือของไทย แต่ล้มเหลวจึงอพยพครอบครัวกลับเมืองจีน ขณะนั้นยี่กอฮง อายุได้แปดขวบ ครั้นถึงเมืองจีนบิดาก็ทำมาหากินไม่ประสบความสำเร็จอีกเช่นเคย จึงได้ทิ้งครอบครัวไปทำงานต่างแดนโดยลำพังและเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน

ครอบครัวจึงได้อยู่ในสภาพยากจนกลายเป็นขอทาน อีกไม่กี่ปีต่อมาเมื่อเขาอายุได้ 13 มารดาจําเป็นต้องแต่งงานใหม่เพื่อความอยู่รอด เด็กน้อยขาดที่พักอาศัย เลยเร่ร่อนออกไปหางานทําที่ซัวเถา ในปี พ.ศ. 2409 (ค.ศ. 1866) พออายุได้ 16 เขาอาศัยเรือเดินสมุทรเดินทางกลับมาผจญโชคในสยาม ถิ่นที่มารดาได้ให้กําเนิดเขานั่นเอง

เมื่อมาถึงบางกอก เขาได้เข้าเป็นเสมียนโรงบ่อนเบี้ยของพระยาภักดีภัทรากร (เหล่าปิง) และเป็นสมาชิกสมาคมลับอั้งยี่ ไต่เต้าจนได้เป็นหัวหน้าของสมาคมในวัยกลางคน โดยได้รับสมญาว่า “ยี่กอฮง” ผู้รับตําแหน่งหัวหน้านี้ต้องร่ำรวย และมีบารมีสามารถช่วยเหลือผู้อื่นเวลาจําเป็น อีกทั้งต้องควบคุมชุมชนได้

ยี่กอฮงสร้างฐานะจากการประมูล เป็นเจ้าภาษีอากรโรงหวยแบบจีนที่เรียกว่า หวย 36 ตัว นอกจากนี้ยังได้ตั้งร้านส่งสินค้าออกและนําสินค้าเข้า สร้างโรงสี ทําหนังสือพิมพ์ ฯลฯ

แม้ยี่กอฮงจะเป็นผู้ไม่มีการศึกษา แต่เขากลับมีบทบาทสําคัญในฐานะผู้นําชุมชนจีนในสยาม ในปี พ.ศ. 2445 (ค.ศ. 1902) เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง “ป่อเต็กตึ๊ง” เพื่อจัดการเรื่องงานศพให้ กับชาวจีนอพยพที่ไร้ญาติซึ่งต่อมาได้ขยายการดําเนินงานมาถึงคนไทยด้วย อีกหกปีต่อมาเขาได้เข้าไปมีบทบาทสําคัญในการจัดตั้งบริษัทเรือเมล์จีนสยาม เพื่อทําลายการผูกขาดการขนส่งทางเรือของ บริษัทเดินเรือตะวันตก และเพื่อตอบสนองการค้าระหว่างจีนและไทยที่กําลัง ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2459 (ค.ศ. 1916) ยี่กอฮงได้เป็นผู้นําในการ จัดตั้งโรงเรียนเผยอิง

ในฐานะที่เขาสวมบทบาทหัวหน้าสมาคมลับ ยี่กอฮงจําเป็นต้องกลับไปสร้างบารมีของตนในเมืองจีน เขาได้บริจาคเงินจํานวนมากเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และซ่อมเขื่อนป้องกันน้ำท่วมที่เมืองแต้จิ๋ว หลังจากร่ำรวยแล้วในปี พ.ศ. 2459 (ค.ศ. 1916) เขาได้ก่อสร้างหมู่บ้านขนาดใหญ่ขึ้น ภายในมีศาลเจ้า สวนดอกไม้ และโรงเรียน

ยี่กอฮงสร้างโดยใช้เงินส่วนตัวแต่ผู้เดียว รับนักเรียนจากอําเภอต่าง ๆ โดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน การสร้างหมู่บ้านนี้ก็เพื่อเลี้ยงดูมารดาผู้ชรา เนื่องจากมารดาของเขาแต่งงานสองครั้ง ชาวตระกูลแซ่แต้ในหมู่บ้านเดิมจึงไม่ยอมให้กลับไปอยู่ด้วย เขาใช้เงินมหาศาลสร้างหมู่บ้านใหม่ขึ้นเพื่อให้เห็นความยิ่งใหญ่และยอมรับมารดาของเขา เขาแจกบ้านที่ดินสิ่งของเงินทองเพื่อชักชวนให้คนเปลี่ยนแซ่มาเป็นแซ่เดียวกับเขา ในสมัยนั้นคําพูดว่า “ลูกเลี้ยงยี่กอฮง” จึงเป็นคําพูดที่แพร่หลายในหมู่บ้านแต้จิ๋ว

ความผิดพลาดของยี่กอฮงอันนําไปสู่ความหายนะทางการเงินเกิดขึ้นในปีสุดท้ายของรัชกาลที่ 5 ปีนั้นรัฐเรียกเงินค่าผูกจากชาวจีนเพิ่มเป็นคนละ 6 บาท ซึ่งเท่ากับอัตราที่คนไทยต้องเสียเป็นค่ารัชชูปการ ยี่กอฮงสวมบทผู้นําการประท้วงของชาวจีน ก่อความวุ่นวายตามท้องถนน ปิดร้านไม่ค้าไม่ขาย ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับผู้ใหญ่ของแผ่นดิน

เจ้าพระยายมราชวิจารณ์บทบาทของจีนฮงหรือยี่กอฮงว่า

“…จีนฮงโปรยเงินและทําบุญมาก ทําให้คนจีนในเมืองจีนนับถือ ในกรุงเทพฯ ทําบุญอะไรก็ตาม จีนฮงทํามากกว่าใคร คนจีนในกรุงเทพฯ ก็นิยม คนไทยก็ออกจะครั่นคร้าม…การที่ ชาวจีนประท้วงเรื่องเงินรัชชูปการครั้งนี้ เจ็บมาก.. การคิดจะปกครองชุมชนจีนให้อยู่ในความสงบ ต้องตัดทอนอํานาจทาง การเงินของจีนฮงก่อน”

เนื่องจากฐานทางเศรษฐกิจของยี่กอฮง คือ การเป็นเจ้าภาษี เมื่อรัฐบาลเริ่มยกเลิกการทําภาษีอากรสุรา ยาฝิ่น โรงหวย และบ่อนเบี้ย ฐานะทางการเงินของเขาก็ถูกกระทบไปด้วย เมื่อสิ้นสุดการทําหวย กข ซึ่งเป็นภาษีตัวสุดท้ายที่รัฐบาลยกเลิก ยี่กอฮงติดเงินภาษีมากมาย จึงถูกฟ้องล้มละลายไปในที่สุด รัฐได้ยึดบ้านและตึกแถวที่พลับพลาไชย (บริเวณสถานีตํารวจพลับพลาไชย)

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาพระราชทานบ้านนั้นให้อยู่อาศัยไปตลอดชีวิตโดยไม่เก็บค่าเช่า และยกหนี้คงค้างสามแสนกว่าบาทที่เหลือพระราชทานให้

หากไม่คํานึงถึงตัวเงินที่ปรากฏอยู่ บนบรรทัดสุดท้ายของชีวิต คงต้องสรุปว่า ยี่กอฮงล้มเหลวในบทบาทของนายทุน เพราะทรัพย์สมบัติมากมายที่เขาหามาได้ มิได้ถูกนําไปลงทุนเพื่อหากําไรเพิ่มเติม หรือพัฒนาธุรกิจให้มีศักยภาพดีขึ้น ตามที่เขียนไว้ในทฤษฎีทุนนิยมของฝรั่ง แต่นำทรัพย์ไปบริจาคทำบุญให้ทานคืนกลับสู่สังคมตามค่านิยมคนเอเชีย

ส่วนในสายตาของแรงงานจีน ยี่กอฮงเป็นบุคคลที่ควรได้รับการยกย่อง เปรียบดุจเจ้าสำนักผู้ทรงคุณธรรมที่เปี่ยมไปด้วยความกตัญญู ความเมตตาไปยังผู้ด้อยโอกาส และความกล้าหาญที่จะปกป้อง

หากมองจากมุมรัฐบาลไทย ยี่กอฮงเป็นมาเฟียหรืออั้งยี่อันตรายที่ต้องควบคุมอย่างใกล้ชิด โอ๊ย…สับสน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 24 เมษายน 2567