“เผยอิง” โรงเรียนที่ผลิต “เจ้าสัว” มากที่สุดในเมืองไทย

โรงเรียนเผยอิง โรงเรียนจีน ตั้งอยู่ ทรงวาด แหล่งผลิต เจ้าสัว โรงเรียนเผยอิง โรงเรียนจีน
พิธีเปิดโรงเรียน "เผยอิง" หรืออีกชื่อคือโรงเรียน "ป้วยเอง" เมื่อ พ.ศ. 2463 (ภาพจาก สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ )

โรงเรียนเผยอิง โรงเรียนจีนที่ผลิต “เจ้าสัว” มากที่สุดในเมืองไทย

“เผยอิง” เป็น “โรงเรียนจีน” ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ตั้งอยู่บนถนนทรงวาด ชาวจีนที่มาตั้งรกรากในไทยมักนิยมส่งลูกหลานเข้าเรียนที่ “เผยอิง”

ยุวดี ศิริ ได้กล่าวถึงชื่อเสียงของโรงเรียนดังกล่าวในหนังสือ “ตึกเก่า-โรงเรียนเดิม” ไว้ว่า “เป็นแหล่งให้การศึกษามหาเศรษฐีระดับ เจ้าสัว จำนวนมากที่สุดในเมืองไทย”

ผู้เขียนได้กล่าวเพิ่มเติมรายละเอียดที่มาของ โรงเรียนจีนแห่งนี้ ซึ่งสรุปได้ว่า โรงเรียนเผยอิงถือกำเนิดในราว พ.ศ. 2459 หรือในสมัยรัชกาลที่ 6 จากการที่พ่อค้าจีนทั้ง 5 คน ได้แก่ พระอนุวัติราชนิยม (ฮง เตชะวณิช) กอฮุยเจียะ โค้วปิ้ดจี๋ เชียวเกียงลิ้ง และ ตั้งเฮาะซ้ง ได้ช่วยกันระดมทุนและรับบริจาคเงินจากชาวจีนแต้จิ๋วในไทย มาเป็นเงินทุนในการก่อสร้างโรงเรียน เมื่อสามารถรวบรวมเงินได้จำนวน 3 แสนบาท จึงก่อสร้างอาคารหลังแรกบริเวณหลังศาลเจ้า “ปูนเถ้ากง”

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอาคารมีรูปแบบไปในทางตะวันตก หรือเรียกได้ว่า มีทรงแบบ “ฝรั่ง” ตามความนิยมในสมัยนั้น ขัดกับเนื้อในของการเรียนการสอนที่มีความเป็น “จีน” อย่างเต็มที่

ภาพอาคารโรงเรียนเผยอิง มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก สร้างตามสมัยนิยม (ภาพจาก มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทย จัดพิมพ์โดย สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมป์, พ.ศ. 2548 )

จุดประสงค์ในการสร้างโรงเรียนนี้ ก็เพื่อสร้างความแน่นแฟ้นให้ชุมชนจีนในเมืองไทย สร้างเครือข่ายให้กับนักเรียนจีนในอนาคต แผนการเรียนการสอนในยุคแรกเลียนแบบมาจากระบบการศึกษาของจีนแท้ ๆ แต่ละวันนักเรียนจะได้เรียนภาษาจีนถึง 6 ชั่วโมง และเรียนภาษาไทยเพียง 1 ชั่วโมง ส่วนคุณครูที่เชิญมาสอนก็เรียกได้ว่านำเข้ามาจากเมืองจีนเลยทีเดียว

ช่วงแรกโรงเรียนเผยอิงเปิดสอนเพียงแค่นักเรียนชาย โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ พบว่ามีนักเรียนสมัครเข้ามาเรียนเป็นจำนวนมาก แต่ต่อมาก็ได้ทำการเก็บค่าเทอมเป็นจำนวนเงิน 3 บาท ซึ่งหมายความว่าเด็กที่จะเข้าเรียนได้ส่วนมากก็ไม่พ้นเป็นลูกคนรวยทั้งนั้น

กิจการโรงเรียนเผยอิงไม่ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่นเท่าไรนัก เมื่อใน พ.ศ. 2478 หลังจากโรงเรียนเปลี่ยนเป็นโรงเรียนสหศึกษาได้เพียง 2 ปี ก็ต้องถูกสั่งปิดกิจการ เนื่องจากทำผิดระเบียบการดำเนินกิจการโรงเรียน โดยการเลิกจ้างครูใหญ่คนไทย จากนั้นในปีถัดมาจึงได้ทำการขอเปิดโรงเรียนอีกครั้ง พร้อมตั้งชื่อโรงเรียนใหม่ว่า “เฉาโจวกงสวย”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเรียนจีนต่าง ๆ ในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงโรงเรียนเฉาโจวกงสวย ถูกปิดตัวลงอีกครั้ง กระทั่งใน พ.ศ. 2489 หลังจากสงครามสิ้นสุด โรงเรียนจึงกลับมาเปิดให้การเรียนการสอนอีกครั้ง

และในคราวนี้ “เฉาโจวกงสวย” ก็เปลี่ยนชื่อกลับมาเป็น “เผยอิง” ดังเดิม

ตั้งแต่วันแรกที่เปิดให้มีการเรียนการสอนจนถึงปัจจุบัน นับได้ว่าโรงเรียนเผยอิงเป็นโรงเรียนที่มีอายุเก่าแก่กว่าศตวรรษ มีการเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละช่วงเวลา ทุกวันนี้โรงเรียนเผยอิงแม้จะยังเป็นโรงเรียนจีน ใช้แบบเรียนจากประเทศจีนและสิงคโปร์ สอนวิชาภาษาจีน สอนการใช้พู่กันจีนและวัฒนธรรมจีนอื่น ๆ ให้แก่นักเรียน แต่การเรียนการสอนโดยหลักก็อ้างอิงตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการประเทศไทย

ชื่อเสียงการผลิต “เจ้าสัว” ของโรงเรียนเผยอิง เรียกได้ว่าเป็นที่ร่ำลือ ดูได้จากตัวอย่างรายชื่อศิษย์เก่า เช่น อุเทน เตชะไพบูลย์ ผู้ก่อตั้งธนาคารศรีนครและมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง, เจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริษัท ไทย เบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), อนันต์ อัศวโภคิน ประธานและกรรมการผู้จัดการ แลนด์แอนด์เฮ้าส์ เป็นต้น

พิธีเปิดโรงเรียน “เผยอิง” หรืออีกชื่อคือโรงเรียน “ป้วยเอง” เมื่อ พ.ศ. 2463 (ภาพจาก สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ )

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ยุวดี ศิริ. ตึกเก่า – โรงเรียนเดิม. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤษภาคม 2562