ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2550 |
---|---|
ผู้เขียน | พรพรรณ จันทโรนานนท์ |
เผยแพร่ |
เมื่อพูดถึง “ชาวจีน” สิ่งที่คิดต่อเนื่องก็คือ “ประเทศจีน” ที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่ไพศาล มีความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจ เพราะมีกำลังการซื้อมหาศาล ด้วยประชากรที่มีมากถึง 1,306 ล้านคน (East Asia Economic Review) อีกทั้งเป็นประเทศแม่ของชาวจีนอพยพที่กระจายไปยังเมืองเล็กเมืองใหญ่ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ประเทศจีนมีเนื้อที่รวม 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร โดยมีพื้นที่ทางบกยาวถึง 2 หมื่นกิโลเมตร และเส้นทางน้ำยาว 1.8 หมื่นกิโลเมตร นับได้ว่าเป็นประเทศที่มีอาณาเขตกว้างขวางที่สุดประเทศหนึ่งของโลก (辞海 (缩印本); 1979 : 1417) ด้วยประเทศจีนกว้างใหญ่ไพศาล ประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศก็มีหลากหลายกลุ่มชน มีชนกลุ่มน้อยมากถึง 55 ชนชาติ และรวมทั้งชนชาติฮั่น (คือพวกที่เรียกตนเองว่าจีน) อีกเป็น 56 ชนชาติ เนื่องจากชาวฮั่นมีจำนวนประชากรมากถึง 92% ของประชากรทั้งหมดในประเทศจีน จึงนับได้ว่าชาวฮั่นเป็นเจ้าของประเทศ
สำหรับชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนตั้งแต่ 10 ล้านคนขึ้นไปก็มีชนชาติจ้วง (僮) ในมณฑลกวางสี และมีจำนวนประชากรมากกว่า 1 ล้านคนขึ้นไปก็มีชนชาติหุย (回), ซึ่งเป็นพวกมุสลิม พวกเหวยอู๋เอ่อร์ (维吾尔) พวกนี้อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน พวกอี๋ (彝) พวกแม้ว (苗) ที่มณฑลยูนนาน กวางสี กุ้ยโจว พวกหม่าน (满) หรือพวกแมนจูที่อยู่ทางเหนือ พวกจั้ง (藏) หรือพวกทิเบต ในมณฑลยูนนาน เสฉวน และที่ราบสูงทิเบต หรือพวกชนเผ่าปู้อี ต้ง เย้า ไป๋ ฮานี ไต (ไท) (布依, 侗,瑶,白,哈尼,傣) ที่มณฑลยูนนาน กวางตุ้ง กวางสี กุ้ยโจว เป็นต้น (周敏 ; 1995 : 2)
ชนกลุ่มน้อยของจีนเหล่านี้ส่วนใหญ่กระจายอยู่ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน ซึ่งหมายรวมถึงมณฑลฮกเกี้ยน กวางตุ้ง กวางสี ยูนนาน กุ้ยโจว และไหหลำด้วย
ชาวจีนในประเทศไทย
ชาวจีนในประเทศไทย คือชาวจีนที่อพยพมาจากดินแดนทางตอนใต้ของประเทศจีน คือ มณฑลกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน และไหหลำ ชาวจีนเหล่านี้ได้แก่ชาวจีนกวางตุ้ง ชาวจีนแคะ (ฮากกา) ชาวจีนแต้จิ๋ว ชาวจีนฮกเกี้ยน และชาวจีนไหหลำ รวม 5 กลุ่มภาษาใหญ่ หลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวจีน 5 กลุ่มภาษาดังกล่าวในประเทศไทย เห็นได้จากศาลเจ้า สมาคมตระกูลแซ่ สมาคมกลุ่มภาษา สมาคมถิ่นเกิด สมาคมอาชีพ และโรงเรียนจีน อันเป็นหลักฐานที่แน่ชัด ซึ่งเราสามารถสืบหาข้อเท็จจริงได้
สาเหตุของการอพยพของชาวจีนเข้าสู่ไทยก็เพราะความไม่สงบภายในประเทศจีน ความอดอยาก การติดต่อค้าขาย และความสามารถในการเดินเรือของจีนออกสู่ทะเล จะเห็นได้ว่า แม้ในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-960) การเดินเรือออกสู่ประเทศต่างๆ มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ในสมัยนั้นเมืองท่าสำคัญทางใต้ คือ เมืองกวางโจว (广州) เมืองเฉวียนโจว (泉州) และเมืองหมิงโจว (明州) ซึ่งก็คือเมืองท่าสำคัญในมณฑลกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน และเมืองเจิ้นเจียงในปัจจุบัน
เมืองดังกล่าวนี้นอกจากจะเป็นเมืองท่าสำคัญสามารถออกสู่ทะเลได้แล้วยังเป็นเมืองศูนย์กลางการค้า ทั้งภายในและภายนอกประเทศด้วย กล่าวคือจากเมืองศูนย์กลางทางการค้าทางทะเลเหล่านี้ สินค้าจะถูกลำเลียงจากเมืองท่าแล้วส่งต่อไปตามลำน้ำยังเมืองต่างๆ ของจีน และอีกด้านหนึ่งเมืองท่าเหล่านี้ยังเป็นที่รวมสินค้าชนิดต่างๆ ของจีนเพื่อส่งออกขายยังประเทศทางแถบเอเชียอาคเนย์และอินเดียด้วย
เมืองท่าต่างๆ เหล่านี้ได้นำความเจริญมาสู่ดินแดนทางใต้ ในสมัยราชวงศ์ถังเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองกวางโจว ทางการของจีนเห็นเป็นประโยชน์ต่อราชสำนัก จึงได้สร้างกรมท่าเรือที่กวางโจวขึ้น ต่อมาเมื่อราชสำนักไม่ได้ผลประโยชน์ตามคาดหมาย กรมดังกล่าวถึงได้ถูกยกเลิกไป (柏杨 ; 1983 : 530)
เมืองกวางโจวนั้น นับว่าเป็นเมืองท่าทางใต้ที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าทางทะเลของจีนมาทุกยุคทุกสมัย นับตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมา ถึงในสมัยราชวงศ์ถังเส้นทางเดินเรือจากกวางโจวไปยังต่างประเทศ จะมีทั้งสิ้น 6 สายด้วยกัน กล่าวคือ
- กวางโจว สู่ เปอร์เซีย
- กวางโจว สู่ เมโสโปเตเมีย (อิรัก)
- กวางโจว สู่ อาเด็น (ดินแดนของประเทศอาหรับ)
- กวางโจว สู่ ประเทศซือจื่อ (เกาะซีลอน)
- กวางโจว สู่ ทะเลใต้ (ประเทศในคาบสมุทรมลายู)
- กวางโจว สู่ เมืองตู่ผอ (ชวา) ( 柏杨 ; 1963 : 531)
จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า จีนในสมัยราชวงศ์ถังได้มีการติดต่อกับประเทศต่างๆ แถบแหลมมลายู ซึ่งรวมถึงดินแดนทางตอนใต้ของไทยด้วย
ชาวจีนรุ่นแรกๆ ที่อพยพเข้ามาในไทยจะเข้ามากับเรือสินค้า และส่วนมากเป็นชาวจีนที่อาศัยทำกินอยู่ในดินแดนทางใต้แถบชายทะเลมาก่อน ต่อมาเมืองกวางโจวมีเมืองท่าใหม่แถบชายทะเลทางใต้ยิ่งทำให้ดินแดนทางใต้มีความสำคัญเพิ่มขึ้นอีก เช่น เมืองท่าจางหลิน ที่ซัวเถาของเมืองแต้จิ๋ว จึงทำให้ชาวจีนกลุ่มภาษาต่างๆ อพยพออกนอกประเทศมากขึ้น (เกาะไหหลำเดิมอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง ได้รับการยกฐานะเป็นมณฑล ในปี ค.ศ. 1988 (周敏 ; 1995 : 8-9) ดินแดนที่ชาวจีนทางใต้นิยมอพยพมาอาศัยและทำการค้า คือแถบหนานหยางหรือแถบทะเลจีนใต้ ทั้งนี้หมายรวมถึงประเทศไทยด้วย (许云樵 ; 1961 : 1-2)
ความสัมพันธ์ของประเทศจีนกับชาวจีนอพยพในประเทศในแถบหนานหยาง ก่อให้เกิดผลทางการค้าและการเมืองมาก ประเทศแถบหนานหยางต่างส่งเครื่องราชบรรณาการต่อจีนเพื่อขอการคุ้มครองจากจีนซึ่งเป็นพี่ใหญ่ในแถบนี้ ชาวจีนเรียกการถวายเครื่องราชบรรณาการนี้ว่า จิ้นก้ง (进贡)
ไทยเรียกกันว่า จิ้มก้อง ความมีอำนาจและบารมีของจีนต่อดินแดนแถบหนานหยาง ซึ่งหมายรวมถึงคาบสมุทรมลายู และดินแดนทางตอนใต้ของไทยนั้น ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนในพงศาวดารราชวงศ์หยวน เป็นเนื้อความที่ตักเตือนไม่ให้ชาวมลายูมารังแกสยาม (元史) (เล่มที่ 15); 1987 : ตอน ประเทศอี๋)
ในสมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1279-1368) นอกจากการค้ากับต่างประเทศที่ยังคงปฏิบัติต่อจากรัชกาลก่อน โดยใช้เมืองท่าสำคัญที่กล่าวมาแล้ว ดินแดนทางเหนือของไทยนอกจากจะมีการติดต่อการค้ากับจีนแล้วก็คงมีชาวจีนอพยพอันเนื่องมาจากการกรีธาทัพเข้าปราบปรามดินแดนทางใต้ของจีนซึ่งต่อแดนกับอาณาเขตทางเหนือของไทยด้วย และเมื่อการทัพจบสิ้นลงก็คงมีชาวจีนติดค้างตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณทางเหนือของไทยบ้าง
เส้นทางอพยพของชาวจีนในสมัยโบราณ นอกจากพงศาวดารแล้วยังทราบได้จากบันทึกของนักเดินทาง นักแสวงบุญ เช่น บันทึกของหลวงจีนเสวียนจั้ง (玄奘) (ค.ศ. 602-664) หรือหลวงจีนเหี้ยนจัง หรือพระถังซำจั๋ง ที่มีชื่อว่า ต้าถังซีอวี้จี้ (大唐西域记) เป็นการจดบันทึกถึงการเดินทางเข้ามายังอินเดียโดยผ่านดินแดนทางทะเลใต้ในสมัยราชวงศ์ถัง (ประเทศอินเดียในสมัยนั้นเรียกชื่อประเทศว่าเทียนจู๋กั๋ว (天竺国)) โดยเริ่มเดินทางในรัชศกเจิงกวนปีที่ 3 แห่งรัชกาลพระเจ้าถังไท้จง คือ ค.ศ. 629 และกลับสู่ประเทศจีนถึงเมืองหลวงฉางอานในปีรัชศกเจิงกวนปีที่ 19 รวมเดินทางไปกลับ 17 ปี (辞海 ; 1979 : 1790)
สิ่งที่หลวงจีนได้บันทึกไว้ ทำให้รู้ได้ว่าที่ดินแดนแหลมทองมีอาณาจักรทวารวดี อาณาจักรศรีเกษตร และอาณาจักรศรีวิชัย และบอกเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในแถบนี้ รวมทั้งชาวจีนอพยพมากมาย (许云樵 ; 1961 : 91-92, 157-161) หรือบันทึกของชาวเจ้อเจียง วังต้าหยวน (汪大渊) ในหนังสือชื่อเต่าอี๋จื้อเลวี้ย (岛夷志略) ได้บอกเล่าถึงเรื่องราวที่เขาได้เห็น ได้ยินมาเกี่ยวกับดินแดนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือแถบทะเลใต้ หรือหนานหยางที่เขาได้เดินทางมาถึง 2 ครั้ง ในระหว่างรัชศกจื้อเจิ้ง (ค.ศ. 1341-68) ทำให้ผู้คนที่ได้อ่านบันทึกของเขาเดินทางออกสู่ดินแดนเอเชียใต้มากขึ้น (Wang Gung wu เขียน Yao Nan แปล; 1988 : 210)
การอพยพของชาวจีน
การอพยพของชาวจีนออกสู่ดินแดนทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ความจำเป็นทางภูมิศาสตร์อันเป็นถิ่นกำเนิดย่อมเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง เพราะพื้นที่ในประเทศจีนเต็มไปด้วยภูเขา ประชาชนแออัด พื้นที่ราบมีน้อยไม่เพียงพอต่อการทำมาหากิน ชายเมื่อแต่งงานแล้วก็มักจะยึดอาชีพการเดินทะเลเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว เดินทางไปกลับยังแถบหนานหยางและจีนเป็นประจำ
การเดินทางและพักแรมในต่างถิ่นของพวกเขาบางครั้งใช้เวลานานเป็นปี บางครั้งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎหมาย การปกครองในประเทศจีนจึงมีผลกระทบต่อการทำมาหากินของพวกเขามาก และเป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้พวกเขาบางกลุ่มเริ่มตั้งรกรากอยู่ในต่างแดน พวกนี้มีอาชีพเสี่ยงภัย การทำมาหากินไม่คงที่แน่นอน การผจญภัยจึงเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับพวกเขา
ดังนั้นจึงปรากฏว่าเมื่อเปิดเมืองท่าซัวเถา จึงมีชาวจีนจากมณฑลฮกเกี้ยนและกวางตุ้งเดินทางออกผจญภัยในถิ่นที่อยู่ใหม่เป็นจำนวนมากที่สุด (中国人民大学清史研究所 ; 1980 : 171)
ในรัชสมัยพระเจ้าหมิงเฉิงจู่ หรือบางแห่งเรียกพระนามพระจักรพรรดิ ตามปีรัชศกที่ขึ้นครองราชย์ว่าพระเจ้าหย่งเล่อ ยังจัดว่าอยู่ในช่วงต้นของราชวงศ์หมิง (พระเจ้าหมิงไท้จู่ครองราชย์เป็นพระองค์แรก ต่อมาคือ พระเจ้าหมิงหุ่ยตี้ และต่อมาคือพระเจ้าหมิงเฉิงจู่) พระองค์เป็นพระโอรสองค์ที่ 4 ของพระเจ้าจูหยวนจาง ขึ้นครองราชย์เมื่อปี ค.ศ. 1403-23 มีพระทัยมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงจัดการเรื่องภายในและภายนอกประเทศให้มีความเจริญดุจเดียวกับจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นและสมัยราชวงศ์ถัง
ซึ่งเป็นที่รู้ทั่วกันว่าจีนใน 2 สมัยดังกล่าวไว้ในพงศาวดารราชวงศ์หมิง ตอนเอเชียกลาง (明史 : เล่มที่ 332 ตอน 220) พระองค์โปรดให้เจิ้งเหอและหม่าหลิน (郑和,马淋) อำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่ทั้งสองเดินทางออกสู่แถบหนานหยาง หรือแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน เพื่อประกาศศักดาและแสนยานุภาพของประเทศจีน เพื่อเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ เข้าไปถวายเครื่องราชบรรณาการดังก่อน
รวมทั้งมีจุดประสงค์ในด้านการค้าด้วย เพราะการเข้าถวายเครื่องราชบรรณาการของนานาประเทศจะเป็นรายได้ที่ค้ำจุนประเทศจีนได้บ้าง รวมทั้งของแปลกที่ต้องพระประสงค์ขององค์พระจักรพรรดิ พระมเหสี พระญาติพระวงศ์ และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ การขาดประเทศผู้เข้าถวายเครื่องราชบรรณาการก็เสมือนหนึ่งเป็นการขาดรายได้ของประเทศ และขาดสิ่งของที่ต้องการเลยทีเดียว
การเดินทางของเจิ้งเหอ
เจิ้งเหอเดินทางสู่แถบหนานหยาง เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1405 คือ ต้นรัชกาลพระเจ้าหมิงเฉิงจู่ (明成祖) หรือพระเจ้าหย่งเล่อ จนถึงสมัยพระเจ้าหมิงเหยินจง (明仁宗) (ค.ศ. 1425-26) และสมัยพระเจ้าหมิงเซวียนจง (明玄宗) (ค.ศ. 1426-35) เป็นช่วงเวลาต่อมาถึง 3 รัชกาล รวมทั้งสิ้น 7 ครั้ง เป็นเวลาเกือบ 40 ปี แต่ละครั้งต้องใช้เวลาเดินทางไปกลับประมาณ 2-3 ปี และในบันทึกการเดินทางได้กล่าวถึงว่าในการเดินทางครั้งที่ 2และครั้งที่ 7 คือ ช่วงปี ค.ศ. 1407-9 และ ค.ศ. 1430-33 เจิ้งเหอได้เดินทางมาถึงประเทศเสียนหลัว หรือสยาม (暹罗) (中国航海研究会 (ตอนที่ 1); 1985 : 36)
เจิ้งเหอ เป็นชาวมุสลิม เดิมแซ่หม่า (马) แต่เนื่องจากแซ่ไปตรงกับแซ่ของพระมเหสีองค์หนึ่งขององค์พระจักรพรรดิ จึงได้เปลี่ยนเป็นแซ่เจิ้ง (郑) (ภาษาไทยเรียกว่าแซ่แต้) เขาเป็นมุสลิมที่เคร่งศาสนามากเคยไปเม็กกะพร้อมกับบิดาแล้ว เมื่อเข้ามารับราชการเป็นอำมาตย์ได้เลื่อนตำแหน่งสูง เป็นที่ไว้วางพระทัยขององค์พระจักรพรรดิ
การเดินทางทุกครั้งของเจิ้งเหอ เมื่อออกจากเมืองหลวงแล้ว (สมัยราชวงศ์หมิง เมืองหลวงคือเมืองปักกิ่ง) ก็จะล่องตามแม่น้ำหลิวเหอ (浏河) ที่ตำบลหลิวเหอเจิ้ง หมู่บ้านไท้สือ (太食浏河镇) ของมณฑลเจียงซู แล้วออกสู่แม่น้ำใหญ่สู่ทะเล (柏杨 ; 1983 : 742-745)
ตลอดเวลา 3 รัชสมัยของการเดินทางสู่ดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเจิ้งเหอในราชวงศ์หมิง ราชสำนักจีนได้รับผลตามที่คาดหวัง คือประเทศต่างๆ ทางแถบหนานหยาง เริ่มส่งเครื่องราชบรรณาการเข้าไปถวายพระเจ้ากรุงจีนโดยเป็นไปในรูปแบบของการค้า หรือเรียกว่าการค้าแบบบรรณาการ ซึ่งเป็นรูปแบบของการถวายเครื่องบรรณาการสืบต่อลงมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ และในแต่ละปี บางประเทศอาจจะมีการส่งทูตไปถวายเครื่องราชบรรณาการหลายครั้ง
ทั้งนี้เพราะของที่ได้รับพระราชทานตอบกลับมานั้น จะมีค่ามากกว่าของที่นำไปถวายพระเจ้ากรุงจีนหลายเท่านัก (โยชิกาว่า โทชิฮารุ; 2534 : 67) ตลอดช่วงเวลาในสมัยรัชกาลที่ 1 นับตั้งแต่ปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นครองราชสมบัติจนถึงปี พ.ศ. 2397 ได้มีคณะทูตส่งเครื่องบรรณาการไปจีนมากถึง 35 ครั้ง (โยชิกาว่า โทชิฮารุ; 2534 : 66) นับได้ว่า การถวายเครื่องราชบรรณาการดังกล่าวให้ประโยชน์ทั้งชาวจีนโพ้นทะเลและประเทศแม่ คือประเทศจีนอย่างมาก และการที่เจิ้งเหอเดินทางไปแถบหนานหยางถึง 7 ครั้งด้วยตนเองนี้ก็ได้ถือโอกาสซื้อสินค้าที่ทางราชสำนักต้องการด้วยตนเองโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง
ในการครั้งนี้ชาวจีนอพยพ หรือชาวจีนโพ้นทะเลในแถบนี้ก็ได้เขยิบฐานะในทางสังคมและทางเศรษฐกิจด้วย นับว่าได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย แต่ผลเสียอีกอย่างที่มีต่อประเทศจีนก็คือ ชาวจีนได้อพยพออกสู่แถบหนานหยางอย่างล้นหลาม ผู้คนในแถบเมืองท่ากวางโจว เฉวียนโจว ซัวเถา และจางหลิน จะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่พร้อมจะเดินทางออกแสวงโชคในดินแดนดังกล่าว พื้นที่นาไร่ที่เคยถูกแผ้วถางทำกินก็ถูกให้ปล่อยทิ้งร้างไว้ ชาวจีนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแต่เดิมมีคนจีนเข้ามาตั้งรกรากถิ่นฐานมากขึ้นแล้วก็ยิ่งแออัดมากขึ้นไปอีก (柏杨 ; 1938 : 747)
ราชสำนักหมิงได้คำนึงถึงผลกระทบทางการเมืองที่อาจมีขึ้นอันเนื่องจากการอพยพออกนอกประเทศของผู้คนจึงได้ตรากฎหมายขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1522 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าหมิงซื่อจง (明世宗) หรือพระเจ้าเจียจิ้ง (嘉靖) โดยการสั่งห้ามไม่ให้ราชสำนักทำการค้ากับแถบหนานหยางหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีก กฎหมายที่ว่านี้ได้ส่งผลต่อการอพยพออกสู่ต่างประเทศของชาวจีนเป็นอย่างมาก จะเห็นว่าตลอด 40 ปี นับจากปีที่ใช้กฎหมายนี้จะไม่มีชาวจีนอพยพเข้าสู่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย
นอกจากนั้นในกฎหมายนี้ยังเข้มงวดคาดโทษเกี่ยวกับคนจีนอีกมากมาย แม้พวกที่อาศัยทำกินในต่างถิ่นด้วยตนยังถือสัญชาติจีนอยู่ก็เกิดความหวาดกลัวว่าจะได้รับภัยตามกฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ตนอาศัยอยู่ในประเทศที่ตนทำธุรกิจอย่างไม่เป็นสุข อีกทั้งไม่สามารถทุ่มเทจิตใจทำธุรกิจได้อย่างเต็มที่ บ้างก็ต้องทำการค้าแบบหนีภาษี และในช่วงนี้พวกโปรตุเกส ที่มีจุดประสงค์ในการล่าเมืองขึ้นในแถบเอเชียก็ฉวยโอกาสช่วงชิงความเป็นเจ้าทางการค้าทางทะเลแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแทนชาวจีนได้โดยอัตโนมัติ (Wang Gungwu; 1988 : 215)
การหาที่ทำกินที่แน่นอน และการยอมถูกผสมกลมกลืนกับชาวพื้นถิ่นในประเทศที่ชาวจีนอพยพอาศัยอยู่เริ่มมีความจำเป็นมากขึ้น เพราะพวกเขาเกิดความกังขาในสถานภาพของตนในต่างแดนเพราะราชสำนักจีนมีนโยบายไม่แน่นอนเปลี่ยนแปลงไปมา โดยมุ่งหวังเพียงผลประโยชน์จากชาวจีนโพ้นทะเลเข้าไปจุนเจือประเทศเท่านั้น
ดังนั้นชาวจีนอพยพในถิ่นต่างๆ จึงเริ่มหาที่ฝังรากฐานของพวกเขาด้วยการเข้าไปเป็นผู้บุกเบิกโดยหวังว่าจะได้เป็นประชาชนท้องถิ่นนั้นๆ ในที่สุด
การหาที่ฝังรากฐานของชาวจีนอพยพ
ในช่วงนี้ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเกาะหมาก (ปีนัง) ก็ดีเปิดช่องแคบมะละกาก็ดี หรือการเปิดประเทศของฟิลิปปินส์ก็ดี ชาวจีนต่างกรูกันเข้าไปยึดครองที่ทำกิน บุกเบิก และประเทศที่พวกเขาเข้ามาอาศัยมากสุดแห่งหนึ่งก็คือประเทศสยาม
กล่าวได้ว่าในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 (พุทธศตวรรษที่ 21) นั้น ชาวจีนใน 3 เขต มีบทบาทมาก คือ เขตที่ 1 สยาม จามปา และปัตตานี เขตที่ 2 คือ มะละกา อินโดนีเซีย และชวา รวมทั้งเมืองท่าต่างๆ ในแถบชายทะเล เขตที่ 3 คือ หมู่เกาะต่างๆ ของฟิลิปปินส์ โดยเขตที่ 1 และเขตที่ 2 ได้กลายเป็นการยึดครองพื้นที่ของชาวจีนฮกเกี้ยนและแต้จิ๋ว ส่วนเขตที่ 3 เป็นเขตยึดครองของชาวฮากกาโดยเฉพาะ (Wang Gungwu; 1988 : 214)
สำหรับช่วงเวลาในการอพยพของชาวจีนเข้าสู่ไทยแบ่งได้เป็นหลายกลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 คือกลุ่มที่อพยพเข้ามาตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยา ซึ่งมักจะเป็นพวกกะลาสีเรือ พ่อค้า พวกโจรสลัด (สิง ฮุ่ยหยู; 2000 : 58) พวกนี้เริ่มเข้ามาอยู่ที่เมืองท่าต่างๆ เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี ชาวจีนเหล่านี้อาจเข้ามาตั้งหลักแหล่งตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังแล้ว (แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย; 2539 : 102)
กลุ่มที่ 2 คือพวกที่เข้าไทยในสมัยอยุธยา (พ.ศ. 1967-2310) การผลัดเปลี่ยนราชวงศ์ ทำให้เกิดการหยุดชะงัก ชาวจีนอพยพช่วงนี้จะเป็นพวกพ่อค้า และเป็นพวกที่ประสบความสำเร็จในทางการค้าที่ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่าจีนเก่า (โยชิกาว่า โทริฮารุ; 2534 : 70)
กลุ่มที่ 3 คือพวกที่เข้ามาในสมัยพระเจ้าตากสิน (พ.ศ. 2310-25) จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2393-2411) ชาวจีนอพยพในช่วงนี้จะเป็นชาวจีนแต้จิ๋วเป็นส่วนใหญ่ เพราะพระเจ้าตากสินทรงมีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว
กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มที่อพยพเข้ามาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงปลายรัชกาล (พ.ศ. 2411-53)
กลุ่มที่ 5 เป็นช่วงที่กระแสโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงปี พ.ศ. 2493 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่รัฐบาลกำหนดให้มีชาวจีนอพยพเข้ามาน้อยที่สุด (ประพฤทธิ์ ศุกลรัตนเมธี; 2515 : 39)
ชาวจีนอพยพเข้ามาในไทย อาจแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ พวกจีนเก่าและจีนใหม่ (เกียรติศักดิ์ มั่นศรี; 2519: 5) พวกจีนแท้ หมายถึงพวกที่อพยพเข้าสู่ไทยตั้งแต่โบราณกาลมา คือ ชาวจีนอพยพกลุ่มที่ 1, 2, 3, 4 ดังได้กล่าวมาแล้ว และชาวจีนกลุ่มที่ 5 คือ พวกจีนใหม่ที่ได้อพยพเข้ามาตั้งแต่จีนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงปี ค.ศ. 1912 ซึ่งนับมาถึงปัจจุบันนี้ก็ประมาณ 90 กว่าปีแล้ว
สำหรับพวกจีนเก่าจะได้รับการยกย่องจากคนไทยเป็นอย่างดี เพราะพวกเขาได้แทรกซึมเข้าสู่วงการศักดินาจนทำตัวเป็นขุนนางไทยไปแล้ว จึงมีวิถีชีวิตการประพฤติปฏิบัติแบบไทย สามารถเข้ากับชาวไทยได้อย่างแนบเนียน จนกลายเป็นตระกูลผู้ดีของชาวไทยไป
สำหรับจีนใหม่นั้นยังไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมไทยนัก มักก่อความไม่สงบสุขแก่ชาวไทยด้วยลัทธิชาตินิยมที่แพร่กระจายมาจากจีน บ้างก็มาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์แล้วกลับสู่ประเทศตน ไม่มีความจงรักภักดีเหมือนชาวจีนอพยพในรุ่นแรกๆ แต่พวกเขาก็ยังคงอาศัยปะปนกับชาวไทย และทำให้เกิดการผสมผสานเข้ากับคนไทยเช่นกัน แต่พวกจีนใหม่ที่อพยพเข้าไทยในช่วงที่จีนมีการเปลี่ยนแปลงทางการปกครอง อีกทั้งการเมืองก็แปรปรวนไม่มีทิศทางที่แน่นอน ฝ่ายรัฐบาลจีนก็คิดเพียงผลประโยชน์ที่ตนจะได้รับจากชาวจีนโพ้นทะเล ทั้งนี้ได้รวมทั้งชาวจีนในไทยด้วย
เมื่อกระแสเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากประเทศจีนได้แพร่กระจายเข้าสู่ไทย ชาวจีนอพยพใหม่ได้เข้าไปร่วมในขบวนการด้วย ทำให้ดูเหมือนว่า ชาวจีนในไทยเป็นพวกที่ชอบก่อความไม่สงบ และกลายเป็นกลุ่มชนที่ไม่พึงปรารถนาในสังคมไทย
พวกจีนเก่าที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานและได้กลายเป็นไทยไปแล้วนั้นมีความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์อย่างมาก และรักประเทศไทยอย่างสุดแสน ต่างเห็นว่าพวกจีนอพยพเข้ามาใหม่เหล่านี้ทำไม่ถูกต้อง ความเกลียดชังชาวจีนจึงเริ่มขึ้น ประกอบกับรัฐบาลตระหนักถึงภัยจากผิวเหลืองมากขึ้น ความเกลียดชังชาวจีนจึงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมากในช่วงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 1453-61) ด้วยน้ำพระทัยที่ทรงห่วงใยประเทศชาติอย่างมากถึงกับทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “ยิวแห่งบูรพาทิศ” โดยทรงใช้นามปากกาว่าอัศวพาหุ (ดูเรื่อง พวกยิวแห่งบูรพาทิศ ใน กมล จันทรสร; 2506 : 42-83)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าชาวจีนจะเป็นภัยต่อประเทศ จึงทรงประกาศนโยบายผสมกลมกลืนเพื่อให้จีนกลายเป็นไทยอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้แก่ชาวจีนในไทยอย่างมากมาย (ขจัดภัย บุรุษพัฒน์; 2515 : 16)
ทั้งนี้ก็เพราะทรงหวังว่าชาวจีนในไทยจะผสมกลมกลืนเป็นไทยหมดนั่นเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงเข้มงวดกับชาวจีนมากเป็นพิเศษทั้งในด้านเศรษฐกิจและการศึกษา จึงเป็นเหตุให้ชาวจีนบางกลุ่มเอาใจออกห่างจากไทยกลับไปสู่อ้อมกอดของประเทศแม่ ความไม่เข้าใจกันระหว่างรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับชาวจีนคงมีมาก
เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงคำนึงถึงเรื่องจีนในไทยเป็นเรื่องสำคัญสุดอย่างหนึ่ง และทรงถือเป็นพระราชภารกิจที่ต้องเสด็จให้ขวัญกำลังใจกับชาวจีน แต่เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2481-87, 2491-2500) กลับเพิ่มความเข้มงวดกับชาวจีนมากยิ่งขึ้นในทุกด้าน
ทั้งนี้เพราะต้องการขจัดชาวจีนให้พ้นจากการกุมอำนาจทางเศรษฐกิจ (เออิจิ มูราชิมา; 2539) เพื่อที่จะให้ชาวจีนในไทยเกิดการผสมกลมกลืนเป็นไทยได้เร็วขึ้น รัฐบาลจึงสั่งปิดโรงเรียนจีนทุกแห่ง (ยุพเรศ มิลลิแกน; 2510 : 63) เพราะต้องการให้ลูกหลานจีนไปเรียนในโรงเรียนไทย ทำให้ชาวจีนบางกลุ่มโกรธแค้นรัฐบาลไทยมากยิ่งขึ้นจนกล่าวได้ว่าในช่วงนี้ชาวจีนเป็นอริกับรัฐบาลไทยเลยทีเดียว
ความจริงแล้ววิธีการของจอมพล ป. ซึ่งบังคับให้ชาวจีนเกิดการผสมกลมกลืนเป็นไปตามข้อกำหนดของรัฐบาลฝ่ายเดียวนั้น ไม่ใช่วิธีทางธรรมชาติอย่างแน่นอน การผสมกลมกลืนจึงเป็นไปด้านเดียว คือคนจีนในไทยเป็นเพียงด้านนิตินัย แต่ทางด้านพฤตินัยแล้วหาได้สอดคล้องกันกับนิตินัยไม่
เราจึงได้เห็น วัด ศาลเจ้า หรือโรงเจ ถูกสร้างขึ้นมาในทุกที่ที่มีชุมชนจีน พิธีกรรมทางศาสนา และประเพณีประจำปีของชาวจีนก็ยังมีการปฏิบัติกันสืบต่อมาจนทุกวันนี้ สมาคมกลุ่มภาษา สมาคมตระกูลแซ่ สมาคมบ้านเกิดก็ยังคงมีอยู่ทุกหนทุกแห่งในประเทศไทยที่มีชาวจีนอาศัยอยู่
จากหลักฐานดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ชาวจีนอยู่กันเป็นย่าน มีขนบประเพณีความเชื่อตามแบบฉบับของตนเอง มีวิถีชีวิตเฉพาะแบบซึ่งหาได้ถูกกลืนจนเป็นไทยไปโดยสิ้นเชิงไม่ ดังนั้น ปัญหาการผสมกลมกลืนระหว่างชาวจีนและไทยยังคงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษา
ดังในวงวิชาการได้ตั้งเป็นข้อกังขาว่านโยบายการผสมกลมกลืนของไทยประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด (ขจัดภัย บุรุษพัฒน์; 2515: 11) อีกทั้งนโยบายในการผสมกลมกลืนดังกล่าวก็ไม่ได้สอดคล้องกับข้อจำกัด และกฎระเบียบวิธีปฏิบัติในการแปลงสัญชาติเลย (ประพฤทธิ์ ศุกลรัตนเมธี; 2515 : 41)
อย่างไรก็ดี ชาวจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองไทย อาจกล่าวได้ว่าเป็นพวกที่โชคดีที่สุด เพราะนโยบายของประเทศไทยมิได้บังคับหรือกีดกันชาวจีนเหมือนต่างชาติที่มาจากประเทศอื่น ในทางตรงกันข้ามด้วยสังคมไทยที่เปิดกว้าง อีกทั้งความเชื่อและศาสนาที่คล้ายคลึงกัน ประกอบกับการอพยพเข้ามาอยู่ในไทยเป็นเวลานาน ชาวจีนจึงเข้าใจสังคมไทยและทำตัวให้เข้ากับเจ้าขุนมูลนายได้เป็นอย่างดี จึงนับเป็นปัจจัยเสริมให้ชาวจีนได้อาศัยอยู่ในเมืองไทยอย่างมีความสุขราวกับเป็นประเทศของพวกเขาเอง
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวจีนบางส่วนผสมกลมกลืนกับชาวไทยได้อย่างรวดเร็ว โดยอาจกล่าวได้ว่า ชาวจีนอพยพรุ่นแรกๆ ที่เข้ามาในไทยก่อนสมัยอยุธยาต่อลงมาถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์นั้นได้กลายเป็นไทย ต่างได้รับราชการเป็นขุน เป็นหลวง เป็นเจ้า เป็นพระยา (สิง ฮุ่ยหยู; 2000 : 58) และบุตรหลานของท่านเหล่านี้ได้กลายเป็นไทยไปหมดแล้ว ชาวจีนกลุ่มนี้อาจเรียกว่าพวกจีนเก่า เช่น ตระกูลไกรฤกษ์ (อคิน รพีพัฒน์; 2521 : 492-494)
เมื่อชาวจีนอพยพเข้ามาอยู่ในไทย ก็ได้นำวัฒนธรรมความเชื่อ ชีวิตความเป็นอยู่ ประเพณี วัฒนธรรมติดมาด้วย
แม้ว่าชาวจีนมีความยึดมั่นในประเพณีจีนมาก แต่เมื่อพวกเขาเข้ามาอาศัยในผืนแผ่นดินไทย ไปมาหาสู่กับชาวไทยมาตลอด ประกอบกับปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น การผสมผสานระหว่างชาวจีนและไทยจึงมีอยู่หลายด้าน ดังนี้
การผสมกลืนกลายทางด้านการค้า วัฒนธรรม ความเชื่อ และศาสนา
สิ่งที่มาพร้อมกับชาวจีนอพยพสู่ประเทศไทย คือ เรื่องของวิถีแบบจีน ทั้งการดำรงชีวิต อาหารการกิน การแต่งกาย สิ่งของเครื่องใช้ ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และศาสนา
การผสมกลมกลืนระหว่างไทยจีนมีมาก และนานมากจนเรามักจะกล่าวกันเสมอว่า “ไทยจีนมิใช่อื่นไกลเป็นพี่น้องกัน” (ณรงค์ พ่วงพิศ; 2525 : 40) คนจีนและวัฒนธรรมจีนในสังคมไทยมิได้เป็นเรื่องที่แสดงความแปลก แตกแยก หรือเหลื่อมล้ำทางชนชาติแต่อย่างใด แต่กลับเป็นตัวบ่งชี้ถึงความสมานฉันท์ ความสันติสุข ความร่วมมือที่ชาวจีนและไทยมีด้วยกันมาโดยตลอด (แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย; 2538 : 24) เราอาจเห็นความผสมผสานในด้านต่างๆ ได้ดังนี้
จากการค้าแบบบรรณาการในสมัยราชวงศ์หมิง ทำให้ชาวไทยได้รู้จักสินค้าจากจีนใหม่ๆ หลายชนิด อัญมณี เครื่องเคลือบ เครื่องลายคราม ผ้าต่วน ผ้าไหม ผ้าแพร ผ้านานกิง กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น พัด งาสลัก เครื่องประดับทำด้วยโลหะ หนัง เงิน หม้อทองเหลือง หมึกจีน ทองแท่ง ขนมหวานนานาชนิด ผักดอง ผลไม้ตากแห้ง ใบชา และเครื่องยาจีน (แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย; 2538 : 26)
สิ่งของต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นที่นิยมชมชื่นของชาววัง ทุกครั้งเมื่อเรือบรรณาการเทียบท่า ของต่างๆ ตามพระราชประสงค์จะถูกส่งไปในวังแล้ว ของที่เหลือคือของขายให้สามัญชนทั่วไป
ชาวจีนได้ย้ายตลาดบ้านจีนจากประเทศจีนมาไว้ที่เยาวราชแถวสำเพ็ง จะมีร้านค้าเป็นย่านการค้าขายของจีนหมดทุกอย่าง บริเวณสำเพ็งที่กล่าวก็คือครอบคลุมบริเวณตรอกบ้านพระยาอิศรานุภาพ สะพานหัน ศาลเจ้าเก่า กงสีล้ง (ราชวงศ์) วัดสามปลื้ม ตรอกเต๊า ตรอกพระยาไกร ตรอกโรงกะทะ ตรอกอาจม ตลาดน้อย ตลาดวัดญวน ซึ่งก็คือบริเวณที่เราเรียกว่าเยาวราชเจริญกรุงในทุกวันนี้ เราจะสามารถหาซื้อของจีนได้หมดทุกชนิดตั้งแต่อาหารการกิน เครื่องนุ่งหุ่ม เครื่องยาสมุนไพร และขนม ธูป เทียน สำหรับกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้หมดทุกอย่าง
จากนิราศชมตลาดสำเพ็งของนายบุศย์ ซึ่งเชื่อว่าแต่งนิราศนี้หลังปี 2455 อันเป็นช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 ได้กล่าวถึงผ้าแถบสำเพ็งหลากหลายชนิด และมีแต่แขกขายผ้า ยังไม่มีจีนขายผ้า โดยช่วงนั้นจีนคงไปทำอาชีพอื่น เขาได้พูดถึงตรอกซอยในสำเพ็ง ตรอกยายเต๊า ตรอกอาเนี่ยเก็ง และตรอกโรงคราม ตรอกแตง ตรอกโรงกะทะ จะมีพวกโสเภณีจีนมากมาย
พวกชายจีนก็มีทั้งพวกกุลี และลากรถเจ็ก ที่สำเพ็งสองข้างทางมีตึกเก๋งมากมาย มีทั้งร้านขายยา ผลไม้ พระพุทธรูป เครื่องแก้ว เพชรพลอย มีบ่อนเล่นการพนันของเจ้าสัวฮง ที่ตรอกแตงจะมีแต่จีนขายของจีน ทั้งตรอกเล็กซอยน้อยคนจีนไทยเดินกันขวักไขว่ (โสมนัส เทเวศร์; 2521 : 16-56) ในช่วงนี้จีนได้เริ่มธุรกิจโรงรับจำนำ (โสมนัส เทเวศร์; 2541 : 148)
ชาวจีนแต้จิ๋ว ยังได้นำความรู้ในการทำน้ำตาลทรายเข้าสู่เมืองไทยตั้งแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ การทำสวนผักอย่างเป็นล่ำเป็นสัน การทอผ้าด้วยกี่กระตุกของชาวจีนแคะ (ฮากกา) (แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย; 2538 : 27-28) สำหรับทางด้านการค้านั้น สิ่งที่ชาวจีนนำเข้ามาที่สำคัญที่สุดก็คือ ธุรกิจการเป็นตัวกลางติดต่อธุรกิจ และการทำร้านค้าปลีก ขายส่ง อันทำให้ชาวจีนประสบความสำเร็จทางด้านการค้าจนมีฐานะร่ำรวย ดังปรากฏในประวัติศาสตร์ของนักธุรกิจระดับแนวหน้าหลายท่านในประเทศไทย
สิ่งที่เข้ามาพร้อมกับจีนอีกด้านหนึ่งคือ ด้านวัฒนธรรม ความเชื่อ และศาสนา ทางด้านศิลปกรรม ซึ่งเป็นหลักฐานที่เห็นได้ชัด ทั้งทางด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม ที่ใดที่ชาวจีนอาศัยอยู่ก่อนย่อมมีรูปแบบบ้านเรือนและศาสนสถานที่เป็นศูนย์กลางรวมใจของชาวจีน ตึกแถวโบราณที่ถนนเก่าของจังหวัดสงขลา ปัตตานี นครศรีธรรมราช รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของสมาคมจีน วัด ศาลเจ้าบ้านแบบจีนที่กรุงเทพฯ เราก็จะพบร่องรอยของสถาปัตยกรรมอยู่มากเช่นกัน
หากนับตั้งแต่ก่อนสร้างกรุงเทพฯ มาถึงช่วงประมาณปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็จะมีศาลเจ้าของชาวจีนอยู่ 163 ศาล วัดจีน 13 แห่ง และโรงเจ 15 แห่ง (Pornpan and Mak; 1994 : 6) และจากตารางภาคผนวก 2.2 (เล่มเดิม, น. 132) สถานที่ตั้ง ศาลเจ้า วัดจีน และโรงเจ แล้วก็จะทำให้ทราบได้ว่าชาวจีนตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ ต่อมาจนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 อาศัยอยู่ในบริเวณใดของกรุงเทพฯ
หากดูทางด้านการผสมผสานของความงาม จากสถาปัตยกรรมไทยและจีนแล้ว เห็นได้ว่าวัดราชโอรส วัดราชนัดดา วัดนางนอง วัดหนัง วัดเศวตรฉัตร วัดโปรดเกศเชฏฐาราม วัดเทพธิดาราม วัดมหรรณพาราม ล้วนเป็นวัดที่มีศิลปกรรมที่มีรูปแบบผสมผสานระหว่างไทยกับจีนทั้งสิ้น
สถาปัตยกรรมจีนที่สร้างเป็นพระที่นั่งที่เป็นแบบจีน และสวยงามอันเป็นที่กล่าวขวัญกัน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอยุธยาก็คือพระที่นั่งเวหาสน์จำรูญ ในพระราชวังบางปะอิน ที่สร้างขึ้นในสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระยาโชฎึกราชเศรษฐีชาวจีนในไทยเป็นผู้สร้างถวาย (โยชิกาว่า โทชิฮารุ; 2534 : 71) ส่วนประกอบของสถาปัตยกรรมทุกชิ้นส่งตรงมาจากเมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้งทั้งหมด
ในด้านการผสมผสานทางด้านศาสนา ประเพณีระหว่างชาวจีนและไทยนั้น ดูจะมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าประเด็นอื่นๆ นัก สังคมไทยเป็นสังคมพุทธศาสนาหินยาน ในขณะที่ชาวจีนนับถือศาสนาพุทธมหายาน แต่การปรับรูปแบบการดำรงชีวิตของชาวจีนให้เข้ากับวิถีไทยมีมาแล้วตั้งแต่อดีตจนถึงรัตนโกสินทร์ และต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
กล่าวได้ว่าเป็นการผสมความเชื่อได้อย่างแนบเนียน ดังเช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้างวัดมหายาน คือวัดเล่งเน่ยยี่ แล้วพระราชทานชื่อวัดว่า วัดมังกรกมลาวาส เพื่อให้ชาวจีนประกอบศาสนกิจ (พรพรรณ จันทโรนานนท์; 2539 : 203)
นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกบำรุงพระพุทธศาสนา และพระราชทานสมณศักดิ์ให้แก่พระภิกษุจีนด้วย สำหรับด้านพิธีกรรมนั้น ในงานพระศพของเจ้านายบางพระองค์ก็ให้จัดอย่างมหายาน คือ มีพิธีกงเต๊ก ผสมผสานกับการสวดอภิธรรม ดังเช่น ครั้งที่จัดพิธีกงเต๊กถวายสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2528 (แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย; 2538 : 32)
จีน-ไทยอยู่ด้วยกันอย่างผสมผสาน และกลมกลืนจนเป็นที่กล่าวขานกันว่าไทย-จีนเป็นพี่น้องกัน ทั้งอาจจะมีต้นตระกูล และแหล่งกำเนิดจากที่เดียวกันด้วย
ดังผลงานวิจัยชิ้นใหม่ที่ร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยศิลปากรกับสถาบันวิจัยชนชาติส่วนน้อยมณฑลกวางสีซึ่งได้ทำวิจัยในหัวข้อเปรียบเทียบวัฒนธรรมไทยในประเทศไทยกับชนชาติจ้วงของประเทศจีนที่มณฑลกวางสีก็ได้ผลสรุปมาว่า จีนไทยน่าจะมีต้นตระกูลเดียวกันที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของจีนมาก่อน (มหาวิทยาลัยศิลปากร อัดสำเนา : 254)
หลักฐานสำคัญที่สนับสนุนข้อสรุปดังกล่าว คือ วัฒนธรรมด้านคติความเชื่อ การปกครองของไทยเดิมกับอารยธรรมของจีนโบราณ (ซึ่งมิใช่เป็นอิทธิพลจากชาวจีนโพ้นทะเล) ที่คล้ายคลึงกันล้วนเป็นหลักฐานให้เห็นชัดว่าไทยจีนมีสัมพันธ์เหมือนพี่น้องกัน (เจียแยนจอง; 2539 : 49-50)
การผสมผสานของชาวจีนในไทยมีลักษณะผิดไปจากประเทศอื่นๆ คือ มีทั้งความเป็นคนจีนและคนไทยในบุคคลเดียวกัน เรื่องประเพณีวัฒนธรรม การบูชาบรรพบุรุษก็ยังคงปฏิบัติกันสืบต่อมาจนทุกวันนี้ แต่อาจเป็นการปฏิบัติทางพิธีกรรมที่ไม่สมบูรณ์นักด้วยในงานวิจัยของสมบูรณ์ สุขสำราญ และคณะ ได้กล่าวสรุปผลวิจัยเรื่องชุมชนชาวจีน : ความต่อเนื่อง และการเปลี่ยนแปลงไว้ว่า ชาวจีนในไทยทุกวันนี้แม้จะมีความเป็นจีน แต่วัฒนธรรมที่พวกเขาได้รับการถ่ายทอดมาไม่สมบูรณ์ ทั้งจารีตนิยมแบบจีนโบราณ ก็ขาดหายไปเป็นแบบสมัยใหม่ การศึกษา และนโยบายรัฐบาลย่อมมีผลอย่างยิ่งต่อการผสมกลมกลืน
แล้วสรุปว่าชาวจีนในไทยนั้นมีความรักในแหล่งที่อยู่อาศัย จะไม่มีการทำหรือคิดการใดๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลไทย ความสมานฉันท์ระหว่างไทย-จีน ในสังคมไทยมีสูงเกินกว่าจะทำให้เกิดการขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติได้ (สมบูรณ์ สุขสำราญ; 2530 : 121-131)
ชาวจีน 5 กลุ่มภาษาในไทย ได้อพยพเข้ามาอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยามาจนปัจจุบันนี้ พวกเขาอยู่ในไทยอย่างมีความสุข แม้อาจจะมีบางส่วนถูกกลมกลืนเป็นไทยไม่หมด หรือบางส่วนไม่ยอมถูกผสมกลมกลืน แต่นโยบายของรัฐบาลไทยที่เปิดกว้าง อีกทั้งการปฏิบัติต่อชาวจีนโดยไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ ชาวจีนก็คงต้องถูกผสมกลมกลืนไปเอง โดยอัตโนมัติด้วยกาลเวลา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หนังสืออ้างอิง ภาษาไทย :
กมล จันทรสร. (2506). อิทธิพลชาวจีนโพ้นทะเล. พระนคร : โรงพิมพ์รุ่งเรืองรัตน์
เกียรติศักดิ์ มั่นศรี. (2519). สังคมชาวจีนในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ วิทยาลัยการทัพบก.
ขจัดภัย บุรุษพัฒน์. (2515). “นโยบายผสมกลมกลืนของรัฐบาลไทยต่อชาวจีน” ใน วารสารสังคมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์, 9 (1) มกราคม.
เจีย แยนจอง. (2539). “ไทยจีนเป็นพี่น้องกัน ตั้งแต่สุโขทัยสมัยโบราณกาลก่อนก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย ศึกษาในกรณีอิทธิพลจีน โบราณในวัฒนธรรมไทยเดิม,” ใน 20 ปี ไทยจีน. (30 ปีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.
ญาดา ประภาพันธุ์. (2524). ระบบเจ้าภาษีนายอากรสมัยกรุงเทพฯ ยุคต้น, พระนคร : บางกอกการพิมพ์.
ณรงค์ พ่วงพิศ. (2525). “สายสัมพันธ์ระหว่างชาวจีนอพยพกับราชสํานักไทย,” ใน คนจีน 200 ปี ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร (ภาค 2), กรุงเทพฯ : สหมิตรการพิมพ์.
ประพฤทธิ์ ศุกลรัตนเมธี. (2515). “ฐานะทางกฎหมายของชาวจีนโพ้นทะเล,” ใน วารสารสังคมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ 9 (1) มกราคม.
พรพรรณ จันทโรนานนท์. (2539). ฮก ลก ซิ่ว โชค ลาภ อายุยืน. กรุงเทพฯ : มติชน.
ยุพเรศ มิลลิแกน. (2510). บทบาทของชาวจีนในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. โยชิกาว่า โทชิฮารุ. (2535). (อาทร ฟังธรรมสาร แปลจากภาษาญี่ปุ่น). “วัฒนธรรมจีนที่มีต่อการก่อตั้งของกรุงเทพฯ ในคริสต์ศตวรรษที่ 19,” ใน วารสารธรรมศาสตร์ 19 (3).
สิง สู่ยหยู. (2000). “การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างจีนกับไทย,” ใน ความสัมพันธ์ไทย-จีน เหลียวหลังแลหน้า. กรุงเทพฯ : ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สมบูรณ์ สุขสําราญ และคณะ. (2530). ชุมชนจีน : ความต่อเนื่องและการเปลี่ยนแปลง. งานวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
โสมนัส เทเวศร์. (2521). กรุงเทพฯ ในนิราศ. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์.
แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย. (2538). “จีน-ไทย’ ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร,” ใน เอเชียปริทัศน์ 16(1) มกราคม-เมษายน.
_____. (2539). “ความสัมพันธ์ไทย-จีน ด้านสังคมและวัฒนธรรม, ใน ความสัมพันธ์ไทย-จีน: 20 ปี แห่งมิตรภาพ. กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
อดิน รพีพัฒน์. (2521). สังคมไทยในต้นรัตนโกสินทร์ : พ.ศ. 2325 – 2416. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พิฆเณศ.
เออิจิ มูราชิมา. (2539). การเมืองจีนสยาม. กรุงเทพฯ : ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มกราคม 2562